ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนกลับมาฟื้นตัว หลังโควิดซา-ต่างชาติแห่รักษาโรคซับซ้อน ‘BDMS’ ทุ่ม 1.5 พันล้านบาท จับมือ Health Tech Start-up ลงทุนนวัตกรรม นำ AI – แพลตฟอร์มบริการทางการแพทย์ครบวงจร เสริมทัพทีมบุคลากร
พัชรินทร์ บุญยะรังสรรค์ ผู้ช่วยประธานฝ่ายนวัตกรรมองค์กรยั่งยืน บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ฉายภาพว่า หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย มีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนกลับมาฟื้นตัวกว่า 100% แต่อีกด้านยังต้องเผชิญกับความท้าทายของการขาดแคลนบุคลากร ทั้งแพทย์ พยาบาล ผู้ให้บริการต่างๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- BDMS – กำไรมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นใน 4Q65
- หุ้นกลุ่มการแพทย์ – เติบโตในระดับปกติอย่างแข็งแรงในปี 2566
- ตลท. ขยายกรอบ ‘Ceiling & Floor’ ใหม่ให้สอดคล้องกับตลาดหุ้นนอก พร้อมประกาศเพิ่มเครื่องหมาย P เตือนหุ้นที่ซื้อขายผิดปกติ เริ่มมีผลใช้ใน 1Q66
เช่นเดียวกับ BDMS ปัจจุบันลูกค้ามีทั้งคนไทยและต่างชาติ ปัจจุบันการขยายตัวของผู้ป่วยต่างชาติเข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลในไทยมีเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ส่วนใหญ่เข้ามารักษาโรคซับซ้อน เช่น หัวใจ มะเร็ง และกระดูก ส่วนใหญ่ต่างชาติมองว่าโรงพยาบาลในไทยมีบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานระดับสากล รวมถึงมีอัตราค่ารักษาที่อยู่ในระดับมาตรฐาน ทำให้สามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่าย
หากย้อนกลับไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้มองหานวัตกรรมใหม่ๆ ทางการแพทย์เข้ามาช่วยพัฒนาการบริการด้านสุขภาพ และเพื่อรองรับการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ต้องนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยขับเคลื่อนองค์กร จึงทุ่มงบ 1.5 พันล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนด้านนวัตกรรมในระหว่างปี 2566-2567 เริ่มตั้งแต่การเข้าไปร่วมมือกับสตาร์ทอัพ พัฒนาแอปพลิเคชัน Ooca (อูก้า) เปิดให้คนที่มีภาวะเครียดจากการใช้ชีวิตเข้ามาปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาผ่านช่องทางออนไลน์ หลังจากนั้นจะถูกวินิจฉัยและส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาลในเครือ
นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดตัวการตรวจแมมโมแกรมในการตรวจมะเร็งเต้านม ผ่านการใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ในการอ่านผลเอ็กซเรย์ช่วยนักรังสีการแพทย์ รวมถึงการนำ Mineed เข็มปักใต้ผิวหนังเพื่อส่งผ่านยาโดยที่เข็มละลายได้ เพื่อใช้ในวงการเสริมความงาม โบท็อกซ์ ยาชาใต้ผิวหนัง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ก่อนจะจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ต่อไป
ขณะเดียวกัน ในไตรมาส 3/66 BDMS เตรียมเปิดตัวแอป BeDee โดยเปิดให้ใช้งานเริ่มตั้งแต่การนัดพบแพทย์ พบเภสัชกร สั่งยา หาสินค้าเวชภัณฑ์ และหาข้อมูลสุขภาพ สำหรับแอปดังกล่าวถือว่าเป็น Ecosystem Platform เกิดขึ้นจากความร่วมมือกับสตาร์ทอัพที่ชื่อว่า CARIVA ที่อยู่ภายใต้บริษัท ปตท.สผ. ปัจจุบันอยู่ระหว่างทดลองใช้งาน ซึ่งมีแพทย์อยู่ในระบบกว่า 200 ราย และเตรียมจะเพิ่มเป็น 500 ราย ซึ่งถือเป็นการให้บริการอย่างครบวงจรและตอบโจทย์ตลาดเฮลท์แคร์ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พัชรินทร์กล่าวต่อไปว่า จะเห็นว่าทุกอย่างเราเข้าไปร่วมมือกับสตาร์ทอัพในกลุ่ม Health Tech ถือว่าสอดคล้องกับทิศทางของ BDMS ที่ต้องการผลักดันให้สตาร์ทอัพไทยเติบโตได้ในระยะยาว โดยมีเป้าหมายปั้น Thai Health Tech เป็นยูนิคอร์น หรือมีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ในอนาคต
ขณะเดียวกัน BDMS ยังได้นำร่องให้ความสำคัญของการเติบโตอย่างยั่งยืน เริ่มตั้งแต่การบริหารจัดการขยะในโรงพยาบาล และติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อลดต้นทุนพลังงาน