เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายที่สุด การดู Beautiful Boy น่าจะให้อารมณ์คล้ายๆ กับการดูภาพยนตร์ไทยเรื่อง ‘น้ำพุ’ ที่ครั้งหนึ่งเคยส่งให้คำพูดสั้นๆ “แม่ฮะ พุติดยา” กลายเป็นหนึ่งในประโยคที่สะเทือนใจที่สุดในวงการภาพยนตร์ไทยมาจนถึงปัจจุบัน
แถมจุดเริ่มต้นยังคล้ายกัน คือ ‘น้ำพุ’ สร้างจากประสบการณ์ตรงของสุวรรณี สุคนธา ที่บอกเล่าความเจ็บปวดของคนเป็นแม่ที่มีลูกติดยาเสพติดไว้ในหนังสือ เรื่องของน้ำพุ ส่วน Beautiful Boy ผู้กำกับอย่างผู้กำกับ เฟลิกซ์ ฟาน โกรนินเกน ได้นำวัตถุดิบมาจากเรื่องจริงของ เดวิด เชฟฟ์ คุณพ่อที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อพาลูกชายสุดที่รัก เดินทางออกมาจากวังวนของยาเสพติด ในหนังสือ Beautiful Boy: A Father’s Journey Through His Son’s Addiction
ตัวน้ำพุค่อนข้างชัดเจนว่าถูกบริบทโดยรอบ ตั้งแต่ถูกคนเป็นพ่อมองว่าเป็นตัวซวย แม่ต้องทำงานหนักจนไม่มีเวลาให้เท่าที่ควร สภาพสังคมที่ปิดกั้น รวมทั้งกลุ่มเพื่อนที่มีปัญหาใกล้เคียงกัน บีบให้เขาเดินหน้าเข้าหายาเสพติด เพราะคิดว่านั่นเป็นเพียงพื้นที่หนึ่งเดียวที่มอบความสุขให้กับเขาได้
แต่นิค เชฟฟ์ (รับบทโดย ทิโมธี ชาลาเมต์) ใน Beautiful Boy ถึงแม้พ่อแม่จะแยกทางกันตั้งแต่เด็ก แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ นิคเติบโตมาในครอบครัวใหม่ที่มีพร้อมทุกอย่าง ตัวตนของเขาถูกหลอมรวมอย่างกลมกลืนกับภรรยาใหม่ของพ่อและน้องๆ อีก 2 คน
นิคคือเด็กชายที่ประคองมาด้วยความรัก ความอบอุ่นในบ้านหลังใหญ่ เป็นเด็กน้อยเรียนเก่ง ชอบงานศิลปะ รักการอ่านหนังสือ มีความฝันอยากเขียนหนังสือเพื่อเล่าเรื่องราวของตัวเอง แถมยังมีพ่อ (รับบทโดยสตีฟ คาเรลล์) ที่พร้อมเข้าใจเขาทุกอย่าง
รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และบทสนทนาผ่านควันกัญชาที่พวกเขาแบ่งกันสูบ คือเครื่องยืนยันอย่างดีว่านิคคือเด็กผู้ชายที่น่าอิจฉา ส่วนเดวิดคือพ่อที่รักอย่างสุดหัวใจ เช่นเดียวกับวันวานที่เขาเคยมองลูกด้วยสายตาเป็นห่วงในวันถูกคลื่นยักษ์ซัดขณะเล่นเซิร์ฟ แต่สุดท้ายลูกชายก็สามารถยืนอย่างมั่นคงบนกระดานโต้คลื่น เขาเชื่อมั่นว่า Beautiful Boy คนนี้แข็งแกร่งพอที่จะผ่านทุกเรื่องราวในชีวิตไปได้อย่างสวยงาม
ทุกครั้งที่พ่อและลูกชายต้องแยกจากกัน พวกเขาจะบอกลากันด้วยคำว่า ‘Everything’ เพื่อส่งสัญญาให้รู้ว่าไม่ว่าจะเกิดอะไร พวกเขาสามารถพูดทุกเรื่องราวให้กันฟังได้เสมอ แต่เมื่อนิคถลำลึกเข้าสู่โลกของยาเสพติดมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาก็แทบกลายเป็นคนแปลกหน้าที่ไม่สามารถกล่าวคำว่า ‘Everything’ ให้แก่กันได้อีกต่อไป
จากเด็กน้อยที่เต็มไปด้วยความฝัน นิคเริ่มทดลอง ‘โต้คลื่น’ ในชีวิตจริงทั้งออกไปเรียนรู้โลกกว้าง ทดลองยาเสพติด เรียนมหาวิทยาลัย ใช้ชีวิตในสถานบำบัด บางช่วงเวลาเขาก็สามารถกลับมาหยัดยืนเหนือผิวน้ำได้เหมือนวัยเด็ก แต่บางครั้งเขาก็ถูกคลื่นซัดจนล้มไม่เป็นท่า เรื่องราวทั้งหลายเกิดขึ้นวนเวียนซ้ำไปซ้ำมา โดยมีคุณพ่อและครอบครัวใหม่ดูแลและสนับสนุนเขาอยู่ไม่ห่าง
ความน่าสนใจของ Beautiful Boy คือการที่หนังไม่ได้พยายามเน้นให้เห็น ‘โทษ’ ของยาเสพติดโดยตรงตามแบบหนังเกี่ยวกับยาเสพติดที่เราคุ้นเคย น้อยครั้งที่เราจะเห็นภาพของนิคทุกข์ทรมานเพราะอาการขาดยา แต่สิ่งที่หนังค่อยๆ เล่าซ้ำๆ เพื่อย้ำเตือนเราอยู่ตลอดเวลา คือภาพของคนเป็นพ่อที่ต้องเจ็บปวดยิ่งกว่าสิ่งใด เมื่อลูกชายสุดที่รักถูกพรากห่างออกไปเรื่อยๆ
ยิ่งเดวิดเป็นพ่อที่พยายามทำทุกอย่าง (ทุกอย่างจริงๆ) เพื่อลูกชายด้วยความเข้าใจ อย่างไร้ความฟูมฟายมากเท่าไร เราก็ยิ่งสะท้อนใจไปกับความพยายามที่แทบจะไร้ความหมายมากขึ้นเท่านั้น
สุดท้าย ก็เป็นตัวของนิคเองนี่ล่ะที่เจ็บปวดมากที่สุด จากการเห็นความพยายามทั้งหมดที่พ่อทำให้เขา และไม่ว่าตัวเขาจะเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไร แต่ในความรู้สึกของพ่อ เขาก็ยังคงเป็น ‘Beautiful Boy’ ในหัวใจของพ่อไม่เคยเปลี่ยนแปลง
เพราะบางครั้งสิ่งที่ทำให้คนเรารู้สึกเจ็บปวดมากที่สุด ไม่ใช่เพราะใครคนใดคนหนึ่งถูกทำร้าย แต่เป็นเพราะเราทำได้เพียงมองคนที่เรารักและเหตุการณ์ต่างๆ แย่ลงไปทุกขณะ โดยที่เราทำได้เพียง ‘รับรู้’ สิ่งเหล่านั้น โดยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขอะไรได้เลย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์