THE STANDARD สนทนากับ สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS (เอไอเอส) ทั้งในฐานะผู้ถือหางเสือเรือลำใหญ่ ถึงแนวทางการพาเอไอเอสให้ลอยลำอย่างมั่นคงท่ามกลางคลื่นลมแห่งการเปลี่ยนแปลงทุกวินาที และในฐานะบุคคลที่ยืนยันว่า อย่า ‘กลัว’ ในการตั้งรับปรากฏการณ์นี้
กว่า 3 ปีแล้วที่ สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ก้าวเข้ามากุมบังเหียนบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของไทย ในฐานะซีอีโอของบริษัท เขาประกาศชัดตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งว่า ไม่ได้กังวลกับการคัดท้ายนาวาลำใหญ่นี้ ส่วนหนึ่งเพราะเขาทำงานที่นี่มานานเกือบ 30 ปี ผ่านประสบการณ์หลากหลาย อีกส่วนสำคัญคือมีทีมที่แข็งแรง พร้อมปรับตัวให้สอดคล้องกับพายุแห่ง Digital Disruption ที่กำลังถาโถมใส่ทุกวงการในขณะนี้ ปัจจุบันเอไอเอสภายใต้การนำของซีอีโอวิสัยทัศน์ไกลผู้นี้ กล่าวได้ว่าเดินมามากกว่าครึ่งทางแล้ว
คุณพูดถึง Digital Disruption มาตลอด หลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 3 ปีก่อน จนถึงวันนี้ คุณเห็นความเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้นบ้าง
ผมเป็นซีอีโอ 3 เกือบ 4 ปีแล้ว ตอนที่สมัครและรับการคัดเลือก ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ตอนนั้นคือ เทมาเส็ก เขาก็มีกระบวนการคัดสรร ผมเสนอว่า อยากเห็นเอไอเอสเปลี่ยนจาก Mobile Operator เป็น Digital Life Service Provider
วันที่ผมพูดคำว่า Digital ยังไม่เป็นที่รู้จักในบ้านเรากันมากเลย มารู้จักกันเมื่อหม่อมอุ๋ย (ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล) พูดเรื่อง Digital Economy จากนั้นปีเศษๆ คำว่า Digital Disruption หรือ Digital Transformation ก็เข้ามามากมาย มีคนมาสัมภาษณ์ผมว่า ทำไมถึงรู้เรื่องพวกนี้ก่อนคนอื่น คงเพราะผมโชคดีที่ได้อยู่แวดวงธุรกิจเทคโนโลยี ทำให้เห็นความเคลื่อนไหวต่างๆ
เรื่องดิจิทัลที่ทำให้คนช็อกไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ไทย แต่เกิดขึ้นกับทั้งโลก เราอยู่ในวงการนี้ก็คิดว่า จำเป็นต้องปรับตัว ยอมรับว่ามีความยาก โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ๆ ที่ประสบความสำเร็จมากๆ อย่างเอไอเอส เวลาจะไปบอกเขาว่าต้องเปลี่ยน จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ผมเองพยายามอธิบาย หลังจากนั้นเป็นเวลา 3 ปีกว่าๆ ที่ผมพูดไป คนไม่มีข้อกังขาแล้วว่า ดิจิทัลมันเข้ามา disrupt หรือทำลายล้างของเก่าที่ล้าสมัย
แต่ผมพูดตลอดว่า อย่าไปกลัวมัน เพราะสิ่งเหล่านี้จะมาสร้างของใหม่ที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนที่ถูกกว่าเดิม ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับคนที่ปรับตัวได้ก่อน
ดิจิทัลมันเข้ามา disrupt หรือทำลายล้างของเก่าที่มันล้าสมัย แต่ผมพูดตลอดเวลาว่า อย่าไปกลัวมัน เพราะสิ่งเหล่านี้มันจะมาสร้างของใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนที่ถูกกว่าวิธีเดิม รวมถึงเป็นโอกาสสำหรับคนที่ปรับตัวได้ก่อน
ดังนั้นเราควรตั้งรับปรากฏการณ์นี้อย่างไร
ผมมองเป็น 3 วงจร วงแรกคือ ลูกค้า ทุกวันนี้ที่ดิจิทัลเข้ามา disrupt ได้ มีเหตุผลเดียวคือ ลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งาน ดังนั้นลูกค้าจึงเป็นหัวใจสำคัญ เช่น เมื่อก่อนเวลาจะช้อปปิ้งก็ต้องไปห้างสรรพสินค้า แต่เมื่อมีโทรศัพท์มือถือขึ้นมาลูกค้าก็เปลี่ยนวิธีช้อปปิ้ง ฉะนั้นจำเป็นมากที่ต้องศึกษาลูกค้าซึ่งเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อม เราเปลี่ยนลูกค้าไม่ได้ เราจะต้องรู้จักลูกค้าจริงๆ ทุกวันนี้ลูกค้ามีความเป็นปัจเจก เพราะเขาควบคุมพฤติกรรมของตัวเองได้
วงที่สองคือ คนของเรา เราจำเป็นต้องเปลี่ยนคนของเราให้ตอบรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และตอบรับกับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป
และวงที่สามที่ผมทำเยอะคือ พาร์ตเนอร์ในโลกดิจิทัลไม่มีใครสามารถทำเองได้คนเดียวไม่ว่าจะใหญ่ขนาดไหนก็ตาม เพราะดิจิทัลจะทำให้ทุกอุตสาหกรรม เช่น วงการเทเลคอม การแพทย์ หรือห้างสรรพสินค้า เชื่อมโยงกันหมด ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยน
ด้านพนักงาน ผมพูดอยู่ตลอดเวลาว่า เอไอเอสเป็นเบอร์หนึ่งทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะเทคโนโลยีเราดี ไม่ใช่เงินเราเยอะ แต่เรามีคนเก่ง แต่ก็ต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะเราเก่งในบริบทเดิม บริบทใหม่เราอาจจะไม่เก่งเลยถ้าไม่ปรับตัว เราถึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมใหม่ ที่ทุกคนต้องกลับมาค้นหา
ตัวเองว่าเราเป็นใคร เก่งอย่างไร ก็เป็น FIND U
F แทนคำว่า Fighting Spirit หมายความว่า คุณห้ามเย่อหยิ่งว่า คุณเป็นเบอร์หนึ่ง ต้องมีหัวใจนักสู้ตลอดเวลา
I แทนคำว่า Innovation ซึ่งไม่ได้หมายถึงจะต้องผลิตสินค้าใหม่ๆ ตลอดเวลา แต่กระบวนการทำงานก็เป็นเรื่องนี้ได้เหมือนกัน
N แทนคำว่า New Ability คนที่เก่ง คุณต้องไปหามา เพราะความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา อย่างพนักงานสาขาของเรา ทุกคนรู้ว่าคนนี้เซอร์วิสดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ถามอะไรมาตอบได้หมด แต่ลูกค้าไม่ต้องการ เขาต้องการให้ตอบปัญหา ทำไมโหลดไม่ได้ ทำไมไอโฟนซื้อมาแล้วเป็นแบบนี้ พนักงานของผมจึงต้องถูกสั่งให้ฝึกการใช้สมาร์ตโฟน รุ่นใหม่ออกมาต้องทำเป็น
D แทนคำว่า Digital Service ถ้าคุณไม่ใช้ Digital Service แล้วคุณจะไปอธิบายลูกค้าอย่างไร ดังนั้นพนักงานทุกคนต้องฝึกใช้
U แทนคำว่า Sense of Urgency หรือตระหนักในความเร่งด่วนที่จะต้องเปลี่ยนแปลง ดิจิทัล มีแค่ 3 อย่าง คือ หนึ่ง ต้องรู้จักลูกค้าอย่างแท้จริงว่าต้องการอะไร ก็คือเรื่องของ Big Data สองคือ
สร้างความแตกต่าง และสามคือ ความเร็ว เพราะถ้าเราไม่เร็ว เราก็ช้ากว่าคนอื่น นี่คือวัฒนธรรมที่ผม
เน้นในวงกลมที่สองซึ่งก็คือ People
วงกลมที่สามคือ พาร์ตเนอร์ เรากล้าพูดเลยว่า เราเป็นโอเปอเรเตอร์รายเดียวในไทยที่ทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์มาโดยตลอด เรามีเทเลวิซซึ่งเป็นแชนแนลพาร์ตเนอร์ของเรา จริงๆ เอไอเอสสามารถทำเองได้นะ แต่เราเชื่อว่า พาร์ตเนอร์มีความสำคัญเรามีเทเลวิซกว่า 700 สาขา ในปัจจุบัน คนทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับเอไอเอสเป็นเจ้าของประมาณร้อยกว่าราย เราสามารถทำงานและอยู่กันมาได้ 20 กว่าปี
นั่นแสดงว่า เรายึดหลักที่จะเป็นพาร์ตเนอร์กับผู้อื่น เหมือนกับการทำ mPay ผมประกาศชัดว่า ผมไม่ได้กีดกันพาร์ตเนอร์แบงก์ เพราะเราโพสิชันว่า เราจะเป็นแค่แพลตฟอร์มที่จะช่วยในเรื่องการเงิน เราถือนโยบาย Sincere ว่าถึงอย่างไรเราก็จะเป็นแบบนี้ และพาร์ตเนอร์ก็มีความแข็งแรงกว่าเรา อันนี้เป็นจุดยืนของวงกลมอันที่สาม ทั้งหมดคือ แกนปรัชญาในการทำงานของเรา
หลังจากเอไอเอสเข้าสู่การเป็น Digital Service Provider 3 ปีที่ผ่านมา คุณเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
ผมเห็น 2 อย่างครับ สมัยก่อนเอไอเอสมีแค่โมบายล์อย่างเดียว ตอนผมเข้ามารับตำแหน่งนี้ ผมขอเลยว่าถ้าจะเป็น Digital Service Provider ต้องเพิ่มอีก 2 อย่าง ในเชิงฮาร์ดแวร์และโปรดักต์เซอร์วิส อย่างแรกคือ เราต้องมีฟิกซ์บรอดแบนด์ (fixed broadband) คือ AIS Fiber เราขอผู้ถือหุ้นทำเรื่องนี้เมื่อเป็นซีอีโอ และต้องต่อรองอย่างน้อย 6 ครั้ง จนกระทั่งเขายอมให้ทำ แล้ววันนี้มันได้พิสูจน์แล้วว่าถ้าเราไม่ทำ เราจะไม่แข็งแรงขนาดนี้ เพราะเมื่อโลกดิจิทัลเข้ามา พฤติกรรมคนก็เปลี่ยน คนใช้ดาต้าตลอดเวลา ออกจากบ้านทุกคนใช้โทรศัพท์มือถือ แต่กลับบ้านก็ใช้ไวไฟเพื่อดูหนัง ถ้าวันนี้ผมไม่มี ฟิกซ์บรอดแบนด์ เขาก็ย้ายไปอยู่กับคู่แข่งแล้ว วันนี้พอทำได้ เราก็ได้มาร์เก็ตแชร์ประมาณ 530,000 คน และตั้งเป้าในปีนี้ 