×

อินโนเวสท์ เอกซ์ คาด เลือกตั้งสหรัฐฯ ทำ ‘โจ ไบเดน’ สั่งระบายน้ำมันเบนซินในคลังสำรองฯ หวั่นน้ำมันแพงฉุดคะแนนเสียง

02.07.2024
  • LOADING...

InnovestX เผยผลการศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พบการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเบนซิน 10 เซนต์ต่อแกลลอน ฉุดคะแนนความนิยมประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ปัจจุบันลด 0.6% 

 

สุทธิชัย คุ้มวรชัย Head of Investment Strategy ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ (InnovestX) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า จากผลการศึกษาของศูนย์วิจัยทางการเมืองของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดพบว่า การเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันเบนซินซึ่งเป็นกลุ่มน้ำมันหลักที่สหรัฐฯ ใช้ ถือเป็นตัวแปรสำคัญหนึ่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ

 

โดยผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดยังพบว่า การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเบนซินที่ระดับ 10 เซนต์ต่อแกลลอน จะส่งผลให้ความนิยมของบุคคลที่เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ปัจจุบันลดลงประมาณ 0.6% ถือเป็นจุดสำคัญที่ต้องติดตาม และเหตุผลหนึ่งที่ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตัดสินใจมีคำสั่งให้ระบายน้ำมันเบนซินในคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ออกมาในช่วงระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคมนี้ เพราะในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมเป็นฤดูกาลการท่องเที่ยวของสหรัฐฯ ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพื่อการเดินทางเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นตามดีมานด์ 

 

อย่างไรก็ดีคำสั่งของโจ ไบเดน ในการระบายน้ำมันเบนซินดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันชาติของสหรัฐฯ คือวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลให้อุปทานของน้ำมันทยอยปรับลดลง โดยจะสอดรับกับภาพในฝั่งของจีนที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปรายใหญ่ของเอเชียที่อาจปรับลดการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปในเดือนกรกฎาคม เนื่องจากภาพกำลังการกลั่นน้ำมันของจีนเริ่มทยอยลดลงตั้งแต่ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้

 

คาดจีนส่งออกน้ำมันลดลง 10% ทำอุปทานของน้ำมันในตลาดปรับลดลง

 

ขณะที่ฝั่งเทรดเดอร์น้ำมันคาดการณ์ว่าผลที่เกิดขึ้นจะทำจีนส่งออกน้ำมันลดลงประมาณ 10% ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้อุปทานของน้ำมันในตลาดปรับลดลง โดยหากเข้าไปดูผลกระทบหลักจากจีนจากประเด็นการกำหนดโควตาการส่งออกน้ำมันของจีนซึ่งปัจจุบันการส่งออกใกล้ที่จะเต็มโควตาแล้ว

 

ดังนั้นค่าการกลั่นน้ำมัน (GRM) ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำอยู่ที่ประมาณ 3-4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากที่เคยอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 8 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะเป็นปัจจัยจูงใจในการส่งออกน้ำมันของจีนปรับลดลงตามไปด้วย 

 

ทั้งนี้ภาพรวมคือปัจจัยการระบายน้ำมันเบนซินในคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่กำลังจะครบกำหนด รวมถึงจีนที่กำลังจะส่งออกน้ำมันลดลง จะเป็นปัจจัยที่ทำให้มีโอกาสที่จะเห็นการฟื้นตัวขึ้นของ GRM ในช่วงไตรมาส 3 นี้ 

 

อย่างไรก็ดียังคงต้องติดตามภาพรวมแห่งความเสี่ยงหลังจากสิ้นสุดมาตรการระบายน้ำมันเบนซินในคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ แล้วจะมีการพิจารณานำมาตรการอื่นๆ เพื่อนำออกมาควบคุมราคาพลังงานเพิ่มเติมอีกด้วยหรือไม่

 

IEA หั่นดีมานด์ใช้น้ำมันโลก

 

สิทธิชัยกล่าวต่อว่า กรณีที่องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) รายงานดีมานด์การใช้น้ำมันทั่วโลกในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาปรับลดลงเป็นเดินที่สามติดต่อกัน แต่ราคาน้ำมันกลับปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นนั้น ซึ่งเดิม IEA เคยประเมินว่าดีมานด์ของน้ำมันของโลกในปีนี้จะเติบโตขึ้น 1.1-1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ล่าสุดปรับลดคาดการณ์การเติบโตเหลือเติบโตไม่ถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากอุปสงค์ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD) ไม่ได้ดีตามที่เคยคาดการณ์ไว้เดิมในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม OPEC+ มีมุมมองที่ตรงข้ามกับ OECD โดย OPEC+ คาดการณ์ว่าในปีนี้ดีมานด์น้ำมันของโลกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยมองว่ากลุ่มประเทศ Non-OECD จะเป็นกลุ่มหลักที่ขับเคลื่อนการใช้น้ำมันของโลกในปีนี้ รวมถึงปัจจัยภาพการเดินทางทางอากาศที่จะเป็นตัวเร่งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

 

ขณะที่อีกฝั่งของอุปทาน IEA ได้การปรับประมาณการขึ้นมาเล็กน้อยเป็นประมาณ 70,000 บาร์เรลต่อวัน ดังนั้นแม้มองว่าดีมานด์น้ำมันของโลกไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่มีซัพพลายที่เพิ่มขึ้น ประเด็นดังกล่าวถือเป็นภาพที่ไม่ดีต่อราคาพลังงาน

 

อย่างไรก็ดีหากไปดูข้อมูลในปีนี้ถึงช่วงไตรมาส 3/67 จะพบว่ากลุ่ม OPEC+ ลดกำลังการผลิตน้ำมันลงประมาณ 5.8-5.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลภาพรวมของตลาดน้ำมันขาดแคลนซัพพลายอยู่ในช่วงไตรมาส 3/67 ส่วนไตรมาส 4/67 ให้ติดตามการทยอยเพิ่มขึ้นของอุปทานจากกลุ่ม OPEC+ ที่จะทยอยผลิตเพิ่มขึ้น

 

นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่าภาพการใช้น้ำมันสำหรับการเดินทางทางเรือมีปริมาณการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โจมตีในทะเลแดง ส่งผลให้การเดินทางสัญจรเพื่อขนส่งสินค้าจำเป็นต้องเดินทางอ้อมไปยังแอฟริกา ซึ่งเป็นเส้นทางที่ไกลขึ้น ส่งผลให้ทางปริมาณการใช้น้ำมันและระยะเวลาในการขนส่งสินค้ายาวนานขึ้นจากเดิม

 

อีกทั้งมีปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน คือการโจมตีของกลุ่มฮูตีในทะเลแดงที่มีความถี่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีเหตุการณ์โจมตีเกินกว่า 10 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาที่ประมาณ 5 ครั้ง

 

ประกอบกับมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฮิซบอลเลาะห์กับอิสราเอลที่มีการสู้ ยกระดับการสู้รบตอบโต้กันอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ราคาน้ำมันในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเป็น Sentiment เชิงบวกกับราคาน้ำมัน โดยราคาน้ำมันดิบเบรนต์ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 15%

 

ทั้งนี้ประเมินกรอบราคาน้ำมันน่าจะยังไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงเกินระดับ 80-90 ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากหากราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับดังกล่าวจะเป็นปัจจัยความเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อ ขณะที่กำลังผลิตส่วนเกินของกลุ่ม OPEC+ ที่มีมากพอสมควร มีโอกาสนำออกมาใช้เพิ่มขึ้น หากราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น

 

ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือในช่วงปลายไตรมาส 3/67 ที่กลุ่ม OPEC+ จะมีประชุมเพื่อหารือถึงการพิจารณาแผนการผลิตน้ำมันว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร โดยประเมินว่ากลุ่มที่ได้ประโยชน์จากประเด็นดังกล่าว คือกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันขั้นต้นโดยตรง

 

ส่วนกลุ่มโรงกลั่นจะได้รับประโยชน์จากตัวสต็อกที่ราคาน้ำมันช่วงปลายไตรมาส 2/67 เริ่มมีแนวโน้มที่ราคาปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีผลขาดทุนสต็อกน้ำมัน (Stock Loss) ลดลง หรือกำไรจากสต็อกน้ำมัน (Stock Gain) เพิ่มขึ้น

 

สำหรับกรณีที่วานนี้ (1 กรกฎาคม) ตลาดหุ้นไทยเริ่มใช้เกณฑ์กำหนดให้ราคาเสนอขายชอร์ตต้องเป็นราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick) เป็นวันแรกในการดูแลการซื้อขายธุรกรรม Short Sell ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้ Sentiment หรือวอลุ่มการซื้อขายปรับตัวลดลง ขณะที่มูลค่าของการทำ Short Sell วานนี้ลดลงเหลือระดับประมาณ 1.2 พันล้านบาท จากเดิมที่อยู่ในระดับประมาณ 4-5 พันล้านบาทต่อวัน

 

ขณะที่หากสัดส่วนของธุรกรรม Short Sell ลดลงตามระดับกว่า 4% ของวอลุ่มการซื้อขายโดยรวม จากเดิมเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ระดับ 10-12% ถือเป็นภาพหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนรายย่อยหรือสถาบันเริ่มเห็นภาพคลายความกังวลจากภาพแรงกดดันดังกล่าวที่ดีขึ้น มีโอกาสกลับเข้ามาตลาดเพิ่มขึ้น และมีโอกาสที่จะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นได้บ้างจากนักลงทุนในประเทศให้กลับขึ้นมา

 

ขณะที่กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศวานนี้เริ่มกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยเป็นวันแรก หลังขายต่อเนื่องไปมากกว่า 20 วันติดต่อกัน ซึ่งหุ้นหลายตัวก่อนหน้านี้ที่ถูกทำ Short Sell ไปมาก อาจซื้อหุ้นกลับ (Cover Short) ในกลุ่มนี้ ได้แก่ HANA, TOP, BEM, MINT, OSP, KCE, BBL, AOT, SCGP

 

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนแนะนำหุ้น 4 ธีมหลักดังนี้

 

ธีมที่ 1 หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการทำ Cover Short ดังกล่าว

 

ธีมที่ 2 แนะนำหุ้นในกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากกองทุน Thai ESG หลังจากที่จะมีการปรับเงื่อนไขขยายวงเงินเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีและลดระยะเวลาการถือครอง ซึ่งจะเป็นอานิสงส์ต่อหุ้นกลุ่มที่มีปัจจัยพื้นฐานกับมีผลประกอบการที่เติบโตดีและมีมูลค่าที่ไม่แพง สิ่งสำคัญคือใช้เกณฑ์คัดเลือกในหุ้นที่ได้เรตติ้ง ESG ระดับ A ขึ้นไป ขึ้นไป ADVANC, CPALL, BEM, OSP, BDMS, BEM, BBL

 

ธีมที่ 3 ในไตรมาส 3 ด้วยมุมมองที่เศรษฐกิจโลกมีความแข็งแกร่งและมีโอกาสที่จะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจพร้อมเพรียงกันทั่วทั้งโลก แนะนำให้ลงทุนในหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ Global Play คือ KCE, TU, MINT, SCGP

 

ธีมที่ 4 แนะนำหุ้นกลุ่มที่ป้องกันความเสี่ยงของราคาน้ำมันคือ PTTEP กลุ่มพลังงานต้นน้ำที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising