×

Beau Is Afraid โลกในโรงละครชีวิต

25.05.2023
  • LOADING...
Beau Is Afraid

ครั้งหนึ่งนักทำหนังท่านหนึ่งเคยบอกว่า สำหรับเขาแล้ว แม้เรื่องโกหกจะน่าเชื่อถือแค่ไหน แต่เขากลับคิดว่าเรื่องโกหกที่จริงที่สุดคือเรื่องที่สร้างมาจากชีวิตของตัวเอง เขาเชื่อว่ามีแต่เรื่องโกหกที่มาจากจิตใต้สำนึกของตัวเราเท่านั้นที่สามารถสร้างโลกทั้งใบให้เข้าไปหลบซ่อนจากความจริงที่แสนน่ากลัวได้ โลกที่เต็มไปด้วยคำโกหกนั้นเป็นสถานที่เดียวที่ปลอดภัยมากพอให้เราทำในสิ่งที่ไม่กล้าทำได้ สิ่งที่เราใคร่ครวญ สงสัย หรือตั้งคำถาม และมีแต่โลกที่ถูกสร้างขึ้นมาเท่านั้นที่เปิดโอกาสให้เราหยิบยืมโลกในรูปแบบต่างๆ มาอธิบายความจริงของชีวิตที่เราไม่สามารถเล่าออกมาได้ 

 

อาจไม่ต้องเกริ่นอะไรมาก Beau is Afraid ผลงานลำดับที่สามของ Ari Aster ก็ดูจะใช้วิธีการที่ละม้ายคล้ายคลึงแบบนั้น เรื่องราวของมันว่าด้วย Beau Wassermann (Joaquin Phoenix) หนุ่มใหญ่ที่ใช้ชีวิตอย่างทุลักทุเลท่ามกลางเมืองที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ทุกวันเขามักจะใช้ชีวิตอยู่ด้วยความหวาดระแวงผู้คน จนวันหนึ่งเขาต้องเดินทางกลับไปเยี่ยมแม่ที่เมืองอันแสนห่างไกล และการเดินทางนั้นก็เป็นดั่งทริปนรกที่พาคนดูไปสำรวจถึงตัวตนและความกลัวที่ซุกซ่อนอยู่ภายในตัวของ Beau 

 

 

แน่นอนว่า Ari Aster ได้ทิ้งเงื่อนงำเอาไว้ให้กับคนดูตั้งแต่แรกเริ่มแล้วว่า นี่ไม่ใช่แค่การเดินทางกลับไปเยี่ยมแม่ที่มีความสัมพันธ์ระหองระแหงกับเขาเพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นการพาคนดูไปสำรวจล้วงลึกถึงสภาวะกึ่งจริงกึ่งฝันอันยุ่งเหยิงของตัวละครที่มีสาเหตุมาจากเรื่องราวในอดีต 

 

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อหนังดำเนินมาถึงจุดหนึ่ง พร้อมกับการเดินทางของ Beau ที่ดูจะออกจากครรลองของโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น หนังก็ได้เผยให้เห็นถึงปมความผิดบาปที่อยู่ในใจ และความคับแค้นที่ Beau พยายามจะปฏิเสธมาตลอดชีวิต ปมที่ว่าได้กลายเป็นเหมือนอาการป่วยไข้ที่ส่งผลต่อตัวเขาทั้งทางด้านกายภาพและจิตใจ ซึ่งมันแสดงให้เห็นผ่านการที่เขามักจะถามคนอื่นอยู่เสมอว่า ‘แท้จริงแล้วเขาควรทำอย่างไร?’

 

Hereditary (2018)

 

Midsommar (2019)

 

หากมองย้อนกลับไปยังผลงานก่อนหน้านั้นของ Ari Aster อย่าง Hereditary (2018) และ Midsommar (2019) เราอาจบอกได้ว่าเขามักมีวิธีการนำเสนอเรื่องราวสยองขวัญผ่านอาการป่วยไข้ของตัวละครที่สร้างความพะอืดพะอมชวนสำรอกให้กับคนดู พร้อมบรรยากาศความตลกพิลึกพิลั่นที่หลอกล่อความกลัวในจิตใจของผู้คนภายในเรื่องเหมือนกับลัทธิในรูปแบบหนึ่ง 

 

ในกรณีของ Beau is Afraid เราอาจมองได้ว่าอาการหวาดกลัวทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับ Beau เป็นผลพวงที่มาจากเรื่องราวความสัมพันธ์ในอดีตระหว่างเขากับผู้เป็นแม่ สำหรับหนุ่มใหญ่แม่จึงเป็นทั้งบ่อเกิดแห่งความกลัวและเป็นเหมือนเรื่องเล่าที่คอยตามหลอกหลอนเขาตลอดการเดินทาง ฉะนั้นการจะอนุมานว่า ‘แม่’ ในหนังเรื่องนี้เปรียบเสมือนกับลัทธิในอีกรูปแบบหนึ่งก็คงจะไม่ผิดเสียทีเดียว และด้วยความที่ดูคับคล้ายกลายเป็นลัทธิ จุดเริ่มต้นไปจนถึงจุดจบของการเดินทางทั้งหมดที่เราเห็นก็อาจมีที่มาจากคำถามสั้นๆ เพียงแค่ข้อเดียวที่อยู่ในช่วงต้นเรื่องอย่าง ‘คุณอยากฆ่าแม่ไหม?’ ก็เป็นได้  

 

แต่ก็อย่างว่า Beau is Afraid ยังคงเต็มไปด้วยกลิ่นอายและตัวตนของ Ari Aster ทุกกระเบียดนิ้ว เพียงแต่บางครั้งความทะเยอทะยานและบ้าบิ่นของเขาก็เป็นเหมือนดาบสองคมในเวลาเดียวกัน การระบายความใคร่ลงไปในงานอย่างไม่แยแสใครเท่าไรก็อาจทำให้คนดูรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกเพิกเฉยและทดสอบโดยคนทำหนังที่ไร้ซึ่งโพยในการเฉลยคำตอบใดๆ และมันยากมากที่จะไม่ตั้งคำถามว่า ‘เขาทำหนังให้ตัวเองดูรู้เรื่องคนเดียวหรือเปล่า?’ 

 

แต่อีกด้านก็ต้องชื่นชมว่าหนังในแบบฉบับของเขาไม่ใช่สิ่งที่หาชมกันได้ทั่วไป มันเต็มไปด้วยความแปลกและพิสดารในเชิงภาษาภาพยนตร์ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นก็ได้มอบประสบการณ์บางอย่างให้กับคนดูที่หนังเรื่องอื่นยากที่จะมอบให้ได้

 

และเรื่องตลกร้ายที่สุดก็อาจเป็นการที่เรากำลังนั่งหัวเราะเยาะให้กับชีวิตอันน่าเวทนาของชายคนหนึ่งที่จิตใจของเขาเต็มไปด้วยบาดแผลที่เกิดจาก ‘ความกลัว’ ในวัยเยาว์

 

 

ถึงกระนั้น ความเก่งกล้าอย่างหนึ่งของ Ari Aster ก็คือการใช้เหลี่ยมมุมต่างๆ ในการหลอกล่อคนดูด้วยคำถามข้อหนึ่งที่เป็นดั่งประกายไฟให้เกิดการตีความและค้นหาความหมายที่ถูกซุกซ่อนเอาไว้อยู่ภายในหนัง ซึ่งคำถามที่เดิมพันสูงลิ่วข้อนั้นก็คือ เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับ Beau เป็นเรื่องจริง หรือเป็นเพียงแค่เรื่องที่เขาปรุงแต่งขึ้นมาจากจิตใต้สำนึกที่เต็มไปด้วยความกลัวของตัวเอง? 

 

โดยส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นเกือบทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแค่มโนภาพของ Beau มันเป็นเหมือนโรงละครชีวิตที่คอยฉายภาพและเรื่องราวของเขาออกมาในรูปแบบต่างๆ กระนั้นเอง โรงละครที่ว่าก็เป็นเหมือนโลกในรูปแบบเฉพาะที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามแต่ที่จินตนาการของเขาสร้างออกมา แต่แง่หนึ่งที่เหมือนกันคือมันบอกเล่าถึงความกลัวที่เขาพยายามจะหลบซ่อนเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแม่ ความจริงของพ่อ ผู้คน หรือกระทั่งการมีเซ็กซ์กับผู้หญิง 

 

โลกเหล่านั้นเป็น ‘ความจริงในอีกรูปแบบหนึ่ง ‘ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อบอกเล่า ‘ความจริงในอีกรูปแบบหนึ่ง’ ของชีวิตที่ Beau ไม่กล้าพอที่จะเผชิญหน้ากับมันตรงๆ ซึ่งความอาจหาญอย่างถึงที่สุดของ Ari Aster ก็อยู่ตรงที่การให้คนดูเลือกด้วยตัวเองว่าอันไหนคือเรื่องจริงและไม่จริง จะเชื่อหรือไม่เชื่อ จากประสบการณ์ที่แตกต่างกันของคนดูภายใต้บรรยากาศอันแสนกระอักกระอ่วนของหนังที่ยาวถึงสามชั่วโมง

 

 

ไม่ว่าจะเข้าใจในสิ่งที่ Ari Aster นำเสนอมากน้อยเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องชื่นชมมากที่สุดก็คือ Joaquin Phoenix ที่เรียกได้ว่าทุ่มเทให้กับการแสดงราวกับว่าไม่มีอะไรจะให้เสียอีกแล้วในชีวิตนี้ และมันไม่ใช่แค่การสะกดคนดูให้นั่งอยู่กับที่นานถึงสามชั่วโมงเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการแสดงความตื้นลึกหนาบางของตัวละครออกมาได้อย่างน่าเศร้าและชวนใจสลายในคราบของผู้ใหญ่ที่ไร้ซึ่งภาวะการเติบโตใดๆ นอกจากร่างกาย

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายของ Beau is Afraid ก็ชวนให้เราอดคิดไม่ได้ว่านี่ไม่ใช่แค่การตัดสินความผิดของ Beau เพียงอย่างเดียว แต่มันอาจหมายรวมไปถึงโลกที่เขาสร้างขึ้นมาจากการหลบหนีความกลัวทั้งหมดด้วย เราอาจห่างไกลจากความกลัวในรูปแบบต่างๆ ที่ Beau เผชิญก็จริง แต่ส่วนตัวผู้เขียนแล้ว แง่หนึ่งที่แน่ชัดคือ แม่ ก็เป็น ‘ลัทธิ’ ในรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

 

ถ้าหากหนังคือการสร้างความจริงให้คนดู ‘เชื่อ’ และการโต้เถียงเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการพูดคุยถึงเรื่องราวต่างๆ ในโลกของ Beau อย่างไม่รู้จบ ท้ายที่สุดแล้วมันอาจจะไม่สามารถตัดสินได้อย่างตรงไปตรงมาว่าหนังเรื่องนี้ดีหรือไม่ดี แต่ที่แน่ๆ คนเดียวที่ชนะจากเวทีการตีความถอดรหัสเหล่านั้นก็คงไม่ใช่ใครอื่น นอกเสียจากตัวของ Ari Aster เอง

 

Beau is Afraid เข้าฉายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้

 

รับชมตัวอย่างได้ที่:

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X