×

Banking for Net Zero: ธนาคารกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจไร้คาร์บอน

18.02.2023
  • LOADING...

เมื่อการปล่อยคาร์บอนมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ภาคธนาคารควรมีบทบาทอย่างไรในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจสู่ Net Zero 

 

ภาคธนาคารจะสนับสนุนและผลักดันให้ภาคเศรษฐกิจจริงลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร จะช่วยจัดสรรเงินทุนไปสู่การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและงานวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อ ‘ปฏิวัติอุตสาหกรรม’ ไปสู่โลกไร้คาร์บอนได้อย่างไร


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ประชาคมโลกและธนาคารชั้นนำได้ตระหนักถึงบทบาทของภาคธนาคารในการขับเคลื่อนวาระ Net Zero มากขึ้น และได้เริ่มเคลื่อนไหวในทิศทางนี้อย่างชัดเจน

 

ในปี 2021 องค์กร The United Nations Environmental Programme Finance Initiative (UNEP-FI) ได้ริเริ่มจัดตั้งกลุ่ม Net Zero Banking Alliance (NZBA) ขึ้น โดยเชิญชวนให้ธนาคารเข้ามาเป็นสมาชิก และแสดงเจตนารมณ์ในการลดก๊าซเรือนกระจกในพอร์ตโฟลิโอของธนาคารสู่ Net Zero ภายในปี 2050 

 

ปัจจุบัน NZBA มีสมาชิกเป็นธนาคารชั้นนำกว่า 126 ธนาคาร จาก 41 ประเทศ ยกตัวอย่างเช่น Bank of America Citi JPMorgan Chase Goldman Sachs ของสหรัฐอเมริกา Barclays และ Standard Chartered ของสหราชอาณาจักร UBS และ Credit Suisse ของสวิตเซอร์แลนด์ MUFG, SMBC, Mizuho และ Nomura ของญี่ปุ่น DBS, UOB และ OCBC ของสิงคโปร์ HSBC ของฮ่องกง แต่ปัจจุบันยังไม่มีธนาคารของไทยเข้าเป็นสมาชิก

 

ธนาคารที่เป็นสมาชิก NZBA มีสินทรัพย์รวมกันกว่า 73 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นประมาณ 41% ของสินทรัพย์ทั้งหมดในระบบธนาคารโลก 

 

ธนาคารที่เป็นสมาชิก NZBA ต้องให้คำมั่นว่าจะตั้งเป้าหมายระยะสั้น (2030) และระยะยาว (2050) ในการลดก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากการให้สินเชื่อของตัวเอง หรือที่เราเรียกว่า Financed Emissions 

 

โดยเป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนจะต้องครอบคลุมภาคธุรกิจ (Sectors) ในพอร์ตโฟลิโอของธนาคารที่เป็นต้นตอสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ถ่านหิน ปิโตรเลียม (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) การผลิตไฟฟ้า เหล็กกล้า และซีเมนต์ เป็นต้น 

 

ธนาคารไม่ใช่แค่จะลดก๊าซเรือนกระจกในสำนักงานของตัวเอง (Scope 1 และ 2) แต่จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจที่ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ (Scope 3)

 

พูดง่ายๆ คือ ธนาคารจะต้องเป็นคนไปพูดคุยกับลูกค้าธุรกิจของตัวเอง เพื่อผลักดันให้ลูกค้าปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ให้ลูกค้าเริ่มจัดทำและดำเนินแผนการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero (Net Zero Transition Plan) เราเรียกกระบวนการที่ธนาคารมีบทบาทในการชี้นำลูกค้านี้ว่า Client Engagement หรือ Client Stewardship

 

ขณะนี้ธนาคารสมาชิก NZBA หลายแห่งได้เริ่มประกาศเป้าหมายในการลด Financed Emissions ของตัวเองแล้ว ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายหลักจะเกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากภาคธุรกิจพลังงาน เพราะเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอน 

 

ตัวอย่างเช่น HSBC ซึ่งมีฐานลูกค้าหลักอยู่ในเอเชียและตะวันออกกลาง เพิ่งอัปเดตนโยบาย Energy Policy ของตัวเองเมื่อช่วงสิ้นปีที่แล้ว มีจุดมุ่งหมายที่จะจัดสรรเงินทุนเพื่อขับเคลื่อนภาคพลังงานให้เปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ภายในปี 2050 โดยประกาศเลิกปล่อยสินเชื่อให้โครงการที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแหล่งใหม่ (New Oil & Gas Fields) นอกจากนี้ UOB ก็ประกาศคำมั่นสัญญาในลักษณะเดียวกัน 

 

ขณะที่ DBS ได้ประกาศ Net Zero Strategy ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายสำคัญคือ การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมในฐานลูกค้าของธนาคารลงให้ได้ 28% ภายในปี 2030 (เทียบกับปีฐาน 2020) และ 92% ภายในปี 2050 ซึ่งเป็นไปตามเส้นอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ขององค์การพลังงานระหว่างประเทศหรือ IEA

 

บทบาทที่แข็งขันขึ้นของธนาคารในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของภาคพลังงานเกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่า ทุกวันนี้โลกยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ในระดับสูง โดยถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติคิดเป็นสัดส่วนราว 80% ของพลังงานทั้งหมด ดังนั้น การจะเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจโลกสู่ Net Zero จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากภาคพลังงานไม่เปลี่ยนผ่านจากพลังงานสกปรกที่ปล่อยคาร์บอนสูงไปสู่พลังงานสะอาดที่ไร้คาร์บอน

 

ธนาคารต่างมีลูกค้าที่ดำเนินธุรกิจพลังงานปิโตรเลียมจำนวนมาก มูลค่าธุรกิจมหาศาล หากปล่อยไว้เฉยๆ ธนาคารจะต้องแบกรับความเสี่ยงจากกลุ่มธุรกิจพลังงานมากยิ่งขึ้น (Transition Risk) ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลทั่วโลกกำลังทยอยขึ้น ‘ราคาคาร์บอน’ เช่น การเก็บภาษีการปล่อยก๊าซคาร์บอนหรือ Carbon Tax ซึ่งจะมีอัตราสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เป็นต้นทุนที่ธุรกิจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงจะต้องแบกรับ 

 

นอกจากนี้ ธนาคารทั่วโลกยังถูกกดดันอย่างต่อเนื่องจากองค์กรภาคประชาสังคมและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ที่ได้เรียกร้องให้ธนาคารหยุดการให้สินเชื่อกับธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยคาร์บอนสูง 

 

อย่างไรก็ดี ทางออกของธนาคารไม่ใช่การตัดความสัมพันธ์และยกเลิกการให้สินเชื่อกับลูกค้าในกลุ่มปิโตรเลียมโดยทันที แต่ธนาคารจะต้องมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการหารือและสนับสนุนให้ลูกค้าของตัวเองสามารถเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและ Net Zero ได้ในอนาคต 

 

เพราะโจทย์สำคัญของสังคมคือการทำให้ธุรกิจภาคพลังงานเดิมเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดได้จริงในระยะยาว โดยต้องเป็นการเปลี่ยนผ่านที่คำนึงถึงความต้องการการใช้พลังงานของเศรษฐกิจและความมั่นคงทางพลังงาน โดยเฉพาะเศรษฐกิจเอเชียที่ยังพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่สูง การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจึงต้องค่อยเป็นค่อยไป โดยลดพลังงานจากถ่านหินและน้ำมันลง ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก่อนที่จะ Scale up พลังงานหมุนเวียนให้ได้เต็มที่ 

 

ธนาคารต่างๆ จึงเริ่มกำหนดให้ลูกค้าในกลุ่มพลังงานจะต้องจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านหรือ Transition Plan โดยธนาคารจะหารือกับลูกค้าและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการเปลี่ยนผ่านอย่างใกล้ชิด หากลูกค้ารายใดไม่ทำตามแผนอย่างจริงจัง ไม่ดำเนินงานเพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่โลกไร้คาร์บอน ธนาคารก็อาจจะเตือนและกระตุ้นให้ทำตามแผน และหากถึงที่สุดธนาคารก็อาจจะพิจารณายุติการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ารายนั้นได้ ถือเป็นทางออกสุดท้ายที่ไม่มีใครอยากเห็น

 

บทบาทของธนาคารในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจริงสู่ Net Zero ไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่ในภาคพลังงานเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการให้สินเชื่อเพื่อช่วยในภาคธุรกิจอื่นๆ เปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ด้วย โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเข้มข้นสูง (Carbon-Intensive Sectors) เช่น ซีเมนต์ เหล็กกล้า การขนส่งทั้งทางรถ ทางเรือ ทางอากาศ การผลิตอาหารและเกษตร อสังหาริมทรัพย์ เคมีภัณฑ์ ฯลฯ 

 

กลยุทธ์สู่ Net Zero ของธนาคาร DBS และ UOB ได้กำหนดเป้าหมายการลดคาร์บอนของ Sector ต่างๆ ที่อยู่ในพอร์ตโฟลิโอของธนาคารไว้อย่างชัดเจน โดยมีทั้งเป้าหมายระยะกลางสำหรับปี 2030 และเป้าหมายระยะไกลในปี 2050 ซึ่งเป็นเป้าการลดก๊าซที่อิงกับหลักวิทยาศาสตร์ และสอดคล้องกับเส้นอ้างอิง (Transition Pathways) ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดย Transition Pathways จะชี้ว่าธุรกิจในแต่ละ Sector จะต้องลดก๊าซคาร์บอนลงแค่ไหนในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้เดินไปสู่จุดหมายสูงสุดคือ Net Zero ในปี 2050 

 

ธนาคารจะกำหนดกลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อที่จะช่วยให้ลูกค้าธุรกิจในแต่ละ Sector ลงทุนขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจแบบใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนหรือ Decarbonization Technology  

 

ธนาคารอาจปล่อยกู้ให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สร้างหรือปรับปรุงอาคารสำนักงานให้เป็นอาคารแบบ Zero Energy หรือ Positive Energy คือใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์หรือเป็นบวกตามมาตรฐานสากล หรือธนาคารอาจปล่อยกู้ให้อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ติดตั้งแผงโซลาร์บนอาคารโรงงานและเปลี่ยนเครื่องจักรในกระบวนการผลิตจากเครื่องที่ใช้พลังงานถ่านหินมาเป็นพลังงานก๊าซธรรมชาติที่สะอาดขึ้น หรือธนาคารอาจปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้อุตสาหกรรมเหล็กกล้า เปลี่ยนวิธีการผลิตจากแบบดั้งเดิมที่ใช้ Blast Furnace มาเป็นแบบ Green Steel โดยใช้ไฮโดรเจน หรือปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ผู้บริโภคซื้อรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV และปล่อยสินเชื่อให้ภาคธุรกิจติดตั้งแท่นชาร์จ EV เพิ่มเติม หรือปล่อยสินเชื่อให้บริษัทเดินเรือขนส่งสินค้าให้ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์บนเรือให้สามารถใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดกว่าน้ำมันดีเซล อาทิ แอมโมเนีย และ Biofuels เป็นต้น

 

ธนาคารบางแห่งเริ่มจัดตั้งทีมงานพิเศษขึ้นมาเพื่อช่วยลูกค้าในการขับเคลื่อนสู่ Net Zero อาทิ Standard Chartered ตั้งทีม Transition Acceleration Team เพื่อช่วยแนะนำลูกค้าธุรกิจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงเป็นการเฉพาะ 

 

ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารชั้นนำแห่งหนึ่งเคยพูดไว้ว่า การขับเคลื่อน Net Zero เป็นโจทย์ที่ทั้งใหม่และทั้งยากสำหรับธนาคาร เพราะโดยเนื้อแท้มันคือการปฏิรูปทิศทางและแนวนโยบายการปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้าธุรกิจของธนาคารครั้งสำคัญ โดยนำเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกของลูกค้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณา 

 

แน่นอนว่าเรื่องนี้มีอุปสรรคความท้าทายมากมายที่ธนาคารจะต้องฝ่าฟัน ซึ่งผมมองว่าธนาคารจะดำเนินกลยุทธ์ Net Zero ให้สำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัย ‘บันได 5 ขั้น’ 

 

บันไดขั้นแรก คือ Commitment การส่งสัญญาณที่ชัดเจนจากซีอีโอของธนาคารหรือ Tone from the Top ทุกวันนี้เราเห็นซีอีโอ รวมถึงกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของธนาคารชั้นนำของโลกและภูมิภาคออกมาพูดเรื่อง Net Zero ในเวทีต่างๆ จนเป็นเรื่องธรรมดา เพื่อแสดงภาวะผู้นำ สื่อสารให้โลกรู้ว่าธนาคารจะทำเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero นี้อย่างจริงจังและทันที การเข้าร่วมเป็นสมาชิก NZBA เป็นหนึ่งในการส่งสัญญาณที่เป็นรูปธรรมที่ผู้นำธนาคารต่างๆ ควรทำ

 

บันไดขั้นที่สอง คือ Capacity Building การศึกษาหาความรู้และพัฒนาคน เพื่อยกระดับขีดความสามารถของธนาคารในด้าน Net Zero ตั้งแต่ระดับบอร์ดบริหาร ผู้บริหารระดับสูง ไปจนถึงทีมความเสี่ยง ทีม Relationship Managers และ Sector Experts ที่ดูแลลูกค้าธุรกิจในแต่ละกลุ่ม

 

เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ธนาคารจำเป็นต้องลงทุนในการสร้างและเพิ่มศักยภาพของทีมงานด้านความยั่งยืนของธนาคาร ธนาคารหลายแห่งได้แต่งตั้ง Chief Sustainability Officer (CSO) หรือขึ้นมาลุยเรื่องนี้ รวมทั้งตั้งทีมงานด้าน Climate Transition ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ธนาคารจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ ทั้งเรื่องการจัดทำ Net Zero Transition Plan ต้องทำความเข้าใจถึงเทคโนโลยีการลดก๊าซคาร์บอน และ Decarbonisation Pathways ของภาคธุรกิจต่างๆ ต้องศึกษาแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศใน พ.ศ. 2564-2573 ให้ถ่องแท้

 

เพราะถ้าธนาคารไม่มีความรู้เรื่องเหล่านี้ ก็จะไม่สามารถช่วยลูกค้าในแต่ละ Sector เปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ได้ ทั้งนี้ แน่นอนว่าธนาคารสามารถใช้บริการบริษัทที่ปรึกษาหรือ Consultants เข้ามาช่วยในเรื่องนี้โดยเฉพาะในช่วงแรก แต่ในระยะยาวธนาคารหลีกเลี่ยงการลงทุนในทีมงาน In House ของตัวเองไม่ได้

 

สำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ GFANZ (Glasgow Financial Alliance for Net Zero) กำลังทำงานเรื่อง Outreach และ Capacity Building กับสถาบันการเงินในภูมิภาค ซึ่งธนาคารในอาเซียนควรพูดคุยกับ GFANZ และใช้ประโยชน์จากโครงการในด้านนี้

 

บันไดขั้นที่สาม คือ Client Engagement & Stewardship หรือการคุยกับลูกค้า ลูกค้าธนาคารมีหลายกลุ่มหลายก้อน บางกลุ่มลูกค้าอาจตระหนักดีถึงเรื่อง Net Zero และได้ดำเนินการตั้งเป้าหมายการลดคาร์บอนมานานแล้ว บางกลุ่มลูกค้าอาจจะเพิ่งเริ่ม หรือบางกลุ่มอาจจะยังไม่มีความตระหนักสนใจในเรื่องนี้เลย หรือแม้แต่อาจมองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำ

 

ธนาคารต้องคุยกับลูกค้ากลุ่มต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้รู้ว่าลูกค้ามีเป้าหมายและกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านสู่โลกไร้คาร์บอนหรือยัง ถ้ามีแล้ว เป็นแผนที่มีคุณภาพและทำได้จริงแค่ไหน ถ้ายังไม่มี ธนาคารต้องกระตุ้นให้ลูกค้าเริ่มทำ ชี้ให้ลูกค้าเห็นถึงความเสี่ยงต่อความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจที่ปรับตัวช้า รวมทั้งต้องพยายามเข้าใจถึงปัญหาอุปสรรคที่ลูกค้าต้องเจอในการลดก๊าซเรือนกระจก และโอกาสที่ธนาคารจะสามารถช่วยปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนลูกค้าในเรื่องนี้

 

ตัวอย่างหนึ่งคือธนาคาร Mizuho ซึ่งได้จัดทำกรอบการประเมินความน่าเชื่อถือ (Credibility) ของแผนการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ของลูกค้าธุรกิจ โดยกำหนดเกณฑ์และขั้นตอนการประเมินไว้ชัดเจน

 

บันไดขั้นที่สี่ คือ Data ธนาคารต้องลงทุนในการพัฒนาฐานข้อมูลด้าน Climate ทิศทางของโลกมีความชัดเจนว่าการเปิดเผยข้อมูลเรื่อง Financed Emission จะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา (Norm) ที่สถาบันการเงินจะต้องรายงาน เหมือนกับที่รายงานตัวเลขทางการเงินใน Financial Statements ธนาคารจึงจำเป็นต้องพัฒนาฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจก และต้องกระตุ้นให้ลูกค้าภาคธุรกิจของตัวเองลงทุนในเรื่องนี้เช่นกัน

 

ที่สำคัญ ธนาคารจำเป็นต้องมีข้อมูลชุดนี้เพื่อ Monitor ว่าลูกค้าธุรกิจแต่ละรายมีพัฒนาการในการลดก๊าซเรือนกระจกที่น่าพอใจแค่ไหน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อธนาคารทั้งในการประเมินความเสี่ยง (Transition Risk) และการตัดสินใจให้สินเชื่อแก่ธุรกิจ

 

บันไดขั้นที่ห้า คือ Action ลงมือริเริ่มทำแผน Net Zero Transition Plan พร้อมกำหนดเป้าหมายการลด Financed Emissions ครอบคลุมภาคธุรกิจที่เป็นลูกค้าสำคัญของธนาคารที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เหมือนกับที่ธนาคารชั้นนำได้เริ่มประกาศแผน Transition Plan หลายแห่ง 

 

ธนาคารไม่จำเป็นต้องรอให้ทุกอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้วจึงค่อยจัดทำแผน แต่สามารถริเริ่มทำได้เลยในภาคธุรกิจที่มีความพร้อมในระดับหนึ่ง อาจเริ่มจากการตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจพลังงานก่อนก็ได้ เพราะเป็น Sector ที่สำคัญที่สุดในเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero

 

อ่านมาถึงตรงนี้ นายแบงก์หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ทำไมธนาคารจะต้องมาแบกรับบทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนการลดคาร์บอนในภาคธุรกิจด้วย ธนาคารน่าจะแค่ปล่อยสินเชื่อโดยคำนึงถึงความเสี่ยงและผลตอบแทนแบบที่เคยทำมาก็น่าจะเพียงพอแล้ว

 

ผมคิดว่านอกจากที่การกู้วิกฤตโลกร้อนมันถือเป็นวาระแห่งมวลมนุษยชาติที่ทุกองค์กรทุกภาคส่วนมีความรับผิดชอบร่วมกันแล้ว ยังมีปัจจัยหลายเรื่องที่กำลังผลักดันให้ธนาคารและภาคการเงินโดยรวมต้องทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง มีแรงกดดันจากกระแสโลก จากภาคประชาสังคม จากมาตรฐานและกฎเกณฑ์สากลที่กำลังทวีความเข้มข้นขึ้น ธนาคารในบ้านเราแม้จะมีฐานลูกค้าในประเทศเป็นหลัก แต่ก็จะได้สัมผัสถึงแรงผลักดันเหล่านี้ รวมทั้งมีแนวโน้มสูงที่ภาครัฐและผู้กำกับดูแลอย่าง ธปท. และ กลต. จะเพิ่มกฎระเบียบในเรื่องนี้ในอนาคต หากธนาคารใดปรับตัวช้าก็อาจจะ ‘ตกขบวน’ หรืออาจกระทบต่อภาพลักษณ์ของธนาคารในสายตาของสาธารณชน 

 

แต่ที่สำคัญที่สุด การเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจสู่โลกไร้คาร์บอน คือโอกาสในการลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของสถาบันการเงิน มันคือ Growth Area ใหม่ที่ธนาคารไม่ควรพลาดในการเข้ามาแสวงหากำไรจากการเปลี่ยนโลก

 

แน่นอนว่าความสำเร็จหรือล้มเหลวในเรื่อง Net Zero ไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาคธนาคารเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัย Action จากทุกภาคส่วน ทั้งภาคเศรษฐกิจจริงที่จะต้องตระหนักและทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งนโยบายและกฎระเบียบจากภาครัฐและผู้กำกับดูแล ที่จะต้องสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม สร้างภูมิทัศน์หรือระบบนิเวศทางการเงินแบบยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศ (เช่น การจัดทำ Taxonomy ที่ไทยกำลังดำเนินการ) และต้องเร่งพัฒนาแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนสำหรับภาคธุรกิจและภาคการเงิน ซึ่งผมจะเขียนถึงบทบาทของภาครัฐในโอกาสต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising