วันนี้ (13 กุมภาพันธ์) ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2) เป็นพิเศษ ที่มี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 เพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ทั้งนี้ เวลา 09.39 น. ไชยชนก ชิดชอบ สส. บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นแจ้งต่อที่ประชุมว่า ในฐานะเลขาธิการพรรค และตัวแทนของสมาชิกรัฐสภาในสังกัดพรรคภูมิใจไทยทั้งหมด เราได้พิจารณาแล้วว่าวาระที่จะได้รับการพิจารณาหลังจากนี้อาจผิดและขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงขออนุญาตไม่ร่วมพิจารณา ขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ
จากนั้น นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เรื่องขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 จากการตรวจสอบแล้วมีผู้ลงชื่อถูกต้อง ครบถ้วน จึงอนุญาตให้พิจารณาเป็นเรื่องด่วนตามข้อบังคับที่ 19 พร้อมขอมติจากที่ประชุมว่าจะนำญัตติดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาก่อนระเบียบวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมทั้ง 2 ญัตติที่บรรจุไว้แล้วหรือไม่
จากนั้นประธานรัฐสภาสั่งพักประชุม 15 นาที เพื่อให้วิป 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา ร่วมกันหารือถึงการเสนอญัตติดังกล่าว ส่งมาเมื่อเวลา 08.36 น. ของวันนี้ สมาชิกรัฐสภาจึงยังมีข้อมูลไม่ครบถ้วน ตนเห็นว่าเพื่อประโยชน์ของการประชุม จึงให้พักการประชุม
หลังจากพักการประชุมร่วมรัฐสภา 15 นาที ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า ญัตติด่วนนี้ไปแสตมป์รับกันกี่โมงตนไม่ติดใจ แต่ขอถามเพิ่มเติมว่า หนังสือที่บรรจุระเบียบวาระนี้ต้องเป็นระเบียบวาระเร่งด่วนที่ 3 ตามหลังของ พริษฐ์ วัชรสินธุ และ วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ซึ่งต้องพิจารณาเบื้องต้นก่อนว่าเห็นควรจะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาก่อนหรือไม่
“เราประชุมกัน 2 วัน หลายท่านบอกเตรียมติดกุหลาบกันเลย พรุ่งนี้วาเลนไทน์ในสภา พวกผมเตรียมคนไว้ อาจจะไม่มาก ซึ่งเราตกลงกันไว้ว่าวันนี้จะถึงสี่ทุ่ม พรุ่งนี้จะถึงเที่ยง จึงอยากให้บอกให้ชัดว่าเป็นอย่างไร แต่ไม่อยากให้มีข้อยุติ เพื่อนหลายคนบอกแฟนมาด้วยซ้ำว่าขอเลื่อนมา 2 วัน”
จากนั้น อดิศร เพียงเกษ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คำวินิจฉัยของประธานถือว่าชอบแล้วในการอธิบายว่าการเสนอญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ ถูกขั้นตอน ไม่เสียเวลา
ส่วน พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่มีการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในวันนี้ ขอยืนยันกับพี่น้องประชาชนว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 แก้ไขได้ แต่ถูกประธานรัฐสภาเบรก โดยกล่าวว่า ควรอธิบายว่าจะดำเนินการอนุญาตหรือไม่ อย่างไร ว่าการประชุมวันนี้ชอบหรือไม่ชอบอย่างไร เพราะจะมีคนชี้แจงอีกว่าไม่ชอบอย่างไร ชอบอย่างไร สิ่งที่พูดมานั้นเอาไว้ตอนอภิปราย ถ้าตนไม่ได้พูดวันนี้ คนคิดว่าตนคงไม่พูดแล้ว เพราะตนจะไม่เข้าร่วมประชุมเลย จึงอยากจะอภิปรายสั้นๆ 3 ประการด้วยเหตุผลของ สว.
พิสิษฐ์อภิปรายสั้นๆ แต่ถูกสมาชิกประท้วงว่ายังไม่เข้าญัตติ ประธานรัฐสภาจึงชี้แจงว่า ก่อนจะบรรจุเราได้หารือกับวิป 3 ฝ่ายแล้วว่าจะบรรจุ และพิสิษฐ์ก็อยู่ในที่ประชุม ซึ่งไม่มีใครคัดค้านอะไร แต่การบรรจุวาระรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ เอาไว้พูดกัน ซึ่งต้องพูดยาว แต่ตอนนี้ท่านไม่เห็นด้วยกับการบรรจุ เดี๋ยวอภิปรายได้ ท่านเป็นวิปอยู่แล้ว จะอนุญาตให้ทันที คงเข้าใจเจตนาว่าอยากให้การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
จากนั้นที่ประชุมลงมติว่าจะเสนอญัตติด่วนของ นพ.เปรมศักดิ์ ขึ้นมาพิจารณาก่อนหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 275 ต่อ 247 เสียง ไม่เห็นด้วยที่จะเลื่อนญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ ขึ้นมาพิจารณาก่อน และที่ประชุมต้องเข้าสู่วาระปกติการประชุมในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
พิสิษฐ์แจ้งต่อที่ประชุมว่า เมื่อการประชุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องขอออกจากที่ประชุม ทำให้ สว. หลายคนเดินออกจากห้องประชุม
จากนั้น วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. พรรคประชาชน ขอหารือว่า โดยปกติใครมีธุระต้องออกจากห้องประชุม สามารถทำได้เลย ไม่ต้องแจ้งต่อที่ประชุมก่อน จึงอยากให้ซักซ้อมกับสมาชิกว่าไม่ต้องแจ้งต่อที่ประชุม หากองค์ประชุมครบก็สามารถดำเนินการประชุมต่อได้
นันทนา นันทวโรภาส สว. แสดงความเห็นว่า บรรยากาศที่ห้องประชุมสะท้อนภาพลักษณ์ของวุฒิสภา เราทำอะไรกันอยู่ เมื่อโหวตลงมติแล้วมติเป็นเช่นไรทำไมไม่ยอมรับมตินั้น ทำไมจึงบอกว่าถ้าแพ้มติจะวอล์กเอาต์ เพราะนี่เป็นมติของสมาชิกรัฐสภา และก่อนลงมติก็อภิปรายอย่างกว้างขวางจบสิ้นกระบวนความแล้ว
“เหตุใดเมื่อผลไม่ถูกใจก็วอล์กเอาต์ ตนมองว่าสิ่งนี้เป็นภาพลักษณ์ที่พินาศของรัฐสภาแห่งนี้ นี่คือสถานที่ที่เป็นที่รวมของผู้แทนปวงชน และทำไมเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแต่ไม่ยอมรับกติกานี้ ทำไมไม่ให้เดินไปตามกระบวนการเป็นไปอย่างศักดิ์สิทธิ์ตามที่ประธานรัฐสภาบรรจุด้วยมือของท่านเอง และทุกคนก็มาอภิปรายให้เหตุผลว่าแก้รัฐธรรมนูญไปทำไม”
ส่วนอดิศรอภิปรายว่า มีความเห็นตรงกันหรือตรงข้ามกันเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อมีมติเป็นอย่างไรก็ปฏิบัติตามมตินั้น ส่วนจะพอใจหรือไม่ เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แต่ละพรรค การประชุมนั้นหากพอใจก็ประชุม ถ้าไม่พอใจก็วอล์กเอาต์ เป็นวิธีการที่ใช้มาตั้งแต่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ประธานสภาคนแรก เป็นเรื่องธรรมดา
“ทุกอย่างเป็นเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ผมขอพยากรณ์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ หากมีการพูดต่อไปจะถึงแก่อนิจกรรมในอนาคตอย่างแน่นอน”
จากนั้นเวลา 12.02 น. ประธานรัฐสภาให้สมาชิกแสดงตนนับองค์ประชุมเพื่อลงมติของญัตติด่วน ขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรค 1 (2) ผลปรากฏว่ามีผู้แสดงตนเพียง 204 เสียงจากสมาชิกทั้งหมด ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ประธานรัฐสภาจึงขอเลิกการประชุมในวันนี้ และนัดประชุมใหม่ในอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (14 กุมภาพันธ์) เวลา 09.30 น.