บ้านปู เพาเวอร์ หรือ BPP ทุ่ม 700 ล้านดอลลาร์ ปิดดีลใหญ่ซื้อโรงไฟฟ้า 2,000 เมกะวัตต์ เผยมองโอกาสลงทุน New S-Curve เพิ่ม ทั้งแบตเตอรี่ ไฮโดรเจน CCS พร้อมลุยขยายโซลาร์ฟาร์มในจีน ศึกษา Energy Trading ตลาดไฟฟ้าสหรัฐอเมริกา ลั่นรายได้ปีนี้นิวไฮต่อเนื่อง
กิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ หรือ BPP เปิดเผยว่า ปี 2023 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยการเติบโตของรายได้จะมาจากการควบรวมหรือซื้อกิจการโรงไฟฟ้า (M&A) ที่ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งเป็นดีลใหญ่ประมาณ 1,000 เมกะวัตต์
นอกเหนือจากดีล M&A ที่จะเพิ่มเข้ามาในพอร์ตแล้ว ยังมีโครงการอื่นๆ ที่จะทยอยเข้ามาเกิดขึ้นและสร้างรายได้ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) ระยะที่ 1 ในเวียดนาม กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ การขยายการลงทุนโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ เช่น จีน และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนาโซลาร์ฟาร์ม 2-3 โครงการ ขนาดกำลังผลิต 200-800 เมกะวัตต์ ในประเทศจีนอีกด้วย
ขณะที่การลงทุนระยะ 3 ปี (2023-2025) BPP วางงบลงทุนอยู่ที่ 500-700 ล้านดอลลาร์ สำหรับลงทุนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่อีก 2,000 เมกะวัตต์ เพื่อให้มีกำลังการผลิตตามเป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2025 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 3,337 เมกะวัตต์ โดยจะเน้นการลงทุนโรงไฟฟ้าที่มีก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศที่บริษัทมีฐานการผลิตอยู่แล้ว
“ตามเป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ ยังขาดอยู่อีก 2,000 เมกะวัตต์ ดังนั้นในช่วง 3 ปีที่เหลือเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย บริษัทได้เตรียมเงินลงทุนตามแผน โดยเงินทุนจะมาจากงบที่มีและการขอกู้จากสถาบันการเงิน” กิรณกล่าว
ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลต่อรายได้ปีนี้ ต้องติดตามผลกระทบที่สหรัฐฯ สั่งปิด 3 แบงก์ว่าจะมีผลกระทบลามเป็นโดมิโนหรือไม่ แต่เชื่อว่าน่าจะผ่อนคลายลงแล้ว รวมทั้งเกาะติดสถานการณ์ดอกเบี้ยสหรัฐฯ หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง
“แต่หากถามว่าจะมีผลกระทบมาก-น้อยแค่ไหน ต้องบอกว่าเวลาเราซื้อธุรกิจ เรามองระยะยาว ภาพรวมมูลค่าสินทรัพย์อาจส่งผลดีด้วยซ้ำไป ทั้งนี้ทั้งนั้นเรามองว่าในทุกๆ วิกฤตมีโอกาสเสมอ” กิรณกล่าวเพิ่ม
เขากล่าวว่า บริษัทมุ่งขยายการลงทุนในสหรัฐฯ ซึ่งนอกเหนือจากการประสบความสำเร็จในการลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I แล้ว BPP ยังพิจารณาขยายการลงทุนเพิ่มเติม เช่น ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าผ่านแพลตฟอร์มระบบกลาง (Energy Trading) และธุรกิจค้าปลีกไฟฟ้า จากข้อได้เปรียบในการบริหารจุดคุ้มทุนและกระจายความเสี่ยงด้านธุรกิจไฟฟ้าครบวงจรที่มี
ขณะที่ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานที่ดำเนินการโดยบ้านปู เน็กซ์ บริษัทจะเน้นการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่ส่งเสริมศักยภาพและการเติบโต รวมถึงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ (New S-Curve) เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับไฮโดรเจน และเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน (CCS)
นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้เพิ่มสัดส่วนการเข้าถือหุ้นในบริษัท ดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (Durapower) จาก 47.68% เป็น 65.10% ด้วยเงินลงทุน 70 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตของธุรกิจแบตเตอรี่ให้แข็งแกร่งมากขึ้นอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘บ้านปู’ เตรียมขายหุ้นกู้ 3 รุ่น ชูผลตอบแทนระหว่าง 3.10-4.10% เปิดขาย 2-3 และ 7 มีนาคมนี้
- ‘บ้านปู’ ทุ่มเงินกว่า 2 พันล้านบาท ฮุบ Durapower รุกธุรกิจ ‘ผลิตแบตเตอรี่’ รถ EV เต็มสูบตามแผนธุรกิจ
- บ้านปู สานต่อกิจกรรมเข้าค่าย ‘Power Green’ ครั้งที่ 17 หวังระดมความคิดเพื่อแก้ไขปัญหา Climate Change และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน