×

สตันท์ไปหลายวิ เมื่อสตันท์หลายชีวิตต้องเอาร่างเข้าแลกให้กับหนังเรื่องเดียว

21.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ในหนังเรื่อง Deadpool 2 (2017) มีสตันท์แมนหญิงเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์คว่ำ
  • จากสถิติที่วัดกันในอเมริกา สรุปคร่าวๆ ออกมาได้ว่า ทุกๆ ปีจะมีคนตายจากการถ่ายทำภาพยนตร์อย่างน้อย 1 คน
  • ความเศร้าที่สุดคือ บรรดาคนทำงานในกองถ่ายหลายๆ คนก็ยังคงยอมเล่นเกมแห่งความไม่ปลอดภัยนี้ต่อไป

     ความน่าตกใจขณะที่เสิร์ชหาเกร็ดเกี่ยวกับสตันท์แมนในกองถ่าย เราจึงได้รู้เรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันเยอะและถี่ขนาดนี้  
     ปี 2008 The Dark Knight ช่างกล้องสตันท์ในทีมต้องมุดหน้าต่างรถออกไปเพื่อแบกกล้องตามถ่ายรถของนักแสดงสตันท์ แต่เมื่อถึงจุดที่คนขับรถต้องหักเลี้ยวแบบ 90 องศาตามที่วางแผนกันไว้ เขากลับทำไม่สำเร็จ รถจึงวิ่งพุ่งชนต้นไม้ และทำให้ช่างกล้องคนนั้นเสียชีวิต  
     ปี 2012 Transformers: Dark of the Moon ตัวประกอบหญิงประสบอุบัติเหตุสายเคเบิลขาดและฟาดเข้าที่เข้ากระจกหน้ารถ ทำให้หัวของเธอกระแทกอย่างแรง ส่งผลให้ต้องผ่าตัดสมอง และสุดท้ายสมองของเธอก็เสียหายถาวร พร้อมกับการเป็นอัมพาตครึ่งซีก เธอได้รับค่าชดเชยจากสตูดิโอเป็นเงิน 18 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากที่สตูดิโออิดออดและหาทางเลี่ยงที่จะไม่จ่ายค่าเสียหาย ซึ่งโดยปกติ ค่าแรงของเธอในการมาเป็นตัวประกอบพร้อมขับรถตัวเองมาเข้าฉากนั้นได้รับเพียง 25 เหรียญสหรัฐต่อวัน
     ปี 2012 The Expendables 2 สตันท์แมนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุระเบิดบนเรือยางผิดพลาด ส่วนสตันท์แมนอีกคนอาการสาหัสจนต้องเข้ารับการผ่าตัด
     ปี 2012-2014 The Hobbit มีสัตว์เสียชีวิต 27 ตัวในการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากสภาพฟาร์มที่เก็บสัตว์เหล่านั้น เช่น ตกคูน้ำ เกี่ยวรั้ว โดนทิ้งไว้ทั้งๆ ที่ขาเจ็บ ฯลฯ
     ​ปี 2013 G.I. Joe: Retaliation ทีมงานเสียชีวิตจากการรื้อฉาก เนื่องจากนั่งร้านหัก
     ปี 2015 Star Wars: The Force Awakens ประตูไฮดรอลิกจากยานมิลเลนเนียมฟอลคอนหล่นใส่ แฮริสัน ฟอร์ด ขาหักไปเลย
     ปี 2017 Blade Runner 2049 ทีมงานเสียชีวิตจากการรื้อฉาก
     (ล่าสุด) ปี 2017 Deadpool 2 สตันท์แมนหญิงเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์คว่ำ

 

Photo: www.etonline.com


     ​นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยๆ ที่เป็นข่าว ซึ่งเรายังไม่ได้นับอันที่ไม่เป็นข่าว ยังไม่ได้นับเคสที่ถูกบิดเบือนว่าอุบัติเหตุไม่ได้เกิดจากการถ่ายทำภาพยนตร์ และยังไม่นับอุบัติเหตุในหนังที่ไม่ดังต่างๆ อีกมากมาย ความน่าตกใจคือเบื้องหลังของการทำหนังระดับฮอลลีวูดที่เงินทุนสูงปรี๊ด ก็ยังมีเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยต่างๆ ของทีมงานออกมาให้เห็นเป็นระยะๆ
     ความจริงแล้วกองถ่ายก็เป็นสถานที่ที่อันตรายมากจริงๆ นั่นแหละครับ ยังไม่ต้องไปถึงหนังแอ็กชันใหญ่ๆ เลยนะ เอาง่ายๆ เลยแค่ถ่ายฉากคนนั่งคุยกัน รอบๆ ตัวคนนั่งคุยกันก็เต็มไปด้วยอุปกรณ์มากมายที่หนักล้วนๆ เหล็กล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้องถ่ายหนัง ขาไฟ หรือตัวไฟเองที่บางครั้งมีขนาดใหญ่กว่าหัวคน ถ้าล็อกไม่ดีหรือ ปล่อยปละละเลย แค่มันหลุดร่วงลงมาใส่ เราก็มีสิทธิ์ตายได้ตลอดเวลา ความเสี่ยงแทบจะเท่ากับการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ชีวิตพัวพันกับเครื่องจักรตลอดเวลาอยู่เหมือนกัน นอกจากนั้นยังไม่นับเรื่องความรีบในการทำงาน หรือความง่วงที่มีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของมนุษย์ และอาจจะก่อให้เกิดความผิดพลาดได้ตลอดเวลาในโซนแห่งการถ่ายทำ (นี่เขียนไปเขียนมา เหมือนเขียนถึงเขตก่อสร้างแล้วนะ)
     ถอยกลับไปสมัยก่อนยุค 1920 การทำหนังนั้นอันตรายมากๆ ไม่มีระบบเซฟตี้ใดๆ จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุในการถ่ายทำหนังเรื่อง Noah’s Ark ที่ให้คนไปอยู่ในแท็งก์น้ำ แต่หน่วยที่เทน้ำใส่เข้าไปนั้นเทเร็วเกินไป จำนวนน้ำ 15,000 แกลลอนทำให้คน 3 คนจมน้ำตาย อีกคนเสียขาไป และอีกหลายคนบาดเจ็บสาหัส กฎหมายเรื่องความปลอดภัยในกองถ่ายจึงเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น แต่การบาดเจ็บล้มตายของผู้คนก็ยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ

     จนกระทั่งเหตุการณ์ในปี 1982 ที่เฮลิคอปเตอร์ในการถ่ายทำหนังเรื่อง The Twilight Zone เกิดเพลิงลุกไหม้จากเทคนิคไฟ ทำให้นักแสดงตาย 1 คน พร้อมด้วยนักแสดงเด็กอายุ 6-7 ขวบอีก 2 คน อุบัติเหตุนี้ทำให้สาธารณชนเริ่มซีเรียสและตั้งคำถามกับความปลอดภัยในกองถ่ายขึ้นอย่างกว้างขวาง

 

Photo: www.telegraph.co.uk


     จากสถิติที่วัดกันในอเมริกา สรุปคร่าวๆ ออกมาได้ว่า ทุกๆ ปีจะมีคนตายจากการถ่ายทำภาพยนตร์อย่างน้อย 1 คน ฟังดูเหมือนน้อย แต่เราก็คิดว่าไม่มีช็อตหรือซีนไหนคุ้มค่าต่อชีวิตคนหนึ่งคนหรอกครับ หลายๆ ครั้งผู้กำกับต้องบาลานซ์ความต้องการตัวเองกับความปลอดภัยหรือความเป็นไปได้ในการทำให้เกิดซีนนั้นขึ้นมา (ส่วนตัวคิดว่าเป็นหนึ่งในหน้าที่เลยด้วยซ้ำ) เพราะบางครั้งมันไม่คุ้มจริงๆ ต่อให้ช็อตนั้นถ่ายออกมาสวยแค่ไหน แต่ถ้ามันได้มาด้วยชีวิตคนก็คงไม่สวยอีกต่อไป หรือไม่อย่างนั้นเราก็ต้องเตรียมตัวมาอย่างดี คิดค้นระบบเซฟตี้ที่จะเซฟชีวิตคนทำงานหรือบรรดาสตันท์แมน และบางครั้งก็ต้องคิดถึงบรรดาตัวประกอบเล็กๆ น้อยๆ ที่บางทีเราอาจจะมองข้ามเขาไป เพียงเพราะ ‘เขายืนอยู่ไกลๆ มองไม่เห็น’

     ​เอาจริงๆ ยังไม่ต้องคุยไปถึงตัวประกอบเลยครับ บรรดาดาราบิ๊กเนมที่ทุกคนต้องคอยรักษาชีวิตไม่ให้ตายก่อนถ่ายหนังจบเนี่ย แต่ละคนก็โดนอะไรจากการถ่ายทำไปไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น ลินดา แฮมิลตัน จาก Terminator 2 หรือ บรูซ วิลลิส จาก Die Hard ที่มีปัญหาในการได้ยิน เพราะตอนถ่ายฉากยิงกันไม่มีอะไรปิดหู หรือ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ ก็เคยเกือบสำลักควันตายจากการถ่าย The Hunger Games และยังมีอีกหลายคนที่มีปัญหากับการแพ้เครื่องสำอางเมื่อต้องแต่งหน้าเป็นสัตว์ประหลาดต่างๆ รวมถึงการสูดดมสารเคมีที่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของเอฟเฟกต์ ขนาดดาราใหญ่ยังหนีไม่พ้น บรรดาสตันท์แมนมืออาชีพต่างๆ นี่ยังไงก็ไม่รอด เป็นยิ่งกว่าหน้าด่าน โดนเต็มๆ ไม่ว่างานจะอันตรายแค่ไหนก็ต้องยอมเสี่ยงรับด้วยสาเหตุง่ายๆ เพราะเรื่องเงินและกลัวตกงาน จะมาทำป๊อดหรือไม่มีสปิริตนักแสดงเหรอ ไปโน่นเลย ไปทำอาชีพอื่น แต่ที่หนักสุดคือหลายๆ ครั้งเวลาเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น บรรดาโปรดิวเซอร์จะพยายามบล็อกทุกคนไม่ให้แพร่งพรายเรื่องนี้กับสื่อมวลชน และพยายามจะกลบเรื่องราวนี้ให้เงียบเร็วที่สุด
     ​ความเศร้าที่สุดคือ บรรดาคนทำงานในกองถ่ายหลายๆ คนก็ยังคงยอมเล่นเกมแห่งความไม่ปลอดภัยนี้ต่อไป เพราะกลัวว่ากองถ่ายหนังจะบินออกไปถ่ายนอกประเทศ แทนที่จะถ่ายหนังในอเมริกา เพราะมีกฎยุ่งยากเหล่านี้เกิดขึ้นมากมาย แฮริสัน ฟอร์ด ที่ขาหักจากยานมิลเลนเนียมฟอลคอนของเขาก็ยังต้องรีบกลับมาถ่ายหนังให้เสร็จโดยเร็วที่สุด เพราะเดี๋ยวฉายไม่ทัน ทีมงานคนหนึ่งที่เคยประสบอุบัติเหตุ แต่รอดชีวิตมาได้บอกว่า ไม่มีใครถามเขาสักคนว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีแต่ถามว่าเมื่อไรจะกลับมาทำงานต่อได้ คือเข้าใจไหม ยังไงๆ เดอะโชว์ก็มัสต์โกออน
     เรื่องเหล่านี้มันทำให้เราต้องตั้งคำถามกับนิยามของคำว่า ‘สปิริตแห่งการทำงาน’ ใหม่กันอีกครั้งจริงๆ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising