ยาน BepiColombo ในความร่วมมือขององค์การอวกาศยุโรป-ญี่ปุ่น มีกำหนดบินเฉียดผ่านดาวพุธวันที่ 8 มกราคมนี้ เพื่อเตรียมเข้าสู่วงโคจรรอบดาวในช่วงปลายปี 2026
วันที่ 8 มกราคม เวลา 12.59 น. ตามเวลาประเทศไทย ยานอวกาศ BepiColombo จะบินผ่านดาวพุธที่ความสูงเพียง 295 กิโลเมตรเหนือพื้นผิว โดยเป็นการบินผ่านดาวพุธครั้งที่ 6 และเป็นครั้งสุดท้ายก่อนเดินเครื่องยนต์เพื่อเข้าสู่วงโคจรรอบดาวในเดือนพฤศจิกายน 2026
การบินผ่านครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีในการบันทึกภาพถ่ายดาวพุธจากกล้องบนยาน โดยเฉพาะหลุมอุกกาบาตบริเวณขั้วเหนือของดาว เช่นเดียวกับการเก็บบันทึกข้อมูลโดยอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ และทดสอบความพร้อมของยานอวกาศเมื่อต้องอยู่ในเงาของดาวพุธเป็นเวลา 23 นาที ว่าสามารถปฏิบัติงานและรอดพ้นจากความแปรผันของอุณหภูมิสุดขั้วได้หรือไม่
ด้วยวิถีโคจรที่บินผ่านเส้นศูนย์สูตรของดาวพุธในช่วงกลางคืน ก่อนโฉบขึ้นเหนือขั้วเหนือของดาว จึงเป็นโอกาสดีที่ยาน BepiColombo ได้ตรวจวัดอนุภาคมีประจุที่ไหลผ่านสนามแม่เหล็กของดาว จากตำแหน่งที่ไม่เคยมียานอวกาศลำใดเคยสำรวจมาก่อน และเป็นตำแหน่งที่ยานอวกาศลำนี้ไม่สามารถเก็บข้อมูลได้เมื่อเข้าสู่วงโคจรรอบดาวพุธเป็นที่เรียบร้อย
BepiColombo เป็นภารกิจความร่วมมือระหว่างองค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA และองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA ออกเดินทางจากโลกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2018 และใช้การบินผ่านใกล้โลก ดาวศุกร์ และดาวพุธ รวม 9 ครั้ง เพื่อเร่งความเร็วให้ตามไปถึงดาวพุธได้สำเร็จ ก่อนชะลอความเร็วเพื่อเข้าสู่อิทธิพลแรงโน้มถ่วงของดาว ‘เตาไฟแช่แข็ง’ ดวงนี้ในอีกประมาณ 20 เดือนจากนี้
เมื่อเข้าสู่วงโคจรแล้วจะแบ่งยานออกเป็น 2 ลำ ได้แก่ Mercury Planetary Orbiter ของยุโรป และ Mercury Magnetospheric Orbiter ของญี่ปุ่น ซึ่งมีกำหนดเริ่มปฏิบัติการสำรวจเชิงวิทยาศาสตร์ในต้นปี 2027 เป็นเวลานานอย่างน้อย 1 ปีบนโลก พร้อมโอกาสในการต่ออายุภารกิจเพิ่มเติมได้ในอนาคต
อ้างอิง: