จตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า กรมเตรียมออกมาตรการจัดระเบียบการสูบบุหรี่ตามชายหาดต่างๆ โดยที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของ ทช. ได้นำปัญหาและข้อเสนอสำหรับเป็นทางออกในเรื่องนี้ไปหารือกับส่วนท้องถิ่น 20 แห่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดชายฝั่งทะเล ทั้งหมดล้วนเห็นด้วยกับมาตรการนี้
ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป ทช. จะอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 จัดระเบียบห้ามสูบบุหรี่ในบริเวณชายหาด นำร่อง 20 หาด เช่น หาดแม่พิมพ์, หาดแหลมสิงห์, หาดบางแสน, หาดชะอำ, หาดเขาตะเกียบ, หาดบ่อผุด (เกาะสมุย), หาดทรายรี, หาดป่าตอง, หาดเกาะไข่นอกและเกาะไข่ใน, หาดหัวหิน, หาดพัทยา, หาดจอมเทียน, หาดสมิหลา ฯลฯ โดยในอนาคตมีแผนจะประกาศเต็มรูปแบบทั่วทุกหาด
โดยมาตรการดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้สำรวจปริมาณขยะประเภทก้นบุหรี่ บริเวณพื้นที่ชายหาดป่าตอง โดยเก็บข้อมูลพื้นที่ 9 ตารางเมตร ที่ความลึก 10 เซนติเมตร ผลการศึกษาพบว่า มีค่าเฉลี่ยก้นบุหรี่ที่พบเท่ากับ 0.76 มวนต่อตาราเมตร หรือมีจำนวน ณ วันที่เก็บเท่ากับ 101,058 มวน ตลอดแนวชายหาดป่าตอง หรือ ประมาณ 63,237-138,879 มวนต่อชายหาด 2.5 กิโลเมตร
เมื่อศึกษาเพิ่มเติมก็พบอีกว่า ก้นกรองบุหรี่เป็นขยะที่พบบ่อยและมากที่สุดในพื้นที่ชายหาด โดยข้อมูลจากประเทศที่มีชายทะเลและชายหาดพบว่า ขยะที่เกิดจากบุหรี่อันประกอบด้วยซองบุหรี่และก้นกรองบุหรี่ มีปริมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณขยะทั้งหมดของชายทะเลและชายหาด ในท้องถนนหรือตามเมืองใหญ่ เฉพาะประเทศไทยนั้นพบว่า แต่ละวันมีก้นบุหรี่มากกว่า 100 ล้านชิ้นตกค้างในสิ่งแวดล้อม
จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทางอธิบดี ทช. จึงได้ปรึกษากับ พล.อ. สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรี ทส. ออกมาตรการลดปริมาณขยะในทะเลและชายหาด
“การห้ามสูบบุหรี่บนชายหาดเราก็ไม่ได้ห้ามเด็ดขาด แต่จะจัดระเบียบให้สูบเป็นที่เป็นทาง ก่อนลงไปเดินชายหาด มีที่สำหรับทิ้งก้นบุหรี่ให้ แต่ห้ามไม่ให้ลงไปเดินทอดน่องที่ชายหาด เดินไปสูบบุหรี่ไป อย่างนี้ไม่ได้ เพราะในที่สุดแล้วมีเปอร์เซ็นต์จะทิ้งบุหรี่บนชายหาดสูงมาก การดูแลควบคุมนั้นก็จะมีเจ้าหน้าที่ ทช. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นนั้นๆ ช่วยกันดูแล สำหรับโทษ เราดำเนินการตามกฏหมายเต็มรูปแบบคือ คนที่ฝ่าฝืนจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายจตุพร กล่าว
นอกจากการห้ามสูบบุหรี่บริเวณชายหาดแล้ว ปัญหาการทิ้งก้นบุหรี่ลงในทะเลโดยตรงจากเรือโดยสารและเรือนำเที่ยวก็มีปริมาณเยอะเช่นเดียวกัน เรื่องนี้ก็จะเป็นมาตรการในระยะใกล้นี้ คือ ห้ามสูบบุหรี่ในเรือโดยสารหรือเรือท่องเที่ยว เป็นมาตรการเดียวกับที่สายการบินใช้ ทช. จะนำเรื่องนี้หารือกับทางกรมเจ้าท่า เพื่อหาวิธีดำเนินการต่อไป
ปัจจุบันประเทศไทยถูกบันทึกสถิติว่ามีขยะในทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก หากช่วยกันคนละไม้คนละมือ ไม่ใช่แค่เรื่องก้นบุหรี่ อันดับดังกล่าวของประเทศไทยจะต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน
อ้างอิง:
- มติชนออนไลน์