ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาชิกของสมาคมธนาคารไทยอยู่ระหว่างการหารือร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปเรื่องการปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมของทั้งระบบ เพื่อให้ต้นทุนกับรูปแบบของการให้บริการมีความสอดคล้องกันมากขึ้นและไม่บิดเบี้ยว ก่อนที่จะนำเสนอต่อไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
“การปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของกำไร แต่เป็นการทำให้ต้นทุนและรูปแบบการให้บริการมีความสอดคล้องกัน ปัจจุบันไทยเป็นประเทศเดียวที่การทำธุรกรรมดิจิทัลฟรี ถามว่าต้นทุนในส่วนนี้ใครเป็นคนจ่าย ปัญหาคือคนใช้ไม่ได้จ่าย ในขณะที่แบงก์เองมีต้นทุนและต้องเอารายได้ตรงอื่นมาโปะตรงนี้ ทำให้โครงสร้างมันบิดเบี้ยว” ผยงกล่าว
ผยงกล่าวว่า การปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมให้สะท้อนความจริงมากขึ้นจะช่วยรักษาประสิทธิภาพของระบบเอาไว้ในระยะยาว เนื่องจากในระยะต่อไปสถาบันการเงินก็ยังต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีอย่างต่อเนื่อง เช่น สาธารณูปโภคที่ใช้ร่วมกัน (Common Utilities) ความเชื่อมโยง (Connectivity) และมาตรฐานการทำงานร่วมกัน (Interoperability) รวมถึงการลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางไซเบอร์และการป้องกันการทุจริตรูปแบบใหม่ๆ
“เรามีของใหม่ที่ต้องลงทุน ของเก่าเราจะทิ้งไว้เป็นต้นทุน ในขณะที่คนเข้าถึงเริ่มลดลงเรื่อยๆ ก็คงทำได้ยาก การเปลี่ยนผ่านตรงนี้ต้องมีการปรับ ไม่งั้นระบบมันจะหย่อนประสิทธิภาพลงไปและไม่มีประโยชน์กับใคร ซึ่งตอนนี้ในสมาคมกำลังเร่งคุยกันอยู่ แต่ยังไม่สามารถให้ไทม์ไลน์ได้ว่าจะประกาศออกมาเมื่อไร โดยในรอบนี้เราตระหนักดีว่าต้องสื่อสารและทำความเข้าใจกับผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้น” ผยงกล่าว
ก่อนหน้านี้ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ธปท. มีแผนจะพูดคุยกับสถาบันการเงินทั้งระบบในเรื่องของโครงสร้างราคา โดยเฉพาะการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านช่องทางต่างๆ ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความจริง โดยจะมีการดูในเรื่องของโครงสร้างที่จะเดินไปสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless) ซึ่งจำเป็นต้องดูแลทั้งกลุ่มคนที่มีความพร้อมและไม่พร้อมเข้าสู่ดิจิทัล
เศรษฐพุฒิระบุว่า สิ่งที่ ธปท. อยากเห็นคือราคาและโครงสร้างที่มีความสอดคล้องกัน โดยปัจจุบัน ธปท. ได้เริ่มพูดคุยกับสถาบันการเงินไปบ้างแล้ว โดยการปรับของแต่ละกลุ่มอาจไม่เท่ากัน แต่ทิศทางของทั้งระบบจะต้องไปในทางเดียวกัน และคาดว่าภายในปีนี้น่าจะมีความชัดเจนในประเด็นนี้ขึ้น
ขณะที่ กฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ได้ให้ความเห็นกับสื่อมวลชนเมื่อไม่นานมานี้ว่า การที่รายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารทั้งระบบในช่วงที่ผ่านมาปรับลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนของบริการบางประเภทที่ยังอยู่ในระดับสูง แต่รายได้ของธนาคารไม่ได้ปรับสูงขึ้นตาม เช่น กรณีของตู้ ATM ที่แม้สังคมไทยจะขยับจากการเป็นสังคมเงินสดไปเป็นการทำธุรกรรมดิจิทัลมากขึ้น แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ยังใช้เงินสดอยู่ ทำให้ธนาคารยังต้องเก็บโครงสร้างของโลกยุคเดิมเอาไว้เพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มนี้ด้วย
กฤษณ์ระบุว่า ตู้ ATM ถือเป็นบริการที่มีต้นทุนสูง เพราะธนาคารต้องอัปเกรดระบบซอฟต์แวร์ของตู้ตลอด ทำให้ต้นทุนบางอย่างเกิด Mismatch ซึ่งในสมาคมธนาคารไทยก็มีการพูดคุยกันในประเด็นนี้ โดยแนวทางแก้ไขเบื้องต้นที่มองไว้ 2 ทางคือ 1. ผลักดันให้เกิดสังคมไร้เงินสดในวงกว้างและเร็วขึ้น กับ 2. การร่วมกับพันธมิตรเพื่อแชร์ต้นทุนและความเสี่ยงเพื่อลดต้นทุน
“ตอนนี้เรายังมุ่งมั่นไปในแนวทางแรก คือช่วยกันส่งเสริมให้คนใช้ธุรกรรมดิจิทัลมากขึ้น ส่วนค่าธรรมเนียมจะมีการปรับขึ้นหรือไม่คงต้องดูตามความเหมาะสม ถ้าไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมเราจะไม่ปรับ การปรับขึ้นจะต้องอธิบายได้ว่าทำไมต้องปรับ ต้นทุนส่วนไหนเพิ่มขึ้น” กฤษณ์กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ดีเดย์ มิ.ย. นี้ ผู้ใช้งาน Mobile Banking ต้องสแกนใบหน้ายืนยันตัวตน กรณีโอนเงินมากกว่า 50,000 บาทต่อรายการ
- ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Banking) โอกาสหรือความเสี่ยงสำหรับนักลงทุน
- Banking for Net Zero: ธนาคารกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจไร้คาร์บอน