830,000 คน ซึ่งถือว่าเหมือนเด็กใหม่ที่เพิ่งขึ้น อย่างที่สองที่ต้องมีก็คือ ดิจิทัลแพลตฟอร์มตอนที่ผมเข้ามาใหม่ๆ ผมก็ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร มากนัก เราจ้างที่ปรึกษามาดูเลยว่า เราต้องมีอะไร สุดท้ายแล้วก็เลือกมา 5 แพลตฟอร์ม อันแรกคือ Video Platform เพราะเราเชื่อว่า เอ็นเตอร์เทนเมนต์ การดูภาพยนตร์มันจะเยอะ อันที่สองคือ Mobile Money Platform หรือ mPay อย่างที่สามคือ Cloud Platform อย่างที่สี่คือ IoT Platform และอย่างที่ห้าคือ Partner Platform พูดง่ายๆ คือเป็นแพลตฟอร์มให้อุตสาหกรรมอื่นๆ เอาสินค้ามาขายกับเราในเชิงของสินค้าบริการที่ผมเรียกว่า ฮาร์ดแวร์ แต่สิ่งสำคัญมากที่ต้องทำคู่ขนานในยุคดิจิทัลคือการเตรียมคน วันนี้เราคือองค์กร เหมือนเรือ ขนาดใหญ่ ใครมาชนเราก็ไม่ตาย แต่ในอนาคตมันต้องเป็นองค์กรที่กระฉับกระเฉง เล็กๆ และเป็นคนรุ่นใหม่ เราจึงต้องมีวัฒนธรรม FIND U
ไม่จำเป็นต้องแก่แบบผม อายุ 50 ปี แล้วค่อยมาเป็นซีอีโอ แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีประสบการณ์ อย่างน้อยผมเชื่อว่าต้อง 10 ปีขึ้น ไม่ใช่เด็กจบใหม่แล้วออกมาทำ ผมไม่เชื่อ ผมเชื่อว่า คนทำงานที่ผ่านกระบวนการขั้นตอนในแต่ละเรื่อง มันสั่งสมประสบการณ์ การทำธุรกิจหรือการจะเป็นซีอีโอมันไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งเหล่านี้ประสบการณ์สำคัญมาก
คุณใช้เวลากว่า 20 ปี ก้าวจากการเป็นพนักงานธรรมดาขึ้นมาเป็นซีอีโอ ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่มาเป็นซีอีโออายุน้อยร้อยล้านจำนวนมาก คุณมองว่า ประสบการณ์ในการทำงานยังสำคัญอยู่ไหม ในการจะก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งขององค์กร
ไม่จำเป็นต้องแก่แบบผม อายุ 50 ปี แล้วค่อยมาเป็นซีอีโอ แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีประสบการณ์อย่างน้อยผมเชื่อว่าต้อง 10 ปีขึ้น ไม่ใช่เด็กจบใหม่แล้วออกมาทำ ผมไม่เชื่อ ผมเชื่อว่า คนทำงานที่ผ่านกระบวนการขั้นตอนในแต่ละเรื่อง มันสั่งสมประสบการณ์ การทำธุรกิจหรือการจะเป็นซีอีโอมันไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งเหล่านี้ประสบการณ์สำคัญมาก ช่วงเวลาของคนที่ทำงานมาสัก 10-20 ปี แล้วเป็น ซีอีโอจะแข็งแรง จบมาใหม่ ทำงานมา 3 ปี แล้วเป็นซีอีโอคุณอาจจะเป็นได้ ผมมีความเชื่ออีกย่างว่า ประสบการณ์พวกนี้มันต้องใช้เวลาสั่งสม เส้นทางมืออาชีพหรือเส้นทางเจ้าของธุรกิจ ไม่มีทางลัด
คุณเชื่อไหมว่า ทุกคนไต่เต้าจากพนักงานขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งขององค์กรได้
ผมมีความเชื่อ เพราะผมเองก็เป็นตัวอย่างหนึ่งและผมก็เห็นเพื่อนผมที่อยู่องค์กรใหญ่ๆ เขาก็เป็นพนักงานแบบผมที่เติบโตขึ้นมา คนพวกนี้ไม่ได้เป็นคนที่พ่อแม่รวยมีนามสกุลใหญ่ มันมีเส้นทางของมันอยู่แล้ว คนมีอยู่ 2-3 แบบ หนึ่งคือ ลูกเจ้าของ แบบนี้เราต้องละเว้น เขาเองก็ต้องสั่งสมประสบการณ์ ฝึกฝนลูกหลานของเขา มันต้องใช้เวลา แต่เขาก็มีทางลัดหน่อย คือถึงอย่างไรก็ได้ขึ้นแน่ แต่ไม่ใช่จบมาใหม่ๆ แล้วได้เลย แบบนี้ไม่มีทาง อย่างพวกผมเป็นลูกจ้างอาชีพที่โตมา มันก็มี ถ้าพูดถึงสัดส่วน คนที่เป็นมืออาชีพในบริษัท ในตลาด มันเป็นมืออาชีพมากกว่าลูกเจ้าของทำ ดังนั้นผมเชื่อว่ามีโอกาส
การตระหนักรู้ของแต่ละคนในโลกยุคดิจิทัลเกิดขึ้นช้าเร็วไม่เท่ากัน คุณสมชัยมีคำแนะนำอย่างไรให้คนเรารู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง
มีสองอย่าง อย่างแรกคือ เราเห็นคนอื่น เช่น บริษัทผู้ผลิตมือถือที่ใหญ่มากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ครองตลาด 70% แต่พอ Apple ออกมา 10 ปีเท่านั้น เจ้าเก่าหายไปเลย นี่คือตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นว่า จากที่เคยเป็นเบอร์หนึ่งวันนี้ ถ้าเราไม่เปลี่ยนก็จะตกยุค
สิ่งที่สองคือ ผมมีใจในลักษณะที่ว่า ผมอยากอยู่แค่ 3 ปี แค่มาวางรากฐาน บางคนไม่ยอมเปลี่ยน อาจเพราะยึดติดกับสิ่งที่มีอยู่ แต่เราไม่ได้ยึดติดเราขอเพียงว่า ให้องค์กรอยู่รอด ผมเชื่อว่า ผมไม่ได้ฉลาดกว่าคนอื่น ทุกคนคิดได้เหมือนผม แต่เขาอาจจะคิดว่า ทำไปเรื่อยๆ ถึงอย่างไรก็ไม่ล้ม หรือไม่ก็ ทำไปจนกว่าจะเกษียณ แต่เราอยากให้เด็กขึ้นมา เราอยากเป็นซีอีโอแค่ 3 ปี และอยากมีซีอีโอคนใหม่อายุ 40 ต้นๆ ผมเข้ามา 50 ต้นๆ มันแก่ไปแล้วในโลกดิจิทัล แต่วันนี้ยังทำไม่ได้ เพราะเราทำได้ ครึ่งเดียว ผมจึงขออีก 3 ปี
เด็กรุ่นใหม่หลายคนอาจไม่ได้มีเป้าหมายที่จะทำงานเพื่อองค์กรเป็น 10-20 ปี แต่มีใจรักอิสระมากกว่า คุณมองเรื่องนี้อย่างไร
ผมเห็นว่า เด็กรุ่นใหม่เป็นเด็กที่มีพลังมาก สัมผัสกับสตาร์ทอัพมาก แล้วก็เป็นเด็กที่เก่งกว่ารุ่นผมด้วยซ้ำ ในความหลากหลายของความรู้และความต้องการผมไม่เชื่อว่า เด็กรุ่นใหม่ขี้เกียจหรือทำงานไม่หนัก แต่เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้อยู่ในระบบ เพราะเขาต้องการหาตัวเองให้เจอว่าเขาชอบอะไร แล้วจะบ้าคลั่ง ทำเลย องค์กรจะต้องเป็นองค์กรที่เปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามา เพื่อให้เขาได้ใช้ความรู้และความสามารถของเขา วันนี้เอไอเอสต้องเปลี่ยนและต้องการใช้คนเยอะมาก เพราะเรากำลังตั้งเซ็นเตอร์ต่างๆ มากมาย
การเป็นผู้บริหารต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง
ผมว่าไม่ใช่เฉพาะแค่ผู้บริหารนะ เป็นคนทำงานด้วยผมยึด 3 อย่าง ขยัน ต้องทำงานหนัก อย่างที่สองที่ผมยึดถือ คือต้องมีความซื่อสัตย์ จะได้รับความไว้างใจ ได้รับโอกาส ผมน่ะโตมาได้จากการเริ่มที่ Businesss Relations ติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ จนไปอยู่ Non Voice แล้วต่อด้วยไปอยู่ Sales & Marketing ที่ผมถูกโยกย้ายไม่ใช่เพราะว่าผมเก่งเพราะแต่ละที่มันไม่ใช่แบ็กกราวด์ผมเลย สมัยสักสิบปีที่แล้ว เซลส์ของเอไอเอสใหญ่มากนะ มีเงินให้ใช้ปีละสามพันล้าน Media Agency มาเข้าแถวเต็มไปหมด จะช่วยใครก็ได้ แต่ด้วยความที่ผมมั่นใจว่าผมซื่อสัตย์ ไม่โกง ผมจะใช้เงินบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพ เขาก็ส่งผมไปดูมาร์เก็ตติง สามคือด้านส่วนตัว คือเราต้องมีความจริงใจ ผมเองได้รับการช่วยเหลือจากทีมงานมาก เพราะผมเป็นคนจริงใจ เวลาผมทำอะไรกับใคร ไม่ใช่ว่าทำเพราะผมเกลียดเลยออกกติกามาฆ่าเขา แต่เราอธิบาย ฉะนั้น 3 อย่างนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ใช่แค่ซีอีโอนะ แต่คนทำงานทุกคนผมอยากให้มี
จำเป็นไหมที่ผู้บริหารต้องมีชีวิตส่วนตัว ดูหนัง ฟังเพลง ก้าวให้ทันโลก เอามาปรับใช้กับองค์กร
ผมว่าเรื่องชีวิตคนเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล อะไรก็ได้ที่เขามีความสุขน่ะทำไปเถอะ แต่การมีความสุขของเขา มันต้องอยู่บนความรับผิดชอบกับสิ่งที่เขาทำด้วย ผมยกตัวอย่าง ผมเป็นซีอีโอ ผมอยากจะมีชีวิตทำงานอาทิตย์ละ 3 วันก็พอ แล้วที่เหลือผมไปทำอย่างที่อยากทำ ก็ทำได้นะ ถ้าทำงาน 3 วันของเขา มันทำให้บริษัทเจริญเติบโตได้ ผมไม่ติดใจ แต่ถ้าเขาบอกว่า เขาจะใช้ชีวิตแบบนี้ แต่ล้มเหลวในเรื่องงานที่รับผิดชอบมา แบบนี้ไม่ได้ สำหรับผมคือ ถ้าเขาทำงานหนัก แล้วมีชีวิตส่วนตัวนิดเดียว แต่มีความสุข ผมก็ถือว่า Work Life Balance ได้แล้ว หรือเขาทำงานนิดเดียว แต่เขาทำให้งานสำเร็จ นี่เขาก็ Work Life Balance ได้ ผมเป็นคนต่อต้านทฤษฎีสามส่วน 8 ชั่วโมง ทำงาน 8 ชั่วโมง อยู่กับสังคมครอบครัว 8 ชั่วโมง ไว้พักผ่อน ออกกำลังกาย ผมไม่เชื่อ คุณจะทำอะไรกี่ชั่วโมงก็แล้วแต่ แต่คุณทำแล้วมีความสุข ทำในสิ่งที่คุณต้องรับผิดชอบน่ะไม่ผิด คุณทำได้เลย อย่างผมนี่คนชอบบอกว่า ผมบ้างาน ออกจากบ้านเจ็ดโมงเช้า กลับบ้านห้าทุ่ม แต่จริงๆ ผมพักผ่อนตลอดเวลานะ ผมไปคุยกับคน มาให้สัมภาษณ์ ผมก็พักผ่อน
ผมไม่เชื่อว่า เด็กรุ่นใหม่ขี้เกียจหรือทำงานไม่หนัก แต่เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้อยู่ในระบบ เพราะเขาต้องการหาตัวเองให้เจอว่าเขาชอบอะไร แล้วจะบ้าคลั่งทำเลย องค์กรจะต้องเป็นองค์กรที่เปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามา เพื่อจะให้เขาได้ใช้ความรู้ความสามารถของเขา วันนี้เอไอเอสต้องเปลี่ยน
โดยส่วนตัวคุณสมชัยใช้มือถือที่สอดรับกับโลกยุคดิจิทัลอย่างไร
ผมเสียเวลากับมันมากเลย และผมพยายามจะลดเพราะเพิ่งมาตระหนักว่า ผมใช้มือถือวันละ 3-4 ชั่วโมง แต่ก็ไม่เสียเวลากับเรื่องไร้สาระเลยนะ คือดู 2-3 อย่าง อย่างแรก ผมดูเฟซบุ๊กเป็นหลัก ก็ต้องยอมรับว่าดูเพื่อติดตามข่าวสารทั่วไป ผมไม่เคยดูออเจ้าเลย ผมรู้จักออเจ้าทางเฟซบุ๊ก หรืออย่างข่าวฮอตๆ เอยอะไรเอย มันมาจากเฟซบุ๊กทั้งหมด เราไม่เคยตกข่าว อันที่สองคือ ยูทูบ ผมอยากดูอะไร ผมหาดูจากสื่อนี้ได้หมด มันยิ่งกว่ากูเกิลอีกนะครับ เดี๋ยวนี้มี หมดเลย แล้วออกมาเป็นวิดีโอให้ดู ยกตัวอย่างผมอยากดูเรื่องพลังงานทดแทน ก็พิมพ์เข้าไปที่ยูทูบ มันออกมาเป็นวิดีโอให้ดูเลย กลายเป็นแหล่งความรู้มหาศาล อีกอันหนึ่งคือ ไลน์ ซึ่งเราใช้ติดต่อ แต่ไม่เกี่ยวกับเรื่องงานมาก ผมมีกรุ๊ปไลน์ 30 กรุ๊ป ส่วนใหญ่จะ “Good Morning!” “สวัสดีค่ะ” ผมว่า ส่วนที่ดีของไลน์คือ มันทำให้เราได้เจอเพื่อนเก่าๆ ที่หายไป ถ้าถามผมนะ ผมติดตามข่าวสารจากเฟซบุ๊ก ผมสร้างความรู้จากยูทูบและกูเกิล สุดท้ายผมใช้ไลน์ในการสื่อสารแบบเด็กๆ
ทัศนะของคุณสมชัยในการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อย่างเรื่องเอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ คือ “ไม่ต้องกลัว เราต้องรู้จักและใช้มันให้เป็น” ที่ผ่านมาในการทำงาน มีอะไรที่กลัวไหม
ที่กลัวอย่างเดียวคือ การที่คนเราปรับตัวไม่ทัน นี่คือสิ่งที่ผมกลัวมากเลย เพราะเทคโนโลยีมันมาเร็วแล้วมันเปลี่ยนแปลงเร็วโดยที่เรานึกไม่ถึง แม้คนของเราจะบอกว่า “เราพร้อม ไม่ต่อต้าน” แต่ถ้าหากปรับตัวไม่ทันมันจะแย่ เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ เราอยากเปลี่ยน ใจอยากไป แต่ขีดความสามารถไม่มี ก็แย่ เวลาที่ผมไปพูดคุยและชี้ให้เห็นว่า สิ่งนี้จะมาแน่ เราควรจะกังวล แต่อย่าไปกลัว ต้องมองว่า มันคือโอกาส คือความท้าทาย ถ้าเราศึกษาให้ดี ผมเปรียบมันเหมือนมีดน่ะครับ มีดเป็นอาวุธแทงคนตายได้ แต่มีดก็เป็นอุปกรณ์ที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ได้สารพัด ถ้าเรารู้จักใช้มันให้เป็นประโยชน์ มันก็จะโอเค แต่ถ้าเราเอามีดมาตั้ง แล้วปล่อยให้คมของมีดมาแทงเรา หรือให้คนอื่นหยิบมาแทงเรา นั่นก็จะเป็นปัญหา ผมมองเทคโนโลยีพวกนี้คือ โอกาส โดยเฉพาะโอกาสของรายเล็ก ผมพูดในฐานะรายใหญ่ ในอดีตถ้าไม่มีดิจิทัลเกิดขึ้นมา คุณไม่มีทางทำลายรายใหญ่ได้เลย รายใหญ่จะแข็งแรงมาก แต่วันนี้พอมีดิจิทัลรายเล็กๆ มีโอกาสมาสู้กับรายใหญ่ได้ และรายใหญ่ก็ต้องปรับตัว
ใน 3 ปีข้างหน้า ที่คุณสมชัยกุมบังเหียน คุณสมชัยวางแผนอย่างไรที่จะทำให้เอไอเอสเป็นผู้สร้าง disruption และไม่ถูกโลกยุคนี้ disrupt
ผมอยากจะทำให้เอไอเอสเป็น Major Player หรือผู้เล่นหลักในตลาดฟิกซ์ไฟเบอร์ในอีก 3 ปีข้างหน้า ตอนนั้นเราจะไม่เป็น Baby Doll ทุกบ้านจะมีไฟเบอร์ของเรา สมมติว่า ในตลาดมีผู้เล่นอยู่ 3 ราย เราก็จะเป็นหนึ่งในสามของตลาดคือ ครองตลาด 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ถ้าตลาดมี 4 ราย เราก็จะครองส่วนแบ่ง 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ แล้วดิจิทัล แพลตฟอร์มที่ผมทำไว้จะต้องสร้างรายได้ให้เราคือ รายได้ของเอไอเอสหรือเทเลคอมทั่วโลก มาจากการใช้ voice และ data เท่านั้นเอง ถึงแม้วันนี้ voice จะลดลง แต่ data ก็โตขึ้น สำหรับผมนี่คือ Core Business ของเรา แต่พวกนี้จะไม่มีการเติบโตมาก แค่นิดๆ หน่อยๆ แต่รายได้ที่เติบโตจริงๆ มาจากอุตสาหกรรม เช่น วันนี้เราเอา HBO เข้ามา เอา Netflix เข้ามา ตรงนี้เรายังไม่เห็นว่าจะสร้างรายได้ให้เราเท่าไร แต่ตลาดตรงนี้จะโตและมีศักยภาพขึ้น Mobile Money ที่เราทำไว้ อีกหน่อยธุรกรรมการเงินมา เราก็จะกินฟรีกับตรงนี้ ถ้าวันใดที่ผมทำสำเร็จ หมายความว่า เอไอเอสจะมีช่องทางสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีก นอกเหนือจากพวก voice, data และ infrastructure เพราะฉะนั้นในอีก 3 ปี ผมอยากให้สิ่งที่เราลงทุนอยู่ในตอนนี้คือ ฮาร์ดแวร์สร้างรายได้มากกว่าโมบายล์ที่เราทำอยู่ เพราะว่า รายได้จากโมบายล์โตขึ้นเล็กๆ น้อยๆ 4-5 เปอร์เซ็นต์ อีกแกนหนึ่งคือ แกนซอฟต์แวร์ ผมต้องสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาให้ได้ ผมสร้างทีมงานที่กระฉับกระเฉง สร้างทีมงานที่จะเป็นหลักให้องค์กร แล้วจังหวะดีมาก เพราะอีก 3 ปี คนรุ่นพี่ๆ จะเกษียณกันหมด จะมีเด็กรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมา เราต้องสร้างฐานตรงนี้ให้แข็งแรง เพราะผมเชื่อว่า องค์กรเทคโนโลยีเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ และต้องย้ำว่า คนรุ่นใหม่ไม่เกี่ยวกับอายุนะ คนรุ่นใหม่คือ คนที่มีหัวคิดใหม่ๆ และยอมปรับตัวเอง นี่คือสิ่งที่ผมฝันสำหรับเอไอเอส
SOMCHAI LERTSUTIWONG
ซีอีโอประสบการณ์สูงแห่ง AIS บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของไทย กล่าวได้ว่า เขาเป็นคนไทยรุ่นแรกๆ ที่ตื่นตัวและพูดถึงปรากฏการณ์ Digital Disruption ในวันที่หลายคนยังไม่รู้จักการทำลายล้างสายพันธุ์ใหม่นี้