×

ธปท. เตรียมออก Standard Practice ด้านสิ่งแวดล้อมในไตรมาส 3 พร้อมกำหนดให้แบงก์ส่งแผนและเป้าสีเขียวที่จับต้องได้ต้นปีหน้า

23.08.2022
  • LOADING...
ธปท.

ธปท. เตรียมออกมาตรฐานการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับแบงก์พาณิชย์ในไตรมาส 3 โดยกำหนดให้ธนาคารแต่ละแห่งต้องส่งแผนและเป้าหมายสีเขียวที่จับต้องได้ในต้นปีหน้า ขณะเดียวกันจะเริ่มพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านสิ่งแวดล้อมในไตรมาส 4 ปีนี้ และเร่งทำ Taxonomy สำหรับใช้อ้างอิงในระบบ

 

รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้จัดทำ ‘ทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย’ ที่จะถูกใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนภาคการเงินให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและประชาชนทยอยปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างราบรื่น ตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ

 

อย่างไรก็ดี ธปท. ก็ตระหนักว่าการขับเคลื่อนเพื่อปรับตัวจะต้องคำนึงถึงบริบทและความพร้อมของแต่ละภาคเศรษฐกิจด้วย เพราะไทยยังพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลในสัดส่วนที่สูง และใช้เทคโนโลยีแบบดั้งเดิมที่ยังไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร ขณะที่กลไกในระบบการเงินที่จะสร้างแรงจูงใจให้แต่ละภาคส่วนปรับตัว โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้

 

ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมของภาคการเงิน ธปท. จึงออกแบบแผนดำเนินงานที่คำนึงถึงจังหวะเวลาและความเร็วของการดำเนินการที่ชัดเจนและให้มีสมดุลระหว่างการปรับตัวและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยต้องไม่เร่งรัดจนทำให้ภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ปรับตัวไม่ทัน หรือไม่ช้าจนเกินไปจนทำให้เกิดการละเลยหรือเพิกเฉยที่จะปรับตัว จนส่งผลกระทบเชิงลบในระยะยาว ซึ่งแผนดำเนินงานข้างต้นจึงต้องมีการวางรากฐานสำคัญ 5 ด้าน ดังนี้

 

  1. ปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงิน เพื่อให้มีบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ (Products and Services) โดยจะออกแนวนโยบายการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินที่คำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2565 เพื่อให้สถาบันการเงินผนวกแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน และการสร้างแรงจูงใจให้กับธุรกิจผ่านธุรกรรมการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่สามารถรองรับการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ได้อย่างตรงจุด

 

“ภายใต้หมุดที่ 1 นี้ ธนาคารแต่ละแห่งจะต้องจัดทำแผนและกำหนดเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น Net Zero และ Green Loan ที่ไม่ใช่เป้าลอยๆ แต่ต้องจับต้องได้ แล้วส่งให้ ธปท. ในช่วงต้นปีหน้า โดยที่แผนของแต่ละแห่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ซึ่ง ธปท. จะมีการติดตามความคืบหน้าเป็นระยะ” รุ่งกล่าว

 

  1. จัดทำมาตรฐานกลางที่กำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน โดยเริ่มจากการจัดกลุ่มกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจหลักที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนที่สูง อาทิ ภาคพลังงานและภาคการขนส่ง ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2566 ส่วนเฟส 2 จะเป็นภาคเกษตรและอุตสาหกรรม เพื่อให้แต่ละภาคส่วนนำไปใช้อ้างอิงและช่วยให้สามารถประเมินสถานะการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของตนได้

 

“การที่เรายังไม่มี Taxonomy ทำให้เรายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับสินเชื่อสีเขียวของทั้งระบบ แม้ว่าธนาคารแต่ละแห่งจะมีรายงานความยั่งยืนของตัวเอง แต่ด้วยมาตรฐานที่ต่างกัน ทำให้การแยกแยะทำได้ยากและไม่ชัดเจน แต่ในอนาคตเมื่อมี Taxonomy เราก็จะรู้ว่าสินเชื่อสีเขียวในแต่ละปีมีการปล่อยเท่าไรและเติบโตแค่ไหน” รุ่งกล่าว

 

  1. ร่วมพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านสิ่งแวดล้อมและมีมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลของสถาบันการเงิน (Data and Disclosure) โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน ในการพัฒนาฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ในการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ หรือการบริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงตัดสินใจลงทุนหรือเลือกใช้บริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม

 

“ธปท. ต้องการผลักดันให้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐานสากล และจะมีการพัฒนา Data Platform ที่ทำหน้าที่เก็บ เชื่อม และแชร์ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ให้สามารถถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ” รุ่งกล่าว

 

  1. สนับสนุนการสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม (Incentive) เพื่อกระตุ้นให้สถาบันการเงิน ภาคธุรกิจ และผู้บริโภค เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งล่าสุด ธปท. ได้นำร่องโดยการออกมาตรการสินเชื่อเพื่อการปรับตัวภายใต้ พ.ร.ก.ฟื้นฟู เพื่อสนับสนุนวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เหมาะสมแก่ SMEs ในการส่งเสริมศักยภาพธุรกิจ ซึ่งมิติด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในรูปแบบการปรับตัวที่มีความสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันภายใต้กระแสบริบทโลกใหม่

 

“ปัจจุบันเรามีมาตรการสินเชื่อเพื่อการปรับตัวที่ช่วยกลุ่ม SMEs แล้ว แต่ในระยะข้างหน้าจะมีมาตรการเพิ่มอีก ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างศึกษา ซึ่งจะเป็นมาตรการที่เน้นลดต้นทุนและสนับสนุนค่าใช้จ่าย ปัจจุบันในต่างประเทศมีการช่วยออกค่าใช้จ่ายสำหรับการขอใบรับรองหรือ Certificate ให้กับผู้ประกอบการว่าธุรกิจของเขาเป็นสีเขียวจริง เพื่อที่จะได้นำหลักฐานดังกล่าวไปใช้ขอสินเชื่อได้ เราก็อาจจะนำแนวทางนี้มาใช้” รุ่งกล่าว

 

  1. ยกระดับองค์ความรู้และความชำนาญของบุคลากรในภาคการเงิน (Capacity Building) โดยพัฒนาหลักสูตรร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ สามารถประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และให้คำแนะนำแก่ภาคธุรกิจได้อย่างเหมาะสม

 

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การนําเสนอแนวนโยบายของภาคการเงินในการสนับสนุนความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะไทยมีความเสี่ยงสูง เห็นได้จากแรงงานกว่า 1 ใน 3 ของไทยอยู่ในภาคเกษตรที่จะถูกกระทบจาก Climate Change ซึ่งไทยติดอันดับ 9 ของประเทศทั่วโลกที่มีความเสี่ยงสูงจะได้รับผลกระทบด้านนี้ตามดัชนีความเสี่ยง Global Climate Risk Index ในปี 2564 อีกทั้งการผลิตกว่า 13% ของ GDP ในภาคอุตสาหกรรมไทยยังอยู่ในโลกเก่า และอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของสหภาพยุโรป

 

ขณะเดียวกัน ไทยยังมีบางจุดที่ปรับตัวในเรื่องนี้ช้ากว่าประเทศอื่น เห็นได้จากความสามารถในการรับมือภัยธรรมชาติของไทยยังอยู่อันดับ 39 จาก 48 ประเทศ และแม้ธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มปรับตัวไปแล้ว โดยบริษัทไทยเข้าเป็นสมาชิกดัชนี DJSI หรือ Dow Jones Sustainability Index ถึง 24 บริษัท ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ SMEs ที่มีสายป่านสั้นยังปรับตัวได้ยาก โดยเฉพาะ SMEs ที่อยู่ใน Supply Chain ของธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะจะเป็นกลุ่มที่ได้รับแรงกดดันให้ปรับตัวก่อน

 

ผู้ว่า ธปท. ระบุว่า ภาคการเงินจะต้องมีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนให้เกิดการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม เพราะมีหน้าที่จัดสรรเงินทุนให้แก่ภาคเศรษฐกิจและสามารถจูงใจให้เกิดการปรับตัว อีกทั้งภาคการเงินเองยังมีส่วนได้ส่วนเสียจากการมี Exposure กับลูกหนี้ธุรกิจและครัวเรือนที่จะได้รับผลกระทบ

 

อย่างไรก็ดี การทําหน้าที่ของภาคการเงินเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนโดยสร้างผลข้างเคียงให้น้อยที่สุด จะต้องสร้างสมดุลระหว่างความสามารถในการปรับตัวและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยการดำเนินการต้องไม่เร็วเกินไปจนภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ปรับตัวไม่ทัน แต่ก็ต้องไม่ช้าเกินไปจนผลกระทบลุกลามและแก้ไขได้ยาก ดังนั้นจังหวะเวลา (Timing) และความเร็ว (Speed) ของการดำเนินการจึงต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศและแต่ละภาคส่วน

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X