เป็นระยะเวลากว่า 3 ปีแล้วที่ เบน คิง เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ Google ประจำประเทศไทย ควบคุมนโยบาย กำหนดกลยุทธ์บริหารงานของหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยดูแลในฝั่งประเทศไทย
3 ปีของผู้บริหารหนุ่มจากออสเตรเลีย วัย 35 ปี กับ Google ประเทศไทย เท่ากับช่วงเวลาที่บริการของพวกเขาเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งคลาวด์สำรองข้อมูล Google Drive, ฟรีแวร์แก้ไฟล์เอกสาร Google Docs และ Google Sheets, แอปฯ แผนที่นำทาง Google Maps หรือระบบนิเวศที่ช่วยให้เกิด UGC (User Generated Content) หน้าใหม่ขึ้นมามากมาย แถมยังพลิกโฉมการใช้ชีวิตประจำวันของเราไปโดยสิ้นเชิง
กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Google ประเทศไทย เพิ่งจัดงานใหญ่ Google for Thailand เป็นครั้งแรก เพื่อประกาศความร่วมมือกับรัฐบาลและภาคเอกชนในการผลักดันประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลภายใต้โครงการอย่างสถานีปล่อยสัญญาณไวไฟสาธารณะความเร็วสูง, จัดเวิร์กช็อปฝึกอบรมความรู้และทักษะดิจิทัล, เพิ่มฟีเจอร์และเปลี่ยนแปลงอินเทอร์เฟซแอปฯ ฯลฯ
THE STANDARD ชวนเบนมาพูดคุยในหลายๆ ประเด็น ตั้งแต่เคล็ดลับการเป็นบริษัทที่มั่งคั่งไปด้วยนวัตกรรมเปลี่ยนโลก วิธีบริหารงานให้ประสบความสำเร็จในแบบของเขา ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังงาน Google for Thailand และคำถามที่ว่า ‘คนแบบไหนที่ Google อยากร่วมงานด้วย’
คุณต้องเต็มใจที่จะล้มเหลว เพราะการพบกับความล้มเหลวเป็นเรื่องยาก แต่การฉลองความล้มเหลวเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า
ความกล้าเสี่ยงคือกุญแจสู่ความสำเร็จ
กว่าเบนจะก้าวมาถึงตำแหน่งที่เขายืนในวันนี้ได้ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายๆ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากหน้าที่รับผิดชอบอันใหญ่หลวงที่ต้องแบกรับในช่วงวัยที่เพิ่งแตะเลข 3 ได้หมาดๆ (เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2015)
หัวใจแห่งความสำเร็จลำดับต้นๆ ที่ผู้บริหาร Google ประจำประเทศไทยบอกกับเราคือเขากล้าที่จะ ‘เสี่ยง’ อยู่เสมอ พร้อมจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ท้าทายอยู่ตลอดเวลา และทั้งหมดเป็นผลลัพธ์จากการมีแรงสนับสนุนที่ดีจากทีมงานทุกคนในองค์กร
“การพร้อมรับความเสี่ยงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ท้าทาย และยิ่งใหญ่ทั้งในมุมมองเชิงธุรกิจ มุมมองการทำงานเป็นทีม และไม่กลัวที่จะล้มเหลว ส่ิงเหล่านี้สำคัญกับเส้นทางการทำงานของผมอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะช่วงเวลาที่ผมอยู่กับ Google การออกไปผจญกับความเสี่ยงแล้วรับมือกับมันโดยไม่กลัวที่จะผิดพลาดนั้นมีความสำคัญนำมาเป็นลำดับต้นๆ เลยก็ว่าได้
“ผมไม่ได้หมายความว่าตัวเองเป็นคนชอบเสี่ยงหรือท้าทายอะไรแบบนั้นนะครับ แต่ผมหมายความว่าการเต็มใจเปิดกว้างรับความเสี่ยงและพร้อมเจอกับอุปสรรคเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ แล้วคุณจะทำมันได้ก็ต่อเมื่อได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้าที่ดี ได้รับแรงหนุนจากผู้คนที่เชื่อมั่นในตัวคุณจริงๆ พร้อมช่วยมอบทักษะและโอกาสให้คุณได้ออกไปเผชิญหน้ากับความท้าทายเหล่านั้น ทั้งยังสนับสนุนให้คุณก้าวผ่านมันไปด้วยวิธีการที่มีความหมายด้วย”
ความท้าทายในการทำงานและหน้าที่ที่เบนได้รับมอบหมายก็เรื่องหนึ่ง แต่การเป็นผู้บริหารชาวต่างชาตินอกประเทศบ้านเกิดก็เป็นความท้าทายที่สำคัญของเขาไม่แพ้กัน ทั้งในแง่ของวัฒนธรรมการทำงาน วัฒนธรรมความเป็นอยู่ และวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน
“ผมพบว่าสิ่งเหล่านี้คือความท้าทาย เพราะผมอาจจะต้องใช้เวลามากกว่าคุณหรือคนไทยบางคนที่ผมทำงานด้วยในการปรับตัวเพื่อให้เข้าใจถึงวิธีการตัดสินใจและการแก้ปัญหาของพวกเขา ผมพยายามจะทำให้ดีที่สุด แต่ผมก็พลาดมาแล้วหลายครั้ง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ผมคิดว่าการเปิดและรับฟังฟีดแบ็กในการทำงานจากคนรอบตัวและวิธีการตอบสนองต่อฟีดแบ็กเหล่านั้นเป็นเรื่องสำคัญ สิ่งที่คุณทำได้คือพยายามถ่อมตนและทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมในครั้งต่อๆ ไป”
นอกจากความกล้าที่จะเสี่ยงและรับมือกับอุปสรรคนานัปการที่พร้อมจะถาโถมเข้ามาอยู่ตลอดเวลา ‘การตัดสินใจ’ ก็เป็นทักษะที่ผู้บริหารอย่างเขาต้องมีติดตัวไว้อยู่เสมอ และทุกครั้งที่จะต้องตัดสินใจไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ เบนจะยึดเอาผู้คน สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับภาคธุรกิจ (บริษัท) และส่ิงที่ดีที่สุดสำหรับตลาดในประเทศเป็น 3 แกนหลักช่วยประกอบการตัดสินใจ
“ผมไม่คิดว่าการตัดสินใจโดยยึดว่าอะไรดีที่สุดสำหรับผมจะช่วยให้ผมไปได้ไกลนะครับ ในแต่ละวันการตัดสินใจมักเกิดขึ้นกับผมอยู่บ่อยๆ ดังนั้นการมีสิ่งสำคัญ 3 ประการนี้เป็นตัวช่วยตัดสินใจในขั้นต้นคือสิ่งที่สำคัญมากๆ ณ ปัจจุบันสำหรับผม”
เราอยู่ในโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็วจนน่าเหลือเชื่อ แล้วการจะประสบความสำเร็จได้ คุณจำเป็นจะต้องกระฉับกระเฉง ปรับตัว และเคลื่อนตัวให้ไว
เมื่อวิสัยทัศน์ระยะยาวที่กล้าหาญ + แผนงานที่ชัดเจน ‘ความล้มเหลว’ ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป
ตลอดบนสนทนากว่า 1 ชั่วโมง เบนมักจะเน้นย้ำคำว่า ‘วิสัยทัศน์ที่กล้าหาญ’ พร้อมแลก พร้อมลุย และกล้าเสี่ยงกับอุปสรรค รวมถึงความท้าทายที่พุ่งเข้ามาอยู่เสมอ โดยบอกว่าคุณลักษณะในข้อนี้ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญลำดับต้นๆ ในการเป็นผู้นำ
“คุณจำเป็นจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่กล้าหาญในระยะยาว มันจะเป็นวิสัยทัศน์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือถูกร่างขึ้นในช่วงรายไตรมาสหรือครึ่งปีไม่ได้ เราจำเป็นจะต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับทีม แต่ไม่ได้ให้แค่แรงบันดาลใจกับทีมเท่านั้น มันต้องโฟกัสกับการทำสิ่งต่างๆ ที่มีความหมายในแต่ละประเทศอีกด้วย
“สำหรับผมในฐานะผู้นำ ผมให้ความสำคัญ ทุ่มเทเวลาและพลังงานไปกับการครุ่นคิดว่าอะไรคือมุมมองระยะยาว เป้าหมายใดที่เราต้องการจะไปให้ถึงและต้องการจะไปอยู่ ณ จุดนั้น แต่สุดท้ายแล้วมันก็ยังเกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงทั้งหมดเข้ากับความเข้าใจที่มีอย่างถ่องแท้ต่อวิธีที่จะมุ่งไปยังเป้าหมายอยู่ดี ดังนั้นก็ต้องมีทั้งวิสัยทัศน์ที่กล้าเสี่ยงและแผนการดำเนินงานที่ละเอียดด้วย เราจะกลับมาตรวจสอบรายละเอียดทุกอย่างแบบจริงจังวันต่อวัน สัปดาห์ต่อสัปดาห์”
เมื่อมีทั้งวิสัยทัศน์ระยะยาวที่กล้าหาญและแผนการดำเนินงานแบบละเอียดควบคู่ไปด้วยกัน ผู้บริหารหนุ่มจากออสเตรเลียบอกว่าเขาไม่เคยกลัวที่จะล้มเหลวอีกเลย แล้วความล้มเหลวในมุมมองของเขาก็ไม่ใช่เรื่องแย่ หากคุณตั้งใจทำงานออกมาให้เต็มที่จนสุดความสามารถแล้ว
“คุณต้องเต็มใจที่จะล้มเหลว มันง่ายที่จะพูดมากกว่าทำ เพราะการพบกับความล้มเหลวเป็นเรื่องยาก แต่การฉลองความล้มเหลวเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า สิ่งที่ผมพูดอาจฟังดูขัดกับความรู้สึกของคนทั่วๆ ไป แต่หากคุณตั้งเป้าหมายที่กล้าเสี่ยงจริงๆ และเมื่อนำเป้าหมายที่กล้าเสี่ยงของคุณมารวมกับแผนงานที่ชัดเจนโดยให้ความสำคัญกับการทำงานให้สำเร็จ คุณก็ไม่จำเป็นต้องกังวลเลย มันโอเคนะถ้าคุณจะล้มเหลว แต่สิ่งที่ไม่โอเคคือการมีแผนงานที่กล้าเสี่ยง แต่กลับไม่เชื่อมต่อกับแผนงานอื่นๆ ไม่โฟกัสกับการบรรลุเป้าหมาย
“แล้วเมื่อไรก็ตามที่เกิดความล้มเหลวขึ้นมา ผู้คนที่เกี่ยวข้องหรือทีมงานจะต้องไม่รู้สึกลำบากใจ ไม่ถูกต่อว่า หรือถูกลงโทษ เพราะจากมุมมองการเป็นผู้นำ สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณจะต้องบันทึกเอาช่วงเวลาเหล่านั้นมาช่วยให้ทีมได้มองเห็นว่ามันโอเคนะถ้าเรามีแผนงานแบบละเอียดและโฟกัสกับการทำมันให้สำเร็จ แม้อะไรๆ จะไม่ดำเนินไปตามความต้องการที่เราอยากให้เป็น เราแค่ต้องทดลองทำมันให้เต็มที่เพื่อให้แน่ใจว่าเรากำลังเดินไปถูกทาง ถึงจะพลาดโอกาสไปบ้าง แต่ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม”
ผมคิดว่าเราเป็นเพื่อนบ้านที่จะร่วมด้วยช่วยให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมดิจิทัล และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนที่สำคัญร่วมกับบริษัทเทคฯ เจ้าอื่นๆ
การกำหนดจังหวะช้า-เร็วในการทำงานและการตั้งเป้าหมายคือสิ่งสำคัญในโลกยุคนี้
ในมุมมองของเบน เขาเชื่อว่าจังหวะความเร็วในการทำงานที่กำหนดโดยผู้นำองค์กรมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่จะช่วยผลักดันให้บริษัทประสบความสำเร็จในโลกทุกวันนี้ ซึ่งตัวเขาเองก็เป็นคนที่ใส่ใจหลักการกำหนดจังหวะช้า-เร็วในการทำงานมาก
“เราอยู่ในโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็วจนน่าเหลือเชื่อ แล้วการจะประสบความสำเร็จได้ คุณจำเป็นจะต้องกระฉับกระเฉง ปรับตัว และเคลื่อนตัวให้ไว ผมคิดว่าจังหวะความเร็วขององค์กรและความรวดเร็วในการทำงานจะมาจากความเป็นผู้นำ คุณสามารถปรับความช้าหรือเร็วของมันได้จากทิศทางที่คุณต้องการจะพาองค์กรไปยังจุดนั้น กระบวนการที่จะไปถึงจุดหมาย
“พวกเราใช้เวลานานมากเพื่อเชื่อมต่อวิสัยทัศน์ของเราเข้ากับสิ่งที่พวกเขาทำแบบวันต่อวัน เพราะมันช่วยให้เกิดความหมายเบื้องหลังในสิ่งที่พวกเขาพยายามจะบรรลุแบบวันต่อวัน สัปดาห์ต่อสัปดาห์ เดือนต่อเดือน เพราะมันเป็นวิธีที่เชื่อมโยงเข้ากับเป้าหมายที่พวกเราพยายามจะบรรลุในระยะยาวที่ประเทศนี้”
นอกจากนี้เบนยังเชื่ออีกด้วยว่าในฐานะผู้นำหรือหัวหน้าทีม หากคุณผลักดันคนในทีมอย่างสม่ำเสมอโดยช่วยให้ทุกคนเข้าใจว่าเขาทำสิ่งนั้นไปเพื่ออะไร หรือเหตุใดจึงต้องทำสิ่งนี้ก็จะช่วยให้ทุกคนหมดไฟ (Burnout Syndrome) กันได้ยากขึ้น
ความหลากหลายจะช่วยให้เกิดสภาพแวดล้อมในองค์กรที่ท้าทาย
ประเด็นความหลากหลาย (Diversity) ของบุคลากรในบริษัทคือวาระสำคัญที่องค์กรทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญมาสักระยะแล้ว Google ประเทศไทยก็ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ไม่แพ้กัน เพราะเบนบอกว่าความหลากหลายทั้งในแง่ความคิด เพศสภาพ ความเชื่อ และประวัติภูมิหลัง จะมีส่วนช่วยให้เกิดสภาพแวดล้อมของการทำงานในองค์กรที่ท้าทายและประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
“ผมพยายามพาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางผู้คนที่มหัศจรรย์ทั้งในด้านพรสวรรค์และคนที่ฉลาด แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการเป็นคนมีความสามารถคือการถูกห้อมล้อมไปด้วยผู้คนที่มีความหลากหลายทั้งในแง่ของความคิด ความเชื่อ และภูมิหลัง ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เกิดการสร้างสภาพแวดล้อมที่ท้าทายได้เป็นอย่างดี
“ในฐานะของผู้นำ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญต่อความสำเร็จของผมมากๆ ที่ Google มันคือการถ่อมตนเพื่อเปิดรับมุมมองความคิดเห็นที่หลากหลายและเปิดรับความท้าทาย ซึ่งคุณจะได้รับสิ่งเหล่านี้ก็ต่อเมื่อคุณมีคนท่ีฉลาดและยังเป็นคนที่คิดต่างด้วย ฉะนั้นผมเลยคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่ลงตัวกับเส้นทางการทำงานของผมที่ Google และช่วยให้ผมไปยังจุดมุ่งหมายที่ตัวเองต้องการได้”
Google จริงจังกับการจ้างงานมากๆ เราไม่ได้จ้างพนักงานตามวัฏจักรของบริษัท แต่เราต้องการคนที่มีคุณสมบัติตรงกับที่เรากำหนด
เพื่อนบ้านที่ขอมีส่วนร่วมพาประเทศไทยไปสู่สังคมดิจิทัล
แนวคิดของการจัดงาน Google for Thailand คือการชูวิสัยทัศน์ไม่ทิ้งคนไทยไว้ข้างหลัง (Leave no Thai behind) เพราะ Google บอกว่าพวกเขาต้องการมอบโอกาสให้คนไทยทุกคนเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเท่าเทียมกัน
งานในวันนั้น เบนได้หยิบเอางานวิจัยของ Temasek เมื่อปี 2017 มาอธิบายให้ฟัง โดยบอกว่าโอกาสทางเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนในปี 2025 จะมีมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนี้ 18.5% หรือราว 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท) คือมูลค่าโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งหากเราไม่พร้อมก็จะสูญเสียโอกาสครั้งสำคัญ
ดังนั้นพวกเขาจึงร่างแผนดำเนินการพาคนไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลโดยยึดเอา 4 เสาหลัก ประกอบไปด้วย 1. สร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี (Access) 2. ส่งเสริมด้านการศึกษา (Education & Skilling) 3. พัฒนาเนื้อหาและผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน (Localized Product & Local Content) และ 4. สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs & Start Up) แล้วโครงการต่างๆ ที่ Google ประเทศไทยจะทำต่อจากนี้ก็จะยึดอยู่บนเสาหลักทั้งสี่
“มีหลายสิ่งหลายอย่างที่พวกเราพยายามจะทำให้กับประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความหมายมากๆ ต่อทั้งระบบดิจิทัล สังคมดิจิทัล พาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ และลูกค้าของเรา เพื่อช่วยให้พวกเขาเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
“เรามีเป้าหมายที่ยึดอยู่บน 4 เสาหลักเพื่อให้แน่ใจว่าคนไทยทุกคนจะสามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียม ทั้งโอกาสการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโครงสร้างขั้นพื้นฐานภายในด้านอินเทอร์เน็ตที่ดี ช่วยให้พวกเขาใช้อินเทอร์เน็ตโดยดึงประโยชน์ออกมาจากมันได้มากที่สุด ได้รับโอกาสทางการศึกษาความรู้ในโลกดิจิทัลเพื่อเตรียมความพร้อมให้คนไทยมีทักษะเฉพาะทางสำหรับการเป็นบุคลากรในสังคมดิจิทัล รวมถึงช่วยให้ครีเอเตอร์บนแพลตฟอร์ม YouTube ประสบความสำเร็จ และเกิดคอนเทนต์ครีเอเตอร์หน้าใหม่มากขึ้นในอนาคต
เมื่อเราถามเบนว่าเขามอง Google ประเทศไทยอยู่ในบทบาทหน้าที่ใดของการทรานสฟอร์มประเทศสู่สังคมดิจิทัล และอยากฝากอะไรไปถึงนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เขาตอบเราว่า “โอ้ ด้วยความสัตย์จริงครับ ผมยังเป็นผู้น้อยเกินไปที่จะไปให้คำแนะนำใดๆ กับท่าน ส่วนถ้าถามผมว่าบทบาทของ Google คืออะไร ผมคิดว่าเราเป็นเพื่อนบ้านที่จะร่วมด้วยช่วยให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมดิจิทัล และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนที่สำคัญร่วมกับบริษัทเทคฯ เจ้าอื่นๆ”
คนที่ใช่จะช่วยให้องค์กรสร้างสรรค์นวัตกรรมออกมาได้ไม่รู้จบ แล้วคนแบบไหนล่ะที่ Google ต้องการ
หลายปีที่แล้วโลกออนไลน์เคยเผยแพร่ภาพภายในอาคารบริษัท Google ตามประเทศต่างๆ ให้ผู้คนทั่วโลกได้ยลโฉม แล้วก็ได้รับความสนใจจากทุกคนในทันทีด้วยสไตล์การออกแบบออฟฟิศที่น่าอยู่ โดดเด่น สะดุดตา โดยคำนึงถึงประโยชน์ในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ช่วยให้พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์
Google ให้ความสำคัญกับบุคลากรเป็นอย่างมาก เพราะมองว่าพวกเขาเหล่านี้คือฟันเฟืองสำคัญขององค์กรที่จะช่วยขับเคลื่อนและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ออกมา ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุดคือการที่ Google ประเทศไทยพิถีพิถันกับการเลือกบรรจุพนักงานแต่ละคนเป็นพิเศษเพื่อให้ได้คนที่ใช่ที่สุดสำหรับบริษัท
เบนบอกว่า “การเลือกคนที่มีความสามารถเหมาะสมเข้ามาทำงานในองค์กรเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ และ Google ก็จริงจังกับการจ้างงานมากๆ ด้วย ทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหาคนที่สมเหตุสมผลเข้าสู่องค์กร เราไม่ได้จ้างพนักงานตามวัฏจักรของบริษัท แต่เราต้องการคนที่มีคุณสมบัติตรงกับที่เรากำหนด หนึ่งในคุณสมบัติเหล่านั้นประกอบไปด้วย การพร้อมเผชิญหน้ากับความวุ่นวาย รู้จักคิดไตร่ตรองในมุมที่ต่างออกไป มีวิธีตอบโต้กับความท้าทายและความคลุมเครือที่เกิดขึ้น หากคุณได้บุคลากรที่มีคุณสมบัติเหล่านี้เข้ามายังองค์กรของคุณเมื่อไร ‘นวัตกรรม’ ก็เป็นสิ่งที่คุณสามารถคิดค้นขึ้นมาได้จริงๆ”
เมื่อจำแนกเกณฑ์การเลือกคนเข้าทำงานแบบละเอียดเป็นรายข้อ ผู้บริหาร Google ประเทศไทยบอกว่าเขามีเกณฑ์ส่วนตัวที่แตกต่างกันอยู่ 4 ข้อ ประกอบไปด้วย
1. มีความรู้ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่สมัคร ภูมิหลังผู้สมัครงานทุกคนจะถูกพิจารณากับตำแหน่งงานที่สมัคร หากสมัครงานด้านการตลาด บริษัทก็จะดูประวัติการทำงานในสายงานการตลาด แต่ถ้าไม่มีประวัติงานด้านการตลาดเลยก็ยังมีโอกาสจะได้รับตำแหน่งอยู่ดีหากมีคุณสมบัติในข้ออื่นๆ ที่ตรงกับความต้องการของบริษัท
2. มีความเป็นผู้นำ เบนบอกว่า Google มีโครงสร้างองค์กรแบบแบนราบ ทำให้ไม่มีบุคลากรในตำแหน่งผู้จัดการเป็นจำนวนมาก ดังนั้นความเป็นผู้นำในที่นี้คือการสามารถทำงานข้ามสายหรือข้ามทีมในบริษัท รับโปรเจกต์ไปทำโดยนำเพื่อนร่วมงานคนอื่นได้ในบางโอกาส ทำงานในสภาวะแรงกดดันสูง ดูแลตัวเองได้ และทำงานกับหัวหน้าทีมมากกว่า 2 คนขึ้นไป
3. มีทักษะความสามารถในการรับรู้โดยทั่วไป (GCA: General Cognitive Ability) สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น รับมือกับปัญหาที่มีความซับซ้อน ย่อยวิธีแก้ปัญหาทั้งหมดออกมาให้เข้าใจง่าย และรู้จักคิดในมุมที่ต่างออกไป
4. เป็นคนแบบ Googliness ส่วนผสมของคน Google ที่มีทั้งแพสชันและความมุ่งมั่น เป็นคนคิดใหญ่มากๆ ใหญ่กว่า 10 เท่าของความเป็นจริง ให้ความสำคัญกับผู้ใช้และลูกค้ามาเป็นลำดับแรก
20 ปีของการมีตัวตนและการเป็นที่รู้จักในบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ของโลก (ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 1998) จากจุดเริ่มต้นของการเป็นผู้ให้บริการด้านเสิร์ชเอนจิน มาวันนี้พวกเขาพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องจนสร้างสรรค์และคิดค้นนวัตกรรมออกมาแบบไม่หยุดหย่อน ตั้งแต่ปัญญาประดิษฐ์นักเล่นหมากล้อม AlphaGo, ผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์ Google Assistant, สมาร์ทโฟน Pixel ไปจนถึงรถยนต์ไร้คนขับ Waymo นี่ยังไม่นับลูกเล่นเด็ดๆ จำนวนมากที่พวกเขาเตรียมปล่อยออกมาในอนาคตอันใกล้นี้
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นทั้งหมดของ Google ประเทศไทยจึงไม่ได้อาศัยดวงหรือโชคช่วย เหมือนที่ เบน คิง ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ายิ่งองค์กรมีแนวคิดการบริหารงานที่ชัดเจนมากเพียงใด องค์กรนั้นก็ยิ่งมีสิทธิ์พุ่งทะยานไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากเท่านั้น
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์