Reuters และ CNN รายงานโดยอ้างข้อมูลจาก 2 เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัดสินใจอนุมัติให้ยูเครนใช้ ‘ระบบขีปนาวุธยุทธวิธีของกองทัพบก’ (Army Tactical Missile System: ATACMS) ซึ่งเป็นระบบขีปนาวุธพิสัยไกลที่ผลิตโดยสหรัฐฯ ในการโจมตีภายในดินแดนรัสเซีย
การตัดสินใจดังกล่าวสร้างความกังวลและความสงสัยแก่หลายฝ่าย เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งสำคัญของรัฐบาลสหรัฐฯ ท่ามกลางสถานการณ์สู้รบในยูเครนที่ทวีความตึงเครียด ขณะที่ไบเดนเหลือเวลาดำรงตำแหน่งอีกเพียงประมาณ 2 เดือนก่อนจะส่งมอบตำแหน่งประธานาธิบดีให้กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ในเดือนมกราคมปีหน้า
สิ่งที่เกิดขึ้นจุดชนวนคำถามมากมายว่าทำไมจู่ๆ ไบเดนถึงตัดสินใจเรื่องใหญ่ขนาดนี้ ที่เรียกได้ว่าอาจถึงขั้นยกระดับสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และดึงให้สหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตกเข้าไปมีส่วนร่วมกับสงคราม จนไม่แน่ว่าท้ายที่สุดจะบานปลายเป็น ‘สงครามโลกครั้งที่ 3’ หรือไม่
ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นภาระใหญ่ที่ไบเดนส่งมอบให้ทรัมป์พร้อมกับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ หรือไม่ และทรัมป์จะจัดการเช่นไรกับเรื่องนี้
ทิ้งทวนก่อนทรัมป์รับตำแหน่ง?
การตัดสินใจของไบเดนที่อนุญาตให้ยูเครนใช้ระบบขีปนาวุธพิสัยไกลของสหรัฐฯ โจมตีรัสเซียได้ เกิดขึ้นหลังจากที่หลายฝ่ายกังวลว่ารัฐบาลทรัมป์ 2.0 จะระงับการสนับสนุนยูเครน และบีบบังคับให้สงครามยุติลงด้วยการที่ยูเครนต้องยอมรับเงื่อนไขเจรจาเสียดินแดนบางส่วน
โดยความเคลื่อนไหวของไบเดนรอบนี้ถูกมองว่าเป็นการใช้อำนาจในช่วงสุดท้ายกับการเดิมพันที่สุ่มเสี่ยงจะขยายความขัดแย้งในสงคราม
มาเรีย บูตินา นักการเมืองรัสเซียที่เคยถูกดำเนินคดีในสหรัฐฯ ฐานเป็นสายลับ ให้สัมภาษณ์กับ Reuters ว่า ไบเดนพยายามขยายสถานการณ์ความขัดแย้งให้ลุกลามไปถึงระดับสูงสุดในระหว่างที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่
“ฉันหวังอย่างยิ่งว่าทรัมป์จะเอาชนะการตัดสินใจนี้ได้ เพราะพวกเขากำลังเสี่ยงที่จะจุดชนวนสงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อใครเลย”
ด้านทรัมป์ยังไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อความเคลื่อนไหวของไบเดน แต่ โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ บุตรชายของทรัมป์ โพสต์ข้อความบน X ที่แสดงชัดถึงความไม่พอใจว่า “กลุ่มอุตสาหกรรมทางการทหารดูเหมือนว่าต้องการจะทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ก่อนที่พ่อของผมจะมีโอกาสสร้างสันติภาพและช่วยชีวิตคน…พวกคนโง่!”
ขณะที่ ริชาร์ด เกรเนลล์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของทรัมป์ โพสต์ใน X ถึงการตัดสินใจของไบเดนว่าเป็น “การยกระดับสงครามก่อนจะพ้นจากตำแหน่ง”
ส่วน เจ.ดี. แวนซ์ คู่หูรองประธานาธิบดีของทรัมป์ กล่าวว่า สหรัฐฯ ไม่ควรสนับสนุนความช่วยเหลือทางทหารใดๆ แก่ยูเครนอีก
ภายหลังปรากฏรายงานข่าว โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีของยูเครน โพสต์ข้อความผ่าน Telegram ว่า “วันนี้สื่อหลายสำนักรายงานว่า เราได้รับอนุญาตให้ดำเนินการตามที่เหมาะสม แต่การโจมตีไม่ได้เกิดขึ้นด้วยคำพูด สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถูกประกาศออกมา ขีปนาวุธจะพูดแทนตัวมันเอง”
ด้านรัฐบาลเครมลินออกแถลงการณ์เช้าวันนี้ว่า “หากขีปนาวุธที่สหรัฐฯ จัดหามาให้ถูกยิงเข้าไปในรัสเซีย รัสเซียจะมองว่าการโจมตีไม่ได้มาจากยูเครน แต่มาจากสหรัฐฯ เอง” พร้อมระบุว่า “รัสเซียและปูตินแสดงจุดยืนที่ชัดเจน และการตัดสินใจของสหรัฐฯ บ่งชี้ถึงการมีส่วนร่วมของวอชิงตันในระดับใหม่ในความขัดแย้ง”
โดยแถลงการณ์ยังระบุว่า “เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลไบเดนที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง ตั้งใจที่จะดำเนินมาตรการเพื่อราดน้ำมันลงในกองไฟ และกระตุ้นให้ความตึงเครียดของความขัดแย้งนี้ทวีความรุนแรงมากขึ้น”
ในขณะที่ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ยังไม่แสดงท่าทีใดๆ แต่ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาเขาเคยประกาศว่า หากสหรัฐฯ ยกเลิกข้อห้ามในการใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลโจมตีรัสเซียก็จะถือว่าเป็น ‘การมีส่วนร่วมโดยตรง’ ของ NATO ในสงครามนี้
ATACMS คืออะไร?
สำหรับระบบขีปนาวุธ ATACMS ที่ผลิตโดยบริษัท Lockheed Martin ถือเป็นระบบขีปนาวุธที่มีความซับซ้อน ใช้เวลาผลิตค่อนข้างนาน และมีหลายเวอร์ชัน ทั้งแบบพิสัยกลาง และพิสัยไกลที่สามารถโจมตีได้ระยะไกลถึง 306 กิโลเมตร ซึ่งสามารถเพิ่มความได้เปรียบในการโจมตีตอบโต้ทัพรัสเซียได้อย่างมากเมื่อเทียบกับอาวุธโจมตีระยะไกลอื่นๆ เช่น ระบบขีปนาวุธ HIMARS ที่โจมตีได้ไกล 80 กิโลเมตร และปืนใหญ่ M777 ที่โจมตีไกล 40 กิโลเมตร
โดยสหรัฐฯ จัดส่ง ATACMS แบบพิสัยกลางแก่ยูเครนตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว ส่วนแบบพิสัยไกลนั้น รัฐบาลไบเดนอนุมัติให้จัดส่งแก่ยูเครนอย่างลับๆ ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนจะเริ่มส่งมอบในเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีข้อจำกัดให้ใช้ภายในดินแดนของยูเครนเท่านั้น
ไบเดนไฟเขียว ‘ช้าไป-น้อยไป’?
ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เซเลนสกีพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ยกเลิกข้อจำกัดในการใช้ ATACMS เพื่อให้กองทัพยูเครนใช้โจมตีนอกพรมแดนยูเครนได้ แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ตอบรับและใช้เวลาพิจารณามาตลอด เนื่องจากมีหลายข้อกังวล ทั้งในแง่ปริมาณระบบขีปนาวุธของกองทัพสหรัฐฯ ที่ลดลง ซึ่งอาจกระทบต่อความพร้อมรบของกองทัพ ตลอดจนข้อกังวลเกี่ยวกับการยกระดับสงคราม
เซเลนสกีเคยหยิบยกประเด็น ATACMS ในการประชุมกลยุทธ์ยุโรปยัลตา (Yalta European Strategy Conference) ที่กรุงเคียฟ เมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา โดยชี้ว่าการที่สหรัฐฯ ส่งมอบ ATACMS ให้จะไร้ประโยชน์หากไม่สามารถนำมาใช้กับเป้าหมายในรัสเซียได้ ซึ่งเขายังกล่าวถึงเรื่องนี้ระหว่างการหารือทวิภาคีกับไบเดนที่ทำเนียบขาวช่วงปลายเดือนกันยายนด้วย
สาเหตุที่ไบเดนตัดสินใจอนุมัติให้ยูเครนใช้ ATACMS ในดินแดนของรัสเซีย ถูกมองว่าเป็นการตัดสินใจที่เร่งด่วน หลังจากที่กองทัพรัสเซียเริ่มส่งทหารเกือบ 50,000 นายไปยังภูมิภาคคุสค์ (Kursk) ทางตอนใต้ ซึ่งเป็นจุดที่ยูเครนส่งทหารข้ามชายแดนบุกยึดไว้ได้ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
โดยภูมิภาคนี้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ยูเครนสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่อรองได้ ซึ่งสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้รัสเซียยึดคืน และ ATACMS จะมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการบุกของกองทัพรัสเซีย
บทวิเคราะห์จาก The Telegraph ชี้ว่า การใช้ ATACMS ในคุสค์จะส่งผลดีทันทีต่อกองกำลังทหารยูเครนในแนวหน้าที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียด โดยนอกจากจะเผชิญกับทหารรัสเซีย ยังมีรายงานว่าทหารเกาหลีเหนืออีกราว 10,000 นาย ถูกส่งไปช่วยรบในภูมิภาคนี้
บทวิเคราะห์ชี้ว่า การที่รัสเซียนำกำลังทหารเกาหลีเหนือมาใช้ อาจเป็นการตอบโต้ในเชิงยุทธศาสตร์ต่อยูเครนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้อาวุธที่ชาติสมาชิก NATO สนับสนุนในการโจมตีเป้าหมายของรัสเซียเท่านั้น
ซึ่งการขยายการใช้ ATACMS ของยูเครนอาจทำให้ปูตินยับยั้งการขอความช่วยเหลือด้านกำลังพลจากเกาหลีเหนือเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังอาจทำให้ยูเครนสามารถโจมตีสนามบินคุสค์ วอสทอชนี (Kursk Vostochny) ซึ่งเป็นฐานทัพที่มีรายงานว่าเป็นที่จัดเก็บเครื่องบินรบ MiG-29 และระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศ Pantsir-S1
ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าสหรัฐฯ จะอนุญาตให้ยูเครนใช้ ATACMS กับเป้าหมายของรัสเซียที่อยู่ห่างจากพื้นที่แนวหน้าบริเวณชายแดนหรือไม่
โดยก่อนหน้านี้รัสเซียย้ายเครื่องบินที่ใช้ทิ้งระเบิดร่อน 90% ออกไปจากระยะโจมตีของ ATACMS แล้ว ขณะที่ฐานทัพอากาศรัสเซีย 17 แห่งและเป้าหมายทางทหารสำคัญอย่างน้อย 250 เป้าหมาย ก็อยู่ภายในรัศมีการโจมตีดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการตัดสินใจของไบเดนอาจมีส่วนผลักดันให้ยูเครนชิงความได้เปรียบในการตอบโต้รัสเซียได้มากขึ้น แต่ก็ยังดูเป็นการปรับเปลี่ยนที่ ‘ล่าช้า’ และ ‘น้อยเกินไป’ สำหรับยูเครนอยู่ดี เนื่องจากพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์จะมาถึงในวันที่ 20 มกราคม 2025 และอาจเป็นไปได้ที่เขาจะใช้อำนาจพลิกคำสั่งของไบเดนในทันที ซึ่งยังไม่แน่ว่าจะส่งผลต่อทิศทางของสงครามยูเครนเช่นไร
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2024/11/17/europe/analysis-biden-atacms-ukraine-intl-latam/index.html
- https://edition.cnn.com/2024/04/24/politics/us-secretly-sent-long-range-missiles-to-ukraine/index.html
- https://www.telegraph.co.uk/news/2024/11/17/biden-permission-to-use-atacms-could-be-coming-too-late/
- https://www.bbc.com/news/live/cjdl98dk40gt
- https://news.sky.com/story/biden-allows-kyiv-to-begin-firing-us-rockets-deep-into-russia-as-politician-warns-it-risks-world-war-three-13255990