เบน เบอร์นานเก (Ben Bernanke) อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งมีประสบการณ์ตรงในการนำธนาคารกลางและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านภาวะถดถอยครั้งใหญ่ แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน โดยระบุว่า บรรดาเจ้าหน้าที่ Fed ในขณะนี้ ยังมีงานต้องทำอีกมากเพื่อจัดการลดอัตราเงินเฟ้อ
การแสดงความเห็นดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำเอกสารทางวิชาการกับ โอลิเวียร์ บล็องชาร์ด นักเศรษฐศาสตร์ ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (23 พฤษภาคม) โดยเอกสารดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการทำงานที่ทั้งเบอร์นานเกและบล็องชาร์ดเชื่อว่าจะช่วยให้เกิดการชะลอตัวของตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวได้อย่างน่าอัศจรรย์
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองไม่ได้ระบุข้อกำหนดเฉพาะเจาะจงว่าอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นเท่าใด แต่ก็แนะนำว่าเป็นไปได้ที่ Fed ในปัจจุบันจะจัดการหาทางออกจากสถานการณ์นี้โดยไม่กระทบกระเทือนเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างรุนแรง
เบอร์นานเกและบล็องชาร์ดระบุว่า เมื่อมองไปข้างหน้าด้วยความที่ตลาดแรงงานยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับการเติบโตยั่งยืน บวกกับแนวโน้มการคาดการณ์เงินเฟ้อที่จะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ทำให้สรุปได้ว่า Fed อาจจะต้องเผชิญกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจเล็กน้อยเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่วางไว้ที่ 2% ได้
รายงานระบุว่า นับตั้งแต่ยุติการทำงานกับ Fed ในปี 2014 อดีตประธาน Fed เบอร์นานเกได้ทำงานในฐานะนักวิชาอาวุโสของสถาบันบรูกกิงส์ (Brookings Institution) ขณะที่บล็องชาร์ด เป็นนักวิจัยอาวุโสของสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (Peterson Institute for International Economics)
ทั้งนี้ การศึกษาร่วมของทั้งสองฝ่ายระบุว่า อัตราเงินเฟ้อมีวิวัฒนาการตั้งแต่พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ในช่วงฤดูร้อนปี 2022 โดยเบื้องต้นอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวดันให้ราคาสินค้าและบริการพุ่งขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากสภาคองเกรสและธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อเปลี่ยนการใช้จ่ายจากบริการเป็นสินค้า ซึ่งทำให้เกิดภาวะติดขัดในส่วนของซัพพลาย ดันให้สินค้าผลิตไม่ทันความต้องการใช้งาน ดังนั้นจึงดันให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง และมีการขยับปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน โดยเบอร์นานเกและบล็องชาร์ดชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงนี้ได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานที่พยายามไล่ตามค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นได้ ซึ่งเบอร์นานเกและบล็องชาร์ดมองว่าโดยทั่วไปแล้วอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวเป็นสิ่งที่สามารถควบคุมได้ แต่นั่นหมายความว่า Fed จำเป็นต้องพยายามแก้ไขสถานการณ์ในตลาดแรงงานอย่างจริงจัง โดยอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ในขณะนี้อยู่ที่ 3.4% อีกทั้งยังมีตำแหน่งงานว่างเหลืออยู่ประมาณ 1.6 ล้านตำแหน่งสำหรับสัดส่วนแรงงานที่กำลังว่างงาน
เบอร์นานเกและบล็องชาร์ดกล่าวว่า ส่วนของอัตราเงินเฟ้อที่มีต้นตอมาจากภาวะร้อนแรงของตลาดแรงงาน สามารถพลิกสถานการณ์ได้ด้วยการดำเนินนโยบายที่ทำให้อุปสงค์และอุปทานแรงงานเข้าสู่สมดุลที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม บทความนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปพุ่งสูงขึ้น โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ดัชนีราคาผู้บริโภคที่สูงกว่า 9% ในปีที่แล้ว และทำสถิติเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯ รวมกันหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ บวกกับการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเชิงปริมาณ ที่หมายรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเทียบเท่า 0% และการซื้อพันธบัตรเกือบ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เงินร้อนไหลเข้าเศรษฐกิจและสร้างการบิดเบือนที่นำไปสู่ราคาที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ ในเวทีอภิปรายซึ่งจัดโดย Brookings Institution เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (22 พฤษภาคม) เบอร์นานเกกับบล็องชาร์ดได้ร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการชั้นนำคนอื่นๆ หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงสาเหตุที่แท้จริง และสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายควรทำในขณะที่ทบทวนนโยบายสำหรับอนาคต
สำหรับประเด็นที่ต้องมีการพิจารณาทบทวนอย่างจริงจังนั้น รวมถึงปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทาน สถานการณ์ของโควิดมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด และกรอบนโยบายใหม่ที่ Fed นำมาใช้ในเดือนกันยายน 2020 ซึ่งสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในวงกว้างและครอบคลุม (Broad-based and Inclusive) ในระดับที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหรือไม่
ด้าน เจสัน เฟอร์แมน อดีตประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า ความผิดมหันต์ก็คือนโยบายการคลังของ Fed โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2021 ส่วนความผิดต่อมาซึ่งพอจะเข้าใจได้ก็คือนโยบายการเงิน โดยเฟอร์แมนชี้ว่า ที่ผ่านมารู้สึกผิดหวังต่อนโยบายการคลังของ Fed ที่ผิดที่ผิดเวลามาโดยตลอด ดังนั้นการที่ Fed เริ่มจับสัญญาณได้ และลงมือในสิ่งที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี
โดยหลังจากการตัดสินใจของ Fed ที่ผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า เฟอร์แมนเชื่อว่า Fed น่าจะแสดงการดำเนินการปรับลดเงินเฟ้อมากกว่าการส่งสัญญาณที่ถูกต้องแต่เพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ ความผิดพลาดของ Fed ที่เฟอร์แมนกล่าวถึงคือการที่ Fed เชื่ออย่างจริงจังว่าอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งเกินเป้าหมาย 2% ของ Fed เป็นแนวโน้ม ‘ชั่วคราว’ และไม่ได้ทำอะไรนอกจากเริ่มพูดคุยกันว่าจะลดการซื้อพันธบัตรลงเมื่อใด จนกระทั่ง Fed เพิ่งเริ่มตระหนักถึงความผิดพลาด และหันมาขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม 2022 หนึ่งปีเต็มหลังจากมีสัญญาณเงินเฟ้อ
นับตั้งแต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วงต้นปี 2022 เป็นต้นมา Fed ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน 10 ครั้ง รวมเป็น 5% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 16 ปี
ขณะที่ ริชาร์ด คลาริดา อดีตรองประธาน Fed และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของ Fed (FOMC) ในช่วงที่เงินเฟ้อพุ่งสูง กล่าวว่า การดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของ Fed ไม่ได้เกิดจากการปฏิบัติตามกรอบนโยบายที่นำมาใช้ในปี 2020 ท่ามกลางความไม่สงบทางเชื้อชาติทั่วประเทศมากเกินไป แต่เป็นข้อผิดพลาดในเชิงกลยุทธ์ระยะสั้น (Tactics) มากกว่ากลยุทธ์ (Strategy) ที่วางไว้ในระยะยาว ขณะเดียวกัน ความผิดพลาดส่วนหนึ่งของ Fed ก็ได้รับผลกระทบจากเมฆหมอกของสงคราม (Fog of War)
คลาริดาตั้งข้อสังเกตว่า ความผิดพลาดดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นกับ Fed เพียงแห่งเดียว แต่ธนาคารกลางชั้นนำหลายแห่งทั่วโลกในเวลานั้นก็เลือกที่จะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าทำไมสถานการณ์ดังกล่าวจึงเกิดขึ้น กลายเป็นคำถามที่สำคัญและน่าสนใจมาก ซึ่งกล่าวถึงแนวปฏิบัติของธนาคารกลางที่กำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อในขอบเขตมากกว่าที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามกรอบการทำงานเฉพาะใดๆ
รายงานการศึกษาของเบอร์นานเกและบล็องชาร์ดระบุถึงอันตรายที่เกิดขึ้นกับธนาคารกลางที่ปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อดำเนินต่อไปนานเกินไป และผลกระทบที่มีต่อการคาดการณ์ราคาว่า การปล่อยให้ภาวะเงินเฟ้อสูงกินเวลานานขึ้น ผลกระทบที่ไล่ตามมาจะยิ่งแข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบของภาวะตึงตัวของตลาดแรงงานต่ออัตราเงินเฟ้อ และการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด ในท้ายที่สุดก็เป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง ที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับคืนสู่ระดับเป้าหมาย
อ้างอิง: