ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรที่บริษัทเครื่องสำอางทั้งหลายต่างพากันหยิบเอาเรื่องความรักษ์โลกและส่วนผสมจากธรรมชาติมาใช้เพื่อเสริมความงามโดยเน้นเรื่องความปลอดภัย ไม่แพ้ ไม่ระคายเคือง ไปจนถึงการปลุกกระแสจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ผู้บริโภคอย่างเราๆ ส่วนใหญ่ก็ยังเข้าใจ (ผิด) คิดว่า ‘ออร์แกนิก’ กับ ‘ส่วนผสมจากธรรมชาติ’ เป็นเรื่องเดียวกัน หรือแม้แต่การใช้กระบวนการในการผลิตและขนส่งบางชนิดก็อาจทำให้คุณภาพของเครื่องสำอางผิดเพี้ยนไป
ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ (Natural Products)
เมื่อพูดว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ คนก็พาลนึกไปว่าเป็นธรรมชาติ 100% ทั้งที่ความจริงอาจมีส่วนผสมจากธรรมชาติเพียงน้อยนิดก็สามารถเคลมได้แล้ว ดังนั้นเช็กส่วนผสมที่ระบุไว้บนบรรจุภัณฑ์เสมอ เชื่อได้ว่าเกินครึ่งอาจพบส่วนผสมจากธรรมชาติมากพอๆ หรือน้อยกว่าสารสังเคราะห์ด้วยซ้ำ ซึ่งตามหลักแล้วก็ไม่ได้ถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภคแต่อย่างใด ตราบใดที่ยังใช้สารสกัดที่มาจากธรรมชาติ
ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก (Organic Products)
หากต้องการมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นธรรมชาติอย่างเต็มรูปแบบ คำว่าออร์แกนิกคือคำตอบ เนื่องด้วยว่าการจะเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกได้นั้นต้องใช้แต่สารสกัดจากธรรมชาติที่มีการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวในฟาร์มเท่านั้น ไม่มีการใช้เครื่องจักรใดๆ ไม่ใช้การทดลองในสัตว์ ปราศจากสารเคมีรุนแรง ไม่มีสารอันตราย (เช่นพาราเบน สีสังเคราะห์ และน้ำหอม)
ผลิตภัณฑ์แบบวีแกน รักสัตว์ (Vegan Products)
คล้ายๆ กับอาหารตรงที่ว่า ผลิตภัณฑ์วีแกน (มังสวิรัติ) นั่นคือไม่ใช่ส่วนผสมใดๆ ที่มาจากสัตว์เลย แต่ก็ไม่ได้หมายถึงเป็นส่วนผสมจากพืช 100% คืออาจมีส่วนประกอบของสารสังเคราะห์ก็ได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นนมจากสัตว์ ไปจนถึงน้ำผึ้งก็ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ด้วย ดังนั้นผลิตภัณฑ์วีแกนจึงมักมีจุดยืนในการเป็นแบรนด์ Cruelty-Free ด้วยเช่นกัน แต่ก็อาจไม่เสมอไป
ผลิตภัณฑ์แบบทารุณสัตว์ (Cruelty-Free)
หรืออาจเห็นเป็นโลโก้กระต่าย ซึ่งเป็นการแสดงจุดยืนของแบรนด์ว่าไม่มีการทดลองผลิตภัณฑ์ในสัตว์ก่อนนำมาจำหน่าย ซึ่งในธุรกิจเครื่องสำอางการทดลองถือเป็นเรื่องสำคัญเพื่อตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ใช้ได้จริง ไม่มีผลข้างเคียง หรือทำให้เกิดอันตราย อาการแพ้และระคายเคืองจริงหรือไม่ โดยในช่วงปีที่ผ่านมา เหล่านานาประเทศได้มีการแบนผลิตภัณฑ์ที่ทำการทดลองในสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ ยกเว้นประเทศจีนที่กลับมีกฎหมายชัดเจนว่าแบรนด์ที่จะมาวางขายนั้นต้องผ่านการทดลองในสัตว์ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกเชื่อมั่นเสียก่อน
ทีนี้คุณก็จำแนกได้ถูกและง่ายขึ้นแล้ว แต่นอกเหนือจากเรื่องการจำแนกแยกประเภทว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว หลายๆ แบรนด์ความงามต่างก็เริ่มหันมารณรงค์การรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ที่มากล้นขึ้นทุกวัน ไปจนถึงกระบวนการย่อยสลายของส่วนผสมที่มักตกค้างอยู่ตามท้องทะเลในที่สุด เช่น การเปลี่ยนเม็ดสครับสังเคราะห์มาใช้เป็นเปลือกวอลนัตแทน หรือนำเอาขยะมารีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลให้มากขึ้น รวมถึงการปลูกป่าทดแทนจากการใช้ผลผลิตจากธรรมชาติในปริมาณมาก ฯลฯ ทั้งนี้ก็ถือเป็นหมากทางการตลาดและแนวคิดที่น่าชื่นชม เพราะสุดท้ายความงามคงเปล่าประโยชน์หากเราไม่มีอากาศสะอาดๆ ให้หายใจ
อ่านเรื่อง Clean Beauty คืออะไร และทำไมเทรนด์นี้อาจเปลี่ยนแปลงโลกของความงามไปอย่างสิ้นเชิง ได้ที่นี่
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า