×

รัฐคุมเข้มลานเบียร์ทำไม? ห้ามโฆษณาคนจะอยากดื่มน้อยลงไหม?

18.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยืนยันว่า ลานเบียร์เข้าข่ายผิดกฎหมาย มาตรา 32 ของ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพราะมีการแสดงสัญลักษณ์ของแบรนด์ ซึ่งเป็นการโฆษณา ขณะที่ผู้ประกอบการมองว่าเป็นเรื่องปกติของธุรกิจ ไม่ได้เป็นการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณ
  • อธิบดีกรมสรรพสามิตยืนยันว่า ใบอนุญาตขายสุราแบบชั่วคราวถูกยกเลิกตามกฎหมายแล้ว กรมเข้าไปดูเพียงการให้ใบอนุญาตขายสุรา แต่การจะขายแบบไหนถูกหรือผิดเป็นหน้าที่ของอีกหน่วยงาน
  • นักวิชาการนิเทศศาสตร์มองว่า การห้ามโฆษณาเหล้าเบียร์ควรอยู่บนฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ และการออกนโยบายใดๆ ก็ควรอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ไม่สุดโต่งไปที่มิติใดมิติหนึ่ง

หนึ่งในกิจกรรมยอดฮิตสำหรับเทศกาลเฉลิมฉลองเพื่อต้อนรับปีใหม่ก็คือการจัดให้มีลานคอนเสิร์ตพร้อมๆ กับจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควบคู่ไปด้วย ซึ่งนิยมเรียกกันติดปากว่า ‘ลานเบียร์’ และกลายเป็นเรื่องวุ่นๆ ที่วนมาทุกปลายปีให้ได้ถกเถียงกันตลอด


การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลายเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำในสังคมไทย และเกิดขึ้นต่อเนื่องมาโดยตลอด ตั้งแต่กรณีการใช้ดารานักแสดงเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาแฝงเครื่องดื่มแบรนด์ต่างๆ ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของตนเองที่มีกลุ่มแฟนคลับติดตามจำนวนมาก


ประเด็นของลานเบียร์​ที่ถูกตรวจตราจากหน่วยงานรัฐกลายเป็นกระแสระหว่างการทำหน้าที่กับเรื่องธุรกิจและศีลธรรม และคาใจคนไทยข้างในลึกๆ ว่าที่สุดแล้วเรื่องนี้มันยังไงกันแน่

 

 

ขอจำหน่ายสุรา ไม่ใช่เปิดสถานบันเทิง แบบนี้ผิดกฎหมาย

หากพิจารณาในแง่มุมของกฎหมาย การอนุญาตให้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 ควบคุมอยู่ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถูกแก้ไขเพิ่มเติมตามระยะเวลามาโดยลำดับ


โดยเฉพาะมาตรา 19 ของ พ.ร.บ. สุรา ที่หยิบยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างว่า ได้กำหนดให้ ‘ลานเบียร์’ อาจถูกจัดอยู่ในใบอนุญาตจำหน่ายสุราประเภทที่ 6 สำหรับการจำหน่ายสุราที่ผลิตในประเทศ ซึ่งอนุญาตให้จัดลานเบียร์ (สถานที่ขายเป็นการชั่วคราว) ได้ไม่เกิน 10 วัน และต้องจำหน่ายเพื่อดื่มไม่เกิน 10 ลิตรต่อคน


กรณีการขายชั่วคราวนั้น นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมสรรพสามิต ได้ยืนยันกับ THE STANDARD ว่ากฎหมายถูกยกเลิกแล้ว กรมสรรพสามิตออกเพียงใบอนุญาตขายสุราที่เป็นไปตามหลักการทั่วไปว่า หากจะขายสุราต้องขอใบอนุญาต


“แบบชั่วคราวถูกยกเลิกแล้ว ส่วนการให้ขายก็คือให้ขายสุรา แต่การจะไปเปิดขายแบบลานเบียร์ไม่ได้อยู่ในอยู่ในอำนาจของเรา เราอนุญาตให้ขายสุราได้ แต่ไปขายแบบไหน มีโฆษณาไหมนั้นเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ต้องไปดูเงื่อนไขตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”


เงื่อนไขอื่นนอกเหนือจาก พ.ร.บ. สุรา ยังต้องพิจารณาควบคู่กับ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ด้วย เพราะเป็นกฎหมายอีกฉบับที่บังคับใช้โดยเฉพาะ

 


นายแพทย์นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (15 ธ.ค.) เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และตำรวจ สน. ปทุมวัน ได้ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบภายในร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณลานหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่


พบว่าเจ้าของหรือผู้ประกอบการติดตั้งเครื่องหมายการค้าของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งถือว่าเป็นการจำหน่ายที่ส่งเสริมการตลาด เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในมาตรา 32


“เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะมาดำเนินการ เรามีการทำงานมาโดยตลอด ครั้งนี้เหมือนลงไปกำชับอีกครั้งหนึ่ง โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีข้อยุติแล้วว่าการเปิดลานเบียร์นั้นผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างชัดเจน เพราะถือว่ามีการโฆษณาอย่างชัดแจ้ง”

 

สำหรับมาตรา 32 ได้วางหลักไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม


ขณะที่ในวรรค 2 ระบุว่า การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท ให้กระทำได้แต่เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่ปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงโฆษณาที่มีต้นกำเนิดนอกราชอาณาจักร


โดยกฎหมายได้กำหนดโทษไว้ว่า หากผู้ใดฝ่าฝืนในกรณีนี้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 


นายแพทย์นิพนธ์บอกอีกว่า หากพิจารณาในมุมกฎหมายแล้ว การเปิดลานเบียร์นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่เราพิจารณาเป็นหลักก็คือการขายหรือโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะต้องเคารพกฎหมาย


“เมื่อขอเปิดสถานที่จำหน่ายสุราจากผู้ให้เช่าสถานที่ ซึ่งเป็นอำนาจของกรมสรรพสามิต แต่ในแง่ของการขาย ถ้ามีการขายแบบอีเวนต์ มีดารา นักร้อง นักแสดงเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดลูกค้าเข้ามา มีการเปิดเพลงเหมือนเป็นสถานบันเทิง อันนี้ก็ผิด เพราะเป็นการโฆษณาชักจูงอย่างชัดเจน การสื่อสารการตลาดแบบลด แลก แจก แถม ก็ถือว่าผิดกฎหมายเหมือนกัน


“กรณีสาวเชียร์เบียร์ ถ้าสื่อสารเพื่อเพิ่มยอดขายหรือจูงใจด้วยวิธีอื่น อันนี้ผิดกฎหมาย แต่ถ้าเป็นเด็กเสิร์ฟมาขายเบียร์ธรรมดาก็ไม่มีปัญหา”


กรณีดังกล่าวนี้เป็นที่ถกเถียงของผู้ประกอบการ ซึ่งมองว่าการแสดงดนตรี การเล่นเกม รวมถึงมีโลโก้สินค้าติดอยู่บนภาชนะ เช่น ถังน้ำแข็ง แก้ว ถ้วย จาน ฯลฯ ฝ่ายผู้ควบคุมถือเป็นความผิดตามมาตรา 32 เข้าข่ายการโฆษณา การแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงให้เกิดการดื่มทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ทางผู้ประกอบการที่เป็นฝ่ายผู้ปฏิบัติเห็นว่าเป็นการดำเนินธุรกิจตามปกติ ไม่ได้มีไว้เพื่อโฆษณาหรืออวดอ้างสรรพคุณแต่อย่างใด


และมีการหยิบยกเอาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15453/2557 ซึ่งได้ให้บรรทัดฐานในการตีความไว้อย่างชัดเจนว่า การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากมิได้มีเนื้อหาอันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยตรง หรือโดยอ้อมแล้วนั้น ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 32

 

 

ควบคุมลานเบียร์แล้วคนดื่มน้อยลงจริงหรือ

ขณะที่การเปิดลานเบียร์ไม่ได้จำกัดอยู่ที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล หากแต่มีอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ แล้วจะควบคุมผู้ประกอบการได้ขนาดไหน


นายแพทย์นิพนธ์อธิบายว่า “เรื่องนี้ได้มีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมของคณะอนุกรรมการตำรวจแล้ว โดยได้รับทราบตรงกันและมีการเร่งรัดให้ตำรวจในพื้นที่บังคับใช้กฎหมายตามหน้าที่


“กรณีเซ็นทรัลเวิลด์ก็เป็นการไปตรวจซ้ำแบบปกติ ไม่ได้มีการจัดตั้งอะไร เราก็ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. ปทุมวัน ทำหน้าที่ เพราะมันไม่ใช่กรณีที่เพิ่งเกิด มันเป็นแบบนี้มาหลายปีแล้ว เรามีหน้าที่ทำตามกฎหมาย ส่วนปัญหาเรื่องการตีความที่ไม่ตรงกันกับผู้ประกอบการก็ต้องต่อสู้ไปตามขั้นตอน”


นายแพทย์นิพนธ์อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ในประเทศไทยนั้นมีกฎหมายห้ามขายสุราแก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามขายใกล้สถานศึกษา ศาสนสถาน และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือสถานที่ที่มีการประกาศห้ามขาย เพื่อกำหนดขอบเขตและป้องกันไม่ให้เยาวชน รวมทั้งสถานที่ทางศาสนาต้องปราศจากอบายมุขในแง่ของความเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนิกชนแต่ละศาสนา


“ที่เราทำนี่ไม่ใช่การควบคุม แต่เป็นการเข้าไปกำชับผู้ประกอบการ เข้าไปชี้ให้เห็นว่า หากทำตามกฎหมายก็จะไม่มีปัญหา ถามว่าทำแบบนี้แล้วมันช่วยลดการดื่มสุราลงหรือ ก็ต้องถามกลับว่าแล้วไม่ทำลดลงไหม ไม่ใช่หรอก ปัญหาคือเวลาที่คุณดื่มเหล้า คุณออกจากลานเบียร์ คุณไปวัดแอลกอฮอล์ก่อนขับรถกลับไหม ก็ไม่ นี่เป็นข้อเท็จจริงของสังคมไทย เราก็ทำหน้าที่เพื่อให้ทุกชีวิตปลอดภัย และแน่นอน คงไม่ได้ไปนั่งจับตาดูหรือบังคับให้ใครดื่มไม่ดื่ม แต่ถ้ามีกฎเกณฑ์เพื่อสังคมที่ปลอดภัยก็เป็นหน้าที่


“มีผลการวิจัยที่ชี้ว่าการโฆษณาส่งผลต่อการเพิ่มการบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเด็กและเยาวชน มีข้อมูลว่าประเทศที่แอลกอฮอล์ถือว่าเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมาย แต่ห้ามการโฆษณาส่งเสริมการขาย พบว่าอัตราการบริโภคจะน้อยกว่ากลุ่มประเทศที่ไม่มีการห้าม”


นายแพทย์นิพนธ์บอกอีกว่า ได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการบริษัทสุราต่างๆ มาโดยตลอด พยายามทำความเข้าใจในแง่มุมของกฎหมายและหน้าที่ ส่วนฝั่งผู้ประกอบการก็อาจจะโต้แย้งเรื่องกฎหมายและมุมมองทางธุรกิจ แต่เมื่อมีหน้าที่ทำตามกฎหมายก็ต้องว่าไปตามกระบวนการ


“ที่ผ่านมาก็มีการตรวจจับลานเบียร์ แต่ก็ต้องให้เป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งก็ยอมรับว่าขั้นตอนทางกฎหมายก็มีความล่าช้า บางครั้งก็ไม่ทันต่อสถานการณ์”

 

 

เรื่องเหล้ามีหลายมิติ ไม่ใช่คุมแค่เรื่องศีลธรรม

ขณะที่ โตมร ศุขปรีชา สื่อมวลชนและคอลัมนิสต์ เคยแสดงทัศนะในมิติการนำเสนอเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้ว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตของมนุษย์มาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสังคมและวัฒนธรรมในหลากหลายมิติ รวมถึงวัฒนธรรมอาหาร จึงมีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น วัฒนธรรมการผลิตและบริโภคไวน์ในยุโรป หรือการทำสาเกในประเทศญี่ปุ่น


อย่างไรก็ดี การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีข้อจำกัดมาก และในบางครั้งไม่อาจทำได้ เพราะถูกตีความว่าเป็นการชักจูงใจ ทั้งๆ ที่ความมุ่งหมายของสื่อมวลชนคือการนำเสนอวัฒนธรรมที่แตกต่างเพื่อขยายมุมมองของสาธารณชนเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หาใช่การส่งเสริมให้คนดื่มอย่างไร้สติ การควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงไม่ควรอิงกับหลักศีลธรรมแต่เพียงอย่างเดียวโดยมองข้ามมิติอื่น และต้องอยู่บนพื้นฐานที่เชื่อว่าประชาชนทุกคนมีเหตุผล สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเองอย่างเหมาะสม


ขณะที่ฝั่งผู้ประกอบการได้พยายามหาคนกลางเพื่อมาตีความกฎหมายดังกล่าว โดยเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเข้ามาทำหน้าที่นี้


ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิจิตรา สึคาโมโต้ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าการที่รัฐออกกกฎหมายห้ามโฆษณาขายเหล้าเบียร์ควรต้องคำนึงถึงฐานความเป็นจริง มิใช่การสุดโต่งไปที่มุมศีลธรรมเพียงอย่างเดียว คำถามคือมิติของความปลอดภัยที่รัฐคาดหวัง เช่น เมาแล้วขับ หรือเสียชีวิตจากการดื่มสุราลดลงไหมจากการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ ขณะที่การเคารพสิทธิและเสรีภาพของทุกฝ่ายทั้งผู้ดื่มและผู้ไม่ดื่ม ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติของอารยประเทศกลับจะได้ประสิทธิภาพมากกว่า


“สังคมพยายามไปสู่สังคมอุดมคติมากๆ ก็เป็นปัญหา เวลาออกกกฎหมายก็ต้องดูสภาพและบริบท หาปัจจัยเชิงประจักษ์ให้เจอ ไม่ใช่เอาอัตวิสัยเข้าว่า อย่างญี่ปุ่น มีการโฆษณาเหล้าเบียร์ได้ตลอด แต่ทำไมไม่มีใครเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนน มันต้องทำเรื่องอื่นๆ ควบคู่ไปกับการมองผลประโยชน์สาธารณะที่จะเกิดขึ้นด้วย”


ท้ายสุด นายแพทย์นิพนธ์ย้ำว่า “ลานเบียร์ถือว่าเข้าข่ายการทำผิดกฎหมาย และจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายตามหน้าที่ ทุกคนดื่มเหล้าได้ แต่ก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมด้วย”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising