×

เปิดคฤหาสน์อาร์โนลต์ (Part 2): ภารกิจไม่มีวันจบของราชาแห่ง LVMH ดำดิ่งสู่เบื้องลึกของชายผู้แบกโลกความหรูหราไว้บนบ่า

30.08.2024
  • LOADING...
อาร์โนลต์

จากจุดเริ่มต้นด้วยการซื้อ Dior แบรนด์ที่เป็นมากกว่าแค่ความผูกพันของ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ กับแม่ แต่เป็นหน้าตาของประเทศฝรั่งเศส นักธุรกิจผู้มองไกลยิ่งกว่าใครสามารถครอบครอง LVMH เป็นของตัวเองได้แต่เพียงผู้เดียว ก่อนเริ่มต้นสะสมแบรนด์หรูเลอค่า

 

ผู้เป็นนายของความลักชัวรีมองขาดว่าแบรนด์หรูต่างๆ เหล่านี้ หากปล่อยไว้เพียงลำพังอาจมีสักวันที่ประสบปัญหาและล่มสลายได้เหมือน Dior ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเขา แต่หากรวบรวมเข้าไว้ด้วยกันและบริหารจัดการให้ดี แบรนด์หรูเหล่านี้จะส่งเสริมซึ่งกันและกัน

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

เพียงแต่นั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นสำหรับความยิ่งใหญ่ของ LVMH ซึ่งยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เกิดขึ้น

 

ไม่ว่าจะเป็นการค้นพบกับดีไซเนอร์อัจฉริยะคู่บุญ การเดินทางสู่ตะวันออกเพื่อเปิดตลาดที่ประเทศจีนในวันที่ยังแทบมองไม่เห็นแววว่าจะมีลูกค้าสินค้าหรูหราเหล่านี้ และกระเป๋าของเจ้าหญิงไดอานาที่ประสบความสำเร็จอย่างน่ามหัศจรรย์

 

ดีไซเนอร์อัจฉริยะ

 

สำหรับ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ ไม่มีดีไซเนอร์คนไหนที่จะมีความสำคัญกับเขามากไปกว่า จอห์น กัลลิอาโน

 

ดีไซเนอร์ชาวอังกฤษได้รับการทาบทามจากอาร์โนลต์ในช่วงต้นยุค 90 ให้มาทำหน้าที่ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ให้กับแบรนด์ Givenchy เป็นแบรนด์แรกก่อนที่จะย้ายมาอยู่กับ Dior 

 

อาร์โนลต์ให้การยอมรับกัลลิอาโนอย่างมาก “แค่ได้คุยกันผมก็เข้าใจได้ทันทีว่าเขาเป็นคนที่เก่งแค่ไหน เขาเคยทำงานกับผมชนิดที่แทบจะนั่งติดกันเลย เขาอยู่ในผมทรงเดรดล็อก ในแต่ละวันเขาจะหยิบกระดาษมาตั้งหนึ่งก่อนใช้เวลาราวชั่วโมงหนึ่งเพื่อออกแบบชุดได้ถึง 30-40 ชุด”

 

ความโดดเด่นเช่นอัจฉริยะของกัลลิอาโนมีความสำคัญอย่างมากต่อแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Givenchy หรือ Dior เพราะเหล่านักช้อปรุ่นใหม่ต่างต้องการได้ผลงานของดีไซเนอร์คนนี้ไว้ในครอบครอง และแนวทางการออกแบบที่ไปจนสุดไม่มีเหนียม โดยที่อาร์โนลต์เองก็ไม่เคยคิดครอบงำ โดนใจกลุ่มลูกค้าอย่างแรง

 

“เราไม่สามารถเปลี่ยนนิดเปลี่ยนหน่อยให้ต่างจากผลงานในซีซันที่แล้วได้ สำหรับแบรนด์แฟชั่นทำแบบนั้นไม่ได้ ในแต่ละบ้านจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงในการออกแบบ”

 

ความสัมพันธ์ระหว่างอาร์โนลต์และกัลลิอาโนเป็นไปด้วยดีและยืนยาวร่วม 20 ปี แต่ในปี 2011 ดีไซเนอร์สุดโต่งรายนี้ก็ทำชีวิตตัวเองให้มีปัญหา เมื่อถูกบันทึกวิดีโอหลักฐานมัดตัวไว้ได้ว่าพูดถึงการเหยียดเชื้อชาติและเชิดชู อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อดีตผู้นำนาซี ซึ่งเป็นสิ่งที่แบรนด์ไม่สามารถยอมรับได้

 

กัลลิอาโนถูกไล่ออกจากตำแหน่งทันทีในตอนนั้น เพียงแต่ในเวลาต่อมาก็กลับมาร่วมงานกับอาร์โนลต์ในบทบาทใหม่ที่อยู่ในมุมมืดแต่มีความสำคัญ นั่นคือการค้นหาเหล่าเซเลบริตี้ทั้งหลายที่น่าจะเข้ากันได้กับแบรนด์หรูในเครือ LVMH

 

หนึ่งในคนที่กัลลิอาโนใช้สายสัมพันธ์เชื่อมถึงคือ ฟาร์เรลล์ วิลเลียมส์ ศิลปินคนดังที่กลายเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของ LVMH คนปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมี ชาร์ลิซ เธอรอน, เซนดายา, นาตาลี พอร์ตแมน, อันยา เทย์เลอร์-จอย และอีกมากมายที่เข้ามาอยู่ร่วมกันในเครือของ LVMH

 

แม้กระทั่งนักกีฬาเทนนิสระดับตำนานอย่าง ราฟาเอล นาดาล และ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ก็ปรากฏตัวในโฆษณาของ Louis Vuitton เช่นกัน

 

การรับรู้ของเครือ LVMH จึงไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็มี LVMH อยู่ในสายตาหรือในความรู้สึกตลอดเวลา

 

อาร์โนลต์

 

LVMH บุกแดนมังกร

 

ในครั้งแรกที่ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ เดินทางถึงประเทศจีนในปี 1992 เขาไปเพื่อเปิดช็อปใหญ่ของ Louis Vuitton ที่ตั้งอยู่ชั้นล่างของโรงแรม Palace Hotel ในกรุงปักกิ่งขณะนั้น

 

ความรู้สึกแรกของเขาคือ นี่เป็นการตัดสินใจที่ถูกแล้วใช่ไหม?

 

“ตอนที่ผมไปถึง ที่นั่นยังไม่มีรถเลย ไม่มีตึกรามบ้านช่อง ไม่มีแม้กระทั่งน้ำอุ่นในโรงแรม” อาร์โนลต์ยังจำความรู้สึกในวันนั้นได้เป็นอย่างดี 

 

ในขณะที่ผู้คนยังแต่งตัวในชุดของ เหมาเจ๋อตง อาร์โนลต์โทรศัพท์กลับไปหาซีอีโอของ Louis Vuitton เพื่อถามย้ำอีกครั้ง “คุณแน่ใจว่าเราจะมาขายของที่นี่จริงๆ ใช่ไหม?”

 

คำตอบจากปลายสายคือ ใช่ พวกเขาตั้งใจที่จะขายสินค้าหรูหราของ LV ที่นี่จริงๆ เพียงแต่ในความรู้สึกลึกๆ ของอาร์โนลต์แล้ว เขาเองก็มองจีนเป็นประเทศที่มีศักยภาพเช่นกัน ซึ่งเกิดจากการศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลกย้อนหลัง 100 ปี

 

นี่ไม่ใช่มังกรดิน แต่เป็นมังกรทอง

 

32 ปีผ่านมา การเดินทางไปเปิดช็อปที่ปักกิ่งกลายเป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิตของอาร์โนลต์ และการที่มี Louis Vuitton ไปเปิดตลาดที่นั่นก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ดีที่สุดสำหรับจีนเช่นกัน เพราะต่างมีส่วนช่วยกันและกัน ทำให้เศรษฐกิจเติบโตราวกับมังกรทะยานขึ้นฟ้า

 

ศิลปิน นักดนตรี ดารานักแสดง ได้รับจ้างเพื่อมาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ Louis Vuitton มีการจัดงานแฟชั่นโชว์ขึ้นในสถานที่ที่เหลือเชื่ออย่างกำแพงเมืองจีน รวมถึงโอบรับวัฒนธรรมของชาวจีนผ่านการว่าจ้างดีไซเนอร์ท้องถิ่นในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีกลิ่นอายตะวันออก

 

สิ่งเหล่านี้เมื่อรวมกับการที่ Louis Vuitton เป็นแบรนด์หรูแรกๆ ที่บุกเบิกในประเทศจีน พวกเขาจึงได้อยู่ในหัวใจของชาวแดนมังกรตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

ปัจจุบันจีนกลายเป็นประเทศที่มียอดขายสูงที่สุดเป็นลำดับที่ 2 ของเครือ LVMH เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกา มีช็อปของ Louis Vuitton ถึง 54 แห่งในแผ่นดินใหญ่ ขณะที่แบรนด์อื่นๆ ในเครือ LVMH มีช็อปอีกถึง 23 แบรนด์ รวม 58 ช็อปในปี 2023 โดยที่ยังขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง

 

ตัวเลขที่สะท้อนถึงการเติบโตของจีนได้ดีอีกชุดคือตัวเลขจำนวนมหาเศรษฐีระดับ ‘ดอลลาร์สหรัฐ’ ที่เพิ่มจาก 420 คนในปี 1995 เป็น 2,500 คนในปัจจุบัน

 

พลังของโซเชียลมีเดียยิ่งส่งผลให้ไม่มีอะไรหยุดยั้ง LVMH ในจีนได้อีก แค่บิวตี้บล็อกเกอร์รีวิวสินค้าใหม่ กลุ่มวัยรุ่นก็พร้อมบุกถล่มร้าน Sephora เพื่อหาผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมาครอบครอง

 

แม้กระทั่งตัวของ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ เองก็กลายเป็นคนดังที่ชาวจีนให้ความสนใจ การเดินทางมาเพื่อเยี่ยมชมร้านค้าในเครือของ LVMH รวมถึง Delphine & Jean เมื่อปีกลายได้รับการจับตามองจากทั้งสื่อและแฟนคลับของ LVMH ที่เกาะติดทุกที่ ลงรายละเอียดถึงขั้นว่าเขาไปนั่งรับประทานอาหารกวางตุ้งร้านไหนและสั่งอะไรบ้าง

 

Lady Dior เจ้าหญิงผู้เลอโฉม

 

ในช่วงยุค 90 ยังมีก้าวที่สำคัญมากสำหรับ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ ซึ่งมองว่ามีสิ่งที่เขาจำเป็นจะต้องทำกับ Dior ก่อน

 

สิ่งนั้นคือการเดินตามรอย CHANEL ในการยกระดับตลาดกระเป๋าถือ ซึ่งกลายเป็นการเดินหมากที่ประสบความสำเร็จอย่างน่ามหัศจรรย์ และกลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายที่ยิ่งใหญ่

 

ความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการมองการณ์ไกลของเขาเพียงอย่างเดียว แต่มาจากพลังของ Endorser ระดับสุดยอดของโลกอย่างเจ้าหญิงไดอานา ที่มีภาพถือกระเป๋า Dior หนังแกะสีดำที่มาพร้อมกับเครื่องประดับโลหะที่สาย

 

กระเป๋าใบนี้สร้างกระแสตื่นตัวไปทั่ว ซึ่งอาร์โนลต์จับกระแสได้เช่นกัน จึงสั่งเปลี่ยนชื่อรุ่นกระเป๋าใหม่ให้สอดคล้องกับเจ้าหญิงไดอานา โดยเรียกว่า ‘Lady Dior’ ซึ่งกลายเป็นกระเป๋าที่ขายดีในระดับหลายพันหลายหมื่นใบในเวลาอันรวดเร็ว

 

ความสำเร็จนี้ทำให้ Dior มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นมากทันที จนอาร์โนลต์ตัดสินใจเดินหมากขั้นต่อไปด้วยการยกเลิกลิขสิทธิ์กระเป๋าของ Dior กับกลุ่มผู้ผลิตรายอื่นที่ผลิตสินค้าของแบรนด์ในคุณภาพที่ต่ำกว่าเพื่อหวังขายแบบลดราคา ซึ่งส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ตามไปด้วย

 

การยกเลิกลิขสิทธิ์ดังกล่าวทำให้อาร์โนลต์ควบคุมแบรนด์ Dior ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด กำหนด Positioning ของแบรนด์ให้เป็นแบรนด์ในระดับสูง กำหนดราคาที่ต้องการได้ โดยแม้จะเหมือนจับต้องได้ยากแต่ก็สร้างความปรารถนาให้เกิดแก่ลูกค้าในอนาคตที่จะต้องขวนขวายเพื่อให้เข้าถึง

 

 

กลยุทธ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับ Dior แต่ส่งผลถึง Louis Vuitton ที่เริ่มจากกระเป๋าและกระเป๋าเดินทางสู่เสื้อผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยจ้าง มาร์ค จาค็อบส์ ดีไซเนอร์ชาวอเมริกันช่วยออกแบบให้ ซึ่งไลน์สินค้าที่แตกใหม่ประสบความสำเร็จอย่างสูง สร้างรายได้ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายรวม

 

นอกจากนี้ยังเริ่มต้นกำหนดคอลเล็กชันประจำฤดูกาล การเดินแฟชั่นโชว์ รวมถึงการจัดแคมเปญต่างๆ เพื่อให้แบรนด์ดูน่าสนใจตลอดเวลา ซึ่งสิ่งที่ทำทั้งหมดนี้ยังได้ผลดีมาจนถึงปัจจุบัน โดยคิดเป็นรายได้ 1 ใน 4 ของทั้งเครือ LVMH 

 

และในจำนวนรายได้นั้น ครึ่งหนึ่งคือกำไร!

 

Tiffany & Co. เพชรยอดมงกุฎ

 

ท่ามกลางการเติบโตและการกวาดต้อนแบรนด์หรูเข้ามาในเครือ LVMH ไม่มีแบรนด์ใดที่ทำให้ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ ต้องรับศึกหนักเหมือน Tiffany & Co.

 

นี่คือแบรนด์เครื่องประดับชั้นหรูหราจากสหรัฐฯ ที่ก่อตั้งในปี 1837 โดยเริ่มต้นจากการเป็นแค่ผู้ผลิตเครื่องเขียนก่อนจะกลายเป็นแบรนด์เครื่องประดับหรูหราที่เป็นสมบัติล้ำค่าของอเมริกันชนเลยทีเดียว

 

แม้ว่า LVMH จะยิ่งใหญ่และแข็งแกร่งมากแค่ไหน แต่สิ่งที่อาร์โนลต์มองว่ายังขาดอยู่คือแบรนด์เครื่องประดับระดับสูง เขาอยากมีเครื่องประดับระดับไม่ใช่ก็ใกล้เคียง ‘Cartier’ ที่เป็นของเครือ Financière Richemont SA ในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งแบรนด์ที่พอจะเทียบเคียงได้มีเพียง Tiffany & Co.

 

เพียงแต่การจะคว้ามาครอบครองได้ ต่อให้เป็นอาร์โนลต์ก็ไม่ใช่งานง่ายนัก

 

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ Tiffany & Co. ต่อต้าน ในทางตรงกันข้าม ปัญหาเกิดขึ้นจากโควิดที่ระบาดหนักในปี 2020 ส่งผลต่อแผนการเทกโอเวอร์ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2019 ติดกำแพงขนาดยักษ์ไปด้วย ในตอนนั้นยอดขายสินค้าหรูลดลงอย่างเลี่ยงไม่ได้เพราะไม่มีการเดินทาง ไม่มีนักท่องเที่ยวที่ร่ำรวย และการขายสินค้าระดับนี้บนโลกออนไลน์เป็นเรื่องที่อยู่เหนือจินตนาการ

 

การเจรจาที่เคยเป็นไปด้วยดีกลับชะงักงัน จนทำให้ Tiffany & Co. ตัดสินใจยื่นฟ้องต่อ LVMH ว่าพยายาม ‘ถ่วงเวลา’ ในการควบรวมกิจการซึ่งส่งผลเสียหาย แต่อาร์โนลต์โต้แย้งโดยขุดหลักฐานว่า ผู้บริหารของ Tiffany & Co. ตกรางวัลให้ตัวเองด้วยรายได้อย่างงาม ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจอยู่ในวิกฤตโควิดเวลานั้น

 

ข่าวการปะทะกันของสองฝ่ายกลายเป็นข่าวใหญ่โตอย่างยิ่งบนหน้าสื่อธุรกิจ และผลของมันลุกลามจนกระเทือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้า 

 

รัฐบาลฝรั่งเศสภายใต้การนำของ เอ็มมานูเอล มาครง พยายามที่จะแทรกแซงเรื่องนี้ แต่อาร์โนลต์ปฏิเสธที่จะให้เข้ามายุ่ง ก่อนเดินหน้าต่อตามแนวทางของตัวเองด้วยการยื่นข้อเสนอสุดท้ายที่หุ้นละ 135 ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากเคยเสนอที่หุ้นละ 120 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

 

คราวนี้การเจรจาประสบความสำเร็จ LVMH ได้ Tiffany & Co. มาครอบครองด้วยมูลค่า 1.45 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนส่งคนของตัวเองเข้าไปควบคุมกิจการทันที ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารจาก Louis Vuitton ที่ไปนั่งเก้าอี้ซีอีโอ โดยมี อเล็กซองด์ อาร์โนลต์ ลูกชาย เข้าไปประกบด้วย

 

อาร์โนลต์

 

ก่อนเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ทันสมัยขึ้นโดยการจ้างศิลปินระดับท็อปอย่าง บียอนเซ่ และ เจย์-ซี มาเพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ ซึ่งกลายเป็นกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง

 

แต่ความสำเร็จสูงสุดสำหรับ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการที่เขาได้เพชรยอดมงกุฎอย่าง Tiffany & Co. มาอยู่ในอาณาจักรของเขา

 

อาณาจักร LVMH จึงมีทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาต้องการแล้ว

 

ความหรูหราไร้ขีดจำกัด

 

จากจุดเริ่มต้นวันนี้ LVMH ของ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ มีพนักงานรวมทั้งหมด 213,000 คน (ในปี 2023) 

 

มูลค่าทางการตลาดของทั้งเครืออยู่ที่ 3.68 แสนล้านยูโร (ประมาณ 14 ล้านล้านบาท) มากกว่าคู่แข่งอย่าง Kering ที่ครอบครอง Gucci, Yves Saint Laurent และอื่นๆ ถึง 7 เท่า รวมถึงยิ่งใหญ่กว่า Financière Richemont SA ถึง 5 เท่า

 

มีเพียง Hermès เพียงแห่งเดียวที่ถือว่าใกล้เคียงกับ LVMH ในตลาดลักชัวรี

 

ความสำเร็จนี้ถ้าเป็นคนอื่นอาจเพียงพอแล้ว แต่สำหรับ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ เขาไม่เคยหยุด ไม่นานมานี้ LVMH เริ่มแนวทางใหม่ด้วยการลงสู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเคยเป็นสิ่งที่ตัวเขาช่ำชองก่อนมาจับตลาดสินค้าหรูหราเหล่านี้

 

ในปี 2023 LVMH ใช้เงินกว่า 2.45 พันล้านยูโร (ประมาณ 9.3 หมื่นล้านบาท) ในการลงทุนกับอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะนอกจากจะใช้เปิดร้านในเครือของตัวเองได้แล้ว ยังเก็บเงินค่าเช่าจากแบรนด์คู่แข่งที่เช่าอาคารเดียวกันได้ และยังสามารถบีบคู่แข่งให้ต้องหาทำเลใหม่ด้วยเมื่อหมดสัญญาเช่าในอนาคต ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์กลุ่มบนก็คึกคักตามไปด้วย

 

การก้าวเดินไม่หยุดยั้งนี้ทำให้เครือคู่แข่งต่างลำบากต้องลงทุนตามไปด้วย เช่น Kering ที่ต้องลงทุน 1.3 พันล้านยูโร (ประมาณ 4.9 หมื่นล้านบาท) เพื่อซื้ออาคารในเมืองมิลาน ซึ่งในมุมมองของนักวิเคราะห์แล้ว การก้าวเดินของ LVMH และ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ ในตานี้ถือว่าล้ำลึก ทั้งสร้างความลำบากให้กับคู่แข่งที่สับสนกับการลงทุนในสิ่งที่ไม่น่าเกี่ยวข้องได้ และยังทำให้จับไม่ได้ไล่ไม่ทันอีกด้วย

 

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีสัญญาณว่าอาจมีการต่อสู้เพื่อต่อต้านไม่ให้ LVMH ครองโลกของกลุ่มลักชัวรีแบบผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ กังวลใจแต่อย่างใด

 

LVMH เพิ่งได้คะแนนพิเศษจากใจผู้ชมกีฬาโอลิมปิกทั่วโลกหลายพันล้านคนในฐานะ Creative Partner ที่ทำให้ Paris 2024 กลายเป็นมหกรรมกีฬาที่ดูแพงและมีรสนิยมที่สุดในประวัติศาสตร์ผ่านความร่วมมือในการออกแบบมากมาย ตั้งแต่คบเพลิงไปจนถึงเหรียญรางวัลและสีสันต่างๆ

 

 

ขณะที่ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ ยืนยันว่า ในวัย 75 ปี เขายังไม่มีแผนที่จะเกษียณตัวเองในเร็วๆ นี้ แม้จะเคยออกตัวว่าอาจเกษียณในช่วง 75-80 ปี จนโดน วอร์เรน บัฟเฟตต์ ตักเตือนว่าไม่ควรจะตีกรอบตัวเองแบบนั้น

 

ความสุขของเขาในเวลานี้ยังคงเป็นการเดินชมร้านค้าในเครือของตัวเองทุกวันเสาร์ที่เขาตั้งใจทำต่อไปให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่นกันกับการมีส่วนร่วมในการประชุมกับลูกๆ และบรรดาผู้บริหารเพื่อตัดสินใจในเรื่องต่างๆ

 

‘หมาป่าในชุดแคชเมียร์’ คนนี้ยังมองไปข้างหน้าอยู่เสมอ ซึ่งรวมถึงแผนการเสริมความแกร่งของ LVMH ด้วยแบรนด์อื่นๆ อีก

 

“เรามีความคิดสำหรับอนาคตอยู่ แต่ผมคงบอกไม่ได้ เราไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นก็ได้ แต่ผมรู้จักบางแบรนด์ที่น่าจะเข้ากับเราได้เป็นอย่างดี และผมก็รู้ว่าเจ้าของแบรนด์เหล่านั้นก็ยินดีที่จะทำแบบนั้นด้วย” ซึ่งเป็นไปได้ทั้งนั้นที่ Richemont, Armani, Prada และ Patek Philippe จะเข้าร่วมด้วยในอนาคต 

 

คำถามคือรวยขนาดที่ในบางช่วง เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ กลายเป็น ‘บุคคลที่รวยที่สุดในโลก’ แล้ว ประสบความสำเร็จมากขนาดนี้ แล้วเขาต้องการอะไรอีก?

 

คำตอบจากหนึ่งในผู้บริหารที่รับใช้เขามานานน่าสนใจ

 

“ไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เขาสร้างบางสิ่งขึ้นมาแล้ว เขามองว่ามันเป็นความรับผิดชอบของเขา”

 

เพราะความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง

 

นี่คืองานของ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ ผู้แบกโลกของความหรูหราไว้บนสองบ่าของเขา

 

ภาพ: Vincent Isore / IP3 / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X