×

BDMS – เยี่ยมชมโรงพยาบาลในชลบุรี ซึ่งมีความต้องการใช้บริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้น

02.07.2024
  • LOADING...

เกิดอะไรขึ้น:

 

บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) จัดกิจกรรมเยี่ยมชมเครือข่ายโรงพยาบาลของบริษัทในจังหวัดชลบุรี พื้นที่ EEC (ชลบุรี, ระยอง และฉะเชิงเทรา) ซึ่งความต้องการใช้บริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นนั้น อยู่ในความสนใจของผู้ประกอบการทุกรายที่ต้องการขยายจำนวนเตียง 

 

โรงพยาบาลในภาคตะวันออกของประเทศไทยคิดเป็น ~15% ของรายได้รวมของ BDMS โดยส่วนใหญ่เกิดจากโรงพยาบาลในจังหวัดชลบุรี BDMS มีเครือข่ายโรงพยาบาลที่แข็งแกร่งในจังหวัดชลบุรี โดยบริษัทมีการดำเนินงานโรงพยาบาล 7 แห่ง จำนวนเตียง 1,194 เตียง คาดว่าคิดเป็น 25% ของจำนวนเตียงโรงพยาบาลทั้งหมดในจังหวัดชลบุรี

 

InnovestX Research มองว่า เครือข่ายโรงพยาบาลที่แข็งแกร่งในจังหวัดชลบุรีของ BDMS ซึ่งครอบคลุมกลุ่มผู้ป่วยในวงกว้างและให้บริการทางการแพทย์ครบวงจร ถือเป็นความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่น

 

โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา (300 เตียง) เป็นศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence) ที่ให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทาง, โรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา (234 เตียง) และโรงพยาบาลสมิติเวชชลบุรี (187 เตียง) มุ่งเป้าไปที่ผู้มีรายได้ปานกลางและผู้ป่วยชาวต่างชาติ โดยเฉพาะโรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้ป่วยชาวญี่ปุ่น 

 

โรงพยาบาลภายใต้แบรนด์พญาไทและโรงพยาบาลจอมเทียน (60 เตียง) มุ่งเป้าไปที่ผู้ป่วยภายใต้โครงการประกันสังคม (SC) โรงพยาบาลหลักภายใต้แบรนด์พญาไทคือ โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา (257 เตียง) ให้บริการผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมจำนวน 211,052 คน และคาดว่าจำนวนผู้ป่วยประกันตนในระบบสังคมจะเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 คน 

 

โดยได้แรงหนุนจากการได้โควตาประกันสังคมเพิ่มจากการขยายเครือข่ายที่โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา 2 (113 เตียง เปิดให้บริการในเดือนมีนาคม 2567) และโรงพยาบาลพญาไทบ่อวิน (220 เตียง คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2568)

 

ทั้งนี้ ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อความต้องการใช้บริการทางการแพทย์ในพื้นที่ EEC และไม่คิดว่าจะเกิดการแข่งขันที่รุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากอุปทานเตียงในพื้นที่ EEC มีน้อย โดยพื้นที่ EEC มีจำนวนประชากรที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ~3 ล้านคน (ข้อมูลปี 2564) 

 

อย่างไรก็ดี หากรวมผู้พักอาศัยซึ่งรวมถึงคนงานในนิคมอุตสาหกรรมจะมีจำนวน ~4 ล้านคน และรัฐบาลคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวสู่ ~8 ล้านคนในปี 2580 ข้อมูลที่รวบรวมแสดงให้เห็นว่าในพื้นที่ EEC มีจำนวนเตียงโรงพยาบาล ~8,000 เตียงในปี 2564 (59% ในชลบุรี, 22% ในระยอง และ 19% ในฉะเชิงเทรา) 

 

โดยส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งคิดเป็น 69% ของจำนวนเตียงทั้งหมด และมีโรงพยาบาลเอกชนเพียง 31% ตัวเลขดังกล่าวคิดเป็นจำนวนเตียง 2.6 เตียงต่อประชากร 1,000 คน แต่จะลดลงสู่ 2.0 เตียงเมื่อรวมผู้พักอาศัยที่ประเมินได้ที่ 4 ล้านคนเข้ามา และ 1.0 เตียงเมื่ออ้างอิงผู้พักอาศัยที่จะเพิ่มเป็น 8 ล้านคนในปี 2580 ซึ่งอัตราส่วนเตียงต่อประชากร 1,000 คนนั้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทยที่ 2.6 เตียง และกรุงเทพฯ ที่ 5.3 เตียง ค่อนข้างมาก ซึ่งบ่งชี้ว่าอุปทานเตียงในพื้นที่ EEC อยู่ในระดับต่ำ 

 

กระทบอย่างไร:

 

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น BDMS ปรับลง 3.70% สู่ระดับ 26.00 บาทต่อหุ้น ขณะที่ SET Index ปรับลง 3.44% สู่ระดับ 1,299.35 จุด 

 

กลยุทธ์การลงทุนและคำแนะนำ:

 

InnovestX Research คงคำแนะนำ Tactical Call ระยะ 3 เดือน สำหรับ BDMS ไว้ที่ Outperform โดยให้ราคาเป้าหมายสิ้นปี 2567 อ้างอิงวิธี DCF ที่ 36 บาทต่อหุ้น และ BDMS เป็นหนึ่งในหุ้นเด่นในกลุ่มการแพทย์

 

สำหรับผลประกอบการระยะสั้น คาดว่ากำไรปกติ 2Q67 จะเติบโต YoY โดยได้แรงหนุนจากการเติบโตของรายได้และมาร์จิ้นที่ขยายตัว แต่จะลดลง QoQ จากปัจจัยฤดูกาล

 

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือความกังวลหลักของผู้บริหาร คือความพร้อมของบุคลากร อย่างไรก็ดี ผู้บริหารเชื่อว่ากลยุทธ์ของบริษัทผ่านทางค่าตอบแทนที่แข่งขันได้ และการสร้างความผูกพันต่อองค์กรจะช่วยลดผลกระทบจากการขาดแคลนบุคลากรโรงพยาบาลได้ 

 

ปัจจัยเสี่ยงด้าน ESG คือ ความปลอดภัยของผู้ป่วย (S) ซึ่ง BDMS ได้นำเอาระบบบริหารคุณภาพต่างๆ มาใช้สำหรับกระบวนการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X