×

บ้านปู เพาเวอร์ เปิด 2 ความเสี่ยงใหญ่ปี 67 ทั้งดอกเบี้ยสูง ต้องระวังการลงทุน คัดกรองเข้มดีล M&A ต่างประเทศ-จับตาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์โลก

01.12.2023
  • LOADING...
บ้านปู เพาเวอร์

บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ ยอมรับปีหน้าระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น เตรียมทบทวนดีล M&A โรงไฟฟ้าใหม่ และเน้นลงทุนโครงการที่ Return ดี เหตุมีผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดอกเบี้ยขาขึ้นทรงตัวสูง ดันต้นทุนการเงินพุ่ง กดดัน Project Return และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ 

 

กิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ หรือ BPP กล่าวว่า ยอมรับว่าการดำเนินธุรกิจของบริษัทในปี 2567 มีปัจจัยเสี่ยง 2 เรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจที่ต้องติดตามและบริหารความเสี่ยง ปัจจัยเสี่ยงแรกคือ ทิศทางของตลาดดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นและทรงตัวอยู่ในระดับสูง ทั้งสหรัฐอเมริกาและไทย ซึ่งมีผลกระทบทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การลงทุนในโครงการใหม่ในปีหน้า โดยเฉพาะแผนการเข้าซื้อกิจการหรือควบรวมกิจการ (M&A) โครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ของบริษัทต้องมีความระมัดระวัง โดยจะเน้นพิจารณาคัดกรองความเสี่ยงที่รอบคอบขึ้นอย่างมากจากภาวะปกติ

 

เนื่องจากแผนการลงทุนของบริษัทในการทำ M&A แหล่งเงินลงทุนจะใช้จากวิธีการทำสินเชื่อโครงการ (Project Finance) ดังนั้นเมื่อทิศทางดอกเบี้ยสูงขึ้น จะมีความเสี่ยงให้ผลกระทบจากการลงทุนในโครงการมีอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity: ROE) ลดลงจากเดิม 

 

หากยกตัวอย่างเปรียบเทียบในอดีตก่อนช่วงดอกเบี้ยจะปรับขึ้นมา ดีลการเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้า มี Project Return ที่ประมาณ 15% หากมีการกู้เงินมาลงทุนด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ประมาณ 5% ส่วนต่างระหว่างต้นทุนของเงินกู้กับ Project Return (สเปรด) จะอยู่ในระดับ 10% ซึ่งยังสามารถบริหารจัดการได้ง่าย แต่ด้วยภาวะปัจจุบันที่ดอกเบี้ยปรับขึ้นมาสูง ส่งผลให้การกู้ยืมมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้นด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเป็น 8-9% ขณะที่ Project Return ที่ประมาณ 15% เท่าเดิม หมายถึงว่าบริษัทจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทันที 

 

“แผนการลงทุนในปี 2567 ตั้งเป้าหมายจะทำ M&A เพื่อให้สร้างกระแสเงินสดกลับมาได้ทันที โดยมีแผนลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าในต่างประเทศทั้งหมดอีกประมาณ 800-1,000 เมกะวัตต์ หากทำได้ก็ถือว่า Success จากตอนนี้มีโครงการที่กำลังศึกษาดูอยู่จำนวนมากจำนวนหลายเมกะวัตต์ แต่ภาวะดอกเบี้ยที่สูงชัดเจนแบบนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องพิจารณาให้รอบคอบมากขึ้นเยอะ ต้องเลือกลงทุนในโครงการที่ต้องมี Return ดีจริงๆ ซึ่งไม่กระทบให้ต้องถึงขั้นหยุดทำธุรกิจ แต่ต้องดูความเสี่ยงให้มากขึ้นกว่าเดิม”

 

สำหรับแผนการทำ M&A ในปี 2567 จะเน้นในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และพลังงานหมุนเวียนโรงไฟฟ้าพลังงานในสหรัฐฯ, จีน, ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย โดยงบลงทุนสำหรับดีล M&A โรงไฟฟ้าในปีหน้า คาดว่าเฉพาะในส่วนทุนที่บริษัทจะใส่เงินลงทุนรวมอยู่ที่ประมาณ 500-600 ล้านดอลลาร์ โดยนำมาใช้รวมกับแหล่งเงินกู้จากสินเชื่อโครงการ (Project Finance) ซึ่งสัดส่วนของส่วนทุนที่ใช้กับเงินกู้ Project Finance ขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละโครงการ 

 

ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิ (Net Debt to Equity Ratio) ปัจจุบันของบริษัทยังอยู่ในระดับต่ำที่เพียง 0.4 เท่า จากกรอบนโยบายที่วางไว้ไม่เกิน 2.5 เท่า บริษัทจึงยังสามารถกู้ได้อีก เพื่อนำลงทุนในโครงการใหม่ๆ ที่มีผลตอบแทนดีได้อย่างต่อเนื่อง โดยจากแผนการลงทุนดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของบริษัทอย่างแน่นอน

 

ปัจจัยความเสี่ยงที่สองที่มีผลกระทบต่อธุรกิจในปี 2567 คือ ปัญหาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เนื่องจากปัจจุบันมีการลงทุนทำธุรกิจใน 8 ประเทศ จำนวน 42 โครงการ ซึ่งในแต่ละประเทศก็จะมีความเสี่ยงเฉพาะที่แตกต่างกันไปในแต่ละที่ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ต้องติดตาม

 

เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนกำไรก่อนภาษี ค่าเสื่อม และดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA) ที่มาจากโครงการโรงไฟฟ้าจากต่างประเทศประมาณ 85% หลังจากที่ผ่านมาบริษัทเร่งขยายการลงทุนโครงการในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สัดส่วนที่เหลือของ EBITDA อีก 15% ที่มาจากในประเทศจะมาจากการรับรู้ EBITDA จากการถือหุ้นในโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี สัดส่วน 50% 

 

สำหรับแนวโน้มรายได้ในปี 2567 คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องมากกว่าระดับ 10-15% เปรียบจากปีนี้ จากปัจจัยสนับสนุนในการทำ M&A โรงไฟฟ้าใหม่ในต่างประเทศในปีหน้าเข้ามาเติมพอร์ตเพิ่มอีกประมาณ 800-1,000 เมกะวัตต์ ตามแผนงานที่กล่าวไว้ข้างต้น เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ปี 2568 ที่จะพอร์ตมีกำลังการผลิตไฟฟ้าถึงระดับ 5,300 เมกะวัตต์ จากในช่วง 9 เดือนแรกปี 2566 ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 3,685 เมกะวัตต์ โดยบริษัทมีแผนที่จะทยอยลงทุนซื้อโรงไฟฟ้าใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ถึงเป้าหมายดังกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X