×

คกก.โรคติดต่อ กทม. เข้มระวังโรคไข้เลือดออก-เน้นกลุ่ม 608 สวมหน้ากากอนามัยป้องกันโรคติดต่อ ฝุ่น PM2.5

โดย THE STANDARD TEAM
26.10.2022
  • LOADING...
โรคติดต่อ

วานนี้ (25 ตุลาคม)​ ที่ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 12/2565 

 

ที่ประชุมรายงานความก้าวหน้าแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง รวมทั้งระบบการรายงานและการเฝ้าระวังโรคโควิดได้รายงานผ่านระบบ API และ EPI-Net แยกตามสังกัด เพื่อให้ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด ภายหลังประกาศเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยสำนักอนามัยจะนำไปดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฝึกซ้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข

 

สถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญในระยะนี้ มี 6 กลุ่มโรค ประกอบด้วย  

 

  1. โรคโควิด ซึ่งทั่วโลกและประเทศไทยมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโควิดและผู้เสียชีวิตลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ เน้นเฝ้าระวัง Sentinel ตรวจจับการระบาดของโรคในกลุ่มเสี่ยง ติดตามสายพันธุ์กลายพันธุ์ และรณรงค์เพื่อฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทุก 4-6 เดือนต่อไป เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการป่วยหนัก 

 

  1. โรคฝีดาษลิง ทั่วโลกมีแนวโน้มพบผู้ป่วยรายใหม่ลดลง สำหรับประเทศไทย เน้นสื่อสารให้ความรู้ในการป้องกันตนเองของกลุ่มเสี่ยงที่ทำงานให้บริการ ทั้งในสถานบันเทิง สถานบริการ และก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ 

 

  1. โรคไข้เลือดออก ในปัจจุบันประเทศไทยยังมีผู้เสียชีวิต ซึ่งปัญหาที่พบในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก คือการจัดการสิ่งแวดล้อม ขยะ และภาชนะเหลือใช้ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายจำนวนมาก แนวทางการแก้ไข คือ 

 

1) ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ประชาชนในการจัดการสิ่งแวดล้อม และการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้านตนเอง ตามหลัก 5 ป.  

 

2) จัดกิจกรรมรณรงค์ เช่น การรณรงค์ตามกิจกรรมจิตอาสา รณรงค์ Big Cleaning Week โดยใช้การมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่าย 

 

3) สื่อสารความเสี่ยง ทำประชาคมในชุมชน ชี้แจงสถานการณ์ ให้สุขศึกษาและกำหนดมาตรการร่วมกัน 

 

4) สร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการสิ่งแวดล้อมและขยะชิ้นใหญ่ รวมถึงการให้ประชาชนมีความตระหนักถึงโรคไข้เลือดออกและความรุนแรงของโรค อาทิ ถ้ามีไข้สูง กินยาลดไข้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้ตระหนักว่าเป็นโรคไข้เลือดออก ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อรับการรักษาและลดอัตราการเสียชีวิต พร้อมการประชาสัมพันธ์การจัดการลูกน้ำยุงลาย (5 ป.) อย่างต่อเนื่อง

 

  1. โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) จำนวนผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 23 ตุลาคม 2565 เปรียบเทียบกับปี 2564 มัธยฐานปี 2560-2564 ซึ่งในเดือนสิงหาคม 2565 มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นจากปี 2564 แต่ขณะนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

 

  1. โรคมือเท้าปาก ข้อมูลการระบาดของโรคมือเท้าปากในสถานศึกษาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 – ปัจจุบัน มีผู้ป่วยรวม 102 คน

 

  1. โรคไข้หวัดใหญ่ จำนวนผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ เดือนสิงหาคม มีจำนวน 1,011 ราย เดือนกันยายน มีจำนวน 2,686 ราย และตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 23 ตุลาคม มีจำนวน 1,389 ราย

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบเรื่องการรณรงค์ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ของ กทม. เพื่อให้กลุ่ม 608 ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ ผู้มีความเสี่ยงที่จะรับเชื้อได้ง่าย เด็ก และผู้สูงอายุ สวมหน้ากากอนามัยอย่างต่อเนื่องเมื่ออยู่ในสถานที่สาธารณะและสถานที่ที่มีความเสี่ยง เพื่อป้องกันการรับเชื้อจากผู้อื่น และป้องกันการแพร่เชื้อของตนเองไปสู่ที่สาธารณะ นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ได้อีกด้วย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising