ปฏิเสธไม่ได้อีกแล้วว่าตอนนี้โลกธุรกิจกำลังอยู่ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางด้านเทคโนโลยี ต่อให้องค์กรของคุณเคยเป็นเบอร์หนึ่งของธุรกิจก็ยังต้องสั่นสะเทือน เมื่อ Digital Disruption เข้ามาพลิกโฉมหน้าธุรกิจแบบที่ใครไหวตัวไม่ทันก็อาจจะต้องตกไปอยู่ปลายแถวของธุรกิจ
เพราะอะไรทุกธุรกิจถึงควรตื่นตัว ประเด็นสำคัญอยู่ที่การพลิกโฉมของโมเดลธุรกิจแบบใหม่ และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดอย่างมาก มากขนาดที่ว่าธุรกิจที่เคยยืนหนึ่งยังต้องล่มสลาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและเป็นตัวอย่างที่ Arie van Bennekum, Co-author of Agile Manifesto and Global Thought Leader หนึ่งในผู้คิดค้น Agile และหนึ่งในวิทยากรที่ขึ้นพูดในงาน Beyond Agile by KBTG ยกมาเป็นเคสตัวอย่างก็คือ แบรนด์ Kodak ที่ได้รับผลกระทบจาก Digital Disruption อย่างหนักจากการขาดความเข้าใจตลาดที่เปลี่ยนแปลง และพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป
และยุคของ Digital Disruption ก็ไม่ได้มี ‘เทคโนโลยี’ เป็นตัวแปรสำคัญเท่านั้น องค์ประกอบสำคัญที่ขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปไม่ได้เลยคือ Mindset ของคนทำงาน Mindset ที่พร้อมจะเปลี่ยนรูปแบบและอนาคตของธุรกิจ มันจึงเป็นเรื่องของโมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนไป ความรู้ใหม่ๆ และทักษะที่นักการตลาดยุคนี้ต้องมี
ตอนนี้คุณรู้แล้วล่ะว่าทุกธุรกิจต้องปรับตัว แต่จะปรับเพื่อเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมที่จะสามารถเป็นผู้ชนะอย่างยั่งยืนในยุค Digital Disruption ได้อย่างไร นี่คือโจทย์ที่ KBTG ทำการบ้านอย่างหนัก จนกลายเป็นบทสรุปในรูปแบบของงานสัมมนา Beyond Agile by KBTG โดยมี กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกสิกร-บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป เป็นหัวเรือใหญ่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์จากการทำ Corporate Transformation โดยนำเสนอแนวคิดที่องค์กรเทคโนโลยีชั้นนำจะต้องมีการพัฒนา 18 เรื่อง ใน 4 แกนหลัก ได้แก่ การปรับ Core Fundamentals การพัฒนา Method of Working การทำกระบวนการให้เป็น Automation และการสร้าง Modernization ในด้านเทคโนโลยี โดย Agile จะเข้ามาช่วยองค์กรในเรื่องเพิ่มความเร็วการส่งมอบบริการ (Speed) สร้างคุณค่าให้ธุรกิจ (Value) เพิ่มความโปร่งใสของกระบวนการพัฒนา (Transparency) ลดความเสี่ยง (Risk) และมีลูปในการสะท้อนความเห็นที่ช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจและลูกค้า (Adaptability)
หนึ่งในใจความสำคัญช่วงเริ่มงานสัมมนาที่กระทิงต้องการตอกย้ำคือ “Agile ควรเป็น Big Vision ขององค์กรที่ต้องเปลี่ยนการทำงานภายในให้เกิดผลงานจริงๆ ไม่ใช่แค่ตามกระแสแฟชั่น แต่ต้องเริ่มจากจิตใจ ต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง และถ้าคุณคือเจ้าของบริษัท คุณต้องลุกขึ้นมาช่วยพนักงานเปลี่ยน เพราะพนักงานคือคนสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรเปลี่ยนแปลง” พนักงานในองค์กรจะถูกผลักดันให้ออกจาก Comfort Zone ก้าวเข้าสู่ Fear Zone จากนั้นไปสู่ Learning Zone เรียนรู้กับสิ่งใหม่ ตามด้วยการเข้าสู่ Growth Zone และ Success Zone แล้วจึงเข้าสู่ Comfort Zone ถัดไป
กระทิงยังชี้ให้เห็นว่า แม้แต่องค์กรใหญ่ๆ ที่นำ Agile มาใช้อย่าง KBTG เองก็ยังมอง Agile เป็น Never Ending Journey ที่มีอะไรให้เรียนรู้และศึกษาไม่มีวันจบสิ้น “ยิ่งศึกษายิ่งพบว่า Agile Transformation เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง แท้จริงแล้วมันเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงองค์กรทั้งหมด และใส่ความยืดหยุ่นขององค์กรและความสามารถในการปรับตัวในยุค Digital Disruption”
งานเสวนาครั้งนี้อาจเป็นโอกาสอันดีที่ทุกคนจะลุกขึ้นมา Transformation ประเทศนี้ด้วยกันผ่านการเปลี่ยนแปลงองค์กรและเปลี่ยนแปลงตัวคุณเอง นี่คือสิ่งที่คุณกระทิงสะกิดชวนคนทุกองค์กรให้เริ่มปรับเปลี่ยน “อย่าลืมว่าอยู่ในยุค Digital Disruption ยุคที่ทุกคนต้องปรับตัว ยุคที่ประเทศไทยต้องปรับตัวและมีการเปลี่ยนแปลงไม่มีจุดจบ ดังนั้นถ้าคุณจะเป็นผู้รอดในยุคนี้ ต้องทำให้ความกลัวและความเปลี่ยนแปลงเป็นเพื่อนของคุณ” กระทิงกล่าว
ไฮไลต์ของงานเสวนาครั้งนี้อยู่ที่ 3 วิทยากรระดับโลก ได้แก่ Arie van Bennekum, Co-author of Agile Manifesto and Global Thought Leader หนึ่งในผู้คิดค้น Agile แกนคิดสำคัญในการพาองค์กรปรับตัวไปสู่ยุคใหม่ขึ้นพูดในหัวข้อ Agile and the Future ต่อด้วย Erik Dörnenburg, Head of Technology จาก ThoughtWorks บริษัทผู้ผลักดันการใช้ Agile จนแพร่หลายไปในองค์กรต่างๆ ทั่วโลก ในหัวข้อ Future Software Development with DevOps และ Ken Collins, Director of Information Management & Analytics จาก Microsoft ผู้นำด้านการวิเคราะห์และการจัดการข้อมูล ที่มาเติมเต็มความรู้ ในหัวข้อ Data Science in an Agile Business และนี่คือ 3 บทสรุปเนื้อหาแบบเน้นๆ ของ Agile การบริหารจัดการรูปแบบใหม่ที่ดูเข้าท่าที่สุดต่อการทำงานที่ต้องการความ Productivity มากขึ้น
‘Agile and the Future’
Arie van Bennekum, Co-author of Agile Manifesto and Global
Thought Leader
เมื่อ Agile ไม่ใช่เครื่องมือแต่มันคือคาแรกเตอร์ขององค์กรใหม่ๆ ที่กำลังปรับตัว Arie กล่าวว่า แก่นแกนของ Agile คือการให้ความสำคัญกับการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันที่ดี แทนที่จะมองหาเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพควรไปโฟกัสที่การสื่อสารให้มีประสิทธิภาพของคนในทีมให้ทำงานร่วมกันได้ดี Agile จึงเป็นเรื่องของการบริหารจัดการรูปแบบใหม่ โดยมีโจทย์ที่ว่า จะทำอย่างไรให้องค์กรของคุณพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เปลี่ยนไปเร็วมาก โปรดักต์ออกใหม่เร็วขึ้น และสู้กันในตลาดที่ใหญ่ขึ้น ผู้เล่นระดับโลกเยอะขึ้น ธุรกิจใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดเร็ว ถ้าคุณไม่ไวพอคุณก็ต้องจากไป
Arie เชื่อมั่นว่า Agile นี่แหละที่จะช่วยให้การบริหารงานและองค์กรของคุณทำงานได้เร็วขึ้น ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยคีย์คอนเซปต์ในการทำงานของ Agile จะทำให้เกิด 3 สิ่งคือ Value ต้องเพิ่มขึ้น แทนที่จะทำงานแบบ Waterfall คือผ่านหลายขั้นตอนจากระดับบนลงระดับล่าง ส่งต่องานกันเป็นทอดๆ แต่ไปเน้นการสร้าง Value ให้กับลูกค้าและบริษัทมากกว่าการวุ่นวายกับงานเอกสาร โฟกัสที่ชิ้นงาน ดังนั้นหากจะทำงานให้ไวขึ้นต้องเริ่มปรับปรุงกระบวนการทำงานเสียใหม่ เช่น การลดขั้นตอนการสื่อสารที่ไม่จำเป็นก็ลดความผิดพลาดในการสื่อสารได้อีกด้วย
สิ่งต่อมาที่ควรเกิดขึ้นคือ Agile จะช่วยเพิ่ม Efficiency การทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น ลดการทำงานซ้ำซ้อน การลดขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้ชิ้นงานออกไปสู่ตลาดได้เร็วที่สุด นำไปสู่ฟีดแบ็กจากผู้ใช้ตัวจริงสะท้อนกลับมาให้ไวที่สุด และสุดท้ายงานที่ได้ต้องเพิ่ม Quality หลีกเลี่ยงความผิดพลาดต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น
เริ่มสร้างทีมแบบ Agile ทำได้อย่างไร Arie แนะนำว่าให้เริ่มจากตัวเองก่อนแล้วค่อยๆ เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร หรือในองค์กรของคุณต้องมีคนที่เข้าใจ Mindset ของ Agile และต้องเปลี่ยนการทำงานแบบ Silo หรือการที่แผนกต่างๆ ยังไม่ยอมแลกเปลี่ยนข้อมูลให้กัน ถ้ายังดีไซน์องค์กรแบบนี้ Agile จะไม่เกิดขึ้น
ภารกิจหลังจากนั้นจะเป็นการรักษาองค์กรแบบ Agile ให้ยั่งยืน คนในองค์กรจะต้องมีการแบ่งปันความรู้เรื่องการทำงานและขั้นตอนการทำงานต่างๆ มากขึ้น ยอมรับและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ต้องมี Mindset ที่ว่า ทำอะไรให้ดีขึ้นได้บ้าง Arie ยังบอกอีกว่า งานหนักอาจไปตกอยู่ที่ HR ที่ต้องเปลี่ยนการบริหารจัดการคนรูปแบบใหม่เป็นพัฒนาคนตามความสามารถและความสนใจแทน
‘Future Software Development with DevOps’
Erik Dörnenburg, Head of Technology, ThoughtWorks
ปัจจุบันเทคโนโลยีกับธุรกิจเป็นเรื่องเดียวกัน การทำโปรเจกต์ใดขึ้นมา สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือตรงเวลาและอยู่ในงบประมาณ ประเด็นสำคัญๆ ที่ Erik หยิบยกมาพูดคือ DevOps เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาซอฟต์แวร์ในอนาคตอย่างไร ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับการพัฒนาแอปพลิเคชันและการวิเคราะห์เพื่อผลักดันให้ธุรกิจมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น หากอิงจากสิ่งที่ Arie กล่าวไปถึงแนวทางการทำงานของ Agile แล้วล่ะก็ DevOps ก็เหมือนกับต่อยอดออกมาอีก แต่เป็นการทำงานร่วมกันของฝ่ายไอที Operations และฝ่ายวิศวกรด้านการพัฒนาระบบ ผ่านการออกแบบ พัฒนา ทดสอบ และนำเสนอติดตั้งซอฟต์แวร์ เรียกว่านำหลายปัจจัยในการทำงานทั้งแนวคิด วิธีการ เครื่องมือต่างๆ เพื่อเพิ่มความเร็วและเพิ่มประสิทธิภาพในแง่ของการพัฒนากระบวนการด้านซอฟต์แวร์และการจัดการนั่นเอง
Erik พูดถึง DevOps Culture ว่าคือการทำงานร่วมกันของกลุ่มคน IT 2 กลุ่มที่มีความต้องการทางธุรกิจร่วมกัน นั่นก็คือ Developer นักพัฒนาโปรแกรม (Application Developer) และผู้ดูแลระบบ IT (IT Operations) ซึ่งต้องทำงานร่วมกันเพื่อทำโปรดักต์ให้เกิดประโยชน์กับองค์กรจนเกิด DevOps Culture นั้นเรียกได้ว่าเป็นการสร้าง Mindset ของทั้งสองฝั่งให้ทำงานร่วมกันเพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว คล่องตัวในการออกแบบหรืออัปเดตผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้ง่ายมากขึ้น ง่ายต่อการปรับใช้ สร้าง Productivity ให้องค์กรมีความพร้อมและรวดเร็วขึ้นในการเอานำแอปพลิเคชันขึ้นบน Production และลดความผิดพลาดให้น้อยที่สุด
ข้อดีของ DevOps ในการพัฒนาซอฟต์แวร์คือ นักพัฒนาระบบจะได้รับฟีดแบ็กทันทีจากการทดสอบระบบและจากฝั่งของ Test Tool รวมทั้ง IT นำไปใช้งานจริง และเมื่อเจอโค้ดติดบั๊กก็รู้ได้เร็ว สามารถจัดการได้ทันที หรือทดสอบระบบอะไรก็ทำได้รวดเร็ว แก้เสร็จก็ Deploy ได้เลย
สรุปให้เข้าใจง่ายๆ คือ DevOps น่าจะเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อลดความซับซ้อนในเชิงโครงสร้างของระบบ IT ในการพัฒนาแอปพลิเคชันแบบเดิมๆ ที่ต้องผ่านการประสานงานหลายฝ่าย มุ่งเป้าไปที่ภาพเดียวกัน ลดการทำงานซ้ำซ้อน และดึงศักยภาพของทุกคนมาใช้ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด
อีกหนึ่งประเด็นที่ Erik นำมากล่าวถึงคือ การพัฒนาระบบด้วยแนวคิด Microservices ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับ DevOps ในแง่ที่ว่าการออกแบบสถาปัตยกรรมแบบ Microsevices มีข้อดีคือ มีขอบเขตปัญหาที่เล็ก สามารถสร้างและ Deploy ได้ด้วยตัวเอง ทำงานบน Process ของตัวเองได้ จึงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเทคโนโลยีได้ง่าย แต่เมื่อมันง่าย เล็ก นั่นหมายความว่ามันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงได้บ่อย DevOps จะเข้ามาช่วยลดขั้นตอนการทำงานที่ซับซ้อนได้ คำถามที่ตามมาคือ แล้ว Microsevice กับ SOA ต่างกันอย่างไร ก็น่าจะเป็นเรื่องของขนาดและขอบเขตการทำงาน Microservice ขนาดเล็กกว่า และแต่ละเซอร์วิสจะเป็นอิสระต่อกัน
สรุปคีย์หลักและตัวชี้วัดการทำงาน DevOps จะมาพัฒนาซอฟต์แวร์ในอนาคตจะต้องลด Lead Time ในการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ ให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งอาจจะเร็วได้อย่างน้อยคือ 1 ชั่วโมงทีเดียว Deployment Frequency สามารถจะติดตั้งระบบที่ปรับปรุงใหม่ได้อย่างอิสระทันที ปรับแก้ได้ทันที Mean Time to Restore (MTTR) หรือเวลาเฉลี่ยในการซ่อมระบบก็จะลดต่ำกว่า 1 ชั่วโมง และ Change Failure Percentage หรือเปอร์เซ็นต์ความล้มเหลวในการติดตั้งระบบใหม่ก็ต้องลดเหลือไม่เกินแค่ 0-15%
‘Data Science in an Agile Business’
Ken Collins, Director of Information Management & Analytics, Microsoft
Ken เปิดประเด็นการเสวนาเกี่ยวกับ Data Science ในธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วย Agile โดยชี้ให้เห็นความเกี่ยวเนื่องของ Data Science และ Machine Learning ซึ่ง Data Science เป็นเรื่องของการพัฒนาเพื่อค้นหาข้อมูลเฉพาะท่ามกลางข้อมูลมหาศาล เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก มีคุณภาพ และนำไปซึ่งการแก้ปัญหาต่างๆ ของธุรกิจได้อย่างตรงจุด โดยใช้อัลกอริทึมทางด้าน Machine Learning มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
สิ่งที่ทำให้ Data Science มีความพิเศษกว่า Machine Learning คือ Data Science ต้องใช้มนุษย์ในการวิเคราะห์ข้อมูลและตีความควบคู่ไปด้วย ในขณะที่ Machine Learning เป็นเพียงเครื่องมือในการคาดการณ์จากข้อมูลแล้วประเมินผลออกมาเป็นคำตอบ แต่อย่างไรเสีย Machine Learning ก็ยังมีความจำเป็นอยู่ เนื่องจากกระบวนการทั้งหมดของ Machine Learning ให้คำตอบเร็วกว่ามนุษย์ แล้วถึงค่อยส่งต่อให้ Data Science ย่อยข้อมูลที่มีคุณภาพนำไปใช้งานได้ทันที ทั้งนี้การทำงานเกี่ยวเนื่องกันของ Data Science และ Machine Learning ต้องนำไปสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลง 4 เรื่องหลักๆ คือ
- Empower Employees การทำงานของพนักงานต้องเปลี่ยนไป
- Optimize Operations การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
- Transform Products ผลิตภัณฑ์จะต้องถูกเปลี่ยนแปลง
- Engage Customers ธุรกิจต้องเข้าถึงลูกค้าด้วยช่องทางและการสื่อสารรูปแบบใหม่ๆ
Ken ชี้ให้เห็นว่า เมื่อธุรกิจขับเคลื่อนด้วย Data Science คำนิยามหลายๆ อย่างในโลกของข้อมูลก็เปลี่ยนไป จากเดิมเรามีระบบ Centralized หรือระบบที่มีศูนย์กลางการดูแลข้อมูลอยู่ที่เซิร์ฟเวอร์กลางทั้งหมด ตอนนี้ Data is Everywhere หรือข้อมูลจากการวิเคราะห์อยู่ในรูปของ Workflow
แล้วสกิลแบบไหนที่ Data Scientist ต้องการ Ken อธิบายว่า มันมีทักษะพื้นฐานที่พบเห็นได้ชัดเจนในคนที่เข้ามาทำงานด้านนี้ อาทิ ทักษะด้านคณิตศาสตร์ การเขียนโปรแกรม ความรู้ด้านธุรกิจ ทักษะการสื่อสาร การวิเคราะห์ข้อมูล หรือแม้แต่แนวคิดในการบริหารองค์กรแบบ Agile แต่สิ่งหนึ่งที่ Ken บอกว่าเป็นหัวใจสำคัญของการเป็น Data Scientist และหลายคนมักจะหลงลืมคือ ทักษะ Visualization หรือการนำข้อมูลมากมายมหาศาลมาวิเคราะห์และแสดงข้อมูลเป็นภาพให้เข้าถึงง่าย เพื่อลดความผิดพลาดในการทำงาน
สิ่งที่ได้เรียนรู้จาก 3 วิทยากรระดับโลกในงานเสวนาครั้งนี้น่าจะทำให้นักธุรกิจหรือองค์กรที่มองหาทางเลือกในการปรับตัวให้อยู่รอดในยุค Digital Disruption เห็นแนวทางชัดขึ้น คีย์หลักของการปรับองค์กรน่าจะอยู่ที่การปรับ Mindset ให้ทันความต้องการของตลาด เมื่อวิธีคิดเปลี่ยน วิธีการทำงานก็เปลี่ยน ที่เหลือก็แค่เลือกแนวทางการทำงานที่เหมาะสมกับธุรกิจของคุณที่สุด
ถ้า Agile คือแนวทางที่คุณเลือก โบนัสที่คุณจะได้จากการปรับแนวทางครั้งนี้ไม่ใช่เพียงกำไรที่ได้จากธุรกิจ แต่ Agile ยังช่วยปรับแนวคิดเรื่องความความรับผิดชอบ มุ่งเน้นไปที่เป้าหมายการทำงานเพื่อให้วิถีชีวิตของคนทำงานดีขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องผลงาน แต่คือความสุขของคนในทีม เพราะไม่ว่ายุคไหน การตลาดจะเป็นเช่นไร คนทำงานย่อมสำคัญต่อการทำงานที่สุด
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า