×

จับตาไบเดนเปิดทำเนียบขาวต้อนรับผู้นำเกาหลีใต้ต่อจากญี่ปุ่น ส่งสัญญาณย้ำความสำคัญเอเชีย

21.05.2021
  • LOADING...
โจ ไบเดน

การเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของประธานาธิบดีมุนแจอินแห่งเกาหลีใต้ ถือเป็นผู้นำต่างชาติคนที่ 2 ต่อจากนายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูงะ ของญี่ปุ่น ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เปิดทำเนียบขาวต้อนรับหลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคม

 

ทั้งสองผู้นำมีกำหนดการหารือทวิภาคีกันที่ทำเนียบขาวในวันนี้ (21 พฤษภาคม) ท่ามกลางประเด็นความร่วมมือในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องเกาหลีเหนือและวัคซีนโควิด-19 

 

ขณะที่นานาชาติจับตามองว่าการเลือกต้อนรับผู้นำต่างชาติของไบเดนอาจเป็นการส่งสัญญาณสะท้อนถึงนโยบายมุ่งสู่เอเชียของสหรัฐฯ ที่มีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

บทวิเคราะห์จาก โจชัว เบอร์ลินเจอร์ ดิจิทัลโปรดิวเซอร์ของ CNN ประจำฮ่องกง ชี้ให้เห็นว่าการที่ไบเดนเลือกต้อนรับผู้นำญี่ปุ่นเป็นชาติแรกเหมือนที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยทำ และต่อด้วยผู้นำเกาหลีใต้นั้น เป็นข้อบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า ไบเดนและที่ปรึกษาของเขากำลังมองว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความสำคัญสูงสุดในระยะยาวต่อนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ

 

ที่ผ่านมารัฐมนตรีต่างประเทศและกลาโหมในยุคของไบเดนเดินทางไปเยือนทั้งกรุงโตเกียวและโซล ขณะที่ผู้นำกองทัพของทั้งสามประเทศยังร่วมประชุมกันที่รัฐฮาวายเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา 

 

นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยกันระหว่างที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทำเนียบขาวกับพันธมิตรจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนถึงยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ ที่มุ่งตรงมายังเอเชียเป็นภูมิภาคแรก

 

“ความจริงที่ว่าพวกเขาอยู่ที่นี่ (วอชิงตัน) ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นกำหนดการทวิภาคีเต็มรูปแบบ สะท้อนถึงความสำคัญอย่างชัดเจนในความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์” เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวระบุในการแถลงต่อสื่อเมื่อวานนี้ (20 พฤษภาคม)

 

แต่ใช่ว่าการหารือความร่วมมือระหว่างไบเดนและมุนแจอินจะเป็นเรื่องง่ายไปทั้งหมด เนื่องจากแต่ละฝ่ายต่างมีภูมิศาสตร์การเมืองและภารกิจในประเทศที่แตกต่างกัน ทำให้แม้จะเป็นพันธมิตรกันมาอย่างยาวนานแต่ก็ใช่ว่าจะเห็นพ้องตรงกันในทุกด้าน

 

สำหรับผู้นำเกาหลีใต้นั้น ตอนนี้ความจำเป็นคือการจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 เพื่อเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนและทำให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว 

 

ขณะที่ทำเนียบขาวต้องการความช่วยเหลือจากเกาหลีใต้ในการเพิ่มแรงกดดันต่อคู่แข่งมหาอำนาจอย่างจีนในประเด็นต่างๆ ที่สหรัฐฯ และเกาหลีใต้มีผลประโยชน์ร่วมกัน เช่นเรื่องการค้าหรือสิทธิมนุษยชน

 

ก่อนหน้านี้ Financial Times รายงานว่าไบเดนนั้น พยายามที่จะให้มุนมีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อจีนมากขึ้น แต่เกาหลีใต้อาจเลี่ยงที่จะทำตามความต้องการของสหรัฐฯ เนื่องจากจีนถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สำคัญที่สุดของประเทศ อีกทั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนยังใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจในการลงโทษเกาหลีใต้หากมีการตัดสินใจทางการเมืองที่ไม่เป็นที่พอใจแก่รัฐบาลปักกิ่ง

 

ขณะเดียวกันมุนยังคงต้องการผลักดันไบเดนให้เดินหน้าความพยายามในการฟื้นสัมพันธ์ต่อเกาหลีเหนือ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายหาช่องทางการทูตเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งและทำให้เปียงยางระงับโครงการนิวเคลียร์และยุติสงครามเกาหลีอย่างเป็นทางการ

 

ซึ่งในการพบปะของไบเดนและมุนรอบนี้ มีรายงานว่าไบเดนจะใช้เวลาไม่น้อยเพื่อหารือในประเด็นเกาหลีเหนือ ขณะที่ก่อนหน้านี้ไบเดนส่งสัญญาณว่าไม่มีความจำเป็นที่จะเดินตามนโยบายของทรัมป์ที่เปิดกว้างในการเจรจากับเกาหลีเหนือ

 

สำหรับมุน ครั้งนี้อาจเป็นโอกาสสุดท้ายของเขาในการผลักดันให้เกิดข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือก่อนที่วาระดำรงตำแหน่งจะหมดลงในปีหน้า และเป็นไปได้ว่าภารกิจในการสร้างสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลีของเขาอาจไม่เป็นไปดังหวัง

 

ส่วนไบเดนนั้น แม้จะไม่มีท่าทีเปิดกว้างต่อเกาหลีเหนือ แต่มีรายงานว่ารัฐบาลของเขาพร้อมแบ่งปันวัคซีนโควิด-19 และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่นๆ เพื่อช่วยเกาหลีเหนือในการรับมือการแพร่ระบาด แต่เชื่อว่าเกาหลีเหนือยังไม่พร้อมที่จะติดต่อกับสหรัฐฯ จนกว่าวิกฤตโรคโควิด-19 จะผ่านพ้นไป

 

อย่างไรก็ตามยังต้องจับตามองกันต่อไป ว่ายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ในยุคไบเดนที่ยังส่งสัญญาณให้เอเชียแปซิฟิกเป็นแกนหลักนั้น จะทำให้สหรัฐฯ สามารถขยายบทบาทในภูมิภาคเอเชียได้มากน้อยแค่ไหน ในขณะที่ความสัมพันธ์ต่อจีน ยักษ์ใหญ่ของเอเชียยังไม่มีวี่แววว่าจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น 

 

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X