×

‘บาร์เซโลนา’ ณ จุดตัดระหว่างกีฬาและการเมือง

09.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • การที่ทุกฝ่ายจับตามองท่าทีของสโมสรฟุตบอลอย่างบาร์เซโลนานั้น ไม่ใช่เพียงเพราะที่นี่เป็นสโมสรฟุตบอลชั้นหนึ่งของสเปน และเป็นทีมระดับชั้นนำของโลกที่มีพลังอำนาจในเกมลูกหนังเป็นล้นพ้น หากแต่เป็นเพราะสโมสรฟุตบอลแห่งนี้เป็นมากกว่าแค่สโมสรฟุตบอลทั่วๆ ไป
  • การตัดสินใจลงแข่งกับลาส พัลมาส เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันแห่งการลงประชามติของชาวคาตาลันว่าพวกเขาอยากจะอยู่หรือไปจากสเปน บางคนมองว่านี่คือการ ‘ก้มหัว’ ให้กับฮาเวียร์ เตบาส ประธาน LFP ซึ่งเป็นแฟนบอลเรอัล มาดริด ตัวยง แต่แฟนบอลอีกจำนวนไม่น้อยเองก็มองว่าฟุตบอลและการเมืองไม่จำเป็นต้องหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันขนาดนั้นก็ได้
  • น้ำเสียงจากฝ่ายรัฐบาลสเปนขึงขัง ไม่มีทีท่าจะลดราวาศอก สอดคล้องกับเสียงโห่ร้องของฝูงชนทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะบาร์เซโลนาที่ต้องการให้กาตาลุญญาเป็นส่วนหนึ่งของสเปนต่อไป ความหนักแน่นนั้นเป็นการโยนความหนักใจให้กับฝ่ายสโมสรบาร์เซโลนาที่ต้องคิดหนักต่อการกำหนดท่าที

     เสียงโห่ร้องยังดังกึกก้องกลางใจเมืองบาร์เซโลนา

     มากกว่า 350,000 คนที่ออกมาเดินขบวนกันอย่างพร้อมเพรียง เพียงแต่เป้าประสงค์ของการออกมาเดินขบวนในครั้งนี้แตกต่างจากการเดินขบวนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วอย่างสิ้นเชิง

     พวกเขาต้องการออกมาแสดงจุดยืนที่ยืนอยู่คนละด้านของแนวความคิด ‘แยกตัว’ จากสเปน

     สิ่งที่คนเรือนแสนเหล่านี้ต้องการคือคำว่า ‘เป็นหนึ่งเดียว’ ในความหมายว่า กาตาลุญญาและสเปนจะต้องเป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนเก่า โดยที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้

     แต่การแสดงออกของเหล่าคนเรือนแสนในครั้งนี้ยังไม่ถูกจับตามองเท่ากับการวางตัวของสโมสรฟุตบอลที่เป็นมากกว่าสโมสรฟุตบอลอย่างเอฟซี บาร์เซโลนา

     ท้ายที่สุดแล้ว มหาอำนาจแห่งกาตาลุญญาจะเลือกยืนอยู่ ณ จุดใด

     ซ้ายหรือขวา

     หรือจะประคองตัวอยู่ตรงกลางกัน?

 

 

‘Més que un Club’ คำขวัญและสัญญาของบาร์เซโลนา

     การที่ทุกฝ่ายจับตามองท่าทีของสโมสรฟุตบอลอย่างบาร์เซโลนานั้นไม่ใช่เพียงเพราะที่นี่เป็นสโมสรฟุตบอลชั้นหนึ่งของสเปน และเป็นทีมระดับชั้นนำของโลกที่มีพลังอำนาจในเกมลูกหนังเป็นล้นพ้น

     หากแต่เพราะสโมสรฟุตบอลแห่งนี้เป็นมากกว่าแค่สโมสรฟุตบอลทั่วๆ ไป

     บาร์เซโลนา มีความหมายกับชาวเมืองบาร์เซโลนาและแคว้นกาตาลุญญามากมายกว่านั้น

     ดังคำขวัญประจำสโมสรว่า Més que un Club นั้นแปลความได้ว่า เป็นมากกว่าสโมสร (More than a club) ซึ่งมีที่มาจากการที่สโมสรฟุตบอลแห่งนี้เป็นดัง ‘สถาบัน’ และ ‘ศูนย์รวมใจ’ ของชาวคาตาลันโดยตลอดนับตั้งแต่ยุคสงครามกลางเมืองสเปน

     ในวันที่ชาวคาตาลันถูกกดขี่ข่มเหง ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสเปนโดยมิได้เต็มใจนัก บาร์เซโลนาคือความภูมิใจของพวกเขา

     และสนามคัมป์ นู คือ ‘บ้าน’ ที่พวกเขาจะสามารถปลดปล่อยความอัดอั้นตันใจทุกอย่างที่ถูกกระทำจากฝ่ายรัฐบาลสเปนที่พยายามทำทุกวิถีทางโดยไม่สนวิธีการ เพื่อ ‘กลืน’ กาตาลุญญาให้กลายเป็นสเปนโดยสมบูรณ์

     การกระทำที่เริ่มตั้งแต่เนรเทศโจน กัมเปร์ ผู้ก่อตั้งสโมสรของสเปน จนตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง การฆาตกรรมโจเซฟ​ ซุนยอล ประธานสโมสร ในช่วงสงครามกลางเมืองสเปน การถูกรังแกผ่านอำนาจผู้ตัดสินที่ทำให้พวกเขาพ่ายต่อเรอัล มาดริด ขาดลอยถึง 11-1

     บาร์เซโลนายังเป็นฝ่ายถูกกระทำอย่างต่อเนื่องและรุนแรงจากเหล่าผู้นำเผด็จการของสเปน โดยเฉพาะนายพลฟรานซิสโก ฟรังโก ซึ่งเป็นยุคสมัยที่โหดร้ายที่สุด

     นายพลฟรังโกห้ามไม่ให้มีการพูดภาษาคาตาลัน

     มีการวางระเบิดที่ทำการสโมสรในปี 1938 ในปี 1940 มีการแทรกแซงโดยส่งคนของจอมเผด็จการเข้ามานั่งตำแหน่งในสำคัญของสโมสร และที่เลวร้ายกว่านั้นคือการที่บุคคลสำคัญของสโมสรค่อยๆ ถูก ‘เก็บ’

     ฟุตบอลจึงเป็น ‘ภาษา’ เดียวที่ชาวคาตาลันสามารถพูดได้ในเวลานั้น

     และบาร์เซโลนาคือตัวแทนของชาวคาตาลันในฐานะสัญลักษณ์การต่อสู้ของพวกเขา และสัญลักษณ์ในการต่อต้านอำนาจของจอมเผด็จการฟรังโก

     นั่นคือความหมายที่แท้จริงของคำว่า Més que un Club ซึ่งถือกำเนิดในวันที่โหดร้ายเหล่านั้น

     ก่อนจะมีบทเพลง Visca el Barça (Long live Barça) ที่ต่อมาปรับเป็นเพลง Visca el Barça i visca Catalunya (Long live Barça and Catalonia) ซึ่งเป็นเพลงที่ถูกใช้ประท้วงรัฐบาลกลางมาดริดในยุคสมัยนั้น

     บาร์เซโลนายังเป็นสโมสรไม่กี่แห่งที่ฝากชะตากรรมของสโมสรไว้ในมือสมาชิกของสโมสรที่เรียกว่า ‘โซซิ’ (Soci) ซึ่งจะมีสิทธิ์ในการโหวตเลือกประธานสโมสร (ซึ่งเป็นสมาชิกในระดับสูงสุด นอกจากนี้ยังมีสมาชิกระดับชั้นอื่นๆ อีก 4 ชั้น)

     พวกเขายังได้รับการขนานนามจากมานูเอล วาซเกวซ มอนตาลบัน นักเขียนลัทธิมาร์กซิสต์ ว่าเป็น ‘สัญลักษณ์ของกองกำลังไม่ติดอาวุธแห่งกาตาลุญญา’ (Symbolic Unarmed Army of Catalonia)

     อย่างไรก็ดี เมื่อวันเปลี่ยนเวลาผ่าน คราบเลือดและรอยแผลจากวันวานค่อยๆจางลงไป ชาวคาตาลันมีอิสระในการแสดงออกมากขึ้น พวกเขาสามารถพูดภาษาคาตาลันได้ พวกเขาสามารถชูธงชาติกาตาลุญญาได้โดยไม่ถูกทำร้ายถึงชีวิต

     บาร์เซโลนาเองมีการเปลี่ยนแปลงจุดยืนไปจากอดีตมาก โดยเฉพาะจุดยืนเดิมที่เคยมั่นคงในการไม่รับเงินสปอนเซอร์จากใคร และเคยเป็นความภูมิใจของบาร์เซโลนิสตา ในเวลานี้การรับเงินสปอนเซอร์จากกาตาร์และอีกมากมายทำให้พวกเขากลืนไม่เข้าคายไม่ออก

     การตัดสินใจลงแข่งกับลาส พัลมาส เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันแห่งการลงประชามติของชาวคาตาลันว่าพวกเขาอยากจะอยู่หรือไปจากสเปน เป็นการตัดสินใจที่สำคัญอย่างยิ่ง

     มันเป็นการแสดงออกถึงจุดยืนของพวกเขาได้กลายๆ

     เหตุผลของการตัดสินใจลงเล่นตามกำหนดการเดิม ทั้งๆ ที่ในช่วงชั่วโมงสุดท้ายก่อนการแข่งขันมีความพยายามที่จะขอเลื่อนการแข่งขันออกไปก่อนจากเหตุการณ์วุ่นวายในเมืองบาร์เซโลนา หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเข้าระงับการลงประชามติจนทำให้มีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เป็นเพราะบาร์เซโลนาหวาดเกรงต่อคำขู่ของ LFP ฝ่ายจัดการแข่งขันลาลีกาว่า หากไม่ลงแข่งขันจะถูกลงโทษปรับถึง 6 คะแนนด้วยกัน

     6 คะแนนในลีกที่ไม่สามารถพลาดได้แม้แต่แต้มเดียว สามารถส่งผลต่อโอกาสในการลุ้นแชมป์ของพวกเขาอย่างแน่นอน

     ขณะที่นักเตะในทีมเองก็เสียงแตก มีทั้งฝ่ายที่คิดว่าควรจะลงแข่งตามปกติ และฝ่ายที่ไม่คิดว่านี่เป็นสถานการณ์ที่พวกเขาจะลงสนามไปแข่งฟุตบอลกันได้ลงคอ

     การตัดสินใจแข่งขันในสนามที่ปิดสร้างความผิดหวังให้กับแฟนบอลบาร์เซโลนาบางกลุ่ม

     ลืมคำปฏิญาณของพวกเราแล้วหรือ? เห็นเงินสำคัญกว่าเลือดเนื้อของชาวคาตาลันใช่ไหม?

     บางคนมองว่านี่คือการ ‘ก้มหัว’ ให้กับฮาเวียร์ เตบาส ประธาน LFP ซึ่งเป็นแฟนบอลเรอัล มาดริด ตัวยง

     แต่แฟนบอลอีกจำนวนไม่น้อยเองก็มองว่าฟุตบอลและการเมืองไม่จำเป็นต้องหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันขนาดนั้นก็ได้

     พวกเขามองว่าต่อให้กาตาลุญญาแยกตัวออกจากสเปน ก็ไม่จำเป็นว่าบาร์เซโลนาจะต้องแยกออกจากลาลีกาเสียเมื่อไร

     เพราะกีฬากับการเมืองนั้นคือคนละเรื่อง

     มันไม่ควรจะเป็นเรื่องเดียวกัน

 

 

ฟุตบอลคืออำนาจ

     ในอุดมคติแล้ว กีฬาคือสิ่งบริสุทธิ์ที่หล่อเลี้ยงจิตใจของมนุษย์โลก และไม่ควรนำเรื่องอื่นมาแปดเปื้อน

     แต่ในโลกของความเป็นจริงแล้ว กีฬานั้นหลอมรวมกับเรื่องอื่นจนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ หรือแม้แต่การเมือง

     ยกตัวอย่างง่ายๆ แค่ในเกมฟุตบอลก็มีการเมืองในทุกระดับ

     ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับทวีป ระดับโลก

     ในระดับท้องถิ่น สโมสรฟุตบอลกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมืองที่ใช้เป็นหนึ่งในฐานอำนาจของตัวเอง และเป็นหนึ่งในตัวหมากสำคัญที่ช่วยในการเดินเกมบนตารางและเส้นทางการเมืองที่วาดหวัง

     เพราะไม่มีการลงทุนใดที่ไม่หวังผลตอบแทน เงินทุกเบี้ยที่จ่ายไปไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อชัยชนะและความสุข แต่หมายถึงการได้ปรากฏกายต่อหน้าผู้คน การได้มีพื้นที่สื่อ ซึ่งมูลค่าของสิ่งที่แอบแฝงอยู่นั้นมีโอกาสที่จะได้รับตอบแทนกลับมาสูงกว่าจำนวนเม็ดเงินที่ลงทุน

     ในระดับโลกก็เช่นกัน ดังที่เราได้เห็นข่าวความอื้อฉาวของเหล่านักการเมืองลูกหนังชั้นแนวหน้าตลอดหลายปีที่ผ่านมา

     จากที่พอทราบกันว่าในโลกลูกหนัง เหล่านักการเมืองฟุตบอลต่างใช้ฟุตบอลเพื่อหาผลประโยชน์ในเชิงผลประโยชน์ต่างตอบแทน เราก็ได้พบว่าเรื่องเหล่านั้นล้วนเป็นความจริงจากเหตุการณ์การกวาดล้างครั้งใหญ่ในฟีฟ่าเมื่อปี 2015 ที่นำไปสู่การกระชากหน้ากากที่เหม็นเน่าของวงการ

     เซปป์ แบลตเตอร์ ต้องพ้นจากตำแหน่งประมุขลูกหนังโลก เช่นกันกับ ‘นโปเลียนลูกหนัง’​ มิเชล พลาตินี ที่ได้รับหางเลขไปด้วย และทำให้แผนที่จะก้าวสู่การยืนบนจุดสูงสุดของโลกฟุตบอลต้องสะดุดอย่างรุนแรง

     หรืออย่างกรณีของกาตาร์ จะมีสักกี่คนที่เชื่อว่าพวกเขายอมลงทุนมากมายมหาศาลในวงการฟุตบอลเพียงเพราะรักในเกมลูกหนังและต้องการจัดฟุตบอลโลก 2022 บนดินแดนทะเลทรายสักครั้งเท่านั้น?

     พวกเขาหวังผลประโยชน์ที่มากกว่านั้นมาก การลงทุนในเกมฟุตบอลเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของชาติที่ซึ่งไม่มีทรัพยากรใดๆ นอกจากทองคำดำใต้ผืนดิน

     ลูกกลมๆ นี้จะช่วยให้พวกเขาขยายอาณานิคมทางเศรษฐกิจและการเมืองได้ และที่ผ่านมาก็ถือว่าได้ผลดีเสียด้วย

     นอกจากกาตาร์แล้วยังมีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ที่แยกย่อยออกไปอีกว่าเป็นฝั่ง อาบูดาบี หรือดูไบ) หรือคูเวต ที่ทำในแบบเดียวกัน และในปัจจุบันคือกลุ่มทุนใหม่จากจีนที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วโลกด้วย

     ฟุตบอลคืออำนาจในรูปแบบหนึ่ง

     และเป็นอำนาจที่ทรงพลัง

     บางครั้งก็มีส่วนทำให้เกิดสงครามขึ้นมาได้เลยทีเดียว

 

สงครามลูกหนัง (ของจริง)

     อาจฟังดูยากที่จะเชื่อ แต่ในอดีตฟุตบอลเคยทำให้เกิดสงครามระหว่างประเทศมาแล้วครับ

     ในปี 1969 การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกระหว่างทีมชาติฮอนดูรัส และ เอลซัลวาดอร์ กลายเป็น ‘สงครามในสนาม’ เนื่องจากทั้งสองชาติมีข้อพิพาทกันอยู่ จากกรณีที่มีผู้อพยพชาวซัลวาดอรันเข้ามาหากินในฮอนดูรัสเป็นจำนวนนับแสนคน ซึ่งทางฮอนดูรัสไม่พอใจและพยายามจะกีดกันผู้อพยพเหล่านั้นไม่ให้มาแย่งงานคนในประเทศ

     ความตึงเครียดดังกล่าวยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อถึงคราวลงสนามในเกมแรกที่สนามในกรุงเทกูซิกัลปา เมืองหลวงของฮอนดูรัส แล้วปรากฏว่าทีมเจ้าบ้านเฉือนเอาชนะไปได้ 1-0 ซึ่งผลการแข่งขันนำไปสู่เหตุโศกนาฏกรรมในเวลาต่อมา เมื่ออเมเลีย​ โบเลียนอส เด็กสาววัย 18 ปี ทนรับกับความพ่ายแพ้ของชาติไม่ไหวจนตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยปืนในลิ้นชักของพ่อ

     ความตายของอเมเลีย​กลายเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างประเทศไปอีก ศพของเธอได้รับการฝังอย่างสมเกียรติโดยรัฐบาล โดยมีประธานาธิบดีและนักฟุตบอลทีมชาติเอลซัลวาดอร์เข้าร่วมพิธีศพด้วย

     เมื่อถึงคราวที่ต้องกลับมาเล่นในบ้านของเอลซัลวาดอร์บ้าง ความโกรธแค้นของชาวซัลวาดอรันถูกระบายออกผ่านไข่เน่าและซากหนูตายที่ปาลงมาที่รถบัสของนักเตะทีมฮอนดูรัส โดยมีผู้คนที่ยืนถือภาพสาวน้อยอเมเลียผู้จากไปอยู่ตลอดทางที่รถบัสของฮอนดูรัสเคลื่อนตัวสู่สนาม

     ผลการแข่งขันปรากฏว่าเอลซัลวาดอร์สามารถล้างแค้นให้อเมเลียได้สำเร็จด้วยสกอร์ขาดลอย 3-0 และนำไปสู่การเล่นเกมตัดสินในสนามเป็นกลาง (สมัยนั้นไม่มีการนับกฎประตูทีมเยือน)

     ในเกมที่ 3 ปรากฏว่าเอลซัลวาดอร์เอาชนะได้ 3-2 จากประตูชัยในช่วงต่อเวลาพิเศษจากปีกขวา ปีโป้ โรดริเกซ นักเตะทีมชาติที่มีอาชีพเป็นวิศวกร และได้สิทธิ์ผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ประเทศเม็กซิโก ในปี 1970

     แต่มันไม่จบแค่นั้น เพราะหลังเกมสิ้นสุดลงไม่กี่ชั่วโมง รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ประกาศยุติบทบาททางการทูตกับรัฐบาลฮอนดูรัส ก่อนจะประกาศสงครามในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา ซึ่งนำไปสู่การปะทะกันอย่างดุเดือดเป็นเวลากว่า 100 ชั่วโมงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 3,000 คน

     เมื่อมีคนตายจึงได้สติ ทั้งสองฝ่ายตัดสินใจหยุดยิงตามคำขอของ Organizaton of American States

     ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ที่เป็นการพิสูจน์ว่ากีฬาและการเมืองคือเรื่องเดียวกัน

     เช่น กรณีของเกาหลีใต้ที่เคยอยู่ใต้การปกครองของญี่ปุ่น และเคยต้องส่งนักกีฬาลงแข่งขันในนามทีมชาติญี่ปุ่นมาแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปและได้รับเอกราช ทุกครั้งที่พบกัน พวกเขาจะไม่ยอมแพ้ต่อนักเตะจากชาติที่เคยกดขี่ตนเองมาก่อน

     หรือกรณี ‘หัตถ์พระเจ้า’ ของดีเอโก มาราโดนา ในฟุตบอลโลกปี 1986 ที่ถูกโยงกับสงครามชิงเกาะฟอล์กแลนด์ระหว่างอาร์เจนตินาและอังกฤษ ว่าเป็นการล้างแค้นของชาวอาร์เจนไตน์ที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 600 คนจากสงครามเมื่อปี 1982

     ครั้งนั้นมาราโดนากล่าวว่า “จริงอยู่ที่ฟุตบอลไม่เกี่ยวข้องกับสงครามใดๆ… แต่สงครามคราวนั้นทำให้เด็กๆ ที่อาร์เจนตินาต้องตายเป็นเบือเหมือนนกตัวเล็กๆ และเกมนี้แหละคือการแก้แค้น”

     หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โลกเคยตะลึงเมื่อได้เห็นภาพโดรนที่แขวนธงชาติแอลเบเนีย พร้อมข้อความว่า Greater Albania ร่อนในสนามกรุงเบลเกรด ในเกมที่ เซอร์เบียพบกับแอลเบเนีย ซึ่งการยั่วยุครั้งนั้นนำไปสู่การวิวาทกันระหว่างผู้เล่นในสนาม รวมถึงแฟนบอลบนอัฒจันทร์ ก่อนที่เกมจะถูกยกเลิกในที่สุด

     แน่นอนว่ามันไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่ฟุตบอลจะนำไปสู่ความขัดแย้ง

     แม้ว่ามันจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ควรเกิดขึ้นก็ตาม

 

 

บาร์เซโลนากับการตัดสินใจครั้งสำคัญ

     น้ำเสียงจากฝ่ายรัฐบาลสเปนขึงขัง ไม่มีทีท่าจะลดราวาศอก สอดคล้องกับเสียงโห่ร้องของฝูงชนจากทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะที่บาร์เซโลนาที่ต้องการให้กาตาลุญญาเป็นส่วนหนึ่งของสเปนต่อไป

     ความหนักแน่นนั้นเป็นการโยนความหนักใจให้กับฝ่ายสโมสรบาร์เซโลนาที่ต้องคิดหนักต่อการกำหนดท่าที

     เดิมพวกเขาประกาศกร้าวสนับสนุนการแยกตัวของกาตาลุญญา โดยโจเซป มาเรีย บาร์โตเมว ส่งสัญญาณสุดท้ายว่าหากมีการแยกตัวออกจากสเปนจริง พวกเขาก็พร้อมพิจารณาที่จะแยกตัวออกจากลาลีกาด้วยเช่นกัน

     จนทำให้เกิดกระแสข่าวว่าบาร์ซาจะไปเล่นลีกฝรั่งเศสบ้าง อังกฤษบ้าง หรือนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ซูเปอร์ลีก’ ลีกระดับสุดยอดของยุโรปที่มีแนวคิดจะจัดตั้งกันมาเป็นระยะเวลานาน

     บ้างก็มีการวิเคราะห์ถึงทีมชาติกาตาลุญญา (ซึ่งมีอยู่จริง แต่ไม่เคยได้ลงแข่งในเกมอย่างเป็นทางการ เพราะไม่ได้รับการรับรองทางสถานะ) ว่าจะมีนักฟุตบอลคนไหนที่ติดทีมบ้าง

     ขณะที่นักเตะที่เป็น ‘ไอคอน’ ของการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาวคาตาลันคนหนึ่งอย่างเคราร์ด ปิเก้เองก็หลั่งน้ำตาในระหว่างการให้สัมภาษณ์หลังเกมกับลาส พัลมาส โดยเปิดเผยชัดเจนว่าเขาลงมติเห็นด้วยกับการแยกตัวจากสเปน และไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังกับชาวคาตาลันที่ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการแสดงออกทางการเมือง

     แต่เวลานี้คีย์แมนของบาร์ซา ตั้งแต่บาร์โตเมว ประธานสโมสร, อันเดรส อิเนียสตา กัปตันทีม พยายามคลายความตึงเครียดลงด้วยการเปิดช่องว่า แนวทางที่ดีที่สุดสำหรับเวลานี้คือการ ‘เจรจา’ กันเพื่อไม่ให้มีการเสียเลือดเนื้อโดยไม่จำเป็น

     แม้กระทั่งตัวของปิเก้เองก็มีท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เคยคิดถึงขั้นจะอำลาทีมชาติสเปนก็กลายเป็นพร้อมจะเล่นให้สเปนต่อไป ด้วยเหตุผลว่าไม่ต้องการให้แฟนบอลที่โห่ไล่เขาสมหวัง และเขาเองก็ไม่ได้มีอคติอะไรกับการเล่นให้ทีม ‘ลา โรฮา’ ที่ถือเป็น ‘ครอบครัว’ ของเขาอยู่แล้ว

     ต่อเรื่องของการแสดงออกทางการเมืองปิเก้เห็นว่านักฟุตบอลเองก็เป็น ‘ประชาชน’ คนหนึ่ง และนั่นหมายถึงการที่พวกเขาย่อมมีสิทธิ์ที่จะพูดในสิ่งที่คิดได้เช่นกัน

     สำหรับปิเก้ เหนือกว่าคำว่า ‘เอกราช’ คือคำว่า ‘สิทธิและเสรีภาพ’

     อย่างไรก็ดี เรื่องราวการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวคาตาลันครั้งนี้ยังเป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้นครับ

     การต่อสู้ยังอีกยาวไกล และมีอะไรที่ต้องพิสูจน์กันอีกมาก

     โดยเฉพาะกับบาร์เซโลนา ที่ด้วยบทบาทในฐานะศูนย์รวมใจของชาวคาตาลัน พวกเขาไม่ได้มีหน้าที่แค่การลงสนามแล้วคว้าชัยชนะเท่านั้น

     แต่บาร์ซาจะต้องมีส่วนในการเมืองด้วย และนั่นจะเป็นบทพิสูจน์ว่าสุดท้ายแล้วพวกเขาเลือกที่จะยืนข้างใดกันแน่

     ระหว่างผลประโยชน์ของสโมสรเอง

     หรือเพื่อชาวคาตาลัน

 

 

Photo: JOSE JORDAN, JORGE GUERRERO, CESAR MANSO/AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising