หุ้นธนาคารของไทยกลับมาบวกแรงยกแผงทันที หลังหุ้นธนาคารในสหรัฐฯ เริ่มกลับมาฟื้นตัวด้วยราคาที่ Laggard จากกลุ่มอื่นๆ เพียงแต่ BBL ยังมีสิ่งที่น่าสนใจมากกว่ากลุ่มอยู่มาก ทั้งดีล ‘Permata’ ที่ซื้อได้ถูกกว่าราคาประเมินก่อนหน้า ฐานะการเงินแกร่งที่สุดในกลุ่ม และสัดส่วนลูกค้าภาคธุรกิจที่มากกว่า ทำให้ได้ประโยชน์ในช่วงที่ตราสารหนี้ไม่ได้รับความนิยม
BBL ฟื้นแรง หลังกลุ่มแบงก์ Laggard มานาน
วันนี้ราคาหุ้นธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดตลาดกระโดดแรง ทำจุดสูงสุดรอบเช้าที่ 109 บาท ทำนิวไฮในรอบ 1 เดือน ก่อนปิดตลาดรอบเช้าไปที่ 108 บาท เพิ่มขึ้น 5.50 บาท หรือ +5.37% ปริมาณหุ้นที่ซื้อขายเพิ่มขึ้น 168.65% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 วันทำการก่อนหน้า ซึ่งก็เป็นไปตามกลุ่มธนาคารของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวเช่นกัน ตอบรับข่าวดีการทยอยคลายมาตรการล็อกดาวน์ที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้อีกประเด็นที่ถูกนำมาเก็งกำไรกันก็คือกลุ่มธนาคารยังเป็นหุ้นที่ราคาต่ำกว่าพื้นฐาน (Undervalued) และปรับตัวขึ้นมาได้ช้ากว่ากลุ่ม (Laggard) มาก เมื่อเทียบกับการฟื้นตัวของหุ้นกลุ่มอื่นๆ โดยราคาปิดของ BBL วานนี้มี P/BV อยู่ที่ 0.47 เท่า ต่ำกว่าช่วงเกิดวิกฤตในอดีตที่เฉลี่ย 0.65 เท่าอีกด้วย
แต่ BBL มีความน่าสนใจมากกว่ากลุ่ม
แม้ราคาหุ้น BBL จะฟื้นขึ้นมาได้ใกล้เคียงกับกลุ่ม แต่ก็มีประเด็นบวกเฉพาะตัวที่มากกว่าหุ้นธนาคารตัวอื่นๆ
ประเด็นแรก การเข้าซื้อธนาคารเพอร์มาตาธนาคารของอินโดนีเซียได้ถูกกว่าตอนแรก: บล.เอเอสแอล ระบุว่าปัจจุบันได้โอนชำระค่าหลักทรัพย์แล้วตามมูลค่าประเมินที่ตกลงร่วมกันที่ 1.63 เท่าของมูลค่าตามบัญชีของ Permata ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 เป็นเงิน 73,722 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 1.65-1.70 เท่า ทั้งนี้ BBL มีแผนจัดทำคำขอเสนอซื้อหุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมดของธนาคารเพอร์มาตาอีก 10.88% ขณะที่ บล.เคทีบี ระบุว่าทำให้ BBL ประหยัดเงินให้การเข้าซื้อดีลนี้ได้ 7 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 3.7 บาทต่อหุ้น
ประเด็นที่สอง BBL มีสัดส่วนสินเชื่อภาคธุรกิจสูง ได้ประโยชน์จากตราสารหนี้ไม่ได้รับความนิยม: บล.หยวนต้า ระบุว่า BBL มีจุดเด่นคือมีสัดส่วนสินเชื่อภาคธุรกิจสูงถึง 43% ของพอร์ต และยังเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับหลายบริษัท ดังนั้น BBL จะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดในกลุ่มจากภาคธุรกิจที่หันมาใช้สินเชื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงที่เกิดปัญหาในตลาดตราสารหนี้มากขึ้น
ประเด็นที่สาม ฐานะทางการเงินแกร่งที่สุดในกลุ่ม: บล.หยวนต้า ระบุว่าจากการเร่งตั้งสำรองมาหลายปี ปัจจุบัน BBL มี Coverage Ratio อยู่ที่ 204% นับว่ามีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มอีกด้วย
ไตรมาส 2/2562 ไม่ดี – ทั้งปีไม่แจ่ม แต่เทียบราคาหุ้นแล้วคุ้ม!
บล.เอเอสแอล ระบุว่า BBL เป็นหนึ่งในหุ้นกลุ่มธนาคารที่มีความ Laggard ตลาดค่อนข้างมาก โดยปัจจุบันเทรดบน P/BV กันแค่ 0.45 เท่า ถือว่า Valuation น่าสนใจ แม้ว่าด้านปัจจัยพื้นฐานยังไม่โดดเด่น เพราะยังถือว่าได้ผลลบจากวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาลงในปัจจุบัน
คาดว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 2/2563 จะอ่อนตัวทั้ง QoQ และ YoY เนื่องจาก BBL มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR, MLR และ MRR ลง 40 bps ในเดือนเมษายนคาดว่าจะขยายตัวได้ โดยเฉพาะสินเชื่อขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ ส่วนในแง่ของคุณภาพสินทรัพย์ คาดว่า NPL ใหม่จะเกิดขึ้นได้น้อยลงจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ส่วนการตั้ง ECL คาดว่าจะยังทรงตัว QoQ ที่ระดับ 5 พันล้านบาท มีการตั้งสำรองค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม และอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในภาวะขาลง ทำให้กดดัน NIM ให้ลดลง จึงยังคงประมาณการเดิมที่กำไรสุทธิปี 2563 เท่ากับ 3.14 หมื่นล้านบาท หดตัว 12%YoY แต่ในแง่ของ Valuation ค่อนข้างถูก เหมาะแก่การซื้อสะสมในระยะยาว
แนะนำ ‘ซื้อสะสม’ ที่ราคาเป้าหมาย 129 บาท อิง PBV 0.5 เท่า ใกล้เคียงค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง -2.25 S.D.
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รวมงบ Permata ที่จะรับรู้ครึ่งหลังปีนี้เข้ามา
หากอ้างอิงจาก บล.เคทีบี ที่ระบุว่า Permata จะเข้ามาหนุนอัพไซด์ต่อกำไรสุทธิปีนี้ได้ราว 10% ดังนั้นจากประมาณการกำไรสุทธิของนักวิเคราะห์ที่คาดกันว่ากำไรสุทธิปีนี้จะหดตัวราวๆ 12-14% เพราะไม่ได้รวม Permata เข้ามาในประมาณการนั้น หากรวมเข้ามาจะทำให้กำไรสุทธิไม่ได้ปรับตัวลงมาก
ตัวอย่างเช่น บล.หยวนต้า เป็นโบรกเกอร์เพียงรายเดียวที่รวมการรับรู้ผลประกอบการจาก Permata เข้ามาในประมาณการ โดยคาดว่าจะมองเห็นการฟื้นตัวของผลดำเนินงานในช่วง 2H63 ตามการเริ่มรับรู้งบการเงินของ Permata เข้ามาในงบการเงินรวม ดังนั้นยังคาดว่าปี 2563 จะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 34,390 ล้านบาท หดตัวเพียง 4%YoY เท่านั้น แนะนำ ‘ซื้อ’ ราคาเหมาะสม 150 บาท
ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์