×

เบทาโกร ชง 2 ข้อเสนอรัฐบาล ดีลเจรจาภาษีสหรัฐฯ หวั่นนำเข้าสุกรทำลายอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ในไทย ต้องมีมาตรการดูแลผู้เลี้ยงสุกรในไทย

09.04.2025
  • LOADING...
betagro-us-tariff

กรณีที่รัฐบาลประกาศมาตรการรับมือกับนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่เก็บกับประเทศไทยอัตรา 36% โดยมีแนวทาง 5 แผนงานในการเตรียมเจรจากับสหรัฐฯ และหนึ่งในนั้นคือ แนวทางการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น โดยเน้นสินค้าที่ประเทศไทยมีความต้องการใช้ในประเทศ เช่น สินค้าเกษตร และเครื่องในสุกร รวมทั้งสินค้าพลังงาน 

 

วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ในฐานะผู้ประกอบการเอกชนผู้เลี้ยงสุกรกับไก่ในประเทศไทยมีความกังวลในกรณีที่ประเทศไทยจะนำเข้ากลุ่มสินค้าเกษตร เช่น กลุ่มชิ้นส่วนสุกรจากสหรัฐฯ มองว่ารัฐบาลควรมีมาตรการป้องกันดูแลที่เหมาะสม เนื่องจากต้องยอมรับว่าต้นทุนในการเลี้ยงสัตว์หรือสุกรของเกษตรกรไทยมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับต้นทุนการเลี้ยงสุกรของสหรัฐฯ

 

ขณะที่สหรัฐฯ มีความพยายามที่จะผลักดันส่งออกชิ้นส่วนของสุกรที่ราคาถูกออกมาขายตลาดต่างประเทศ

 

ดังนั้น หากประเทศไทยไม่มีมาตรการในการปกป้องดูแลเกษตรกรไทยหรือเอสเอ็มอีไทยผู้เลี้ยงสัตว์ให้มีความแข็งแรง โดยหากมีการนำเข้าชิ้นส่วนสุกรเหล่านี้เข้ามาจากสหรัฐฯ ก็จะมีผลกระทบเชิงลบต่อระบบโครงสร้างการเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทย

 

ข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัย กรณีสหรัฐฯ ใช้สารเร่งเนื้อแดงเลี้ยงสุกร

 

นอกจากนี้การเลี้ยงสุกรของสหรัฐฯ ยังมีการใช้สารเร่งเนื้อแดง ส่งผลให้ยังมีการตั้งคำถามถึงความปลอดภัยในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของสหรัฐฯ ซึ่งสารเร่งเนื้อแดงถือเป็นสารเคมีที่สหรัฐฯ มีการพัฒนาขึ้นมาเองจึงมีความพยายามโปรโมตในการใช้สารเคมีดังกล่าว อีกทั้งผลการวิจัยทางการแพทย์ของสารเคมีเร่งเนื้อแดงที่ผ่านมายังไม่มีความชัดเจน ดังนั้นในระยะสั้นเห็นว่ารัฐบาลจึงควรที่จะให้ความสำคัญในประเด็นนี้ด้วย

 

“สมาคมผู้เลี้ยงสุกร ได้มีการรวมตัวเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อชี้แจงให้ข้อมูลรัฐบาลว่าการนำเข้าชิ้นส่วนของสุกรของสหรัฐฯ ที่ต้นทุนการเลี้ยงที่ต่ำมาไทยอาจจะเป็นการทำลายอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์โปรตีนภายในประเทศไทย ซึ่งจะมีการเสนอแนวทางว่าควรจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้มีผลกระทบเลี้ยงสุกรของไทย”

 

ปัจจุบันสหรัฐฯ มีการเลี้ยงสุกรหรือมีการเลี้ยงสัตว์สำหรับเพื่อใช้บริโภคเนื้อในปริมาณที่ค่อนข้างสูงกว่าประเทศไทยค่อนข้างมาก โดยเปรียบเทียบได้จากสหรัฐฯ ที่มีจำนวนแม่พันธุ์สุกรถึงประมาณ 6-10 ล้านตัว เปรียบเทียบกับประเทศไทยที่มีแม่พันธุ์สุกรอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านตัว ส่งผลให้สหรัฐฯ จะมีกำลังการผลิตของสุกรในประเทศที่มีออกมาจำนวนค่อนข้างมากอีกทั้งยังมีความได้เปรียบในแง่ของต้นทุนการเพาะเลี้ยงที่ต่ำกว่าประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ

 

ประกอบกับการบริโภคสุกรในสหรัฐฯ จะนิยมบริโภคเฉพาะชิ้นส่วนที่มีราคาแพงของสุกร โดยส่วนที่เหลือ เช่น ไหล่กับสะโพกสุกร จะมีการบริโภคในสหรัฐฯ ที่น้อย ส่งผลให้มีความพยายามผลักดันส่งออกเป็นสินค้าอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ไปยังตลาดอื่นๆ ทั่วโลก รวมถึงพยายามผลักดันให้ประเทศไทยเปิดตลาดนำเข้าชิ้นส่วนของสุกรดังกล่าว

 

อย่างไรก็ดีประเทศไทยไม่สามารถเปิดรับนำเข้าชิ้นส่วนไหล่กับสะโพกสุกรจากสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากมีโครงสร้างต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าประเทศไทยค่อนข้างมาก ดังนั้นหากมีการนำเข้าชิ้นส่วนดังกล่าวเข้ามามองว่าจะเป็นความเสี่ยงกระทบต่อภาคเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรของไทยไม่สามารถดำเนินธุรกิจเลี้ยงสุกรต่อไปได้เพราะไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้

 

“ข้อแรกต้องยอมรับว่าต้นทุนการผลิตการเพาะเลี้ยงสุกรของไทยยังถือว่ามีสเกลที่เล็กมากเมื่อเทียบกับของสหรัฐฯ ข้อสองเราต้องพึ่งพากันนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศที่ค่อนข้างสูงทำให้ต้นทุนในการเพาะเลี้ยงของเรายังสูงเมื่อเปรียบเทียบกับของสหรัฐ”

 

ชง 2 ข้อเสนอลดผลกระทบผู้เลี้ยงสุกรในไทย

 

สำหรับข้อเสนอต่อภาครัฐบาลในการเจรจากับสหรัฐฯ โดยที่ผ่านมาได้สื่อสารข้อมูลผ่านไปยังสมาคมผู้เลี้ยงสุกรกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แล้วมีดังนี้

 

  1. หากประเทศไทยมีการนำเข้าวัตถุดิบข้าวโพดหรือกากถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ เพื่อนำมาใช้ในการผลิตอาหารสัตว์มากขึ้น มองว่าจะเป็นการลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ได้ค่อนข้างมากแล้ว

 

  1. หากมีความจำเป็นในการนำเข้าชิ้นส่วนของสุกรบางส่วนอาจจำเป็นจะเลือกนำเข้าเฉพาะในส่วนที่ประเทศไทยมีการผลิตที่ไม่เพียงพอและขาดแคลนแบบเฉพาะเจาะจงเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อภาพรวมของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงและผู้ประกอบการเอกชนของไทย เช่น กลุ่มชิ้นส่วนที่นำมาใช้ในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงหรืออาหารสุนัขเพื่อใช้ผลิตเป็นสินค้าส่งออก เช่น เครื่องในของสัตว์ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการควบคุมการนำเข้าที่มีความถูกต้องเพื่อลดผลกระทบต่อภาคเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ของไทย

 

สำหรับปัจจุบันภาพรวมการเพาะเลี้ยงสุกรภายในประเทศถือว่ามีปริมาณการผลิตที่มีความสมดุลต่อความต้องการบริโภคในประเทศ ดังนั้นหากมีการนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐฯ มายังไทย ส่งผลให้มีอุปทานส่วนเกินเกิดขึ้นในประเทศไทย จึงมีความกังวลว่าจะมีผลกระทบโครงสร้างการเพาะเลี้ยงและผลิตสุกรในประเทศได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

 

มองนำเข้า ‘ข้าวโพด-กากถั่วเหลือง’ จากสหรัฐฯ เป็นบวก

 

วสิษฐกล่าวต่อว่า ในกรณีที่มีการนำเข้าข้าวโพดกับกากถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ ถือว่าเป็นมุมบวกต่อผู้ประกอบการเลี้ยงสุกรในประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลมีการประกันราคาข้าวโพดในประเทศไทย และมีการกำหนดโควตานำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้ปัจจุบันประเทศไทยมีต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงกว่าประเทศในภูมิภาค

 

ดังนั้นการนำเข้าข้าวโพดกับกากถั่วเหลืองเข้ามาจากสหรัฐฯ จะเป็นประโยชน์ ช่วยให้ผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์หรือเกษตรกรไทยจะมีต้นทุนข้าวโพดหรือกากถั่วเหลืองที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ที่ต่ำลง อีกทั้งมีปริมาณที่ใช้เพียงพอมากขึ้น

 

โดยสหรัฐฯ ถือเป็นประเทศที่มีการเพาะปลูกข้าวโพดกับถั่วเหลืองในปริมาณที่สูงมากกว่าความต้องการใช้ในประเทศ จึงมีความพยายามต้องการผลักดันการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังในตลาดต่างประเทศทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น

 

ขณะที่กลุ่มประเทศในเอเชียหลายประเทศมีการนำเข้าข้าวโพดกากถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ อยู่หลายประเทศ เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบหลักใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น เวียดนาม มีการนำเข้าข้าวโพด เป็นสัดส่วน 100% ที่ของที่ใช้ในประเทศ รวมถึงฟิลิปปินส์กับญี่ปุ่น มีการนำเข้ามาเช่นกันเพื่อใช้ผลิตเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงภายในประเทศ ส่งผลให้กลุ่มประเทศดังกล่าวมีต้นทุนอาหารสัตว์ที่เลี้ยงภายในประเทศต่ำกว่าต้นทุนอาหารสัตว์ของประเทศไทยที่รัฐบาลมีการประกันราคาข้าวโพด

 

นอกจากนี้ หากรัฐบาลไทยดำเนินนโยบายให้ภาคปศุสัตว์มีต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ที่ใกล้เคียงกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย ก็จะเป็นข้อได้เปรียบของประเทศไทยในการเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคเนื้อ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีความสามารถของระบบสัตว์หรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคเนื้อของประเทศไทยถือว่ามีคุณภาพดีกว่ากลุ่มประเทศดังกล่าวมายาวนาน ดังนั้นหากมีต้นทุนการเพาะเลี้ยงต่ำลงได้ ก็จะส่งผลให้ประเทศไทยมีโอกาสที่จะยกระดับเป็นฮับในการผลิตและส่งออกเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภคไปยังในภูมิภาคนี้ได้

 

เบทาโกรระบุ สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าไทยไม่กระทบ

 

สำหรับเบทาโกรไม่ได้รับผลกระทบทางตรงจากการที่สหรัฐฯ เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไทย เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีการจำหน่ายเนื้อสุกรและไก่อยู่ในประเทศเป็นหลักประมาณ 80% ของยอดขายทั้งหมดส่วนที่เหลืออีกประมาณ 20% ส่งออกไปขายในยุโรปกับเอเชีย และไม่มีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ 

 

อย่างไรก็ดี มีความเชื่อมั่นว่าหน่วยงานภาครัฐรวมถึงภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมในการเจรจาของกับสหรัฐฯ จะมีแนวทางขั้นตอนการเจรจาในการจัดการดูแลในเรื่องดังกล่าวเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศไทยให้ถูกกระทบได้

 

นอกจากนี้ยังมีมุมมองเชิงบวกในภาคอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์เพื่อการส่งออกเนื่องจากล่าสุดจีนไม่มีการยกเลิกการนำเข้าชิ้นส่วนไก่จากสหรัฐฯ ส่งผลให้จะมีดีมานด์บริโภคจากจีนมากขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มราคาไก่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งตลาดญี่ปุ่นและยุโรปมีความต้องการสินค้าจากไทยที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising