×

กรุงศรีฯ แนะคนมีแผนเที่ยวญี่ปุ่นทยอยซื้อเงินเยนเก็บ หลังอ่อนค่าทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 26 ปี มอง BOJ อาจยกเลิกมาตรการ YCC ในไตรมาส 4

06.07.2023
  • LOADING...
ค่าเงินเยน

กรุงศรีฯ แนะคนมีแผนเที่ยวญี่ปุ่นทยอยซื้อเงินเยนเก็บ หลังล่าสุดอ่อนค่าแตะระดับ 24 บาทต่อ 100 เยน ทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 26 ปี คาด BOJ ปรับนโยบายการเงินในไตรมาส 4 ประเมินเงินบาทผันผวนในทิศทางแข็งค่าก่อนปิดสิ้นปีที่ 33.75 บาทต่อดอลลาร์

 

รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า นับจากต้นปีที่ผ่านมา (YTD) ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นได้ปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์อยู่ที่ระดับ 143.78 เยนต่อดอลลาร์ หรืออ่อนค่าลง 10% ขณะที่เมื่อเทียบกับเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 24 บาทต่อ 100 เยน หรืออ่อนค่าลงแล้วถึง 7.4% ซึ่งเป็นระดับการอ่อนค่าหนักสุดในรอบกว่า 26 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 1997 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง

 

“เราไม่ได้เห็นเงินเยนอ่อนค่าขนาดนี้มานานมากแล้ว สำหรับคนที่มีแผนจะไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นเงินเยนที่ระดับนี้ถือเป็นระดับที่ควรทยอยซื้อเก็บ เพราะมีโอกาสที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือ BOJ จะเข้าแทรกแซงค่าเงินได้หากเยนยังอ่อนค่าเข้าใกล้ระดับ 145-146 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ BOJ เคยเข้าแทรกแซงในรอบก่อน” รุ่งกล่าว

 

รุ่งกล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินเยนหลักๆ แล้วเกิดจากการดำเนินนโยบายที่สวนทางกันระหว่าง BOJ, ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางอื่นๆ ของโลก โดยญี่ปุ่นยังคงดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับติดลบและคุมดอกเบี้ยระยะยาวเอาไว้ภายใต้มาตรการ Yield Curve Control (YCC) แม้ว่าเงินเฟ้อจะสูง ขณะที่ Fed และธนาคารกลางหลักอีกหลายแห่งยังส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

“ญี่ปุ่นมีปัญหาเงินฝืดมานับสิบปี เขาต้องการที่จะออกจากจุดนั้นทำให้เลือกที่จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายสวนกระแสโลก แต่ตลาดก็กำลังจับตาเช่นกันว่า BOJ อาจเข้าแทรกแซงค่าเงินหากมองว่าเยนอ่อนมากเกินไป โดย MUFG ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกรุงศรีฯ ประเมินว่า BOJ อาจมีการปรับมาตรการ YCC หรือยกเลิกไปเลยในไตรมาสที่ 4 ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็จะมีผลให้เงินเยนกลับมาแข็งค่า” รุ่งกล่าว

 

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้คาดการณ์ค่าเงินเยนในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ไว้ที่ระดับ 24.25 บาทต่อ 100 เยน และในช่วงไตรมาสสุดท้ายจะปรับเป็น 24.35 บาทต่อ 100 เยน ขณะที่ในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 24.63 บาทต่อ 100 เยน และจะเป็น 24.70 บาทต่อ 100 เยน ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567

 

สำหรับภาพรวมสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยของไทยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เงินบาทมีการเคลื่อนไหวในโซนอ่อนค่าเกาะกลุ่มไปกับสกุลเงินในภูมิภาค โดยนับจากต้นปีเงินบาทอ่อนค่าลง 1.07% ซึ่งเป็นระดับปานกลางเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค เช่น วอนของเกาหลีใต้ที่อ่อนค่า 2.75% หยวนของจีนที่อ่อนค่า 4.42% และริงกิตของมาเลเซียที่อ่อนค่าถึง 5.36%

 

รุ่งระบุว่า หากมองไปข้างหน้าในช่วงครึ่งปีหลังเชื่อว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยชี้นำสำคัญสำหรับค่าเงินบาท โดยมีความเป็นไปได้ที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้ง ขณะที่ยุโรปและอังกฤษจะขึ้นอีก 2 ครั้ง ก่อนจะคงดอกเบี้ยค้างไว้ในระดับสูงต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนจะถ่วงค่าเงินหยวนลง ซึ่งจะส่งผลต่อค่าเงินบาทที่มีความเชื่อมโยงหรือ Correlation กับเงินหยวนสูงที่สุดในภูมิภาคผ่านการค้าและการท่องเที่ยวเช่นกัน

 

“เรามองเงินบาทในไตรมาส 3 ไว้ที่ระดับ 34.88 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีปัจจัยการเมืองในประเทศที่ต้องติดตาม หากการจัดตั้งรัฐบาลราบรื่นก็จะส่งผลดีต่อ Sentiment เงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่ในกรณีที่มีปัญหา เงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่าไปได้ถึง 36.25 บาทต่อดอลลาร์” รุ่งกล่าว

 

อย่างไรก็ดี หากมองต่อไปในช่วงไตรมาสสุดท้ายยังเชื่อว่าเงินบาทมีแนวโน้มจะผันผวนในทิศทางแข็งค่า โดยคาดหวังระดับการซื้อขายสิ้นปี 2023 ที่ราว 33.75 บาทต่อดอลลาร์ บนสมมติฐานที่ว่าสหรัฐฯ ใกล้ยุติการขึ้นดอกเบี้ย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน รวมถึงสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่ได้แรงส่งเชิงบวกจากภาคท่องเที่ยว

 

นอกจากนี้ยังคาดว่าในช่วงดังกล่าวภาพการเมืองในประเทศจะมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งสามารถช่วยดึงดูดกระแสเงินทุนให้ไหลกลับเข้ามาในสินทรัพย์สกุลเงินบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นในนโยบายด้านเศรษฐกิจและเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ด้วย สำหรับประเด็นเรื่องความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และการเหวี่ยงตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง

 

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทย รุ่งประเมินว่า แม้ปัจจุบันเงินเฟ้อไทยจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายแล้วและไทยยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 90.6% ของ GDP แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งในอัตรา 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปีนี้จะอยู่ที่ 2.25% จากเหตุผลเรื่องความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อพื้นฐานในหมวดอาหารที่ยังมีความหนืด และการสร้างช่องว่างทางนโยบายหรือ Policy Space ไว้รองรับกรณีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising