×

ส่องสินทรัพย์ลงทุน ตลาดไหนเข้าสู่ ‘ภาวะหมี’ แล้วบ้างในเวลานี้

21.06.2022
  • LOADING...
ภาวะหมี

โดยทั่วไปแล้ว ‘ตลาดหมี’ หรือ Bear Market มักจะถูกนิยามโดยการวัดการเปลี่ยนแปลงของดัชนีหรือราคาของสินทรัพย์ที่ปรับตัวลงมากกว่า 20% จากจุดสูงสุดของรอบล่าสุด และในภาวะที่สินทรัพย์ลงทุนส่วนใหญ่ทั่วโลกกำลังถูกเทขายเช่นนี้ ทำให้ตลาดลงทุนหลายๆ ตลาดยังคงอยู่ในตลาดหมีอย่างเต็มตัว 

 

จากการรวบรวมข้อมูลโดย THE STANDARD WEALTH ปัจจุบันมีตลาดลงทุนที่สำคัญในหลายสินทรัพย์ที่อยู่ท่ามกลางตลาดหมี โดย Bitcoin ดูเหมือนจะเป็นสินทรัพย์ที่ปรับตัวลงหนักที่สุด ไม่ว่าจะวัดจากจุดพีคที่ 69,000 ดอลลาร์ เมื่อปลายปี 2021 ซึ่งราคา Bitcoin ลดลงกว่า 70% หรือจุดพีคในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 48,000 ดอลลาร์ ซึ่งราคาลดลงกว่า 60% 

 

ในส่วนของหุ้น พบว่าหลายตลาดที่สำคัญของโลกต่างเข้าสู่ตลาดหมีเช่นกัน โดยตลาดที่ลดลงหนักสุดคือ Hang Seng ฮ่องกง ลดลง 41.5% จากจุดพีคเมื่อต้นปี 2021 ถัดมาคือดัชนี CSI 300 ของจีน ลดลง 36.6% จากจุดพีคเมื่อต้นปี 2021 ส่วนดัชนี KOSPI ลดลง 28.5% จากจุดพีคช่วงกลางปี 2021 

 

ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีหลัก 2 จาก 3 ดัชนี คือ S&P 500 และ Nasdaq ปรับตัวลง 24.5% และ 34.8% ตามลำดับ เข้าสู่ตลาดหมีเป็นที่เรียบร้อย ขณะที่ดัชนี Dow Jones ล่าสุดติดลบอยู่ประมาณ 19% ยังถือว่าไม่เข้าสู่ตลาดหมีดังเช่นอีก 2 ดัชนีข้างต้น ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรป อิงจากดัชนี EURO STOXX 50 ก็เข้าสู่ตลาดหมีแล้วเช่นกัน ดัชนีติดลบไป 22.5% 

 

นอกจากนี้ อีกหนึ่งสินทรัพย์ที่เข้าสู่ตลาดหมีได้ไม่นานนักคือ ดัชนีของกอง REITs ที่โลก อิงจากดัชนี MSCI World REITs ที่ปรับตัวลงประมาณ 21.7% 

 

ส่วนขั้วตรงข้ามกับตลาดหมีคือ ตลาดกระทิง หรือ Bull Market ซึ่งเป็นภาวะที่ราคาของสินทรัพย์นั้นๆ กำลังวิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับตลาดกระทิงดูเหมือนว่าในโลกการเงินการลงทุนจะไม่ได้มีตัวเลขที่ใช้ชี้วัดอย่างชัดเจนดังเช่นกรณีของตลาดหมี 

 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า การที่จะบอกว่าตลาดหมีจบลงแล้ว เราอาจจะต้องเห็นการเข้าสู่ตลาดกระทิงแทนที่ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว หากเป็นการฟื้นตัวกลับขึ้นไปก็อาจจะมีข้อโต้แย้งได้ว่า การฟื้นตัวที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพียง Bear Market Rally อย่างที่เราเห็นจากหุ้นสหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา 

 

“ที่ผ่านเรายังไม่ค่อยเห็นการใช้ตัวเลขที่เป็น Technical Term เพื่อนิยาม Bull Market การจะบอกว่าตลาดเข้าสู่ Bull Market จำเป็นจะต้องมาควบคู่กับนโยบายการเงินที่สอดคล้องกันด้วย เพราะเราคงไม่สามารถพูดได้ว่าเราเข้าสู่ Bull Market แต่นโยบายการเงินยังคงเข้มงวด ทำให้สภาพคล่องยังถูกจำกัด”

 

ณัฐชาตกล่าวต่อว่า ตลาดหุ้นจีนอาจเป็นตลาดที่เราจะเริ่มเห็นคนพูดกันมากขึ้นว่าหุ้นจีนออกจาก Bear Market ได้แล้ว หากดัชนี CSI 300 กลับขึ้นไปยืนเหนือระดับ 4,640 จุด เนื่องจากนโยบายการเงินของจีนกลับมาผ่อนคลายมากขึ้น และการกลับขึ้นไปยืนเหนือ 4,640 จุด เป็นจุดที่สูงกว่าระดับของการติดลบ 20% จากจุดสูงสุดก่อนหน้านี้ 

 

ขณะที่ตลาดหุ้นไทย หากอิงจากดัชนี SET การย่อตัวล่าสุดจากระดับ 1,718 จุด มาที่ 1,544 จุด ยังไม่ได้ทำให้หุ้นไทยเข้าสู่ตลาดหมีแต่อย่างใด 

 

ทั้งนี้ สถิติของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อิงจากข้อมูลจาก Schwab Center for Financial Research โดยเฉลี่ยแล้วในภาวะตลาดหมี ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ จะติดลบไปประมาณ 38.4% โดยกินระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 15 เดือน และนับแต่ปี 1974 เป็นต้นมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคยเข้าสู่ตลาดหมีเพียงแค่ 5 ครั้งก่อนหน้านี้คือ ปี 1980, 1987, 2000, 2007 และ 2020 ก่อนจะเกิดครั้งที่ 6 ในปี 2022 

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising