×

‘BANPU’ เคลียร์ปมขายหุ้นเพิ่มทุนต่ำกระดาน หวังคืนผลตอบแทนผู้ถือหุ้นทันที เตรียมเงิน 4.5 หมื่นล้านบาทลุยพลังงานสะอาดเติมพอร์ตเพิ่ม EBITDA

17.08.2021
  • LOADING...
BANPU

บมจ.บ้านปู หรือ BANPU แจงขายหุ้นเพิ่มทุนราคาต่ำกว่าราคาในกระดาน หวังสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นได้ทันทีโดยไม่ต้องรอปันผล พร้อมเดินหน้าทรานส์ฟอร์มธุรกิจตามกลยุทธ์ Greener & Smarter เตรียมเงิน 4.5 หมื่นล้านบาทลงทุนโครงการใหม่ๆ ในระยะเวลา 5 ปี เพื่อผลักดันให้ EBITDA จากธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานมีสัดส่วนมากกว่า 50% ภายในปี 2568

 

สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลา 5 ปี (2564-2568) บริษัทได้เตรียมระดมทุนมูลค่า 4.5 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง แบ่งเป็นเม็ดเงินจากการขายหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นเดิม การใช้สิทธิ์แปลงสภาพ Warrant ชุดที่ 4 (BANPU-

W4) และชุดที่ 5 (BANPU-W5) รวมทั้งการออกและเสนอขายหุ้นกู้ ซึ่งนักลงทุนให้การตอบรับและจองซื้อเป็นอย่างมาก

 

โดยก่อนหน้านี้ BANPU ได้มีการออกและเสนขายหุ้นกู้ 4 รุ่น มีมูลค่ารวม 16,000 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ย 1.58-3.80% ต่อปี โดยมีผู้ลงทุนจองซื้อเกินกว่าจำนวนที่บริษัทวางแผนถึง 4 เท่า

 

นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทยังมีมติเพิ่มทุนอีกเท่าตัวโดยออกหุ้นใหม่จำนวน 5,074 ล้านหุ้น แบ่งเสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม 1,691.53 ล้านหุ้น ในอัตรา 3 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นเพิ่มทุน ราคาขายหุ้นละ 5 บาทเพื่อใช้รองรับการแปลง Warrant 2 รุ่น คือ BANPU-W4 และ BANPU-W5 ชนิดระบุชื่อผู้ถือและโอนเปลี่ยนมือได้ ในสัดส่วน 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อ 1 หน่วย Warrant ของแต่ละรุ่น โดยมีราคาใช้สิทธิ์ที่ 5 บาท และ 7.50 บาทต่อหุ้นตามลำดับ

 

สมฤดี กล่าวว่า สาเหตุที่บริษัทขายหุ้นเพิ่มทุนต่ำกว่าราคาซื้อขายในกระดาน เนื่องจากต้องการให้ผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนทันทีจากการเข้าลงทุนโดยไม่ต้องรอให้บริษัทจากเงินปันผล ซึ่งการเข้าลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ตามแผนจะช่วยให้บริษัทเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าราคาหุ้นจะสะท้อนตามแผนงานที่ได้วางไว้

 

ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น BANPU วันนี้ (17 สิงหาคม) ราคาปรับขึ้นจากวันก่อนหน้าและปิดการซื้อขายที่ระดับราคา 10.30 บาทต่อหุ้น ระหว่างวันราคาหุ้นปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 10.40 บาท และต่ำสุดที่10 บาท มีมูลค่าการซื้อขายรวมกว่า 1.65 หมื่นล้านบาท ขณะที่เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ราคาหุ้น BANPU ปรับตัวลดลง -25.93% 

 

“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บ้านปูยังคงเร่งสร้างการเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจ (Banpu Transformation) อย่างต่อเนื่องภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter โดยประสบความสำเร็จในการลงทุนเพื่อขยายพอร์ตธุรกิจพลังงานที่สะอาดมากขึ้น

รวมทั้งยังสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันที” 

 

ขณะเดียวกัน BANPU ยังศึกษาความเป็นไปได้ในธุรกิจเหมือง Green Tech Minerals ทั้งในออสเตรเลียและอินโดนีเซีย เพื่อส่งเสริมและต่อยอดของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน รวมทั้งยังศึกษาการลงทุนในโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) และ Data Center ซึ่งมีศักยภาพการเติบโตสูงและสามารถเสริมระบบนิเวศทางธุรกิจของกลุ่มบ้านปู หรือ Banpu Ecosystem ด้วย

 

ด้านผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2564 BANPU มีรายได้จากการขาย รวม 1,535 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 47,325 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 33% โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อม และค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 582 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 17,948 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 147% และมีกำไรสุทธิ 93 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2,861 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 488% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวที่สูงขึ้นของราคาถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ

 

นอกจากนี้บริษัทยังดำเนินมาตรการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและรับมือกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

 

BANPU ถือเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ มี 3 ธุรกิจหลัก คือ

 

  1. กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน (Energy Resources) ทำธุรกิจเหมือง ซึ่งมีผลประกอบการที่ดีจากราคาขายเฉลี่ยที่ปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับแนวโน้มราคาถ่านหินในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ความต้องการใช้พลังงานจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ และคาดว่าช่วงครึ่งหลังปีนี้ราคาขายจะดีกว่าครึ่งปีแรก

 

  1. กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน (Energy Generation) โดยโรงไฟฟ้าเอชพีซีใน สปป.ลาว สามารถผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าด้วยค่าความพร้อมจ่าย หรือ EAF ที่สูงขึ้น ในขณะที่โรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (Shanxi Lu Guang: SLG) ในจีนกำลังเตรียมความพร้อมในการเปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 3

 

ด้านธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจีน มีรายได้เพิ่มขึ้น

เป็นผลมาจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้มีความเข้มของแสงที่สูงขึ้น และมีอัตราความสามารถในการผลิตไฟฟ้า (Capacity Factor) สูงขึ้นเช่นเดียวกัน

 

ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น มีปริมาณการผลิตไฟฟ้าและ Capacity Factor เพิ่มขึ้นเช่นกัน ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม Vinh Chau ระยะที่ 1ในเวียดนามมีความคืบหน้าในการก่อสร้าง 68% และคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 4 ของปีนี้

 

ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ NBANPU ยังได้ต่อยอดกลยุทธ์ Greener & Smarter โดยเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าใหม่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โรงไฟฟ้า Nakoso IGCC ในญี่ปุ่นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Beryl และ Manildra ในออสเตรเลีย และล่าสุดได้เข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ CCGT ‘Temple I’ ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา

 

  1. กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Technology) ยังคงเร่งพัฒนาผลิตภัณท์และบริการเพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจของกลุ่มบ้านปู (Banpu Ecosystem) โครงการที่สำคัญ ได้แก่ การก่อสร้างโครงการโซลาร์ลอยน้ำขนาด 16 เมกะวัตต์ ที่นิคมหลักชัยเมืองยาง ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าในญี่ปุ่นทำสัญญาระยะเวลา 1 ปีเพิ่มเติมกว่า 10 ฉบับ จากลูกค้ารายใหม่จำนวน 6 ราย มีปริมาณผลิตไฟฟ้า 111 กิกะวัตต์ชั่วโมง 

 

“BANPU มีเงินเตรียมพร้อมรองรับความสามารถในการสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเป้าหมายการมี EBITDA จากธุรกิจพลังงานที่สะอาดขึ้น และเทคโนโลยีพลังงานในสัดส่วนมากกว่า 50% ภายในปี 2568” สมฤดี กล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X