×

ผุดไอเดียผลิต ‘มันฝรั่งและเบียร์’ ให้มีส่วนช่วยต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน

โดย THE STANDARD TEAM
15.12.2020
  • LOADING...
ผุดไอเดียผลิต ‘มันฝรั่งและเบียร์’ ให้มีส่วนช่วยต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน

ถ้าพูดถึงการจับคู่เครื่องดื่มและของทานเล่นที่ลงตัว ‘เบียร์และมันฝรั่งทอด’ ต้องมีชื่อติดในโพลนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย แต่นอกเหนือจากความเพลิดเพลินในการรับประทานแล้ว ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างนั่นก็คือ เบียร์และมันฝรั่งทอดกำลังจะมีส่วนร่วมในบทฮีโร่ช่วยเซฟโลกจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศด้วย

 

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา สำนักข่าว BBC รายงานว่า บริษัทผลิตและจำหน่ายมันฝรั่งทอด ‘Walkers’ จะใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 70% โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากการหมักเบียร์ในโรงเบียร์ นำไปผสมกับเศษมันฝรั่งให้กลายเป็นปุ๋ย จากนั้นก็นำไปกระจายยังทุ่งนาทั่วสหราชอาณาจักร เพื่อใช้ปลูกมันฝรั่งในปีถัดๆ ไป

 

เนื่องจากปกติแล้วกระบวนการสร้างปุ๋ยจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง แต่เทคโนโลยีที่ Walkers นำมาใช้จะไม่ก่อให้เกิดก๊าซนี้เพิ่มมากขึ้น ทำให้การผสมเบียร์และมันฝรั่งนี้มีฟังก์ชันในการช่วยเซฟโลก 2 อย่าง นั่นก็คือช่วย ‘หยุด’ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ และช่วย ‘ลด’ ปริมาณการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตปุ๋ยตามปกติ

 

ซึ่งประโยชน์ของเทคโนโลยีนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากทุนของรัฐบาลสหราชอาณาจักร โดยกลุ่มพนักงานสตาร์ทอัพ 14 คนที่เรียกว่า CCm โดยพวกเขาได้นำปุ๋ยที่ได้จากเทคโนโลยีของ Walkers มาทดลองกับเมล็ดพันธุ์มันฝรั่ง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรในปี 2022 แต่เบื้องต้นยังไม่ได้มีการตัดสินใจแน่ชัดว่า โรงเบียร์ไหนจะร่วมดำเนินการกับโปรเจกต์นี้บ้าง

 

อย่างไรก็ตาม ถือว่าการคิดค้นเทคโนโลยีครั้งนี้เป็นการพัฒนาอีกขั้นหนึ่งของการกำจัดซากที่เหลือจากการย่อยมันฝรั่ง และการหมักของเบียร์ที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งผลที่ได้ก็คือการนำก๊าซนั้นกลับเข้าสู่ดิน เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชอีกครั้ง และถือว่าช่วยลดการเกิดภาวะโลกร้อนได้ในระดับหนึ่ง

 

กลุ่ม CCm และเป้าหมายในการปล่อยมลพิษให้เป็น ‘ศูนย์’

เทคโนโลยีของ CCm ถือว่าจัดอยู่ในหมวดอุตสาหกรรมแบบ Carbon Capture and Usage (CCU) หรือการดักจับและใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตเชื้อเพลิง โพลีเมอร์ ปุ๋ย โปรตีน โฟม และอิฐก่อสร้าง ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีแบบ CCU นับว่ายังใช้กันไม่แพร่หลาย เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ และส่วนหนึ่งเป็นเพราะการสร้างคาร์บอนไดออกไซด์จากสังคมมีปริมาณสูงกว่าความต้องการที่จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างมาก

 

CCU ยังถือว่าเป็นเทคโนโลยีลูกพี่ลูกน้องของ Carbon Capture and Storage (CCS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ดีกว่า เนื่องจากมีการดักจับการปล่อยก๊าซจากปล่องไฟ จากนั้นก็บีบอัดและปั๊มก๊าซเหล่านั้นลงในชั้นหินใต้ดิน ทำให้ไม่เกิดสภาพอากาศร้อนจากผลกระทบของก๊าซในชั้นบรรยากาศ โดยนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ก็มีความกระตือรือร้นที่จะนำเทคโนโลยีแบบ CCS ไปใช้ในวงที่กว้างขึ้น

 

เคที อาร์มสตรอง (Katy Armstrong) ผู้จัดการศูนย์การใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ เผยว่า พวกเราต้องการผลิตภัณฑ์ในแบบที่ชีวิตต้องการ และทุกอย่างที่ว่านั้นล้วนแล้วแต่สร้างผลกระทบ ฉะนั้นแล้วเราจึงจำเป็นที่จะต้องผลิตสิ่งเหล่านี้โดยปราศจากการเพิ่มก๊าซพิษให้ได้มากที่สุด และถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะนำก๊าซที่เหลือใช้เหล่านี้มาผลิตอย่างอื่น แบบนั้นน่าจะช่วยให้มีประโยชน์มากยิ่งขึ้น

 

ซึ่งบริษัทยุคใหม่ก็นับว่ามีการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นลบ หรือกล่าวคือพวกเขารับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าที่ปล่อยออกมา ทำให้บริษัทเหล่านี้เป็นผู้บุกเบิกสิ่งที่เรียกว่า ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ (Circular Economy) ที่สามารถนำของเสียมาทำให้กลายเป็นวัตถุดิบ และสหภาพยุโรปก็พยายามกระตุ้นให้ทุกอุตสาหกรรมนำหลักการนี้มาใช้ และคาดหวังว่าบริษัทต่างๆ จะต้องปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดย PepsiCo เจ้าของแบรนด์ Walkers ก็ได้มองหาวิธีขยายโครงการ CCm ให้ใหญ่ขึ้น โดยปลูกข้าวโอ๊ตและข้าวโพดด้วยปุ๋ยหมุนเวียน

 

‘ก้าวแรก’ ที่นำไปสู่เป้าหมาย

“นวัตกรรมนี้จะส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ต่อระบบการผลิตอาหาร และทำให้ภาคเกษตรกรรมมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกด้วย” เดวิด วิลคินสัน (David Wilkinson) จาก PepsiCo กล่าว ซึ่งพวกเขารู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ทดลองใช้ปุ๋ยในปริมาณที่มากขึ้น และค้นพบศักยภาพที่แท้จริงของมันทั้งหมด

 

ขณะที่ ปีเตอร์ แฮมมอนด์ (Peter Hammond) จากกลุ่ม CCm ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่เริ่มตระหนักรู้มากขึ้นว่าควรจะจัดการและรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปอย่างไร ซึ่งก้าวแรกต่างๆ เหล่านี้เมื่อรวมกันแล้วก็สามารถสร้างสิ่งที่สำคัญขึ้นมาได้

 

“ในฐานะคนทำธุรกิจ ความท้าทายที่สำคัญสำหรับเราไม่ใช่การลดต้นทุน แต่เป็นการทำการตลาดกับปุ๋ย ซึ่ง PepsiCo จะช่วยดูแลเรื่องนี้ให้กับเรา” แฮมมอนด์ กล่าว

 

โดยที่ผ่านมา PepsiCo ก็มีบทบาทเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นหนึ่งในผู้นำการจัดการกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา หรือเมื่อเร็วๆ นี้พวกเขาก็มีความมุ่งมั่นที่จะกำจัดพลาสติกทั้งหมดจากขวดที่นำไปจำหน่ายใน 9 ประเทศของยุโรป ภายในปี 2022 แต่จากผลสำรวจของแคมเปญ Break Free From Plastic ก็ถือว่าพวกเขายังเป็นอันดับสองรองจาก Coke เมื่อเทียบปริมาณมลพิษที่เกิดจากการผลิต และนักสิ่งแวดล้อมหลายคนก็ยังมองว่า PepsiCo เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมการทิ้งพลาสติกที่พบใน 43 ประเทศ

 

ก็ต้องมาติดตามดูกันว่า PepsiCo จะช่วยลดมลภาวะด้วยเทคโนโลยีลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเบียร์และมันฝรั่งทอดได้หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามนับว่าเป็นการปรับตัวที่ดีของอุตสาหกรรมอาหารที่พยายามจะช่วยลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกและช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมได้มากขึ้น

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising