“ผมแปลกใจตอนที่รู้ว่ามีคนจะมาสัมภาษณ์ นึกว่าเมื่อก่อนคนเขาสัมภาษณ์กันให้หน้ากระดาษในนิตยสารเต็มๆ ไปซะอีก” ชายออสเตรเลียที่แต่งตัวเหมือนคนวัยเลขสามที่ไม่ยอมถอดใจเด็กหันมาบอกเรา
เบน ฟรอสต์ (Ben Frost) ศิลปินป๊อปอาร์ตวัย 43 ปี จากออสเตรเลียเป็นที่รู้จักผ่านผลงานศิลปะป๊อปอาร์ตที่เขาปะติดปะต่อภาพระบายสีเข้ากับแรงบันดาลใจที่ได้จากภาพกราฟฟิตี้ต่างๆ โดยตีแผ่เรื่องราวควบเข้ากับสัญลักษณ์ของความเป็นมหาชน ทั้งโลโก้ ป้ายโฆษณาต่างๆ วัฒนธรรมป๊อป ไปจนถึงเรื่องของการเมือง
ผลงานของ เบน ฟรอสต์ เป็นเหมือนการตะโกนบอกโลกให้เหลือบมามองข้อความที่ซ่อนอยู่ภายในความฉาบฉวยของสิ่งที่เห็นตรงหน้า กระตุกต่อมความคิดเบื้องลึก ไปจนความรู้สึกขัดแย้งจากการเผชิญหน้าผ่านงานศิลปะจนถูกจัดแสดงไปทั่วออสเตรเลียตลอดจนทั่วโลกมาตลอด 15 ปี
ไม่นานมานี้ผลงานของเขายังไปโผล่กลางมิลานแฟชั่นวีกที่รันเวย์ของ Moschino คอลเล็กชัน Fall 2018 Ready-to-Wear จนสื่ออย่าง BBC, Wall Street Journal ไปจนนิตยสารแฟชั่นอย่าง Vogue และ Harper’s Bazaar ฯลฯ ต่างก็พูดถึง
บ่ายวันเสาร์ ชายผิวขาวในชุดลายพร้อยที่ประกอบด้วยเสื้อลายเรือใบและกางเกงที่เหมือนเอาอีโมจิรูป 100% มาแปะเรียงๆ กัน ยืนสูบบุหรี่อยู่ริมถนนย่านพระราม 3 หลังจากเดินทางกลับมาจากไปเที่ยวภูเก็ตด้วยผิวกรำแดดนิดๆ เบน ฟรอสต์ นั่งคุยกับเรา
ทำไมคุณถึงชอบท้าทายการใช้โลโก้ การโฆษณาชวนเชื่ออะไรพวกนี้จัง
ฉันเอ่ยคำถามที่คันปากอยากถามเขามานานเหลือเกิน
“เอาจริงๆ ผมทั้งรักและเกลียดพวกป้ายโฆษณากับโลโก้พวกนั้นนะ เวลาเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต ผมตื่นเต้นตลอดที่ได้เห็นการใช้สีกับสิ่งที่คนพยายามจะขายผม พอได้เดินทางไปรอบโลก ได้เห็นโฆษณาที่หลากหลาย โดยเฉพาะพวกแอดต่างภาษาที่ออกแบบมาให้คนที่อ่านไม่ออกเข้าใจก็รู้สึกอยากไป อยากได้ มันท้าทายน่าทึ่งดีนะ นี่เป็นกลไกที่ทำให้งานโฆษณาได้ผลไปทั่วโลก” เขาเผยถึงความหลงใหลผ่านผลงานที่เน้นการใช้โลโก้และงานขายของมาผสมจนเป็นเอกลักษณ์
“ผมเองก็หลงใหลในงานพวกนี้ แต่ในความหลงใหลมันก็มีพลังลบอยู่ด้วย เพราะดูเหมือนทั้งโลกจะถูกขับเคลื่อนไปด้วยสิ่งนี้ ดูสิ เราขายอะไรกันตลอดเวลาเลย
“สิ่งที่ผมชอบเกี่ยวกับพวกโลโก้ เอาจริงๆ คือการหาความหมายที่ซ่อนอยู่ในสัญลักษณ์พวกนั้น กระทั่งแพ็กเกจจิ้งที่พยายามสื่อสารอะไรบางอย่าง ผมชอบนำมาบิด นำเสนอ เวลาที่คนเห็นผลงานผม พวกเขาจะเห็นเหลี่ยมมุมอื่นที่อาจไม่เคยนึกจากสิ่งที่เห็นบ่อยๆ ทำให้เมื่อดูอีกที มุมมองต่อสิ่งนั้นจะเปลี่ยนไป อย่างซองเฟรนช์ฟรายส์ของแมคโดนัลด์ จริงๆ มันเป็นแค่ขยะ หรือว่าเป็นสิ่งที่ได้รับการออกแบบอย่างชาญฉลาดเพื่อให้คุณกินเฟรนช์ฟรายส์เยอะขึ้นกันแน่?
พันปีจากนี้เราจะมองกลับมาแล้วคิดว่า ‘นี่มันบ้าอะไร เราบูชาพระเจ้า Mickey Mouse กินบิ๊กแมค และกินโค้กหวานจ๋อย’ กันไหม
“สีก็มีพลังของมัน สีแดงที่เห็นอาจทำให้คุณกินเร็วขึ้น ขณะที่สีชมพูหรือฟ้าอ่อนแสดงถึงความเป็นผู้หญิง อย่างภาพ Gucci” เขาชี้ไปที่ภาพจากนิทรรศการ ‘Package Deal’ ที่กำลังจัดแสดงอยู่ที่ Chin’s Gallery ที่เรานัดพบกัน โดยนี่เป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเขาในกรุงเทพฯ “สีที่ออกฟ้ากับชมพู มันจะเฟมินีนหน่อย ผมว่าเวลาที่ผมเลือกงานมาจัดแสดงหรือสร้างมันขึ้นมา อย่างอัน Nineteen Eighty-Four สีที่ใช้คือเอกลักษณ์ของสำนักพิมพ์ Penguin แต่มันไม่ได้มีโลโก้หรอกนะ ผมแค่ใช้สีเพื่อให้คุณรู้ว่าสื่อถึงอะไร
“ในฐานะศิลปินป๊อปอาร์ต ผมสนุกกับการที่เห็นคนที่รู้สึกเกี่ยวพันกับงาน ตอนแรกคนจะรู้ว่านี่คืออะไรและจะมีปฏิกิริยากับมัน แต่เมื่อเขามองเข้าไปใกล้ๆ ถึงจะรู้ว่ามันมีความหมายอะไรซ่อนอยู่ในนั้น ส่วนมากจะมีมุกตลกเสียดสี มีความจริงจัง และโยงกับสิ่งที่ปกติบริษัทพยายามจะขาย”
งานของคุณชอบล้อเลียนความเป็นตะวันตก มีอะไรเกี่ยวกับวัฒนธรรมตะวันตกที่คุณอยากไปเสียดสีมากขนาดนั้นเหรอ
“เพราะผมมองว่ามันเป็นเรื่องบ้าที่เราหลงใหลคลั่งไคล้กับโฆษณาและสิ่งบันเทิงกระทั่งกิจกรรมตะวันตกๆ พวกนั้นน่ะสิ แน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่ผมคุ้นเคยเพราะโตมากับมัน โดยเฉพาะในออสเตรเลียหรืออาจจะในไทยด้วยก็ได้นะ คุณจะรู้สึกว่าอยู่ห่างไกลสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นชะมัด ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในสหภาพของอังกฤษ โตขึ้นมาผมก็อยู่ห่างไกลจากมัน แล้วตอนนี้ความเป็นอเมริกันก็กินที่ข้อมูลข่าวสารและความบันเทิงไปแล้วครึ่งหนึ่งได้ โลกแฟชั่นก็ด้วย ดังนั้นผมเลยหยิบมาพูดถึง”
คุณกำลังบอกว่าคุณมองมันในแบบของ ‘คนนอก’ อย่างนั้นเหรอ
“ใช่เลย! นั่นเป็นเหตุผลที่ผมว่าผมค่อนข้างประสบความสำเร็จโดยเฉพาะในอเมริกา เพราะเวลาที่คุณเป็นเจ้าหน้าใหม่ที่เดินเข้ามาในวัฒนธรรมชาติอื่น คุณจะมองมันจากมุมนอก และสามารถวิจารณ์มันได้ ดังนั้นเวลาผมไปอเมริกาหรืออังกฤษ ผมอาจจะพูดถึงโลโก้หรือพวกโฆษณาของที่นั่น แต่มันก็มาจากมุมมองของคนที่สังเกตอยู่ห่างๆ ไง สิ่งที่ผมชอบทำก็คือไปสำรวจดูพวกผลิตภัณฑ์ทั้งหลายของที่นั่น แต่น่าเสียดายที่ผมไม่ได้ทำสำหรับงานนี้ในไทย ผมน่าจะให้คนส่งพวกลูกอมใน 7-Eleven มาให้ก่อน…”
มาที่นี่คุณสังเกตเห็นบ้างไหมว่าคนไทยหมกมุ่นกับการมีผิวขาวน่ะ
“เออใช่! ผมเห็นที่ชื่อ Snail… อะไรสักอย่างนั่นน่ะ มันคือบ้าอะไรน่ะ งงมาก”
มีป้ายโฆษณาอะไรที่คุณมองว่าน่าสนบ้างไหมในไทย
“สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตคือขนาดของป้ายบิลบอร์ดริมทาง ผมมาจากสนามบินเมื่อคืนแล้วก็เห็นป้ายบิลบอร์ดโคตรใหญ่กับเสาที่ใช้ตั้ง มันผมยังคิดเลยว่า 100 ปีต่อจากนี้มันจะเป็นยังไงวะ มันจะเป็นของเก่าแอนทีก อนุสาวรีย์อะไรอย่างนี้ไหม ในอนาคตเราจะมองกลับมาว่ายังไง สิ่งนั้นน่าจะใช้เงินมหาศาลในการติดตั้งนะ
“เวลาที่ผมเป็นนักท่องเที่ยว ผมรู้แหละว่าควรจะไปดูวัดวาอารามอันสวยงาม แต่ก็อดไม่ได้ที่จะสนใจบิลบอร์ดยักษ์พวกนั้นที่โผล่มาให้เห็น แล้วก็ป้ายโฆษณาที่นี่มีความคล้ายญี่ปุ่นนะจะว่าไป เว้นแต่มีห้างเต็มไปหมดด้วย เอาอย่างนี้ คือผมใช้ชีวิตอยู่ที่โตเกียวมาหลายปี มันน่าสนใจมากที่ได้เห็นป้ายโฆษณาขายของแทบจะกระโจนใส่หน้าคุณอย่างนั้นน่ะ ทีนี้พอผมกลับมาจากญี่ปุ่น ผมก็เริ่มดึงส่วนประกอบของงานป๊อปมาจากที่นั่น แต่เพราะผมอ่านคันจิไม่ออก สิ่งที่เห็นมันก็เลยไร้ความหมาย แต่มันก็แปลกที่ได้มองในสิ่งที่คุณไม่เข้าใจ มันสื่อสารกับคุณไม่ได้ มันเป็นแค่ป้ายไฟกะพริบที่ไร้ความหมายสำหรับผม และสุดท้ายคือเอาเป็นว่าเวลาเดินทางแล้วคุณไม่เข้าใจโฆษณา มันก็สนับสนุนความคิดผมที่ว่าการโฆษณาขายของมันห่วยนั่นแหละ” เขาพูดเหมือนจะเชิงขำ แต่ชายคนนี้ไม่ได้หัวเราะ
จะว่าไปไม่ต่างกับผลงานที่ดูเหมือนจะเข้าถึงง่ายแต่ซ่อนไว้ด้วยความจริงบางอย่าง
“ผมสังเกตเห็นด้วยว่าคนที่นี่ขายของเหมือนกันหมดเลย ผมไม่เข้าใจว่าแล้วเขาจะหาเงินได้ยังไงถ้าเหมือนกันหมด เลยเดาว่าค่าครองชีพที่นี่ไม่น่าสูงมากหรือเปล่า คนเลยไม่ต้องดิ้นรนทำอะไรที่มันแตกต่าง”
เขาถามกับเราที่ได้แต่อมยิ้มพยักหน้าตอบรับในการสังเกตที่ไม่ผิดนัก
แล้ววัฒนธรรมแบบเอเชียล่ะ ในฐานะคนนอก คุณมองว่ามันมีอะไรที่น่าสนใจหรือหยิบยกมาเล่าผ่านงานบ้างไหม
“บางครั้งมันก็เป็นเรื่องยากที่จะหยิบยกมาเล่าโดยไม่ทำให้ดูเหมือนเราไม่เคารพ ตอนผมอยู่ญี่ปุ่น ผมลองใช้ตัวคันจิมาวาดโดยที่ให้เพื่อนช่วยแปลให้ แต่มันก็ยังมีความยุ่งยาก ดังที่เห็นว่าผมใช้ตัวแอนิเมชันเยอะกับ *เฮนไท นั่นน่าจะใกล้เคียงที่สุดที่เคยทำกับวัฒนธรรมเอเชีย ผมว่าเฮนไทมันมีเรื่องราวบ้าบอเยอะมาก มันคือแฟนตาซีที่ไม่มีขอบเขต และผมดึงแรงบันดาลใจมาจากตรงนั้น อีกอย่างจริงๆ แล้วเอเชียเริ่มจะเป็นศูนย์กลางของโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่เศรษฐกิจด้วย ดูจีนสิ แต่ทุกอย่างดูจะกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แม้ในเมืองไทยเองก็ตาม”
หนึ่งในเอกลักษณ์ของ เบน ฟรอสต์ ที่คนจดจำคือ การดึงโลโก้และรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์มหานิยมมาใส่ในงาน เขายกโฆษณาชวนเชื่อมาบิดเบือนและบอกเล่าความจริงที่ไม่มีใครตีแผ่ในแบบของเขา
มีโลโก้ไหนที่ทำให้คุณจำจดหรือรู้สึกทึ่งได้ไหมตอนเด็กๆ
“ผมว่าศิลปินป๊อปอาร์ตแต่ละคนดึงความทรงจำมาจากวัยเด็กเสียเยอะ ส่วนตัวผมแล้วมันมีอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการเป็นเด็กตอนอายุ 8 ขวบที่ไปดิสนีย์แลนด์กับพ่อแม่ มันทำให้รู้สึกตื่นเต้นขนลุกที่ได้ไปอเมริกา หรือตอนไปแมคโดนัลด์หรือ เบอร์เกอร์คิงตอนเด็ก โดยเฉพาะที่อเมริกา เพราะที่นั่นมีความไฮเปอร์กว่ามาก น่าพิศวงดีสำหรับผม”
เขาพูดไปหยิบน้ำเปล่าดื่มไป ก่อนจะบอกว่า “สิ่งเหล่านั้นจะว่าไปก็ทำให้เด็กติดนะ ลองสังเกตดูสิ เราโดนล้างสมองกันตั้งแต่ยังแบเบาะ เหมือนกับที่เราดื่มน้ำตาลในโค้กนั่นแหละ ถ้าคุณจะกินข้าวในดิสนีย์แลนด์ คุณต้องไปแมคโดนัลด์ ถ้าจะกินน้ำ คุณต้องดื่มโค้ก อะไรอย่างนี้มันเป็นยูนิเวอร์แซล เป็นรูปแบบทั่วโลกที่ถูกจำลองขึ้นมา ลองนึกดูว่าพันปีจากนี้ เราจะมองกลับมาแล้วคิดว่า ‘นี่มันบ้าอะไร เราบูชาพระเจ้า Mickey Mouse กินบิ๊กแมค และกินโค้กหวานจ๋อย’ กันไหม”
ก่อนหน้านั้นเขาเคยจัดแสดงงานเดี่ยวที่ชื่อ ‘Ben Frost is Dead’ เมื่อปี 2000 ที่เขาแสร้งตาย บัตรเชิญเป็นใบมรณบัตรในรูปแบบของข่าวแจ้งมรณภาพในหน้าหนังสือพิมพ์ จนทำให้สื่อเรียกเขาว่า ‘โรคจิต’ และกล่าวหาว่าเขาเป็น ‘จิตเภท’
ในปีเดียวกัน เขาจัดนิทรรศการ ‘Colossus’ ร่วมกับ Roderick Bunter ที่ Institute of Modern Art ในบริสเบน ซึ่งหนึ่งในผลงาน ‘Where Do You Want To Go Today?’ ที่นำเสนอภาพตัวการ์ตูนสำเร็จความใคร่ล้อไปกับไอคอนโฆษณาที่ตั้งใจนำเสนอแนวคิดของการที่สังคมสูญเสียความบริสุทธิ์จากการกระทำชำเราโดยทุนนิยมนั้น โดนชายคนหนึ่งเอามีดกรีด จนเจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้ปิดนิทรรศการ
เมื่อเกือบ 20 ปีก่อนมีคนเอามีดมาเฉือนภาพที่จัดแสดงในนิทรรศการ ‘Where Do You Want To Go Today’ ของคุณ คุณคิดมาก่อนไหมว่าจะไปกระตุกให้คนโกรธแค้นได้ขนาดนั้น
“นั่นเป็นนิทรรศการใหญ่แรกๆ ของผมเลยที่สุดท้ายได้จัดแสดงไปหลายที่ มันเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับศิลปินอายุ 20-21 อย่างผม และได้จัดแสดงในแกลเลอรีชั้นนำด้วย ในฐานะศิลปินหน้าใหม่ ผมพยายามแสดงอุดมการณ์ออกมาให้สุด หวังจะสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยใช้รูปตัวการ์ตูนเฮนไทและ Pokémon กำลังมีอะไรกัน คือผมพยายามจะออกนอกกรอบน่ะ แต่มันไม่ง่ายที่จะทำให้คนรู้สึกขัดแย้งและโต้เถียงในตัวเอง”
เขาย้อนกลับไปมองตนเองสมัยวัย 20 ต้นๆ
คนเรามีสิ่งหนึ่งที่อยากตะโกนบอกโลกทั้งใบ และใช้เวลาทั้งชีวิตพยายามสื่อสารมันออกมาให้คนได้ยิน แต่คำถามคือถ้าคนเข้าใจคุณแล้ว ชีวิตที่เหลือคุณจะเอาไปทำอะไร
“มีคนมากมายพยายามทำผลงานให้เป็นที่ยอมรับ เอาใจคนอื่น แต่เราควรหาจุดกลางว่าทำอย่างไรให้งานนั้นช่วยตั้งคำถาม เกิดความขัดแย้งในตัวแบบพอดี แล้วบังเอิญในนิทรรศการนั้นมีผู้ชายคนหนึ่งเดินเข้ามาแล้วเอามีดกรีดภาพวาดภาพหนึ่ง หลังจากนั้นพอเราไปจัดงานที่ Museum of Contemporary Art ที่ซิดนีย์ ก็มีคนไม่พอใจ จนตำรวจต้องขอให้นำภาพลง”
คุณคิดไหมว่าคนจะไม่พอใจขนาดนั้นน่ะ
“อาจจะนิดหนึ่งมั้ง แต่นั่นเกิดขึ้นประมาณ 10 กว่าปีมาแล้ว สิ่งที่ทำให้คนไม่พอใจตอนนั้นอาจจะใช้ไม่ได้กับตอนนี้ ผมมองว่ามันยากขึ้นที่จะทำให้คนรู้สึกเคืองตอนนี้ แต่ถึงอย่างนั้นเราอยู่ในวัฒนธรรมที่รายล้อมไปด้วยความหวาดระแวงว่าใช้คำพูดที่ไม่เข้าหูใครหรือเปล่า มุมมองที่เรามองโลกก็เปลี่ยนไป เมื่อก่อนเรามีทีวี วิทยุอะไรพวกนั้น แต่ตอนนี้เรามีอินเทอร์เน็ต แล้วหน้าคนก็เกี่ยวอยู่กับจอแทน”
งั้นคุณว่าอะไรที่ไปสะเทือนความรู้สึกหรือทำให้คนเคืองตอนนี้ล่ะ
“ผมว่าคนไม่รู้สึกว่าหนังโป๊มันโจ๋งครึ่มไปแล้ว เพราะเราชินตากับหนัง มิวสิกวิดีโอ โฆษณาที่โชว์เนื้อหนังมังสากันบ่อยไปแล้ว เหมือนกับความรุนแรงที่เห็นได้ในหนังเอย วิดีโอเกมเอย แต่ตอนนี้คนยังรู้สึกละเอียดอ่อนกับการพูดถึงหรือไปแตะตัวตน หรือความรู้สึกว่าโลกทรีตคนยังไงมากกว่า ดังนั้นมโนนัยที่ว่าคนโกรธง่ายมันเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อ 20 ปีก่อน คนที่ไม่พอใจจริงๆ อาจไม่ควรรู้สึกอย่างนั้นก็ได้ เพราะหนังโป๊มันก็เป็นแค่ผิวหนัง แต่ตอนนี้สิ่งที่คนรู้สึกไม่พอใจ พวกเขาอาจจะควรรู้สึกอย่างนั้นก็ได้ เพราะโลกนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่น่าสะเทือนใจที่เราพยายามนำเสนอ มันอาจทำให้เขาได้คิดว่าเราควรใส่ใจกันกว่านี้ หรือปฏิบัติต่อกันดีกว่านี้ผมว่านะ”
มีศิลปินเคยกล่าวว่างานศิลปะที่แท้จริงไม่เคยสำเร็จ แต่คุณรู้ได้อย่างไรว่างานชิ้นหนึ่งของคุณสำเร็จแล้ว
“งานผมเป็นเหมือนเครื่องจักร แต่ผมอยากใช้ความเป็นคนใส่เข้าไปด้วย สิ่งที่ผมใช้คือการสอดใส่รายละเอียดที่ ‘ไม่ควร’ อยู่บนนั้นเข้าไป อย่างชิ้นนี้เป็นแค่หน้าผู้หญิงบนถุง Gucci”
เขาชี้ไปที่ภาพผู้หญิงร่ำไห้ที่แปะอยู่บนถุงช้อปปิ้ง Gucci หนึ่งในผลงานนิทรรศการ ‘Package Deal’
“ชิ้นนี้แสดงถึงวิธีการที่เราเชิดชูแฟชั่นล่ะมั้ง มันมีความว่างเปล่าไร้ความคิดอยู่ในนั้น สะท้อนถึงผู้หญิงที่บูชาแฟชั่นว่า ‘Gucci ช่างเลิศเลอ ตั้งตารอคอลเล็กชันใหม่ไม่ไหว’ อะไรแบบนั้น ส่วนอันที่เป็น Victoria’s Secret อีกชิ้นนั้น ผมตั้งคำถามว่า ‘แล้วความลับของวิกตอเรียคืออะไร?’ ผู้หญิงร้องไห้คนนั้นคือวิกตอเรีย”
เบน ฟรอสต์ พาเราส่องดูงานชิ้นเด่นแต่ละชิ้นจากนิทรรศการล่าสุดที่คัดเลือกภาพในระดับหนึ่งเพื่อมาจัดแสดงในไทยว่า ‘ไม่ก้าวร้าวเกินไป’
“ส่วนอันรูปฉลากยานั้น ผมคิดว่ารอบโลกโดยเฉพาะในอเมริกา คนกำลังใช้ยากันอย่างบ้าคลั่ง ออสเตรเลียก็ด้วย รูปนี้เรามีคุกกี้มอนสเตอร์ขนปุยที่หยุดกินคุกกี้สุดอร่อยไม่ได้ นั่นสะท้อนถึงวิถีที่คนกำลังติดยาและหยุดไม่ได้ แต่ผมพยายามสอดใส่ความตลกเข้าไปในนั้นด้วย อย่างตัวนี้กับยา OxyContin ที่คนใช้กันตั้งเยอะแยะแต่ไม่ยอมเปิดเผยกัน มันถือเป็นเรื่องห้ามพูดถึง เหมือนหนังโป๊ที่คนไม่พูดถึงกันแบบโจ่งแจ้ง โดยเฉพาะฉลากยาที่มันไม่ได้มีสีสันฉูดฉาดแบบแพ็กเกจจิ้งแมคโดนัลด์ แต่ถึงกระนั้นมันก็สื่ออะไรคล้ายกัน ผมเลยใช้ตัวการ์ตูนหรือคาแรกเตอร์ที่คนรู้จักดีเป็นตัวชักนำให้ถูกพูดถึง เป็นเอกลักษณ์ของป๊อปอาร์ตที่ผมว่าถ้าผมสามารถสื่อมันออกมาได้ ผมว่ามันเสร็จแล้ว”
สังเกตว่าคุณใช้ผู้หญิงเป็นคนนำสารในภาพเสียเยอะ เพราะอะไร
“มีความแตกต่างระหว่างการใช้ภาพผู้หญิงทั่วไปกับผู้หญิงร้องไห้นะ ถ้ามองแบบผิวเผินมันมีความไร้เดียงสา ขณะที่ผู้หญิงร้องไห้ทำให้เรารู้สึกสงสัยว่า ทำไมเขาถึงร้องไห้ เธอเสียใจที่โหยหาอยากได้อะไรหรือเปล่า หรือเธอโศกเศร้าเพราะความตัณหาของตัวเอง สมมติว่าเธอร้องไห้อยู่บนฉลากยา มันทำให้ตั้งถามต่อว่า เธอร้องไห้เพราะติดยา เพราะคิดว่าฉันไม่ควรจะใช้ยา หรือเพราะโหยอยากได้มันเพิ่ม หรือกระทั่งเพราะเธอเจ็บปวดแล้วยาช่วยบรรเทากันแน่ ให้น้ำตาเป็นต้นกำเนิดความคิดต่างๆ นั่นก็คือสิ่งที่ผมต้องการนำเสนอ คือความรู้สึกโศกเศร้า ให้คนตีความเอาเอง”
แล้วคุณเคยลองใช้ภาพผู้ชายไหม
“ผมเคยแล้วแต่มันไม่เวิร์ก เพราะสื่อสารไม่ตรงกับที่ต้องการน่ะสิ มันอาจจะสื่อสารต่างออกไป หรือขายไม่ออกเลยก็ได้ เพราะสุดท้ายผมว่ามันก็เล่นกับโลกที่ปกครองด้วยความเป็นชายที่มักมองผู้หญิงเป็นวัตถุ”
จำได้ไหมว่าตอนเด็กๆ คุณอยากเป็นอะไร หรือตอนไหนที่คุณรู้ว่าอยากเป็นศิลปินป๊อป
ฉันถามเขาเพื่อตามหาจุดเริ่มต้นของศิลปินที่เป็นที่รู้จักในฐานะ ‘Ben Frost is Dead’
“ผมไม่รู้หรอกว่าอยากเป็นอะไร” เขาบอกอย่างนั้น
“รู้แค่ว่าตั้งแต่ผมเริ่มเข้ามาสู่เส้นทางการเป็นศิลปินป๊อปอาร์ต ตัวผมไม่เปลี่ยนไปเท่าไรเลย”
เขาหยุดไปชั่วครู่เหมือนกับกำลังใช้ความคิดเพื่อย้อนเวลานึกถึงสมัยวัยละอ่อน
“ถ้ามองกลับไปดูงานแรกในชีวิตที่ผมเคยทำ คุณจะเห็นว่ามันยังมีความเกี่ยวข้องกับงานของผมทุกวันนี้อยู่ แม้ว่าสไตล์จะเปลี่ยนไปบ้าง แต่ข้อความที่ผมต้องการสื่อมันยังเหมือนเดิม ผมว่าคนเรามีสิ่งหนึ่งที่อยากตะโกนบอกโลกทั้งใบ และเราใช้เวลาทั้งชีวิตพยายามสื่อสารมันออกมา โดยพยายามสื่อมันออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกันเพื่อให้มันได้ผลชัดที่สุด บางทีอาจใช้ทั้งชั่วชีวิตเพื่อส่งสารนี้ให้คนได้ยิน แต่คำถามคือ ถ้าคนเข้าใจคุณตั้งแต่อายุ 25 แล้วชีวิตที่เหลือคุณจะเอาไปทำอะไร?”
นกมันขี้ใส่พื้นก็เพราะมันรู้ว่าข้างล่างมันห่วยแตกแค่ไหน
สิ่งที่คุณพยายามจะบอกทั้งชีวิตคืออะไร
“นั่นสิ…ผมว่ามันเกี่ยวกับการเป็นศิลปินป๊อปอาร์ตล่ะมั้ง มันย้อนกลับมาเหมือนที่เราคุยกันตอนแรกเรื่องความรักและเกลียดในงานโฆษณาชวนเชื่อทั้งหลายกับโลกที่เราอยู่กัน
“ผมพยายามทำให้มันเมกเซนส์ผ่านศิลปะที่บิดเบือนงานโฆษณา ส่วนตัวผมพอใจมากกับงานที่นำเสนอภาพของแพ็กเกจจิ้งยา เชื่อไหมผมได้รับอีเมลจากคนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องยาพวกนี้ อย่างเมื่อวันก่อนผมได้รับเมลจากผู้ชายคนหนึ่งที่ลูกชายเป็นโรคลมชัก แล้วต้องใช้ยาตัวหนึ่งที่ผมนำมาประกอบงาน พอลูกชายเขาได้เห็นตัวการ์ตูนบนยาตัวนั้น แล้วมันทำให้เด็กรู้สึกว่าภาพนั้นช่วยรักษาเขาไปอีกทาง
“มีคนที่สะสมงานของผมคนหนึ่งที่มีลูกบุญธรรมที่ติดยา OxyContin เพราะแม่ติดยา ตอนลูกเกิดมาก็เลยติดตามไปด้วย ผู้ชายคนนั้นรับเด็กชายที่น่ารักคนนั้นมาเลี้ยง แต่เรื่องพวกนี้กลับเป็นความลับที่ไม่ควรนำมาถก คนไม่ควรรู้ แต่ผมดีใจที่ได้นำมันออกมาเล่าแล้วไปจับใจคนแบบนั้น ผมภูมิใจกับภาพพวกฉลากยาแบบนั้นที่มันไปขุดพื้นผิวของความจริงอะไรบางอย่างออกมาให้คนสังเกตเห็น ส่วนพวกภาพแฟชั่นนั้นผมเน้นไปที่คนหมู่มากเสียมากกว่า”
แบรนด์แฟชั่นดังๆ พวกนี้ไม่ว่าอะไรเหรอที่คุณเอาโลโก้พวกเขามาใช้ตีความใหม่
“จริงๆ มีเรื่องตลกอยู่ คือผมออกแบบให้ Moschino คอลเล็กชัน Fall 2018 Ready-to-Wear สำหรับรันเวย์ที่มิลานไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ตอนนั้น เจเรมี สก็อตต์ เจองานผมบนอินสตาแกรมแล้วชอบ เขาเลยออกแบบคอลเล็กชันนั้นโดยดูจากงานของผม แต่มีคนดันส่งเมสเสจหาผมบนอินสตาแกรมด้วย บอกว่า ‘เฮ้ย Moschino เอางานของคุณไปใช้นะ อย่าไปยอม!’ ผมไม่ได้ตอบ แต่มันตลกดี แล้วก็พวกบริษัทยา พวกแบรนด์ขนมฟาสต์ฟู้ดพวกนั้นก็ได้เห็น ผมว่ามันเป็นเรื่องขำที่สุดท้ายก็ย้อนวนกันไป”
ผลงานของศิลปินที่ชื่อ เบน ฟรอสต์ ถูกจัดแสดงมาแล้วทั่วโลกตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ทั้งในลอนดอน, นิวยอร์ก, ซิดนีย์, สิงคโปร์, ซานฟรานซิสโก, ปักกิ่ง, อัมสเตอร์ดัม ไปจนเบอร์ลิน
คุณมองว่าคุณประสบความสำเร็จไหม หรือคุณรู้ตอนไหนว่าประสบความสำเร็จ
“อืม…ผมคิดว่าอย่างนั้นนะ เพราะผมรู้สึกว่าได้ทำอะไรหลายอย่างที่อยากทำสำเร็จ ผมว่าคุณจะรู้ก็เมื่อได้ทำสิ่งที่คุณอยากทำแล้วนั่นแหละ แถมยังได้เดินทาง อย่างได้มาเมืองไทยนี่ไง ผมได้เที่ยวไปทำงานไป ได้ไปทะเลภูเก็ตที่ร้อนพับผ่าเลย ได้เจอผู้คนหลากหลายด้วย มันวิเศษดีออก”
แล้วคุณมีใครเป็นแรงบันดาลใจบ้างไหม
“นี่เป็นคำถามที่ยากสำหรับผมเสมอเลย เพราะถ้าคุณเอ่ยชื่อไปมันก็เหมือนคุณไปลอกงานเขา” เขารีบออกตัวกับคำถามนี้
ถ้างั้นอะไรสร้างแรงบันดาลใจให้คุณล่ะ
“หนังสือการ์ตูนหรือรายการตลกของอังกฤษที่ตอนเด็กๆ ผมมองว่ามักจะมีความเป็นอนาธิปไตยอยู่ บิดเบือนอะไรบางอย่างให้ออกมาเป็นอีกอย่าง โอเค…ถ้าคุณถามถึงเป็นตัวบุคคล ผมบอกได้เลยว่า แอนดี้ วอร์ฮอล เพราะเขาเปลี่ยนโลกทั้งใบโดยเฉพาะโลกศิลปะ ทำให้เรามองในมุมที่ต่างไป เห็นได้ชัดจากโลกใบนี้ก่อนที่จะมีแอนดี้ วอร์ฮอล และหลังจากผลงานของเขาเป็นที่รู้จัก มันเปลี่ยนไปเลย คุณว่าไหมล่ะ ความจริงที่ว่างานกระป๋องเอยอะไรเอย พวกนี้ถูกมองว่าเป็น ‘ศิลปะ’ มันเป็นเรื่องน่าทึ่ง หรือแม้แต่กราฟิกดีไซน์และวิธีที่ทุกอย่างกลายเป็นสีสันของการโฆษณา แม้กระทั่งวัฒนธรรมคนดังที่มาเกี่ยวข้องกับศิลปะด้วย”
ในฐานะศิลปิน เราน่าจะมีความรับผิดชอบในการพูดถึงประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคม มันไม่ผิดหรอกที่คุณจะวาดภาพสวยๆ แต่ผมว่าคุณพยายามจะสร้างอะไรที่แค่ดูดีเพื่อเอาใจโลกนี้เสียมากกว่า
ในปี 2003 เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ศิลปะที่ดีคืองานที่ใส่ความเป็นปัจจุบันทันด่วนลงไปด้วย มันคือสิ่งที่ทวนกระแสอะไรบางอย่าง อาจจะย้อนแย้งกับความสวยงาม แนวคิด หรือมุมมองทางการเมือง”
คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าการได้เห็นงานศิลปะสวยๆ ที่ไร้ความหมายทำให้คุณหงุดหงิด ทำไมเป็นแบบนั้นล่ะ
“ใช่เลย ฟังนะ ในฐานะศิลปิน พวกเราต่างรับผิดชอบในสิ่งที่เราพยายามจะสื่อ โอเค สมมติว่าคุณถามศิลปินว่า งานนี้มันเกี่ยวกับอะไร ศิลปินก็ควรจะพูดถึงมันได้เป็นวรรคเป็นเวรถึงสิ่งที่เขาอยากเล่าและสนใจ ผมก็แค่คิดว่าเราน่าจะมีความรับผิดชอบในการพูดถึงประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคม มันไม่ผิดหรอกที่คุณจะวาดภาพสวยๆ แต่ผมแค่ไม่ได้อินกับมันมั้ง ผมว่ามันเหมือนกับคุณแค่พยายามจะสร้างอะไรที่ดูดีเอาใจโลกนี้เสียมากกว่า”
นี่อาจเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้ชายคนนี้น่าทึ่ง เพราะเขามองเห็นและเข้าใจในหน้าที่ฐานะผู้ส่งสารที่เรียกว่า ‘ศิลปิน’
ถ้าอย่างนั้น ‘ศิลปิน’ สำหรับคุณคืออะไร
“ถ้าศิลปะคือการปลดปล่อยแนวคิดอะไรบางอย่างออกมา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน ศิลปินก็ควรจะเป็นผู้ที่สามารถถกถึงมันได้ไม่รู้จบ แทนที่จะบอกว่ามันคือสิ่งที่คุณเห็นตรงหน้า”
หมายถึงคนที่สามารถสื่อสารกับผู้ชมผ่านผลงานอย่างนั้นเหรอ
“ผมว่านั่นคืองานของศิลปินที่ประสบความสำเร็จมากกว่า ศิลปะเป็นสิ่งที่ยากที่จะนำเสนอ ขณะเดียวกันก็เป็นแค่เรื่องพื้นฐานง่ายๆ ถ้าได้ลองปฏิบัติในแง่ของการสร้างมันขึ้นมา ดังนั้นผมว่าศิลปินควรจะใช้เวลาในการคิดต่อยอดไอเดียว่าจะนำเสนอมันอย่างไร นั่นน่าจะเป็นสิ่งที่ผมอยากแนะกับศิลปินรุ่นใหม่ให้พิจารณาถึงสิ่งที่จะสื่อออกไป”
อะไรคือสิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับงานของคุณ
“จริงๆ นั่นทำให้การได้คุยกับคนที่มาดูงานเป็นเรื่องที่เปิดโลกทัศน์ให้คุณเห็นในสิ่งที่ถูกบังอยู่ และผมมองว่านั่นเป็นหน้าที่ของศิลปะ เอ้อ…แล้วก็คนหลายคนมองไม่ออกว่างานพวกนี้เป็นภาพแคนวาส พวกเขานึกว่าเป็นโปรดักต์จริงๆ นะรู้ไหม เพราะเวลาโพสต์ลงในอินสตาแกรมมันดูเหมือนของจริงมั้ง ผมเป็นคนที่ชอบคุยกับคนที่ได้งานกลับบ้านไปแล้ว เพราะบางทีพวกเขาปอกเปลือกความหมายของมันในแง่ต่างๆ ที่บางทีผมก็ไม่คาดคิด แต่บางทีคนก็เข้าใจผิดคิดว่าผมทำงานให้ Gucci หรือ Dior หรืออะไรอย่างนี้มั้ง”
เขามองฟ้าสีหม่นนอกหน้าต่างที่ตัดกับสีฉูดฉาดบนผลงานของเขาจากฝนที่ตกไม่หยุดในวันเสาร์ ฉันถามเขาถึงคำถามที่อยากรู้ที่สุด
คุณจะบรรยายถึงงานของคุณให้คนที่มองไม่เห็นฟังว่าอย่างไร
“ผมชอบคำถามนี้นะ ผมคงให้เขานึกถึงองค์ประกอบที่ซ่อนในความน่าเกลียดน่าสะพรึง แต่สิ่งนั้นกลับโดดเด่นและกระโดดโลดเต้นโอบอุ้มไปด้วยความสวยงามลึกซึ้ง เพราะว่าการติดยามันเป็นเรื่องน่ากลัวจนเราสามารถหยิบมาเจาะลึกว่ามันน่ากลัวอย่างไร แต่ผมฉาบบางๆ ไว้ด้วยความสวยงาม หรือความแบ๊วน่ารักที่เข้าถึงง่ายของการ์ตูนซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับความน่ากลัวเหล่านั้น อย่าง Nineteen Eighty-Four หนังสือของ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) คือการใช้ชีวิตที่ถูกกดขี่ในโลกที่ไม่น่าอยู่ แต่มันก็มีความสวยงามของมัน มันคือความวิจิตรที่น่าสะพรึง
“สำหรับผมงานที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือเมื่อทั้งความน่ากลัวและความสวยงามมันผสมกันได้อย่างลงตัว
“แต่สุดท้ายแล้วมันก็เป็นโลกที่น่ากลัว” เขากล่าวพร้อมแววตาที่เกือบจะว่างเปล่าไปชั่วครู่หนึ่ง
ผลงานนิทรรศการเดี่ยว ‘Package Deal’ ของ เบน ฟรอสต์ จัดแสดงถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2561 ที่ Chin’s Gallery นำเสนอเรื่องจริงที่มักถูกเก็บใต้เตียงมาเสนอผ่านผลิตภัณฑ์ที่คุ้นตาแม้จะอยากหรือไม่อยากบอกใครก็ตาม
Chin’s Gallery
33/58 หมู่บ้าน Arden พระราม 3 ถนนยานนาวา ช่องนนทรี กรุงเทพฯ
เปิดให้ชมวันพุธถึงอาทิตย์ เวลา 11.00-19.00 น.
อ้างอิง:
- en.wikipedia.org/wiki/Ben_Frost_(artist)#Career
- web.archive.org/web/20070903201328/http://lifelounge.com/Precisely%2C-Ben-Frost.aspx
- www.benfrostisdead.com
- www.widewalls.ch/artist/ben-frost
- เฮนไท (Hentai) คือการ์ตูนโป๊ญี่ปุ่น