ความวายวอดของ อีลอน มัสก์ ซีอีโอแห่ง Tesla, SpaceX และ Twitter ซึ่งกลายเป็นบุคคลแรกในประวัติศาสตร์ที่สูญเสียทรัพย์สินรวมไปมากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ในระยะเวลาแค่ไม่นาน ได้กลายเป็นการเปิดทางให้แก่มหาเศรษฐีคนใหม่ที่ก้าวขึ้นมาครองตำแหน่ง ‘คนรวยที่สุดในโลก’ แทน
บุคคลดังกล่าวคือ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของกลุ่ม Moët Hennessy Louis Vuitton หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘LVMH’ เจ้าของแบรนด์สินค้าระดับลักชัวรีที่เป็นที่ปรารถนาของสาวกทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Louis Vuitton, Tiffany & Co., Christian Dior และอีกมากมายในหลายหลากประเภทสินค้ารวมแล้วกว่า 70 แบรนด์
นิตยสาร Forbes และ Bloomberg ได้ประกาศให้อาร์โนลด์ในวัย 73 ปี กลายเป็นบุคคลผู้รำ่รวยที่สุดของโลกคนใหม่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยตามการประเมินจาก Forbes แล้ว ทรัพย์สินรวมของเขามีมูลค่าที่ราว 1.91 แสนล้านดอลลาร์ หรือกว่า 6.4 ล้านล้านบาท ในขณะที่ Bloomberg ประเมินไว้ที่ 1.72 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 5.73 ล้านล้านบาท
ชายผู้เป็นเจ้าแห่งลัทธิความหรูหราคนนี้เป็นใครมาจากไหน บางทีเราก็ควรจะทำความรู้จักเรื่องราวของเขาเอาไว้เหมือนกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- ‘เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์’ ขึ้นแท่นมหาเศรษฐี รับข่าวค้นพบวัคซีนดันกำลังซื้อแบรนด์หรูพุ่ง
- ‘อีลอน มัสก์’ เสียแชมป์มหาเศรษฐีระดับโลกให้ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ ในชั่วข้ามคืน หลังราคาหุ้น Tesla ร่วง
- มีดีตรงไหน? เปิดนัยสำคัญเรื่องเชื้อชาติผู้บริหาร จาก Microsoft ถึง Starbucks ที่เลือก ‘ซีอีโอใหม่’ เป็น ‘คนอินเดีย’ อย่าง สัตยา นาเดลลา และ ลักซ์แมน นาราซิมฮัน
วิศวกรผู้ฝันถึง Christian Dior
เส้นทางชีวิตของ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ สู่การเป็นพระราชาแห่งวงการสินค้าแบรนด์เนมนั้นไม่ได้เริ่มต้นที่การค้าขายในตระกูลที่ร่ำรวย หรือการมีแรงบันดาลใจจากข้าวของสวยหรูอะไร
ในทางตรงกันข้าม เขาไม่ได้มีพื้นเพอะไรทำนองนี้เลยด้วย เพราะเติบโตในครอบครัวที่ทำธุรกิจด้านวิศวกรรมโยธาที่ก่อตั้งมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ ซึ่งอาร์โนลต์ก็ร่ำเรียนทางด้านนี้มาโดยตรงเพื่อจะรับช่วงกิจการต่อจากพ่ออีกทอดหนึ่ง แต่ได้ตัดสินใจเปลี่ยนธุรกิจของครอบครัวจากงานด้านวิศวกรรมโยธามาเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แทน
อาร์โนลต์ทำมาค้าขึ้นในธุรกิจด้านนี้ แต่ชีวิตต้องถึงคราวระหกระเหินเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจภายในประเทศฝรั่งเศส จนทำให้ต้องพาครอบครัวไปทำธุรกิจในสหรัฐอเมริกาในปี 1981 ก่อนที่จะกระเตงกันกลับมาบ้านเกิดอีกครั้งเมื่อทราบว่า Boussac ยักษ์ใหญ่ด้านสิ่งทอของฝรั่งเศสกำลังประสบปัญหาทางการหนักถึงขั้นล้มละลาย จึงนำเงิน 15 ล้านดอลลาร์ หรือราว 500 ล้านบาทในช่วงเวลานั้นซื้อหุ้นของ Boussac ต่อ
แต่ความตั้งใจจริงๆ แล้วเขาต้องการแค่แบรนด์ใหญ่อย่าง Christian Dior และห้างสรรพสินค้า Le Bon Marché เท่านั้น
จาก Dior สู่อาณาจักรลักชัวรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
การลงทุนครั้งนี้มีเหตุผลอยู่ 2 อย่างคือ อย่างแรก Christian Dior คือน้ำหอมที่แม่ของเขาชอบ และอีกข้อคือนี่เป็นแบรนด์ตัวแทนของฝรั่งเศสที่โลกรู้จักโดยไม่จำเป็นต้องแนะนำตัว
จากจุดเริ่มต้นนั้นอาร์โนลต์ค่อยๆ ขยายอาณาจักรของตัวเองไปเรื่อยๆ โดยก้าวสำคัญคือการครอบครองแบรนด์ระดับตำนานอย่าง Louis Vuitton ในช่วงปี 1990 (ด้วยวิธีการที่หลายคนมองว่าอำมหิตในการวางแผนเพื่อครอบครองแบรนด์) รวมถึงแบรนด์แชมเปญอันดับหนึ่งอย่าง Moët Hennessy ซึ่งมีการควบรวมกันทั้งหมดในเวลาต่อมากลายเป็น LVMH
อาณาจักรนี้ปัจจุบันมีแบรนด์รวมแบรนด์ลูกแล้วทั้งหมดกว่า 75 แบรนด์ ซึ่งรวมถึง Tiffany & Co., Fendi, Givenchy, Marc Jacobs, Stella McCartney, Loewe, Kenzo, Celine, TAG Heuer, Bulgari หรือแม้แต่ Sephora
มูลค่าการตลาดของ LVMH ปัจจุบันอยู่ที่ 3.9 แสนล้านดอลลาร์ หรือกว่า 13 ล้านล้านบาท โดยยอดขายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022 สูงถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์หรือกว่า 2 ล้านล้านบาท เรียกได้ว่าผ่านโควิดมาได้แบบสวยงามแม้ว่าจะมีปัญหายอดขายตกบ้างในช่วงแรกก็ตาม
“ผมมองตัวเองเป็นเหมือนทูตทางมรดกและวัฒนธรรมของฝรั่งเศส” อาร์โนลต์ให้สัมภาษณ์กับ Forbes เอาไว้เมื่อปี 2010 “สิ่งที่เราสร้างคือสัญลักษณ์”
แรงบันดาลใจจาก ‘บัฟเฟตต์-จ็อบส์’
ตามประสาชายชาวฝรั่งเศสที่เติบโตทันยุคของการทำงานอย่างละเอียดลออ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ก็เป็นคนหนึ่งที่ใส่ใจการทำงานมาก
ว่ากันว่าในแต่ละวันเขามักจะเดินทางไปตรวจสอบตามร้านค้าทั้งที่อยู่ในเครือของ LVMH และสอดส่องร้านค้าของคู่แข่งด้วยตัวเอง ในแต่ละวันอาจจะมากถึง 25 แห่งเลยทีเดียว ก็เพื่อจะได้รู้รอบอยู่เสมอว่าตอนนี้สถานการณ์ในตลาดเป็นอย่างไร
และนอกเหนือจากวิสัยทัศน์ส่วนตัวที่สามารถเลือกลงทุนกับแบรนด์ต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งเรื่องนี้มาจากครูคนแรกที่มอบแรงบันดาลใจให้แก่เขา
คนคนนั้นคือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกันที่เขาเคยให้สัมภาษณ์กับ Forbes ว่า “เป็นคนที่ผมชื่นชมที่สุดในแวดวงธุรกิจ” ซึ่งเป็นครูทางอ้อมที่สอนศาสตร์กลยุทธ์ด้านการลงทุนในแบบ ‘Buy-and-hold’ ที่เน้นการลงทุนในระยะยาวโดยอาศัยความใส่ใจ และด้วยวิธีนี้ทำให้เขาสามารถครอบครองแบรนด์อย่าง Bulgari มาได้ด้วยความอดทน
อีกคนที่อาร์โนลต์ชื่นชอบกลับเป็นคนที่ดูแตกต่างกันสุดขั้วอย่าง สตีฟ จ็อบส์ อดีตซีอีโอ Apple ผู้ล่วงลับ ที่เปลี่ยนแปลงโลกด้วยวิสัยทัศน์และนวัตกรรมจากบริษัทของเขา
สิ่งที่อาร์โนลต์เรียนรู้จากจ็อบส์นั้นเขาเปิดเผยในบทสัมภาษณ์ว่า “ความสำเร็จของ สตีฟ จ็อบส์ มาจากการผสมผสานระหว่างความคิดสร้างสรรค์ และการสัมผัสได้ถึงวิธีการจัดการเพื่อการเติบโต” ซึ่งเขานำมาใช้ในการบริหารงานกับ LVMH เพราะเขาจำเป็นต้องเปลี่ยนเอาความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ให้กลายเป็นความจริงในทางธุรกิจทั่วโลกให้ได้
“เพื่อจะทำให้ได้เช่นนั้น คุณต้องเชื่อมโยงเข้ากับทั้งบรรดานักลงทุนและดีไซเนอร์ไปพร้อมกัน แต่จำเป็นที่จะต้องทำให้ไอเดียของพวกเขามีชีวิตชีวาและจับต้องได้ด้วย”
นั่นทำให้อาร์โนลต์ ผู้เข้าใจวงการแฟชั่นดี และรู้ว่าเขาต้องปล่อยให้งานออกแบบเป็นหน้าที่ของดีไซเนอร์ที่สามารถสร้างสรรค์งานตามจินตนาการของตัวเอง แค่ต้องควบคุมคุณภาพการผลิตให้สูงที่สุด และวางจำหน่ายสินค้าอย่างระแวดระวังเพื่อรักษาคุณค่าของแบรนด์เท่านั้น
ดังนั้นแม้ตำแหน่งบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกของเขาส่วนหนึ่งจะได้มาเพราะความตกต่ำอย่างไม่ทันคาดคิดของอีลอน มัสก์
แต่อีกส่วนมันมาจากการทำงานอย่างหนัก ใส่ใจ และวิสัยทัศน์ที่สามารถทำให้สินค้าแบรนด์เนมสุดหรูหรากลายเป็น ‘ของต้องมี’ สำหรับผู้คนมากมาย ที่ต่อให้ในวันนี้อาจจะยังไม่มีในครอบครอง วันหน้าก็จะพยายามหามาครอบครองให้ได้อยู่ดี
เพราะแบรนด์เหล่านี้ไม่ใช่แค่สินค้า แต่คือเรื่องราว
และตราบใดที่เรื่องเหล่านี้ยังถูกเล่าขาน ความมั่งคั่งของ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ และอาณาจักร LVMH ของเขาก็จะยิ่งเพิ่มพูนต่อไปเรื่อยๆ อย่างมั่นคง
อ้างอิง:
- www.cnbc.com/2023/01/05/lvmh-ceo-bernard-arnault-worlds-richest-person-admires-buffett-jobs.html
- www.cnbctv18.com/world/elon-musk-becomes-first-person-in-history-to-lose-usd-200-billion-15553951.htm
- https://www.gq.com.au/style/news/lvmhs-bernard-arnault-is-worlds-third-person-to-boast-a-12digit-net-worth/news-story/31800aef583daddb61299e9fe67aaffa