หากเราพูดชื่อ LCD Awards ขึ้นมา คุณคงไม่คุ้นหูและพานคิดไปว่าเจ้ารางวัลนี้เขาแจกสำหรับผู้ผลิตจอ LCD ยอดเยี่ยมหรือเปล่า? เราขอบอกว่าไม่ใช่ แต่ LCD Awards นั้นเกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่เห็นคุณค่าในเรื่องของศิลปะและวัฒนธรรมกลุ่มหนึ่ง ที่รวมตัวกันจัดงานแจกรางวัลให้กับพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการ และงานศิลปะที่จัดแสดงอยู่ทั่วทุกมุมโลก โดยในปีนี้ก็มีหนึ่งสถานที่ในบ้านเราที่เข้าไปติดโผและคว้ารางวัลมาได้ด้วยนะจะบอกให้
LCD เป็นตัวย่อขององค์กรที่มีชื่อว่า Leading Cultural Destination เป็นกลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวกันของภัณฑารักษ์ นักท่องโลก กลุ่มคนรักงานศิลปะ และนักสำรวจวัฒนธรรมในประเทศอังกฤษจำนวน 15 คน พวกเขาใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปะและวัฒนธรรมอย่าง พิพิธภัณฑ์ หรือนิทรรศการเจ๋งๆ เพื่อนำมาปรับเปลี่ยนและนำเสนอข้อมูลในรูปแบบต่างๆ เช่น งานเขียนในนิตยสารขององค์กรของพวกเขาอย่าง LCD Magazine โดยยึดหลักเป็นคอนเซปต์เดียวกันที่ว่า ‘Once in a Lifetime’ กล่าวคือ ประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมที่ครั้งหนึ่งในชีวิตคุณควรได้ไปเยี่ยมเยือนสัมผัสสักครั้ง
นอกจากพวกเขาจะเขียนหนังสือแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่พวกเขาเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะต้องมีนั่นคือ ‘การแจกรางวัล’ เนื่องจากพวกเขาท่องเที่ยวกันมาแล้วทั่วโลก และเล็งเห็นว่ามีสถานที่ท่องเที่ยวหรือจุดน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับศิลปะและวัฒนธรรมเกิดขึ้นใหม่ๆ เสมอ พวกเขาจึงเริ่มต้นการแจกรางวัล LCD Awards ขึ้นมา โดยจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2014 ซึ่งในปีนี้ก็ถือว่าเป็นครั้งที่ 4 แล้ว และมีความน่าสนใจอย่างมากในทุกๆ ประเภทรางวัลที่พวกเขาแจก
ขั้นตอนการแจกรางวัลนั้นไม่ซับซ้อนแต่อย่างใด เพราะพวกเขาจะรวบรวมข้อมูลของแหล่งศิลปะวัฒนธรรมทั้งหมดมาตัดสิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อมูลจากการท่องเที่ยวของพวกเขาเอง บ้างก็เป็นชื่อที่ถูกเสนอขึ้นมาจากสถานเอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ หรือเป็นสถานที่ที่ถูกแนะนำเข้ามาจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านทรัพยากรวัฒนธรรม โดยไม่แบ่งแยกว่าสถานที่เหล่านั้นจะเป็นพิพิธภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ เชิงวัฒนธรรม หรือเชิงศิลปะล้วนๆ ก็ตาม
ในการให้คะแนน ทาง LCD ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญในเรื่องของเนื้อหาหรือความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์แต่เพียงเท่านั้น พวกเขายังมองถึงบริบทโดยรอบอย่างสถาปัตยกรรมหรือส่วนประกอบภายในต่างๆ เช่น ร้านค้าของที่ระลึก การออกแบบที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และด้วยความเข้มข้นของข้อมูลเช่นนี้เอง พวกเขาจึงกล้าที่จะขนานนามรางวัลนี้ของตัวเองว่าเป็น ‘ออสการ์ของวงการพิพิธภัณฑ์’ โดยในปี 2017 นี้ พวกเขาจัดประเภทรางวัลออกเป็น 6 สาขาหลัก ได้แก่
1. The Leading Culture Destination of the Year Award
รางวัลนี้พวกเขาแบ่งย่อยลงไปให้คะแนนในมุมมองอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่การจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ โดยแจกให้กับพิพิธภัณฑ์ที่มียอดจำหน่ายตั๋วเข้าชมสูงที่สุด สถาปัตยกรรมที่สวยที่สุด ร้านอาหารภายในพิพิธภัณฑ์ที่อร่อยที่สุด ร้านค้าภายในพิพิธภัณฑ์ที่มีของที่ระลึกอันสวยงามที่สุด และเทคโนโลยีที่นำเข้ามาใช้กับการจัดแสดงได้ดีที่สุด โดยเจ้าของรางวัลนิทรรศการยอดเยี่ยมแห่งปีที่มียอดจำหน่ายตั๋วเข้าชมสูงที่สุดตกเป็นของคุณป้ายาโยย คุซามะ กับนิทรรศการ Infinity Mirrors at Hirshhorn Museum ที่จัดแสดงในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา
2. Best New Museum of the Year Award
สาขารางวัลที่ให้รางวัลกับพิพิธภัณฑ์เปิดใหม่ในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมา โดยให้รางวัลแบ่งออกตามภูมิภาคทั้งในเอเชียแปซิฟิก ยุโรป ตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ และลาตินอเมริกา
3. The Traveller’s Award
รางวัลที่มาจากการโหวตของนักท่องเที่ยว ซึ่งในสาขาย่อยมีการให้รางวัลกับ ‘Art Hotel’ ที่รวบรวมมาจากทั่วโลกอีกด้วย
4. Soft Power Destination of the Year Award
รางวัลนี้มีความน่าสนใจที่เขาจะแจกให้กับกลุ่มกิจกรรมท้องถิ่นหรือเมืองที่น่าสนใจ ซึ่งต้องมีท่าทีหรือแนวโน้มจะเป็น ‘อำนาจอ่อน’ (Soft Power คือ แนวคิดที่ว่าด้วยกลุ่มก้อนทางสังคมที่สามารถจูงใจหรือเปลี่ยนแปลงความคิดและความนิยมได้ในอนาคต แปลง่ายๆ คือ มีความน่าสนใจและมีแนวโน้มที่จะโดดเด่นได้ทั้งในแง่การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ หรือสร้างแรงขับเคลื่อนเบาๆ ให้กับพื้นที่นั้นๆ แหม…ยากจัง) โดยแบ่งออกเป็นรางวัลย่อยถึง 3 รางวัล ทั้งเขตศิลปวัฒนธรรมยอดเยี่ยม องค์กรยอดเยี่ยม และกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมยอดเยี่ยม
5. Climate Smart Award
เริ่มต้นแจกรางวัลนี้เป็นครั้งแรกในปีนี้ โดยพุ่งตรงไปที่เรื่องราวของพิพิธภัณฑ์ใดๆ ก็ตามที่พูดถึงสภาวะอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงสภาพแวดล้อมของอาคารที่ออกแบบมาอย่างเข้าใจสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
6. Best Museum Late Night Experience
รางวัลที่แจกให้กับพิพิธภัณฑ์ที่โดดเด่นในเรื่องการเข้าเยี่ยมชมในตอนกลางคืน
ที่น่าชื่นใจสำหรับบ้านเราคือ MAIIAM Contemporary Art Museum หรือ ‘ใหม่เอี่ยม’ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยในจังหวัดเชียงใหม่ ได้เข้าชิงในสาขา Best New Museum of Asia Pacific (พิพิธภัณฑ์ใหม่ยอดเยี่ยมแห่งปีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก) โดยในสาขานี้มีผู้เข้าชิงทั้งหมด 3 แห่ง โดยอีกสองแห่งคือ Fosun Foundation ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และ Jiangsu Art Museums ในเมืองหนานจิง ประเทศจีน โดย ใหม่เอี่ยม ชนะรางวัลนี้ได้ด้วยความโดดเด่นทั้งในเรื่องของสถาปัตยกรรม นิทรรศการที่หยิบยกขึ้นมาจัดแสดง และสภาพแวดล้อมโดยรวมของสถานที่
ที่แน่ๆ ตอนนี้คุณคงรู้จัก LCD Awards หรือ ‘ออสการ์ของวงการพิพิธภัณฑ์’ กันแล้ว ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการเติมสีสันให้กับวงการพิพิธภัณฑ์และศิลปวัฒนธรรมโลกอย่างแท้จริง แต่ที่ไม่แน่คือ เราไม่รู้ว่าในปีหน้าจะมีพิพิธภัณฑ์ไหนในบ้านเราได้เข้าชิงรางวัลกับเขาอีกบ้างหรือเปล่า อันนี้ต้องติดตามชม
อ้างอิง:
- viestramagazine.com/leading-culture-destinations-awards-winners-announced-for-p378-167.htm
- www.lcdawards.com
- Soft Power คือแนวคิดของ โจเซฟ นาย (Joseph Nye) นักวิทยาศาสตร์การเมืองจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นแนวคิดที่ว่าด้วยกลุ่มก้อนทางสังคมที่สามารถจูงใจหรือเปลี่ยนแปลงความคิดและความนิยมได้ในอนาคต โดยในครั้งแรกที่มีการพูดถึงแนวคิดนี้ โจเซฟมองเพียงแค่บริบททางการเมือง แต่ในปัจจุบัน Soft Power สามารถนำมาอธิบายในเชิงเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวได้เช่นกัน
- กรรมการในการตัดสินรางวัลนี้ใช่ว่าจะเป็นคนสายงานด้านพิพิธภัณฑ์ไปเสียหมด เพราะกลุ่มกรรมการผู้ตัดสินมีตั้งแต่นักเขียน นักออกแบบเครื่องประดับ ช่างภาพ ผู้กำกับภาพยนตร์ นักวางแผนทรัพยากร หรือแม้แต่ฟู้ดสไตลิสต์ ซึ่งมาจากหลากหลายประเทศทั่วโลกจากทุกทวีป
- ไม่ใช่แค่พวกเขาที่เคลมรางวัลตัวเองว่าเป็น ‘ออสการ์ของวงการพิพิธภัณฑ์’ แต่กลุ่มสื่อมวลชนเองก็ให้ความหมายเช่นนั้น Conde Nast Traveler นิตยสารท่องเที่ยวระดับโลกเองก็กล่าวว่าพวกเขาคือ ‘Museum Oscars’ หรืออย่าง Monocle ก็กล่าวว่า ‘A new way in for the arts to reach the next generation of travellers’ แปลว่า ‘รางวัลนี้คือหนทางใหม่ของงานศิลปะที่จะเข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวในเจเนอเรชันถัดๆ ไป’