เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเป็นประธานในพิธีเปิดใช้ท่าอากาศยานนานาชาติต้าซิง (北京大兴国际机场) สนามบินแห่งใหม่ของกรุงปักกิ่งที่ถูกยกเป็นหนึ่งในฮับการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก
พิธีการเกิดขึ้นก่อนวันครบรอบ 70 ปีแห่งการสถาปนาประเทศจีน (1 ตุลาคม 2019) แน่นอนว่าเมกะโปรเจกต์นี้กลายเป็นสัญลักษณ์ความรุ่งโรจน์ของจีนสมัยใหม่ และหลักชัยสำคัญสู่การเป็นตลาดการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก
รูปทรงอาคารผู้โดยสาร (เทอร์มินัล) ที่คล้ายปลาดาว ทำให้สนามบินต้าซิงแห่งนี้มีชื่อเล่นว่า Starfish หรือปลาดาว แต่จริงๆ แล้วมันถูกออกแบบให้คล้าย ‘นกฟีนิกซ์’ วิหคในตำนานหรือเทพนิยายจีนที่ภาษาจีนเรียกว่า ‘เฟิ่งหวง’ (凤凰) ซึ่งเป็นสัตว์มงคลและสัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองของจีนควบคู่กับมังกร
สนามบินต้าซิงเป็นหนึ่งในอภิมหาโครงการในยุคสมัยของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงที่ต้องการสานฝันอันยิ่งใหญ่ในการนำพาจีนก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลก และเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมโยงจีนกับภูมิภาคและโลกผ่านทางยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งทางบก ทะเล และอากาศ โดยทางบกนั้นจีนมีโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกรองรับอยู่แล้ว
ก่อนหน้าสนามบินจะสร้างแล้วเสร็จ มีรายงานคาดการณ์ที่สอดคล้องไปในทางเดียวกันว่าจีนกำลังจะแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นแท่นตลาดการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2025 ซึ่งท่าอากาศยานต้าซิงจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้จีนสามารถรองรับอุปสงค์ขนาดมหึมานั้นได้ในอนาคตอันใกล้
หลังเปิดใช้ สนามบินต้าซิงจะรองรับผู้โดยสารประมาณ 45 ล้านคนต่อปีภายในปี 2021 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า จากนั้นจะขยับเพิ่มเป็น 72 ล้านคนภายในปี 2025 และ 100 ล้านคนภายในปี 2040 ซึ่งเมื่อรองรับผู้โดยสารเต็มศักยภาพแล้วจะทำให้มันกลายเป็นสนามบินที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในโลก แซงหน้าท่าอากาศยานนานาชาติฮาร์ทสฟิลด์-แจ็คสันในแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา ที่รักษาแชมป์ตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 1998
สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศทำนายว่าเอเชีย-แปซิฟิกจะเป็นภูมิภาคที่ขับเคลื่อนอุปสงค์การเดินทางทางอากาศเป็นเวลา 20 ปี ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2035 ขณะที่จีนอยู่ในทิศทางที่จะโค่นสหรัฐฯ ครองแชมป์ตลาดการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายใน 5 ปีข้างหน้า หรืออย่างเร็วภายในปี 2022
จีนเป็นตลาดศักยภาพสูงที่มีกำลังซื้อมหาศาล การขยายตัวของกลุ่มประชากรชนชั้นกลาง สร้างโอกาสให้กับธุรกิจการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมการบินได้รับอานิสงส์เติบโตอย่างรวดเร็วตามไปด้วย
อาจกล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมการบินจีนเติบโตมาอย่างต่อเนื่องนาน 3 ทศวรรษแล้ว นับตั้งแต่รัฐบาลผ่อนปรนมาตรการควบคุมเศรษฐกิจและเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น
ธนาคารโลกเคยประมาณการว่าปี 1974 จีนมีจำนวนผู้โดยสารเครื่องบินเพียง 7.1 แสนคน ก่อนเพิ่มเป็น 11.1 ล้านคนในปี 1989 และพุ่งขึ้นหลายเท่าตัวเป็น 611.4 ล้านคนในปี 2018 ซึ่งเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับสายการบินในประเทศ
ข้อมูลจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ระบุว่าสายการบินของจีนมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วนับจากปี 2014 โดยเฉพาะสายการบิน China Southern และ China Eastern ที่มีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารพุ่งขึ้นกว่า 80% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ China Southern และ Air China ติดทำเนียบ 2 ใน 10 สายการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน (ข้อมูลจนถึงเดือนมิถุนายน 2019)
นอกจากสายการบินหลักของจีนที่จะใช้สนามบินต้าซิงเป็นบ้านหลังใหญ่แล้ว สายการบินยักษ์ใหญ่ทั่วโลกก็ตบเท้าย้ายฐานให้บริการผู้โดยสารจากสนามบินแห่งเก่าของปักกิ่งแล้วเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ American Airlines และ British Airways ส่วนสายการบินช้ันนำรายอื่นๆ จะทยอยตามมา เพราะส่วนใหญ่ยังติดปัญหาต้นทุนการย้ายฐานบริการ
โอกาสทางเศรษฐกิจและแผนบูรณาการปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย
การขยับสนามบินแห่งใหม่ออกไปจากตัวเมืองปักกิ่งราว 40 กิโลเมตรยังช่วยลดความหนาแน่นของประชากรที่กระจุกตัวอยู่ในตัวเมืองด้วย
ชุยเสี่ยวเหา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปปักกิ่ง กล่าวว่าสนามบินต้าซิงจะกลายเป็นเสาหลักเศรษฐกิจในการพัฒนาพื้นที่ทางใต้ของกรุงปักกิ่ง และช่วยกระจายประชากรในเมืองหลวงให้มีความสมดุลยิ่งขึ้น โดยจะเป็นประตูสำคัญสู่พื้นที่ทางใต้ของกรุงปักกิ่ง
ส่วนเป้าหมายใหญ่ของรัฐบาลคือการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ ‘จิงจินจี้’ (京津冀经济圈) ที่ครอบคลุมกรุงปักกิ่ง นครเทียนจิน และ 11 เมืองในมณฑลเหอเป่ย โดยที่มีสนามบินต้าซิงเป็นศูนย์กลาง
จิงจิ้นจี้ (京津冀) เป็น 1 ใน 3 ยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มเมืองใหญ่ของจีน โดยอีก 2 กลุ่มเมืองสำคัญคือ ‘ฉางซานเจี่ยว’ (长三角) หรือเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีที่เชื่อมมหานครเซี่ยงไฮ้ เมืองใหญ่ในมณฑลเจียงซู อานฮุย และเจ้อเจียงเข้าด้วยกัน และ ‘จูซานเจี่ยว’ (珠三角) เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง ที่ประกอบด้วยเมืองกวางโจว เซินเจิ้น ฮ่องกง มาเก๊า จูไห่ ฝอซาน ตงกว่าน จงซาน เจียงเหมิน ฮุ่ยโจว และจ้าวชิ่ง
โดยปักกิ่ง เทียนจิน และมณฑลเหอเป่ย มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีน
นั่นหมายความว่าสนามบินต้าซิงจะเป็นประตูสู่เขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทางภาคเหนือของจีนที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 100 ล้านคน หรือคิดเป็น 8% ของประชากรทั้งประเทศ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 200,000 ตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าประเทศเกาหลีใต้เท่าตัว โดยปักกิ่งถือเป็นศูนย์กลางทางการเมือง การศึกษา วัฒนธรรม และ R&D ส่วนเทียนจินเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ ขณะที่มณฑลเหอเป่ยเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมหนัก ซึ่งรวมถึงฐานผลิตเหล็กกล้าที่สำคัญด้วย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- www.cnbc.com/2019/09/26/beijing-daxing-airport-takes-china-closer-to-being-worlds-largest-aviation-market.html
- fortune.com/2019/09/25/beijing-new-airport-daxing/
- www.dw.com/en/beijings-huge-new-daxing-airport-opened-by-xi-jinping/a-50573170
- www.china-briefing.com/news/the-beijing-tianjin-hebei-integration-plan/
- www.telegraph.co.uk/china-watch/travel/daxing-international-airport-flies-into-future/
- www.theguardian.com/world/2019/sep/25/daxing-international-airport-zaha-hadid-starfish-opens-beijing
- ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่งต้าซิง (PKX) ใช้งบประมาณก่อสร้างราว 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ใช้เวลาสร้างเกือบ 5 ปี โดยอาคารผู้โดยสารมีเนื้อที่ 6.9 แสนตารางเมตร ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 46.6 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 7 รันเวย์
- สนามบินต้าซิงออกแบบโดย ซาฮา ฮาดิด สถาปนิกหญิงชื่อก้องโลก เจ้าของรางวัลพริตซ์เกอร์ ซึ่งเปรียบเหมือนโนเบลแห่งวงการสถาปัตยกรรม เธอเสียชีวิตในปี 2016
- ปัจจุบันท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่ง (Beijing Capital International Airport / รหัสอักษรย่อ PEK) ที่เปิดใช้ตั้งแต่ปี 1958 เป็นสนามบินที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกในด้านจำนวนผู้โดยสาร (101 ล้านคนในปี 2018) (ข้อมูลจากสภาสมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศ)