×

แบรนด์ความงามปรับตัวอย่างไรเพื่อช่วยรักษ์โลก และคุณก็ทำได้เช่นกัน

28.05.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • องค์กร Zero Waste รายงานว่าแต่ละปีอุตสาหกรรมความงามสร้างขยะจากแพ็กเกจจิ้งต่างๆ ออกมามากกว่า 1.2 แสนล้านชิ้น ส่วนใหญ่เป็นขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้
  • ข้อมูลจาก Mintel องค์กรสำรวจเทรนด์ทั่วโลก สรุปกระแสความงามแบบรักษ์โลกว่าสอดคล้องไปกับพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภควัยมิลเลนเนียลที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น พวกเขาปรารถนาที่จะทำให้โลกดีขึ้น สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และมีแนวโน้มสนับสนุนแบรนด์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โปร่งใส มีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจมากกว่า
  • โรเวนา เบิร์ด ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Lush ผลิตภัณฑ์ความงามจากธรรมชาติ แนะนำสาวกบิวตี้ที่อยากจะเบนเข็มมาสวยรักษ์โลกบ้างว่าเบื้องต้นให้เริ่มจากการปรับทัศนคติก่อน “ถ้าทุกคนคิดที่จะดูแลโลกเหมือนที่เราหมั่นดูแลผิวของเรา โลกจะต้องน่าอยู่ขึ้นแน่”

จากปัญหาฝุ่นพิษและมลภาวะซึ่งกระทบทั้งความงาม สุขภาพกายและใจที่ผ่านมา น่าจะทำให้หลายคนตระหนักได้แล้วว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด เราจึงอยากชวนผู้อ่าน THE STANDARD มาสำรวจแนวทางรักษ์โลกในแวดวงความงาม พร้อมทบทวนดูว่าในแต่ละวันเราจะช่วยดูแลโลกได้อย่างไรบ้าง เพราะอย่างน้อยจุดเริ่มต้นเล็กๆ ก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้

 

ในโลกความงามที่ฉากหน้าเราพูดถึงและสัมผัสแต่เรื่องสวยๆ งามๆ นั้น หารู้ไม่ว่าหลังม่านนั้นกลับมีส่วนสร้างมลภาวะและขยะให้แก่โลกใบนี้ และดึงดูดทรัพยากรธรรมชาติไปใช้ไม่น้อย

 

Photo: Into the Gloss

 

องค์กร Zero Waste รายงานว่าแต่ละปีอุตสาหกรรมความงามสร้างขยะจากแพ็กเกจจิ้งต่างๆ ออกมามากกว่า 1.2 แสนล้านชิ้น แถมส่วนใหญ่ยังเป็นขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ทว่าโชคดีที่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ แบรนด์ความงามไม่ว่าจะเล็ก ใหญ่ แมส ลักชัวรี ตลอดจนสายธรรมชาติ หรือสายวิทยาศาสตร์ ต่างกำลังมุ่งดำเนินการรักษ์โลกอย่างยั่งยืนและจริงจังกว่าที่เราคิด

 

นอกจากการออกแคมเปญรณรงค์สร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคอย่างการสะสมขวดเปล่าเพื่อนำมาแลกผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือออกไอเท็มพิเศษที่นำรายได้ไปสมทบทุนองค์กรสิ่งแวดล้อมแล้ว เบื้องหลังนั้นแต่ละแบรนด์ใส่ใจตั้งแต่การเลือกเฟ้นวัตถุดิบ ส่วนผสมที่มีที่มาที่ไปโปร่งใส ไม่เป็นสารอันตราย ปลูกหมุนเวียน และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การใช้แพ็กเกจจิ้งที่รีไซเคิลได้หรือย่อยสลายเองได้ ไปจนถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้สะอาดขึ้น การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ใช้น้ำน้อยลง และหันมาใช้พลังงานทางเลือกจากลมและแสงแดดแทน เป็นต้นว่าเมื่อการลดน้ำหนักผลิตภัณฑ์จะช่วยลดน้ำหนักการขนส่งได้ นั่นหมายถึงลดปริมาณเชื้อเพลิงที่ต้องใช้ ส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง

 

 

Photo: Lush

 

หลายแบรนด์จึงมุ่งเน้นจุดนี้ และแม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับลักชัวรีแบรนด์ที่มักใช้บรรจุภัณฑ์แก้วหรือโลหะหนักๆ เพื่อตอกย้ำความหรูหรา มีราคา ทว่าแบรนด์ดังอย่าง Guerlain ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าน้ำหนักไม่ใช่ปัญหา เพราะไลน์ Orchidee Imperiale โฉมใหม่นั้นปรับบรรจุภัณฑ์หลักให้เบาลง หรือ Dior ที่เน้นความหรูหราก็ปรับบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์บางชิ้นในไลน์ L’Or de Vie, Prestige, Capture Totale ให้เป็นแบบแบบรีฟิลได้ ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นๆ นั้นก็งดการใช้กระดาษกันกระแทกด้านในอีกชั้น ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการใช้กระดาษ รักษาปริมาณต้นไม้แล้ว ยังส่งผลให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยามขนส่งไปได้กว่าครึ่ง

 

ในแง่ของผู้บริโภคก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยข้อมูลจาก Mintel องค์กรสำรวจเทรนด์ทั่วโลก สรุปไว้ว่ากระแสความงามแบบรักษ์โลกนั้นสอดคล้องไปกับพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภควัยมิลเลนเนียลที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น พวกเขาปรารถนาที่จะทำให้โลกดีขึ้น สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และมีแนวโน้มสนับสนุนแบรนด์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โปร่งใส มีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจมากกว่า

 

“ผู้บริโภคยุคนี้เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย แบรนด์จึงต้องเปิดเผยเข้าไว้ เพราะคนที่ใส่ใจจริงๆ ตั้งแต่ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์มักจะหาข้อมูล บางคนคิดมาเลยว่าใช้เสร็จแล้วสิ่งนั้นจะกลายเป็นขยะแบบไหน” โรเวนา เบิร์ด ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Lush ผลิตภัณฑ์ความงามจากธรรมชาติให้ความเห็น

 

Photo: Psychologies.co.uk

 

ถึงจุดนี้ สำหรับสาวกบิวตี้ชาวไทยที่อยากจะเบนเข็มมาสวยรักษ์โลกบ้าง โรเวนาแนะนำทิปส์เบื้องต้นว่าให้เริ่มจากการปรับทัศนคติก่อน “ถ้าทุกคนคิดที่จะดูแลโลกเหมือนที่เราหมั่นดูแลผิวของเรา โลกจะต้องน่าอยู่ขึ้นแน่ๆ”

 

นอกจากนี้ลองเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว เช่น ควรลดการใช้ผลิตภัณฑ์แบบครั้งเดียวทิ้ง มองหาผลิตภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ ใช้ได้หลายครั้ง หรือทำหน้าที่ได้หลายอย่างในชิ้นเดียว จากนั้นค่อยขยับไปถึงการหาข้อมูล หัดอ่านฉลาก ศึกษาตราต่างๆ ที่ช่วยรับรองว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะได้เก็บเป็นข้อมูลเวลาเลือกซื้อ และอย่าลืมสนับสนุนแบรนด์ที่ทำดี จะได้เป็นกำลังใจให้ผู้ผลิตด้วย

 

ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกเหล่านี้ช่วยโลกอย่างไรบ้าง ไปดูกัน

หลังจากไปค้นข้อมูลมาบ้างแล้ว เราขอแนะนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของแบรนด์ที่มีมาตรการรักษ์โลกต่อไปนี้ไว้เป็นไอเดียการจับจ่ายผลิตภัณฑ์ความงามครั้งหน้า รับรองว่าคุณจะภูมิใจกับก้าวเล็กๆ ที่ได้มีส่วนช่วยโลกสีเขียวของเรา

 

 

1. Aveda แบรนด์ความงามแรกๆ ที่เปลี่ยนมาใช้พลังงานลมในการผลิตทั้งหมด นอกจากนี้ยังเป็นผู้ซื้อส่วนผสมออร์แกนิกรายใหญ่ของโลก และแพ็กเกจจิ้งส่วนใหญ่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล รวมถึงแต่ละปีจะมีแคมเปญ Light The Way ออกเทียนหอมรุ่นพิเศษที่นำรายได้ไปสนับสนุนองค์กรที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

 

2. Amore Pacific เครือความงามยักษ์ใหญ่สัญชาติเกาหลี เจ้าของแบรนด์ เช่น Sulwhasoo, Innisfree, Mamonde วางมาตรการผลิตพร้อมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มานานนับสิบปี แถมยังสร้างสวนพืชออร์แกนิก Osulloc Tea Garden ที่เกาะเชจู ซึ่งสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้ถึง 900 ตันต่อปี หรืออย่างแบรนด์ Innisfree จะมีการรีไซเคิลแพ็กเกจจิ้งผ่าน Empty Bottle Recycling Campaign โดยกระตุ้นให้ผู้ซื้อนำขวดเปล่ามาคืนที่ร้าน

 

3. Neal’s Yard Remedies ใช้บรรจุภัณฑ์ขวดแก้วสีน้ำเงินที่รีไซเคิลได้ และขวดแบบพลาสติกที่รีไซเคิลได้ 100% เช่นกัน ทั้งยังมีแคมเปญลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง

 

4. Tata Harper ใช้บรรจุภัณฑ์แก้วแบบรีไซเคิลได้ และใช้หมึกย่อยสลายได้ตามธรรมชาติแบบ Soy Ink หรือหมึกถั่วเหลืองบนฉลาก เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม โดยกระดาษที่พิมพ์ด้วยหมึกธรรมชาตินี้จะนำไปรีไซเคิลได้ถึง 80% ในขณะที่หมึกเคมีทั่วไปจะรีไซเคิลได้เพียง 30%

 

5. Davines แบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลผมที่นอกจากจะใช้ส่วนผสมธรรมชาติแล้วยังเปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือกในการผลิตด้วย เพื่อลดปริมาณขยะและก๊าซเรือนกระจก

 

 

6. Clean แบรนด์น้ำหอมจากส่วนผสมธรรมชาติที่ได้มาโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ผลิตโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และบรรจุภัณฑ์ทำจากวัสดุที่รีไซเคิลได้

 

7. The Body Shop แบรนด์ที่ริเริ่มการจัดหาส่วนผสมอย่างเป็นธรรม ไม่ทำการทดลองในสัตว์ และใช้แพ็กเกจจิ้งรีไซเคิลได้ ล่าสุดสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งอย่างมาสก์ชีตนั้น ทางแบรนด์เลือกใช้มาสก์แบบ Veocel มารังสรรค์เป็น Youth Concentrate Sheet Mask แผ่นมาสก์หน้าแบบธรรมชาติที่ย่อยสลายเองได้ และทำด้วยไม้จากป่าที่มีการปลูกทดแทนได้ หลังจากใช้แผ่นมาสก์นี้แล้วสามารถทิ้งในถังหมักที่บ้านร่วมกับขยะอินทรีย์อื่นๆ ได้ เพราะจะย่อยสลายเมื่อเวลาผ่านไปโดยไม่ทำลายสภาพแวดล้อม

 

8. Kiehl’s นอกจากสนับสนุนการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ และมีผลิตภัณฑ์บางรุ่นที่รีไซเคิลและย่อยสลายเองได้แล้วนั้น ยังสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคหัดรีไซเคิลผ่านนโยบายสะสมขวดเปล่าแล้วนำมาแลกสินค้าขนาดเดินทางไปใช้

 

9. YSL แบรนด์ความงามสุดหรูบอกว่าแม้หรูหราก็ช่วยรักษ์โลกได้ โดยเริ่มนำรีฟิลมาใช้ในผลิตภัณฑ์ Or Rouge La Crème ที่มาในกระปุกแก้ว ใช้ได้ยาวนาน เพราะเมื่อใช้หมดก็ซื้อเฉพาะรีฟิลที่บรรจุครีมมาเปลี่ยน

 

10. Yves Rocher เริ่มปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้เป็นแบบรีฟิลมากขึ้นเพื่อลดการใช้พลาสติกและสร้างขยะ เช่น เจลล้างมือแบบซองรีฟิล เมื่อเทียบกับการซื้อขวดใหม่แล้วจะช่วยลดการใช้พลาสติกในการผลิตได้กว่า 77%

 

 

11. Jurlique นอกจากเพาะปลูกส่วนผสมแบบ Biodynamic ที่ไร้สารเคมีและใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลแล้ว ยังตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2020 จะลดการปล่อยก๊าซเสีย ลดการใช้น้ำ และลดการสร้างขยะให้ได้อีก 20%

 

12. Bulldog กรูมมิ่งแบรนด์ของหนุ่มๆ ใช้พลาสติกทางเลือกที่ทำจากน้ำตาลอ้อย ซึ่งย่อยสลายได้ง่ายและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมมาทำแพ็กเกจจิ้ง

 

13. Panpuri แบรนด์ไทยที่ประกาศมุ่งไปทาง Clean Beauty นำร่องด้วย Zero List รายการสารต้องห้ามกว่า 2,300 รายการซึ่งทางแบรนด์จะไม่ใช้ในผลิตภัณฑ์ เพราะเกรงว่าจะส่งผลร้ายต่อทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ตัวแพ็กเกจจิ้งยังรีไซเคิลได้ กล่องทำจากกระดาษที่ได้จากไม้ที่ปลูกแบบทดแทน และข้อมูลต่างๆ พิมพ์ด้วยหมึก Soy Ink เท่านั้น

 

14. Lush ผลิตภัณฑ์สายธรรมชาติ เน้นคัดสรรวัตถุดิบจากฟาร์มที่เพาะปลูกแบบหมุนเวียนและซื้อขายอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ 35% ของผลิตภัณฑ์จะเป็น Naked Packaging คือไม่ห่อหุ้มเลย และเวลาซื้อจะใช้ผืนผ้าหรือแผ่นกระดาษรีไซเคิลห่อไป เช่น สบู่ก้อน มาสก์ แชมพูแบบแท่ง ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นๆ ใช้บรรจุภัณฑ์แบบรีไซเคิลได้

 

15. Burt’s Bees ลดการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ เน้นกระบวนการผลิตที่ประหยัดพลังงาน และใช้ระบบออสโมซิสเพื่อนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ตั้งแต่ปี 2010 รวมทั้งแต่ละปีจะมีแคมเปญระดมเงินทุนเพื่อปกป้องผึ้งและส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืน

 

 

ภาพประกอบ: Preawwoo

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

 

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising