×

Batman (1989) อีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่ยังประทับในความทรงจำ

10.06.2023
  • LOADING...
batman 1989

Batman ซูเปอร์ฮีโร่สุดไอคอนิกจาก DC Comics น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่ถูกหยิบมาดัดแปลงเป็นฉบับซีรีส์และภาพยนตร์คนแสดงอยู่หลายครั้ง รวมถึงมีนักแสดงมากฝีมือที่ตบเท้ามาสวมชุดอัศวินรัตติกาลกันมากหน้าหลายตา  

 

และหนึ่งในผลงานที่แฟนๆ หลายคนยังคงหลงรักและเป็นที่กล่าวถึงมาจนถึงปัจจุบันเห็นจะเป็นภาพยนตร์เรื่อง Batman (1989) ผลงานการกำกับของ Tim Burton ที่อัดแน่นไปด้วยเอกลักษณ์ที่ผู้ชมยังจดจำได้เป็นอย่างดี ทั้งบรรยากาศมืดหม่นของเมืองก็อตแธม, เพลงประกอบชวนติดหู, รถ Batmobile สุดเท่ ไปจนถึงการแสดงของ Michael Keaton ผู้สวมชุด Batman ที่เปี่ยมเสน่ห์ 

 

และเนื่องในโอกาสที่ Michael Keaton กำลังจะกลับมาสวมชุด Batman ที่ทุกคนคิดถึงอีกครั้งในภาพยนตร์เรื่อง The Flash ผลงานการกำกับเรื่องล่าสุดจาก Andy Muschietti THE STANDARD POP ขอพาทุกคนย้อนเวลากลับไปสำรวจเรื่องราวของ Batman ฉบับ Tim Burton ที่ก่อนจะกลายมาเป็นภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่สุดคลาสสิกที่เรารู้จัก ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องฝ่าฟันมรสุมมามากมาย

 

 

ได้รับจดหมายไม่พอใจนับหมื่น ฟุตเทจถูกขโมย และสารพัดปัญหาที่ทีมสร้างต้องรับมือ  

ก่อนหน้าที่อัศวินรัตติกาลฉบับของ Tim Burton จะได้มาโบยบินบนจอภาพยนตร์ Batman เรียกได้ว่าเป็นโปรเจกต์ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคและข้อครหามากมาย เริ่มตั้งแต่การที่สองโปรดิวเซอร์อย่าง Benjamin Melniker และ Michael E. Uslan ที่หมายมั่นปั้นมือว่าอยากจะนำหนึ่งในตัวละครสุดไอคอนิกของ DC Comics อย่าง Batman มาดัดแปลงเป็นฉบับภาพยนตร์ที่มีความจริงจังและมืดหม่น ตามวิสัยทัศน์เดิมของสองผู้ให้กำเนิด Bob Kane และ Bill Finger แต่เมื่อพวกเขานำโปรเจกต์ไปเสนอให้กับสตูดิโอหลายแห่งก็ถูกปฏิเสธกลับมาหลายครั้ง เนื่องจากสตูดิโอส่วนใหญ่อยากให้ Batman ฉบับภาพยนตร์มีความใกล้เคียงกับ Batman ฉบับซีรีส์ที่ออกฉายในปี 1966 ซึ่งมีสีสันและเข้าถึงง่ายมากกว่า ก่อนที่โปรเจกต์ดังกล่าวจะได้รับการสานต่อโดยสตูดิโอ Warner Bros. 

 

Warner Bros. ได้คว้าตัว Tim Burton ที่ ณ เวลานั้นเขายังเป็นผู้กำกับหน้าใหม่ และเพิ่งจะประสบความสำเร็จจากภาพยนตร์คอเมดี้อย่าง Pee-wee’s Big Adventure (1985) มานั่งแท่นผู้กำกับ ซึ่งแรกเริ่มเดิมที Tim Burton ไม่ได้เป็นแฟนตัวยงของคอมิกต้นฉบับเท่าไรนัก กระทั่งเขาได้อ่านผลงานคอมิกเรื่อง The Dark Knight Returns (1986) ของนักเขียน Frank Miller และ Batman: The Killing Joke (1988) ของนักเขียน Alan Moore และชื่นชอบในบรรยากาศที่มืดหม่น จริงจัง รวมถึงเรื่องราวเชิงจิตวิทยาอันเข้มข้นที่คอมิกทั้งสองเรื่องนำเสนอ Tim Burton จึงนำคอมิกทั้งสองเรื่องมาเป็นแนวทางในการกำกับ Batman ฉบับของตัวเอง 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อข่าวการมานั่งแท่นผู้กำกับของ Tim Burton ถูกเผยแพร่ออกไป ก็เริ่มเกิดกระแสตีกลับจากเหล่าแฟนๆ คอมิกบางส่วน เนื่องจากในช่วงเวลานั้นคอมิกเรื่อง The Dark Knight Returns และ Batman: The Killing Joke ที่โดดเด่นในแง่ของเนื้อเรื่องที่จริงจังและมืดหม่นกำลังได้รับความนิยมจากแฟนๆ อย่างล้นหลาม แต่ฉบับภาพยนตร์กลับได้ Tim Burton ที่โด่งดังจากภาพยนตร์แนวคอเมดี้มานั่งแท่นผู้กำกับ จึงทำให้แฟนๆ หลายคนเริ่มกังวลว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะถูกนำเสนอออกมาคล้ายคลึงกับ Batman ฉบับซีรีส์ปี 1966 

 

   

 

ไม่เพียงแค่นั้น ภายหลังจากที่สตูดิโอได้ประกาศชื่อของนักแสดงที่จะมาสวมชุดค้างคาวคนใหม่อย่าง Michael Keaton ซึ่งมีชื่อเสียงจากบทบาทของพ่อบ้านที่ต้องรับมือกับลูกๆ จอมซนในภาพยนตร์คอเมดี้เรื่อง Mr. Mom (1983) และยังเคยร่วมงานกับ Tim Burton มาแล้วในภาพยนตร์คอเมดี้สยองขวัญเรื่อง Beetlejuice (1988) ก็ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับแฟนๆ หลายคนมากขึ้นกว่าเดิม จนถึงขั้นมีแฟนๆ ส่งจดหมายมากถึง 50,000 ฉบับไปยังสตูดิโอเพื่อขอให้เปลี่ยนตัวนักแสดง 

 

อย่างไรก็ตาม Tim Burton และหนึ่งในโปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์อย่าง Jon Peters ที่ได้เห็นการแสดงอันเข้มข้นของ Michael Keaton ในภาพยนตร์ดราม่าเรื่อง Clean and Sober (1988) และชักชวนเขามาร่วมงาน ก็ยังคงมั่นใจว่าเขาคือคนที่เหมาะสมกับการรับบทเป็น Batman และยืนกรานที่จะไม่เปลี่ยนตัวนักแสดง แม้ว่าจะถูกกระแสในแง่ลบจากแฟนๆ ก็ตาม 

 

นอกเหนือจากกระแสความไม่พอใจจากแฟนๆ แล้ว Tim Burton และทีมงานเบื้องหลังยังต้องเผชิญกับปัญหาในระหว่างการพัฒนาโปรเจกต์มากมายสารพัด เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนตัวมือเขียนบทและการแก้ไขบทภาพยนตร์อยู่หลายครั้ง 

 

เหตุการณ์ของนักแสดงหญิงอย่าง Sean Young ที่ถูกวางตัวให้มารับบทเป็น Vicki Vale แต่ในช่วงก่อนการถ่ายทำเธอประสบอุบัติเหตุขณะฝึกซ้อมฉากขี่ม้า จนทำให้สตูดิโอต้องหานักแสดงคนใหม่ในช่วงเวลาที่จำกัด ก่อนที่จะได้ Kim Basinger มารับบทนี้แทน ไปจนถึงเหตุการณ์ที่ม้วนฟิล์มความยาวประมาณ 20 นาทีถูกขโมยไปขณะถ่ายทำ 

 

ท่ามกลางมรสุมมากมายที่ถาโถมเข้าใส่ แต่ผู้กำกับและทีมสร้างก็ยังคงเดินหน้ารังสรรค์เรื่องราวของอัศวินรัตติกาลต่อไป และตอนนี้เราก็เดินทางมาถึงช่วงเวลาแห่งปรากฏการณ์กันแล้ว

 

 

Batmania การโปรโมตเชิงรุกที่สร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการภาพยนตร์ 

จากกระแสในแง่ลบของแฟนๆ ที่โหมเข้าใส่ตั้งแต่ภาพยนตร์ยังไม่ออกฉาย ทาง Warner Bros. จึงต้องคิดหาวิธีโปรโมตภาพยนตร์เพื่อเรียกความมั่นใจของแฟนๆ ให้กลับมาอีกครั้ง เริ่มต้นจากการปล่อยตัวอย่างสั้นๆ ที่เผยฉากแอ็กชันไล่ล่าของ Batman และดีไซน์สุดเท่ของ Batmobile หรือบรรยากาศอันมืดครึ้ม ดูอันตรายของเมืองก็อตแธม และการปรากฏตัวของตัวร้ายอย่าง Joker ที่นำแสดงโดย Jack Nicholson เพื่อให้แฟนๆ ได้เห็นถึงมู้ดและโทนของเรื่องที่จริงจังและมืดหม่น 

 

ไม่เพียงแค่นั้น Warner Bros. ยังเดินหน้าโปรโมตเชิงรุกเพื่อให้ Batman เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากที่สุด เริ่มตั้งแต่การนำโลโก้สีดำ-เหลืองของ Batman ไปปรากฏในสถานที่และสินค้าต่างๆ ทั้งป้ายบิลบอร์ด รถสาธารณะ โฆษณาทางโทรทัศน์ ร้านหนังสือ วิดีโอเกม เสื้อยืด รองเท้า ของเล่น ขนม ไปจนถึงกล่องอาหารเช้าซีเรียล เรียกว่าได้แม้คุณจะไม่เคยรู้จัก Batman มาก่อน คุณก็จะต้องได้เห็นโลโก้ของ Batman ผ่านตาอย่างแน่นอน 

 

ซึ่งรูปแบบการโปรโมตดังกล่าวก็ได้ผลตอบรับที่ดีเกินคาด เพราะมันไม่ได้ทำให้กลุ่มแฟนๆ คอมิกที่ไม่พอใจกลับมาให้ความสนใจภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สำเร็จอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงผู้คนทั่วไปที่เห็นภาพและสินค้าต่างๆ ของ Batman ตามสถานที่ต่างๆ จนทำให้ภาพยนตร์เริ่มกลายเป็นที่สนใจของผู้ชมทั่วไปมากขึ้นอย่างกว้างขวาง แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะยังไม่ออกฉายอย่างเป็นทางการ โดยในเวลาต่อมาปรากฏการณ์ดังกล่าวถูกเรียกว่า Batmania ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการโปรโมตภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ที่สตูดิโออื่นๆ นำมาปรับใช้และต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน  

 

 

เรื่องราวของพระเอกและตัวร้ายเปี่ยมเสน่ห์ที่ยังคงประทับอยู่ในใจของผู้ชมมาจนถึงปัจจุบัน

ภายหลังจากฟันฝ่ากระแสในแง่ลบและปัญหาระหว่างถ่ายทำมามากมาย ในที่สุด Batman ก็ได้ปรากฏตัวสู่สายตาผู้ชมอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน 1989 และได้กระแสตอบรับที่ดีจากผู้ชมอย่างถล่มทลายด้วยการกวาดรายได้รวมทั่วโลกไปกว่า 411 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้าง 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

และแม้ว่าองค์ประกอบข้อหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามมาจากรูปแบบการโปรโมตที่กลายเป็นปรากฏการณ์ แต่ในท้ายที่สุดเรื่องราวเปี่ยมมนตร์ขลังของ Batman ที่ถูกถ่ายทอดผ่านวิสัยทัศน์ของ Tim Burton ก็ยังคงเป็นแกนหลักสำคัญที่สามารถเอาชนะใจผู้ชมได้อย่างอยู่หมัด และยังเป็นแรงบันดาลใจในหลายๆ ด้านให้กับภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ในยุคต่อมา 

 

เริ่มตั้งแต่การออกแบบเมืองก็อตแธมที่โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบโกธิก และบรรยากาศแบบฟิล์มนัวร์ที่ดูมืดหม่น ไม่น่าไว้วางใจ ดนตรีประกอบจากปลายปากกาของ Danny Elfman ที่ยังคงดังก้องอยู่ในหัวใจของผู้ชม การออกแบบเครื่องแต่งกายที่เปลี่ยนจากผ้าแนบเนื้อมาเป็นชุดเกราะกันกระสุนและอุปกรณ์ครบครัน ซึ่งทำให้ตัวละครดูสมจริงสมจังมากขึ้น และการรักษาความโดดเด่นของคอมิกต้นฉบับไว้ได้อย่างลงตัว 

 

 

รวมไปถึงกลวิธีนำเสนอที่เลือกให้ตัวร้ายหลักอย่าง Joker เป็นจุดศูนย์กลางของเรื่อง ซึ่งเสริมให้พระเอกอย่าง Batman ดูลึกลับและน่าติดตามมากขึ้น รวมถึงความสลับซับซ้อนทางจิตใจและบ้าคลั่งจนคาดเดาไม่ได้ของ Joker ที่ Jack Nicholson ตีความและนำเสนอออกมาได้อย่างน่าจดจำไม่แพ้พระเอกของเรื่อง เช่นเดียวกับ Batman หรือ Bruce Wayne ที่มีความเข้มขรึม เต็มไปด้วยปริศนา และสัมผัสได้ถึงความอันตราย 

 

และด้วยการแสดงอันยอดเยี่ยมของ Michael Keaton และ Jack Nicholson ก็ส่งให้พวกเขากลายเป็นสองนักแสดงผู้รับบทเป็น Batman และ Joker ที่แฟนๆ ยังคงหลงรัก นอกจากนี้ทาง American Film Institute (AFI) ยังได้คัดเลือกให้ตัวละคร Batman และ Joker ฉบับ Tim Burton ติดอยู่ในลิสต์ 100 YEARS…100 HEROES & VILLAINS ที่เป็นการคัดเลือก 50 ตัวละครฮีโร่ และ 50 ตัวละครวายร้ายที่ดีที่สุด เคียงข้างตัวละครสุดคลาสสิกอีกมากมาย เช่น Indiana Jones จาก Indiana Jones and the Raiders of the Lost Ark (1981), Darth Vader จาก Star Wars: Episode V – The Empire Strikes Back (1980), Jack Torrance จาก The Shining (1980) และ Superman จาก Superman (1978) ฯลฯ

 

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ Batman ฉบับ Tim Burton กับความสำเร็จระดับปรากฏการณ์ ที่ส่งให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ระดับขึ้นหิ้งที่ยังได้รับการกล่าวถึงมาจนถึงปัจจุบัน 

 

ภาพ: Warner Bros.

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X