×

จังหวะปรับฐาน Feat. The Fed และเงินเฟ้อ

15.02.2022
  • LOADING...
ปรับฐานหุ้น

ในที่สุดการปรับฐานที่ Thematic Investor รอคอยก็มาถึง

 

หลายท่านกำลังมองหาโอกาสกลับเข้าตลาด

 

ปัญหาคือเงินเฟ้อยัง ‘สูง’ เรายังต้องระวังธนาคารกลางส่งสัญญาณ ‘ขึ้น’ ดอกเบี้ยเร็ว ส่งผลให้อนาคตของสินทรัพย์เสี่ยงยัง ‘ไม่ปลอดภัย’

 

การหา ‘จังหวะ’ และ ‘ธีม’ ที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และทุกอย่างเริ่มต้นด้วยการศึกษาตลาดในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างแรก

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


 

‘ความกลัว’ เผยให้เห็นอย่างชัดเจนจากราคาสินทรัพย์หลักที่ปรับฐานลงพร้อมกันในช่วงต้นปี

 

เหตุการณ์สำคัญคือเงินเฟ้อสูงขึ้นไม่หยุด ราคาน้ำมันดิบทำจุดสูงสุดใหม่เพราะความเสี่ยงสงคราม

 

แรงกดดันเหล่านี้ทำให้ Fed ต้องส่งสัญญาณเข้มงวดมากขึ้น จากแค่คุมความคาดหวังของเงินเฟ้อ เป็นการจัดการเงินเฟ้อให้ได้เร็วที่สุด ตลาดจึงกลัวว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของดอกเบี้ยขาขึ้นที่เร็วและแรงกว่าปกติ

 

ทั้งหมดหนุนให้ยีลด์สหรัฐฯ สองปี ขยับขึ้นมาถึงระดับ 1.6% สูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโคโรนาไวรัส ส่วนยีลด์สิบปีก็แตะระดับ 2.0% สูงขึ้นจากปลายปีที่แล้วกว่า 50bps บอนด์ และ Long-Duration Asset อย่างหุ้นเทคโนโลยีจึงปรับฐานพร้อมกัน

 

เมื่อทั้งสองสินทรัพย์หลักกลับทิศ นักลงทุนก็ลดพอร์ตไปด้วย ความผันผวนจึงกระจายไปสู่ทุกสินทรัพย์ในที่สุด

 

ในฝั่ง Thematic Investing ธีมที่อนาคต ‘ไกล(เกินไป)’ และธีมที่อนาคต ‘เปลี่ยน’ เป็นกลุ่มที่ถูกทิ้งมากที่สุด

 

ประเมินจาก 100 Thematic ETF ในตลาดสหรัฐฯ ธีมแห่งอนาคตเฉลี่ยปรับฐานลงลึกกว่าตลาดราว -4.5%

 

ธีมที่ลงลึกที่สุดราว -9.9% คือ Sustainable Energy เนื่องจากนักลงทุนถอยกลับเข้าธีม Big Oil ตามมาด้วยธีม Healthcare Innovation ที่ปรับฐาน -8.1% เพราะตลาดเชื่อว่าประตูแห่งโอกาสกำลังปิดลงพร้อมกับวิกฤตโควิด ขณะที่ธุรกิจหลักก็ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะมีกำไร

 

ในทางกลับกัน ธีมที่ยังขายได้คือธีมระยะสั้นป้องกันเงินเฟ้อ หรือออกนอกโลกแห่งความจริง

 

Thematic ETF ที่ใช้จังหวะได้ดีที่สุดคือ PPI หรือ AXS Astoria Inflation Sensitive ETF ระดมทุนไปได้ในช่วงเดือนเปิดตัวกว่า 30 ล้านดอลลาร์ ด้วยกลยุทธ์ลงทุนใน Inflation-Sensitive Assets เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ TIPS และ Sector ที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อ เช่น วัสดุก่อสร้าง ธนาคาร หรือพลังงาน

 

ฝั่งธีมอนาคตก็มี Subversive Metaverse ETF ตัวย่อ PUNK เป็น ETF ที่เข้ามาสร้างความแตกต่าง ด้วยกลยุทธ์ลงทุนในธุรกิจที่เป็นองค์ประกอบทางเทคโนโลยีและสังคมบน Metaverse พร้อมกับจับจังหวะ Short หุ้น Meta Platform ที่ทีมลงทุนมองว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ

 

สำหรับนักลงทุนไทย ต้องบันทึกเดือนกุมภาพันธ์ 2022 นี้ไว้บนประวัติศาสตร์เช่นกัน เมื่อ UHERO หรือ United HERO ETF กลายเป็น Thematic ETF แรกของตลาดหุ้นไทย ที่ลงทุนใน ETF ฝั่งตะวันตกอย่าง Video Game and Esports ETF ของ Global X เป็นธุรกิจที่สามารถต่อยอดไปสู่ Metaverse ได้ง่าย สร้างความตื่นตัวให้กับนักลงทุนไทยได้อย่างดี

 

จังหวะถัดไป ผมเชื่อว่าเราจะพบกับความกังวลว่า ‘เงินเฟ้ออาจไม่ลดลง’ จนกว่าธนาคารกลางจะเข้มงวดถึงที่สุด

 

เนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังมีทิศทางเป็นขาขึ้น ขณะที่การรายงานตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ (PCE) และ 10 มีนาคม (CPI) ก่อนหน้าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ FOMC 15-16 มีนาคม จึงไม่ควรประมาท เพราะถ้าเงินเฟ้อสูง Fed ก็อาจเลือกขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 25bps หรือหยุด QE ทันที

 

ส่วนใน 3-9 เดือนข้างหน้า สิ่งที่ต้องระวังเพิ่มไปจากนโยบายการเงินยังมีอีก

 

ไม่ว่าจะเป็น ‘การเมืองสหรัฐฯ’ ที่คะแนนความนิยมของ โจ ไบเดน ตกต่ำ โอกาสที่จะผ่านนโยบายกระตุ้นการลงทุนตามที่สัญญาไว้ลดลง

 

เศรษฐกิจ’ มีแนวโน้มชะลอตัว พร้อมกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคตกต่ำ สังเกตได้จากความชันของยีลด์ที่ลดลงต่อเนื่อง ส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยในปี 2024

 

และ ‘Valuation’ ของตลาดที่ยังแพงที่สุดเป็นอันดับสอง เป็นรองเพียงช่วง Dot Com Crisis ถ้ารายได้เร่งตัวขึ้นได้ไม่ถึง 10% ในปีนี้ ตลาดอาจต้องปรับฐานลงอีก 15-20% ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

 

รู้อย่างนี้ควรวางกลยุทธ์และเลือกธีมลงทุนอย่างไร?

 

แนวโน้มที่ชัดเจนที่สุดคือดอกเบี้ย จังหวะนี้เราสามารถ ‘ลด’ สัดส่วนการถือบอนด์ลงได้อีก

 

ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1972 วัฏจักรดอกเบี้ยในสหรัฐฯ เคยเป็นขาขึ้น 5 รอบ สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอคือยีลด์สิบปีปรับตัวขึ้น มากที่สุดคือ 520bps ช่วงปี 1977-1980 ต่อให้น้อยที่สุดอย่างช่วงปี 2016-2018 ยีลด์ก็ยังปรับตัวขึ้น 30bps ดังนั้นผมจึงมองว่าคุ้มกว่าที่จะถือเงินสดแทนที่บอนด์ในระยะสั้น

 

ถัดมาคือเดา ‘จังหวะ’ การปรับฐานของหุ้น

 

จังหวะแรกคือ นโยบายการเงิน

 

 แม้จะเข้มงวดจริงแต่ปัจจุบันเข้าสู่ช่วงที่ความคาดหวังบนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ‘สูงเกิน’ กว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริงในช่วงกว่าสองทศวรรษล่าสุดไปแล้ว

 

ธีมที่ปรับฐานไปก่อน เช่น Consumer Evolution หรือธีมที่มีความสัมพันธ์กับตลาดต่ำอย่าง Healthcare Innovation จึงเริ่มน่าสนใจ และอาจกลับตัวได้หลังมีความชัดเจนเชิงนโยบาย

 

จังหวะที่สองคือ การเปลี่ยนมุมมองต่อเงินเฟ้อ

 

แม้ปัจจุบันตลาดจะเชื่อว่าภาวะเงินเฟ้อสูงจะเกิดขึ้นตลอดไป แต่เมื่อในอนาคตการเมืองสหรัฐฯ จะวุ่นวาย เศรษฐกิจจะชะลอตัว และนโนบายการเงินจะเข้มงวด ในที่สุดเงินเฟ้อก็ต้องปรับตัวลงบ้างอย่างไม่ต้องสงสัย

 

จังหวะที่เงินเฟ้อสูงที่สุด จึงอาจเป็นหนึ่งในเวลาที่ดีที่สุดที่จะเข้าลงทุนระยะยาวใน Deflation Winners อย่าง FinTech และ Disruptive Technology

 

ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนจังหวะทั้งสองเรื่องนี้จะนำเราไปสู่จุดต่ำสุดของการปรับฐานในไม่ช้า

 

แต่จะลงทุนธีมไหน นักลงทุนต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าจุดประสงค์ของการลงทุนคืออะไร และระยะเวลาของการลงทุนสั้นยาวแค่ไหน เพื่อให้เราได้ธีมที่เหมาะสมกับเป้าหมายการลงทุนของเราจริงๆ ครับ

 

ติดตามข่าวสารศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน เพิ่มเติมได้ที่ Facebook: THE STANDARD WEALTH และ YouTube: THE STANDARD

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X