×

BBIK ชูโมเดล Venture Builder สร้างการเติบโตระยะยาว รับมือการแข่งขันในอนาคต โชว์ไตรมาสแรกกำไรเพิ่ม 127%

11.05.2022
  • LOADING...
BBIK

‘BBIK’ ชูโมเดล Venture Builder สร้างการเติบโตระยะยาว หลังร่วมมือ ‘OR’ ปั้นออร์บิท ดิจิทัล (ORBIT Digital) จนประสบความสำเร็จ ระบุเป็นโมเดลธุรกิจที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้องค์กร รองรับการแข่งขันในอนาคต 

 

บมจ.บลูบิค กรุ๊ป หรือ BBIK ซึ่งดำเนินธุรกิจที่ปรึกษาด้านกลุยทธ์ และการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 ด้วยราคา IPO ที่ 18 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO ที่ 1,800 ล้านบาท 

 

ขณะที่ราคาหุ้น ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 อยู่ที่ 58 บาท คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ 5,800 ล้านบาท หรือคิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 222% จากช่วง IPO โดยราคาหุ้น BBIK เคยปรับขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 90 บาท 

 

พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บลูบิค กรุ๊ป หรือ BBIK เปิดเผยกลยุทธ์การเติบโตขององค์กรว่า จากนี้ BBIK จะเน้นโมเดล Venture Builder มากขึ้น หลังจากที่ความร่วมมือระหว่าง BBIK และ OR ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนที่ชื่อว่า ออร์บิท ดิจิทัล หรือ ORBIT Digital ประสบความสำเร็จ และสามารถใช้เป็น Sandbox สำหรับโปรเจ็กต์สร้างบริษัทร่วมทุนต่อไปได้ 

 

โดยบริษัท ออร์บิท ดิจิทัล (ORBIT Digital) เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง BBIK (ถือหุ้น 60%) และ OR (ถือหุ้น 40%) จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 เพื่อดำเนินธุรกิจพัฒนาและผลักดันโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลและเทคโนโลยีของ OR ทั้งหมดเพื่อปูทางให้ OR เป็นผู้นำด้าน Digital Mobility & Lifestyle ชั้นนำของประเทศ

 

“ออร์บิท ดิจิทัล เป็นโมเดล Venture Builder แรกของบริษัท ซึ่งประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก ใช้เวลาไม่ถึงปีก็สามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัท โดย BBIK จะเริ่มรับรู้รายได้จากออร์บิทในไตรมาส 1/65 เมื่อเรามีออร์บิทเป็น Sandbox แล้ว เราก็เริ่มมองหาการสร้างเวนเจอร์บริษัทต่อๆ ไป อย่างไรก็ตาม ในการสร้างเวนเจอร์หรือบริษัทร่วมทุนนั้นต้องใช้ความพยายามและกำลังพลค่อนข้างมาก ทำให้โมเดลนี้เกิดได้เพียงปีละ 1 ดีลเท่านั้น” พชรกล่าว 

 

พชรกล่าวว่า โมเดล Venture Builder ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กร และสร้างการเติบโตได้ระยะยาวได้เนื่องจาก BBIK มีฐานธุรกิจเดิมที่เอื้อให้เกิดการต่อยอดกับพันธมิตรและคู่ค้า โดยธุรกิจหลักของ BBIK ประกอบด้วย 

 

  1. ธุรกิจการให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการ (Management Consulting: MC)  

 

  1. ธุรกิจการบริหารโครงการเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic PMO: PMO) 

 

  1. ธุรกิจการพัฒนาระบบดิจิทัลและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี (Digital Excellence and Delivery: DX)  

 

  1. ธุรกิจการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ข้อมูลชั้นสูงด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Big Data, Advanced Analytics and Artificial Intelligence: AI)

 

นอกจากนี้ การมีทีมที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ที่แข็งแกร่ง นับเป็นอีกจุดแข็งสำคัญที่ทำให้โมเดล Venture Builder มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง 

 

พชรกล่าวว่า นอกจากโมเดล Venture Builder แล้ว บริษัทยังมุ่งเน้นสร้างการเติบโตด้วยการเข้าซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) ด้วย โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีดีล M&A แล้ว 2 ดีล คือ 

 

  1. ​​เข้าซื้อหุ้น บริษัท จีเอ็มวีพาย จำกัด (GMVPI) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านระบบ SAP ครบวงจร ในสัดส่วน 80% จากผู้ถือหุ้นเดิม การลงทุนครั้งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพและขยายขอบเขตการให้บริการที่ปรึกษาระบบ Enterprise Resource Planning หรือ ERP ไปยังกลุ่มลูกค้าที่ใช้ SAP ในการบริหารจัดการองค์กร หวังเพิ่มแต้มต่อในการแข่งขันสู่การเป็นที่ปรึกษาชั้นนำระดับภูมิภาค

 

  1. เข้าซื้อหุ้น บริษัท ไอที-แคท จำกัด หรือ IT-CAT ในสัดส่วน 40% จากผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และโซลูชันด้านทรัพยากรบุคคลบนระบบคลาวด์ (HR Cloud Solution) ภายใต้ชื่อ HumanOS ที่พัฒนาโดยไอที-แคท

 

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้จากดีลแรกในปลายไตรมาส 1/65 ส่วนดีลที่สอง น่าจะแล้วเสร็จในครึ่งปีแรกหลังจากลงนามร่วมกันเดือนเมษายนที่ผ่านมา และจะเริ่มรับรู้รายได้ในครึ่งปีหลัง 

 

มอง Digital Transformation เป็นเทรนด์หลักระยะยาว

พชรกล่าวว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดจะเริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้ผู้คนและสังคมสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติเหมือนก่อนเกิดโรคระบาด แต่ BBIK เชื่อว่า Digital Transformation จะเป็นกระแสหลักในประเทศในระยะยาว โดยปัจจุบัน ถือเป็นระยะการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่สำคัญของประเทศ สังเกตได้จากการปรับตัวของภาคการธนาคารที่พากันปรับธุรกิจเข้าสู่กระแสดิจิทัล ซึ่งภาคการธนาคารเป็นภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคจำนวนมากและครอบคลุมทุกกลุ่ม 

 

ดังนั้นจึงเชื่อมั่นว่า BBIK จะสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้ตามที่วางเป้าหมายไว้ ทั้งนี้ บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตของผลประกอบการปี 2565 จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% 

 

ตลาดรวมยังโต แต่กำลังพลขาดแคลน 

พชรกล่าวว่า ในด้านการแข่งขันของตลาด Digital Transformation Consultant ในประเทศไทยยังไม่รุนแรง และยังอยู่ในจุดที่มีความต้องการของภาคธุรกิจในการ Transform องค์กรอยู่อีกมาก 

 

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมมีการแข่งขันกันในด้านบุคลากรที่ขาดแคลนเป็นอย่างมาก ซึ่ง BBIK บริหารจัดการด้วยการจับมือกับพันธมิตรประเทศอินเดียจัดตั้งบริษัทลูกที่อินเดีย เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการผลิตบุคลากรด้านดิจิทัลเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูง 

 

“การไปตั้งบริษัทลูกที่อินเดีย เป็นการบุกทั้งมุมของการหาลูกค้าและการหาบุคลากรที่มีคุณภาพสูงเข้ามา เพราะถ้าไม่หาบุคลากรคุณภาพใหม่ๆ เข้ามาเสริมทีม คนทำงานก็จะไม่พอ” พชรกล่าว

 

ทั้งนี้ จากการตั้งบริษัทลูกที่อินเดียและเริ่มเปิดตลาดลูกค้าต่างประเทศ จะทำให้รายได้จากต่างประเทศในปี 2565 เพิ่มขึ้นอย่างมาก จากปี 2564 ที่มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศคิดเป็น 14% ของรายได้รวม 

 

พชรกล่าวเพิ่มว่า ท้ายที่สุดแล้วเมื่อตลาดมีการเติบโตขึ้น การแข่งขันก็จะรุนแรงขึ้นในที่สุด และจะส่งให้มีผู้ประกอบการที่กลายเป็นผู้ให้บริการพื้นฐาน เหมือนเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างทั่วไป ซึ่งจะขาดความพรีเมียม ซึ่ง BBIK ได้วางกลยุทธ์รับมือกับแนวโน้มดังกล่าวไว้แล้วด้วยโมเดล Venture Builder

 

ไตรมาส 1/65 กำไรเพิ่มขึ้น 127% 

BBIK รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/65 มีกำไรสุทธิ 28.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 127% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีกำไรสุทธิ 12.34 ล้านบาท สาเหตุหลักเกิดจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากกระแสการทำ Digital Transformation ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายปรับตัวลดลง

 

ในไตรมาส 1/65 BBIK มีรายได้รวม 111.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าจำนวน 61.56 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 124% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกระแสการทำ Digital Transformation ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการให้บริการที่ครบวงจรของบริษัทสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี โดยบริการให้คำปรึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีให้กับองค์กร (DX) ยังคงเป็นบริการหลักในการผลักดันรายได้ให้เติบโต

 

นอกจากนี้ ยังคงมีความเติบโตในส่วนของงานให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการ (MC) รวมถึงงานการบริหารจัดการโครงการเชิงยุทธศาสตร์ (PMO) จากการที่บริษัทต่างๆ เริ่มกลับสู่การดำเนินงานตามปกติ

 

ขณะที่ธุรกิจการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ข้อมูลชั้นสูงด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีรายได้ที่ลดลงเล็กน้อย จากการอยู่ระหว่างการให้บริการงานโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและส่งมอบได้ในไตรมาส 2/65 

 

นอกจากนี้ส่วนของรายได้จากงานต่างประเทศนั้นยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 1/65 มีรายได้อยู่ที่ 23.53 ล้านบาท หรือคิดเป็น 21% ของรายได้รวม

 

ทั้งนี้ อัตรากำไรสุทธิไตรมาสที่ 1/65 อยู่ที่ 26% เพิ่มขึ้นจากอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยของปี 2564 ที่ 22% สาเหตุหลักจากความสามารถในการทำกำไรจากการให้บริการหลักทั้งหมด ประกอบกับการเพิ่มขึ้นในส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้า บริษัท ออร์บิท ดิจิทัล จำกัด จำนวน 6.60 ล้านบาท ซึ่งบริษัท ออร์บิท ดิจิทัล จำกัด มีอัตรากำไรสุทธิในไตรมาส 1/65 ที่ดีจากการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน รวมถึงการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก BOI ในไตรมาสที่ผ่านมา

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising