×

บาร์ซา vs. มาดริด ศึกนอกสนามกับคำถาม ใครคือ ‘ทีมของระบอบเผด็จการ’?

19.04.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • ภายหลังจากถูกบาร์ซาพาดพิง เรอัล มาดริด ก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ แต่ได้โต้ตอบด้วยวิดีโอความยาว 4 นาทีเศษ ที่มาพร้อมกับการตั้งคำถาม “ใครกันแน่ที่เป็นทีมของเผด็จการ?”
  • การออกมาโต้ตอบของเรอัล มาดริด ในครั้งนี้ เป็นการจุดชนวนความขัดแย้งอย่างรุนแรง โดยเรื่องลามไปถึงชาวกาตาลันด้วย รัฐบาลแคว้นกาตาลุญญาได้มีการออกมาเรียกร้องให้เรอัล มาดริด ลบวิดีโอดังกล่าวลง พร้อมประณามว่า เป็นการ ‘บิดเบือนประวัติศาสตร์อย่างร้ายแรง’

ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ศึก ‘เอลกลาสิโก’ ได้กลับมาหวดกันอีกครั้ง เพียงแต่ไม่ได้เกิดขึ้นบนฟลอร์เต้นรำสีเขียวบนสนามหญ้า หากแต่เป็นการเปิดศึกวิวาทะกันนอกสนาม โดยที่ระดับดีกรีความเผ็ดร้อนนั้นรุนแรงจนน่าตกใจ

 

เมื่ออีกฝ่ายบอกว่า “ทีมแกมันลูกรักเผด็จการ!” จนอีกฝ่ายก็ออกมาโต้ตอบว่า “ทีมแกสิลูกรักเผด็จการ!”

 

มันเกิดอะไรขึ้นในเรื่องนี้ ที่มาที่ไปของเรื่องราว เท้าความเป็นมาในอดีต จนถึงความสัมพันธ์ระหว่างบาร์เซโลนาและเรอัล มาดริด กับอดีตผู้นำจอมเผด็จการ ‘จอมพลฟรังโก’ ที่กำลังนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ระหว่างสองสโมสร

 

มาลองย้อนรอยไปด้วยกันสักหน่อย…

 

 

Barcagate จุดเริ่มต้นสงครามการสาดสี

 

จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นจากกรณี ‘Barcagate’ หรือเรียกกันแบบไทยๆ ว่า ‘บาร์ซาโกง’ (อ่านย้อนได้ที่ https://thestandard.co/barcelona-referee-scandal/) เมื่อมีการเปิดเผยจากรายการวิทยุ Què t’hi jugues ทางสถานี Cadena SER Catalunya ที่กล่าวพาดพิงบาร์เซโลนาในข้อหาที่ค่อนข้างร้ายแรง  

 

“บาร์ซาจ่ายเงินให้แก่ โฆเซ มาเรีย เอ็นริเกซ เนเกรรา อดีตรองประธานของคณะกรรมการทางเทคนิคผู้ตัดสิน เป็นจำนวนถึง 1.4 ล้านยูโร ในระหว่างปี 2016-2018 ผ่านบริษัทของเขาที่มีชื่อว่า Dasnil 95 Company”

 

เรื่องนี้นำไปสู่การสอบสวนอย่างละเอียดจากลาลีกาว่า การกระทำของบาร์เซโลนาที่มีการติดต่อขอซื้อข้อมูลจากบริษัทของเนเกรา เป็นการกระทำที่ผิดในการมีอิทธิพลต่อการตัดสิน หรือพูดง่ายๆ คือมีส่วนต่อการ ‘ล้มบอล’ หรือไม่ 

 

โดยที่สโมสรคู่แข่งในลาลีกา และแน่นอนว่าคือคู่ปรับสำคัญอย่างเรอัล มาดริด เองต่างต้องการคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

 

 

คำชี้แจงจากลาปอร์ตา

 

2 เดือนหลังการสอบสวน ทางด้านบาร์ซาได้ออกมาแถลงต่อเรื่องนี้โดยตัวของ โจน ลาปอร์ตา ประธานสโมสร

 

ลาปอร์ตามาพร้อมกับหลักฐานที่คิดว่าชัดเจนพอจะพิสูจน์ ‘ความบริสุทธิ์’ ของบาร์ซาได้ว่าไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะการจ่ายเงินเพื่อซื้อข้อมูลจากบริษัทของเนเกรานั้นเป็นแค่ข้อมูลการตัดสินทั่วไป 

 

ประธานบาร์ซายืนยันว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ ‘ทำกันโดยทั่วไป’ อยู่แล้ว ซึ่งเรื่องทั้งหมดนั้นสโมสรพร้อมที่จะต่อสู้ เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธ์ตามกระบวนการทางกฎหมาย

 

แต่มันไม่จบเท่านั้น เพราะลาปอร์ตาขอเปิดวอร์ต่อด้วยการฟาดทั้งลาลีกาที่เหมือนมีธงในใจที่จ้องจะเล่นงานกันตลอดเวลา ไปจนถึงคู่แค้นอย่างเรอัล มาดริด ที่มีการพาดพิงด้วยข้อมูลว่า ในอดีตที่ผ่านมาเรื่องของการเลือกผู้ตัดสินที่จะทำหน้าที่ในสนามนั้นจะมาจากคนที่เป็นอดีตพันธมิตร อดีตผู้เล่น หรืออดีตผู้บริหารจากเบร์นาเบวทั้งนั้น

 

พร้อมหวดด้วยประโยคสำคัญว่า เรอัล มาดริด นี่แหละคือ ‘ทีมของระบอบเผด็จการ’ (Team of the Regime) เป็นทีมฟุตบอลที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากยุคสมัยการปกครองของจอมพลฟรังโก (ปี 1939-1975) ซึ่งเป็นยุคสมัยอันมืดมนอนธการของสเปนที่ไม่มีใครอยากจดจำ

 

การโต้ตอบจากมาดริด “ใครกันแน่?”

 

ภายหลังจากถูกบาร์ซาพาดพิง เรอัล มาดริด ไม่ได้อยู่เฉยๆ แต่ได้โต้ตอบด้วยวิดีโอความยาว 4 นาทีเศษ

 

 

วิดีโอนั้นเริ่มต้นด้วยวันแถลงข่าวของลาปอร์ตา (พร้อมดนตรีประกอบ บิลด์อารมณ์อยู่ด้านหลัง) โดยเปิดให้ดูในช่วงที่ประธานบาร์ซามีการกล่าวพาดพิงถึงเรอัล มาดริด ว่าเป็นทีมที่ได้รับการเอื้อประโยชน์ให้ในฐานะทีมลูกรักของเผด็จการ

 

ก่อนที่จะขึ้นฉากดำ พร้อมกับข้อความตั้งคำถาม “ใครกันแน่ที่เป็นทีมของเผด็จการ?”

 

ต่อจากนั้นคือการเล่าเรื่องราวด้วยฟุตเทจวิดีโอเก่าย้อนกลับไปในปี 1957 ในพิธีการเปิดสนามคัมป์นู ชามอ่างยักษ์ที่เป็นความภาคภูมิใจของบาร์เซโลนา ซึ่งมี โฆเซ โซลิส รุยซ์ คนสนิทของนายพลฟรังโก ผู้นำจอมเผด็จการของสเปน เดินทางมาร่วมพิธีเปิดสนามด้วย

 

ก่อนจะมีการให้ข้อมูลว่า บาร์ซาเคยมอบรางวัลให้แก่นายพลฟรังโกถึง 3 ครั้ง รวมถึงการยกย่องให้เป็นสมาชิกสโมสรกิตติมศักดิ์ในปี 1965 (ในปัจจุบันคนที่จะได้รับเกียรตินี้ต้องเป็นสมาชิกของสโมสรครบ 75 ปีก่อน)

 

และยังต่อด้วยภาพของนายพลฟรังโกพบปะกับเจ้าหน้าที่ของบาร์เซโลนา รวมถึงข้อความที่ระบุว่า “บาร์เซโลนาได้รับการช่วยเหลือให้รอดพ้นจากการล้มละลายถึง 3 ครั้งเพราะฟรังโก”

 

ก่อนจะปิดท้ายด้วยว่า บาร์ซาได้แชมป์ลีกถึง 8 สมัย และโกปาเดลเรย์อีก 9 สมัย ในยุคสมัยที่จอมเผด็จการปกครองสเปน ขณะที่เรอัล มาดริด ต้องใช้เวลา 15 ปีถึงจะคว้าแชมป์ลาลีกาครั้งแรกได้” (ในฤดูกาล 1953/54 ยุคหลังสงครามกลางเมืองสเปน)

 

เรียกว่าเป็นการโต้ตอบที่รุนแรงและเจ็บแสบไม่เบา ก่อนที่จะมีเหล่าอดีตผู้เล่นระดับตำนานของสโมสรอย่างมาร์เซโล, อัลบาโร อาร์เบลัว และ อิเกร์ กาซียาส ที่มาร่วมแสดงคำตอบในวิดีโอที่เรอัล มาดริด โพสต์บนโซเชียลมีเดีย

 

 

สงครามนอกสนาม

 

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการออกมาโต้ตอบของเรอัล มาดริด ในครั้งนี้เป็นการจุดชนวนความขัดแย้งอย่างรุนแรง

 

โดยสงครามครั้งนี้ไม่ได้เป็นแค่เรื่องระหว่างมาดริดกับทีมบาร์ซาอีกแล้ว แต่ลามไปถึงชาวกาตาลันด้วย โดยรัฐบาลแคว้นกาตาลุญญาได้มีการออกมาเรียกร้องให้เรอัล มาดริด ลบวิดีโอดังกล่าวลง

 

“มันเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์อย่างร้ายกาจ” และถือเป็นการ “สร้างข่าวเท็จที่ไม่น่าให้อภัย” 

 

รัฐบาลแห่งแคว้นกาตาลุญญาประณามสโมสรจากเมืองหลวงว่า เป็นการย่ำยีชาวกาตาลันจำนวนมากมายมหาศาลที่ต้องเจ็บปวดในยุคสมัยของจอมเผด็จการฟรังโก ซึ่งรวมถึงสโมสรบาร์เซโลนาที่ในช่วงเวลานั้นอดีตประธานสโมสรอย่าง โจเซป ซุยนอล ต้องโทษประหารจากรัฐบาลเผด็จการ

 

“มันเป็นเรื่องที่เรอัล มาดริด อาจจะจำไม่ได้”

 

ขณะที่ catalannews.com สำนักข่าวท้องถิ่นกาตาลุญญา ได้ตอบโต้ด้วยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ว่า บาร์เซโลนานั้นไม่ได้เป็นสโมสรโปรดของยุคสมัยเผด็จการ ในทางตรงกันข้าม พวกเขาต้องเผชิญกับความเจ็บปวดมากมาย

 

เริ่มตั้งแต่การถูกสั่งให้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อสโมสรจาก ‘Football Club Barcelona’ มาเป็น ‘Club de Futbol Barcelona’ เพื่อให้ดูมีความ ‘เป็นสเปน’ มากยิ่งขึ้น

 

ในยุคสมัยของเผด็จการ อัตลักษณ์ตัวตนของชาวกาตาลันแทบถูกลบทิ้ง พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้พูดภาษากาตาลันในที่สาธารณะ สัญลักษณ์กาตาลันถูกถอดออกจากตราของสโมสร และเรื่องสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสโมสรนั้นก็มีการถอดถอนไปแล้วในปี 2019 จากการลงมติของ Socios หรือสมาชิกของสโมสร

 

ประเด็นความสำเร็จในสนามที่มีการกล่าวอ้างจากมาดริด แท้จริงแล้วในช่วงจอมพลฟรังโกปกครองสเปน มาดริดได้แชมป์ลาลีกาถึง 14 สมัย โกปาเดลเรย์ 6 สมัย และยูโรเปียนคัพ (ก่อนจะเป็นแชมเปียนส์ลีก) อีก 6 สมัย ในช่วงยุคปี 1950-1960

 

และยังมีอีกมากมายที่มีการโต้ตอบกลับ ซึ่งยังมีสื่อท้องถิ่นรวมถึงบรรดาอินฟลูเอนเซอร์ฟุตบอลสายกาตาลันจำนวนมากที่ออกมาให้ข้อมูลเพื่อตอบโต้ในครั้งนี้

 

 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้?

 

The Athletic สื่อกีฬาระดับโลก ได้ติดต่อสโมสรบาร์ซา เพื่อสอบถามในกรณีว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร

 

คำตอบที่ได้คือ “สโมสรยังไม่มีความคิดที่จะโต้ตอบ” เพียงแต่ในมุมของพวกเขาแล้ว พวกเขาเชื่อว่าการโพสต์วิดีโอของเรอัล มาดริด เป็นการกระทำที่จะส่งผลย้อนกลับไปหาตัวเอง โดยที่พวกเขาไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะสุดท้ายแล้ว ‘ไม่มีใครลบอดีตได้’ โดยเฉพาะหากมันมีหลักฐานที่ชัดเจนอยู่

 

สิ่งที่จะได้รับผลกระทบจริงๆ มากไปกว่าเรื่องของความตึงเครียดระหว่างสองสโมสรคือ เรื่องผลประโยชน์ร่วมกันอย่างโครงการ ‘ซูเปอร์ลีก’ ที่ทั้งบาร์เซโลนาและเรอัล มาดริด พยายามผลักดันมาหลายปี 

 

เหตุการณ์ครั้งนี้อาจทำให้ทุกอย่างต้องชะงักงัน หรืออาจถึงขั้นต้องยุติความร่วมมือกันก็เป็นได้ ต่อให้มันอาจจะเป็นแค่ชั่วคราวก็ตาม

 

ส่วนแฟนบอลของสองสโมสร โดยเฉพาะแฟนรุ่นใหม่ อาจได้ประเด็นถกเถียงและค้นหาความจริงกัน

 

ว่าตกลงแล้วใครกันแน่คือทีมลูกรักของระบอบเผด็จการ?

 

ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว หรืออาจมีมากกว่าหนึ่ง?

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X