×

‘บ้านปู เพาเวอร์’ จ่อซื้อโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มพอร์ต 1 พันเมกะวัตต์ มอง ‘อินโดนีเซีย’ ประเทศม้ามืดทางเศรษฐกิจ ขึ้นแท่นว่าที่สมาชิกใหม่ OECD

13.04.2024
  • LOADING...

หลังผลการดำเนินงาน บ้านปู เพาเวอร์ มีรายได้รวม 30,443 ล้านบาท โดยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา (EBITDA) รวม 12,262 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมา

 

ก่อนที่การดำเนินงานของบ้านปู เพาเวอร์ หลังจากนี้ ซีอีโอ ‘กิรณ ลิมปพยอม’ จะส่งไม้ต่อให้ อิศรา นิโรภาส ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สายงานปฏิบัติการธุรกิจไฟฟ้า บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) โดยมีผลเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 นั้น 

 

กิรณระบุแผนการดำเนินธุรกิจปีนี้ว่า บริษัทคาดการณ์รายได้จะเติบโตไม่น้อยกว่าปีก่อน หรือราว 20% และวางงบสำหรับ 1-2 ปีนี้อยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท เพื่อการลงทุนซื้อโรงไฟฟ้าใหม่เข้าพอร์ต ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโรงไฟฟ้าและพลังงานสะอาด โดยตั้งเป้าเพิ่มกำลังผลิตอีกประมาณ 1,000 กว่าเมกะวัตต์

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

เจาะลงทุน 4 ประเทศ

 

ปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียนรวม 225 เมกะวัตต์ โดยภายในปี 2568 วางเป้าว่าจะเพิ่มอีก 500 เมกะวัตต์ เข้าไปในพอร์ตพลังงานสะอาด ทั้งจากโซลาร์รูฟท็อปและโซลาร์ลอยน้ำที่มีกำลังผลิตรวม 335 เมกะวัตต์ โดยแบ่งการลงทุนไปที่ 4 ประเทศ ดังนี้

 

  1. ไทย ล่าสุดได้ลงนามลงทุนเพิ่มการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปอีก 2 เมกะวัตต์ ทำให้ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 98 เมกะวัตต์

 

  1. จีน ลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าบนหลังคา Zhengding CHP มีกำลังผลิตรวม 66 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันติดตั้งไปแล้ว 12.9 เมกะวัตต์

 

  1. เวียดนาม บริษัท Solar ESCO ที่มีกำลังผลิตรวมที่ตกลงไว้แล้ว 40 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังผลิตที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 13.3 เมกะวัตต์

 

  1. อินโดนีเซีย โดยบริษัท IBP ได้ลงนามสัญญาก่อสร้างผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคาแบบ PPA (Power Purchase Agreement) 9 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง ปัจจุบันมีกำลังผลิตที่ติดตั้งไปแล้ว 7 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง ส่งผลให้บ้านปู พาวเวอร์ มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมในอินโดนีเซียจำนวน 25 เมกะวัตต์

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้ลงทุนธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับโซลาร์รูฟท็อปไปแล้ว 3 เมกะวัตต์ รวมถึงมีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบ PPA อีก 9 เมกะวัตต์ ที่สำคัญ อินโดนีเซียถือว่าเป็นประเทศที่มีแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าสีเขียวเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ส่วนแผนนอกเหนือจากนี้ยังมีโครงการศึกษาใช้แอมโมเนีย Co-firing ในโรงไฟฟ้า BLCP ที่ได้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น

 

เล็งดีลซื้อโรงไฟฟ้าเพิ่มที่สหรัฐฯ จับตาอินโดนีเซียประเทศม้ามืด

 

ขณะนี้มีหลายโครงการจากหลายประเทศที่น่าสนใจ อย่างสหรัฐฯ ที่มีโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ยังจำเป็นสำหรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานตามเทรนด์พลังงานใหม่ 3Ds รวมถึงการลงทุนพลังงานหมุนเวียนในรัฐเท็กซัสที่ยังมีโอกาสอีกมาก 

 

อีกทั้งบริษัทมีโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Sequestration: CCS) ซึ่งลงทุนไปแล้ว 1 โครงการ นั่นคือ Barnett Zero กับบริษัทในเครือบ้านปู 

 

ยังมีอีกประเทศที่น่าจับตามองคือ จีน เพราะถือว่าเป็นประเทศที่มีนโยบายสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่น่าสนใจ รวมถึงไทยเองก็ยังเป็นอีกตลาดที่น่าลงทุน และด้วยนโยบายแผน PDP ก็สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด และไทยถือว่าติด Top 10 ของประเทศที่มีอัตราการใช้รถ EV สูงสุด 

 

โดยบริษัทจะสร้างโอกาสเข้าลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนและธุรกิจเกี่ยวเนื่องจากพอร์ตบ้านปู เน็กซ์ ไม่ว่าจะเป็น BESS และ e-Mobility

“ผมมองว่าจากนี้ประเทศที่เป็นม้ามืดคือ อินโดนีเซีย ซึ่งตอนนี้ทราบว่ารัฐบาลกำลังผลักดันและอยู่ระหว่างการสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ประกอบกับบ้านปูถือว่ามีรากฐานที่แข็งแกร่งในอินโดนีเซียมามากกว่า 30 ปี วันนี้จึงเป็นจังหวะและโอกาสที่น่าจับตา” รายงานข่าวระบุ 

 

ความสำคัญของ OECD คือ การกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าโลก และเป็นเวทีในการเปรียบเทียบนโยบาย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และประสานงานนโยบายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งรวมถึงการปราบปรามการค้าผิดกฎหมายด้วย ปัจจุบันประเทศสมาชิกของ OECD มีทั้งหมด 38 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X