×

Becoming สารคดี Michelle Obama ที่สอนให้เราควรยกย่องผู้หญิงและคนผิวสีให้มากกว่านี้

10.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • สไตล์การเล่าเรื่องของ Becoming ไม่ได้รู้สึกหวือหวาอะไรมากมาย และถอดสูตรสำเร็จสารคดีทั่วไปที่เราคุ้นเคยกันดี โดยยังยึดหลักเมสเสจเรื่อง ‘ความหวัง’ ซึ่งสอดคล้องกับความถนัดของครอบครัวโอบามา ที่เล่นคอนเซปต์นี้กับภาพลักษณ์ในสื่อมาตั้งแต่การหาเสียงเป็นประธานาธิบดีในปี 2008 
  • สารคดีเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราวการ ‘เสียสละ’ ของผู้หญิงที่ชื่อ มิเชล โอบามา …หลายคนอาจคิดว่าชีวิตเธอสบายจะตาย มีเงินเป็นพันล้าน และมีหน่วย Secret Service ป้องกัน 24 ชั่วโมง แต่คำถามคือ ‘จริงๆ แล้วเธอต้องการสิ่งนี้ไหม’
  • ประเด็นละเอียดอ่อนที่สุดสำหรับ Becoming คือการฉายสปอตไลต์เพื่อให้คนได้ตระหนักถึง การเหยียดสีผิว ซึ่งถ้าคุณคิดว่าเป็นประเด็นที่โบราณมาก โดยเฉพาะในบริบทของครอบครัวโอบามา เพราะโลกได้ก้าวหน้ามามากแล้ว ผมคิดว่าคุณควรทบทวนความคิดใหม่

* บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสารคดี

 

ผมพูดเสมอว่า ผมมีวันนี้ได้ก็เพราะ ‘ผู้หญิง’ …แม่ที่ให้กำเนิด ย่าที่สอนเรามา เพื่อนสนิทที่อยู่เคียงข้างตอนเราเหลือศูนย์ หัวหน้าที่ให้โอกาส และความสำเร็จในหน้าที่การงานที่มีผู้หญิงอยู่เบื้องหลังเสมอ (อย่างเช่นคนที่กำลังปรู๊ฟบทความนี้)

 

มันอาจฟังดูเหมือนผมกำลังพีอาร์ตัวเอง แต่นั่นคือเหตุผลว่าทำไมตั้งแต่วันแรกที่ THE STANDARD เปิดตัวสโลแกน ‘STAND UP FOR THE PEOPLE’ ผมผลักดันให้ส่วนของบันเทิงต่างประเทศและแฟชั่นเป็นหนึ่งในหมวดที่ไฮไลต์เรื่องราวชีวิตและความสำเร็จของผู้หญิงมากสุด และไม่ใช่แค่เรื่องราวเปลือกนอกพร้อมเฮดไลน์ ‘สวย ปัง’ อย่างเดียว… ลิซโซ, อีวา เฉิน, แอนนา วินทัวร์, ไคลี เจนเนอร์, อาดุต อาเคช, เมย์ มัสก์, เอ็มมา วัตสัน, บียอร์ก, เมแกน มาร์เคิล, เมอรีล สตรีป, เอลเลน ดีเจเนอเรส, คริส เจนเนอร์, บิลลี่ อายลิช, เทย์เลอร์ สวิฟต์ และอีกมากมายที่เราเคยเขียนถึง

 

ถามว่าทำแค่นี้พอไหม… ไม่มีวันหรอกครับ เพราะสังคมเรายังคงยึดผู้ชายเป็นใหญ่,  ยังคงเต็มไปด้วย Toxic Masculinity ในการกระทำ (แม้บางคนจะโฆษณาว่าตัวเองเป็น Feminist), ยังคงไม่ให้ความเท่าเทียมอย่างชัดเจน, ยังคงไม่เข้าใจคำว่า ‘Diversity’ ที่แท้จริง และยังคงคิดว่าหน้าที่หลักของผู้หญิงคือการเป็นภรรยาเลี้ยงลูก

 

 

แต่ผมเชื่อครับว่าถ้าใครเป็นสมาชิก Netflix และยอมสละเวลา 1 ชั่วโมง 29 นาที เพื่อดูสารคดีเรื่อง Becoming ของ มิเชล โอบามา ชีวิตคุณก็จะรู้สึกเติมเต็มและมีคุณค่ามากขึ้น พร้อมกับเข้าใจหัวอกของผู้หญิงและคนผิวสีว่า ชีวิตพวกเขาต้องสู้กับอะไรมากกว่าเราเยอะ และบางครั้งมันอาจเป็นหน้าที่ของเรา ผู้ชายและคนที่ผิวขาว เหลือง น้ำผึ้ง หรือเฉดอื่นๆ ที่ต้องช่วยกันเปลี่ยนทัศนคติและปลูกฝังรุ่นลูกรุ่นหลานให้เข้าใจและเฉลิมฉลองคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสีผิว เพื่อวันข้างหน้าที่สวยงามและเป็นธรรมกว่านี้

 

ภาพยนตร์สารคดี Becoming กำกับและถ่ายภาพโดยผู้หญิงผิวสีคนเก่ง นาเดีย ฮัลเกรน ผลิตภายใต้บริษัท Higher Ground Productions ที่ก่อตั้งโดยบารักและมิเชล โอบามา โดยเล่าเรื่องราวการไปทัวร์โปรโมตหนังสือชีวประวัติชื่อเดียวกันของมิเชลใน 34 เมืองทั่วอเมริกาและยุโป เมื่อช่วงปลายปี 2018-2019 พร้อมแทรกเรื่องราวชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก การพาไปชมบ้านที่เติบโตทางตอนใต้ของเมืองชิคาโก การทำเวิร์กช้อปพบปะพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ และยังมีสัมภาษณ์กับแม่ มาเรียน โรบินสัน, พี่ชาย เครก โรบินสัน, สามี บารัก โอบามา และลูกสาว ซาช่าและมาเลีย โอบามา อีกด้วย ซึ่ง Becoming ถือเป็นสารคดีที่เปิดเผยเบื้องหลังความจริงและใกล้ชิดกับครอบครัวโอบามามากสุดที่เราเคยได้สัมผัสมา

 

โทนและสไตล์การเล่าเรื่องของ Becoming ไม่ได้รู้สึกหวือหวาอะไรมากมาย ติ๊กทุกข้อที่จะทำให้เรารักมิเชลมากขึ้น และถอดสูตรสำเร็จสารคดีทั่วไปที่เราคุ้นเคยกันดี โดยยังยึดหลักเมสเสจเรื่อง ‘ความหวัง’ ซึ่งสอดคล้องกับความถนัดของครอบครัวโอบามาที่เล่นคอนเซปต์นี้กับภาพลักษณ์ในสื่อมาตั้งแต่การหาเสียงเป็นประธานาธิบดีกับแคมเปญ ‘Hope’ ในปี 2008 

 

 

สิ่งหนึ่งที่ผมชื่นชมสารคดีเรื่องนี้คือ การสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราวการ ‘เสียสละ’ ของผู้หญิงที่ชื่อ มิเชล โอบามา …หลายคนอาจคิดว่า ชีวิตเธอสบายจะตาย มีเงินเป็นพันล้าน เดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวไปทุกที่ มีรถนำขบวนไม่ว่าจะอยู่เมืองไหน และมีหน่วย Secret Service ป้องกัน 24 ชั่วโมง แต่คำถามคือ ‘จริงๆ แล้วเธอต้องการสิ่งนี้ไหม’ เพราะการมาเป็น ‘มิเชล โอบามา’ ที่หลายคนวางไว้บนหิ้งและเรียกเป็นไอดอลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย วันๆ เธอจะไปเดินที่ซูเปอร์มาร์เก็ต จูงสุนัขไปเดินเล่นในสวนแถวบ้าน หรือไปกินข้าวที่ร้านอาหารปกติก็ไม่ได้ สิ่งพวกนี้คืออิสระเสรีที่มนุษย์เราควรมีทุกคน แต่เธอแทบไม่มี ซึ่งคนอาจเถียงกลับว่า “ก็เธอเลือกชีวิตนี้ให้กับตัวเอง” เธอไม่ได้เลือกครับ เธอมาเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งของอเมริกาเพราะมันคือความฝันของสามีและพ่อของลูก ซึ่งเพราะความรักเธอเลยเลือกจะ ‘เสียสละ’ ให้

 

แต่สิ่งที่วิเศษมากกว่าคือ พอเสียสละแล้ว มิเชลยังคงสามารถทำหน้าที่ในฐานะ ‘สตรีหมายเลขหนึ่ง’ ภรรยา แม่ ลูกสาว น้องสาว เพื่อน หรือแรงบันดาลใจให้กับเราได้อย่างไร้ที่ติ และเธอทำอย่างเป็นกันเอง 

 

ผมชอบมากที่ในสารคดีนี้เราได้เห็นเธอฟังเพลงของเดรก แทนที่ต้องฟังเพลงของโมสาร์ตเพื่อดูฉลาด ใส่บู๊ต Balenciaga สีทอง แทนที่จะใส่รองเท้าส้นสูงสองนิ้วสีดำเพื่อดูทางการ หรือการที่เธอปล่อยให้ลูกสาวลองค้นหาและสะท้อนสไตล์ของตัวเองแทนที่จะต้องดูสวยเพอร์เฟกต์ในชุดสูทที่ซื้อจาก Saks Fifth Avenue และถือกระเป๋าแบรนด์เนม

 

 

มาถึงประเด็นที่ผมคิดว่าละเอียดอ่อนสุดสำหรับ Becoming แต่ดีใจที่มีการฉายสปอตไลต์เพื่อให้คนได้ตระหนักถึง นั่นก็คือการเหยียดสีผิว ซึ่งถ้าคุณคิดว่าเป็นประเด็นที่โบราณมาก โดยเฉพาะในบริบทของครอบครัวโอบามา เพราะโลกได้ก้าวหน้ามามากแล้ว ผมก็คิดว่าคุณควรทบทวนความคิดใหม่ และเพราะความคิดแบบนี้แหละสังคมเราถึงยังไม่ไปไหน 

 

ผมยอมรับว่าในปี 2008 ตอนที่ บารัก โอบามา ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 44 ของอเมริกา ผมร้องไห้ด้วยความปลื้มปีติและคิดว่าโลกเราได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ที่คนผิวสีในอเมริกาซึ่งรากฐานมาจากการเป็นทาสคนรับใช้เก็บใยดอกฝ้าย จะสามารถมีโอกาสเท่าเทียมและขึ้นไปอยู่บนยอดภูเขาของโลก แต่ในความเป็นจริงผมมองโลกสวยเกินไป และคนเหล่านี้ยังคงโดนกดขี่อยู่เป็นประจำ 

 

มันคงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับมิเชลตอนเธอไปเรียนมหาวิทยาลัย Princeton และเพื่อนร่วมห้องนอนย้ายออกเพราะคุณแม่กลัวที่มิเชลเป็นคนผิวสี 

 

มันคงไม่ง่ายสำหรับมิเชลตอนที่ช่วยสามีหาเสียงเป็นประธานาธิบดี และสื่อพยายามสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นผู้หญิงผิวสีหัวร้อน ซึ่งเป็น Stereotype ผิดๆ ที่ชอบเล่นกันตลอด

 

มันคงไม่ง่ายสำหรับมิเชล ที่ขณะเธอเป็นสตรีหมายเลขหนึ่ง ใช้ชีวิตอยู่ทำเนียบขาว และคนทั่วโลกต่างคิดว่าเป็นโมเมนต์ประวัติศาสตร์ที่ทำลายกำแพงและทำให้คนผิวสีมีจุดยืนในสังคม แต่ในความเป็นจริงเธอต้องรับข่าวสารรายวันว่าคนผิวสีอย่าง Michael Brown, Tamir Rice, Trayvon Martin, Sandra Bland, Freddie Gray และ Eric Garner โดนฆ่าเพราะอาชญากรรมจากความเกลียดชัง (Hate Crime)

 

และมันคงไม่ง่ายสำหรับมิเชล ในช่วงเวลาที่ Becoming ได้ฉายทาง Netflix แทนที่อเมริกาและคนทั้งโลกจะฉลองอีกหนึ่งเรื่องราวความสำเร็จของคนผิวสีอย่างเธอ แต่ก็เพิ่งมีคดีที่ Ahmaud Arbery ชายชาวแอฟริกันอเมริกัน ถูกสองพ่อลูกผิวขาวยิงเสียชีวิตขณะออกมาวิ่งนอกบ้านในรัฐจอร์เจีย 

 

 

ที่ผมต้องยก 4 ตัวอย่างนี้ก็เพื่อจะทำให้เห็นว่า ไม่ว่าจะยุค 80 หรือปี 2020 ปัญหาการเหยียดสีผิวก็ยังมีให้เห็นในสังคม ซึ่งถึงแม้ประเทศไทยเราอาจไม่ค่อยคุ้นชินเรื่องนี้มากและมองว่าไกลตัว แต่ผมกลับคิดว่าสารคดีเรื่อง Becoming ก็เป็นกระจกที่สอนให้เราต้องเปลี่ยนการกระทำหลายอย่างที่มีต่อคนผิวสี เช่น การเรียกพวกเขาว่าเป็น ‘นิโกร’ หรือการต้องก้มหน้าหรือเดินชิดซ้ายตอนเดินผ่านคนผิวสีบนท้องถนน เพราะถ้าเรายังทำต่อไป เราก็ยังเป็นหนึ่งในสมการที่ทำให้ปัญหาเหยียดสีผิวไม่หายไปสักทีบนโลกใบนี้

 

สุดท้ายไม่ว่าคุณจะรู้สึกอย่างไรกับเรื่อง Becoming หรือตัว มิเชล โอบามา เอง สิ่งที่ผมคิดว่าเราสามารถถอดบทเรียนจากเธอได้คือ ไม่ว่าชีวิตเราจะลำบากขนาดไหน แต่สิ่งที่เรามีเหมือนกันหมดคือพลังในตัวเองที่จะสามารถกำหนดเส้นทางให้กับชีวิตได้ และก้าวมาเป็นเวอร์ชันที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้ มันคงไม่ง่าย มันคงเหนื่อย มันคงท้าทาย แต่ถ้าเราไม่เริ่มวันนี้ มันก็อาจช้าเกินไป และเราก็จะเป็นได้แค่ 

 

“Becoming…Like Everyone Else” ในอนาคต

 

“I am the former First Lady of the United States and also a descendant of slaves – it’s important to keep that truth right there.” – มิเชล โอบามา

 

ภาพปก: Paras Griffin / Getty Images

ภาพประกอบ: Netflix

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising