เกิดอะไรขึ้น:
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า วันที่ 19 สิงหาคม 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสถาบันการเงิน (กนส.) มีมติเห็นชอบมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม ได้แก่
- ขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF เหลือ 0.23% จาก 0.46% ต่อปี (เดิมจะสิ้นสุดในสิ้นปี 2564) ออกไปจนถึงสิ้นปี 2565
- การผ่อนผันการจัดชั้นหนี้ โดย ธปท. จะอนุญาตให้สถาบันการเงินสามารถคงการจัดชั้นสำหรับลูกหนี้รายย่อย และ SMEs ที่เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วได้จนถึง 31 มีนาคม 2565 เพื่อเอื้อให้สถาบันการเงินและลูกหนี้มีเวลาเพียงพอในการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิผลในระยะยาว
นอกจากนี้ ธปท. จะผ่อนผันการจัดชั้นหนี้และการกันเงินสำรองสำหรับลูกหนี้สินเชื่อที่เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จในระยะยาวไปจนถึงสิ้นปี 2566 โดยก่อนหน้านี้ ธปท. ได้อนุญาตให้ผ่อนผันการจัดชั้นหนี้และการกันเงินสำรองสำหรับลูกหนี้สินเชื่อภายใต้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะสั้นไปจนถึงสิ้นปี 2564
- สินเชื่อฟื้นฟูสำหรับลูกหนี้ SMEs โดย ธปท. จะขยายเพดานวงเงินสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ซอฟต์โลนที่มีคุณสมบัติตามกำหนด และปรับลดค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขโครงการค้ำประกันสินเชื่อ
- มาตรการสำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล โดย ธปท. จะคงอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำไว้ที่ 5% และขยายเพดานวงเงินบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท) เป็นไม่เกิน 2 เท่าของรายได้ ไปจนถึงสิ้นปี 2565
กระทบอย่างไร:
วันนี้ (23 สิงหาคม 2564) ราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร (SETBANK) ตอบรับเชิงบวก โดยปรับตัวขึ้น 5.09%DoD ซึ่งปรับตัวตัวขึ้นโดดเด่นกว่า SET Index ที่ปรับตัวขึ้น 18.40 จุด หรือเพิ่มขึ้น 1.18%DoD สู่ระดับ 1,571.58 จุด
โดยราคาหุ้น KBANK ปรับตัวขึ้น 7.37%DoD สู่ระดับ 116.50 บาท
ราคาหุ้น BBL ปรับตัวขึ้น 6.73%DoD สู่ระดับ 111.00 บาท
ราคาหุ้น SCB ปรับตัวขึ้น 5.32%DoD สู่ระดับ 104.00 บาท
ราคาหุ้น TTB ปรับตัวขึ้น 5.05%DoD สู่ระดับ 1.04 บาท
ราคาหุ้น KTB ปรับตัวขึ้น 3.85%DoD สู่ระดับ 10.80 บาท
ราคาหุ้น TISCO ปรับตัวขึ้น 2.20%DoD สู่ระดับ 92.75 บาท
ราคาหุ้น TCAP ปรับตัวขึ้น 1.45%DoD สู่ระดับ 35.00 บาท
(ข้อมูล ณ เวลา 12.30 น.)
มุมมองต่อมาตรการ:
SCBS มีมุมมองเชิงบวกต่อมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม โดยหลังจาก ธปท. ขยายเวลาลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF จนถึงสิ้นปี 2565 จะทำให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin: NIM) ของกลุ่มธนาคารในปี 2565 เพิ่มขึ้นราว 12 BPS ซึ่งหนุนให้ประมาณการกำไรปี 2565 ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นอีก 7% ทั้งนี้ SCBS มองว่าผลกระทบเชิงบวกของการขยายเวลาลดอัตรานำส่งเงินกองทุนฯ จะถูกลดทอนลงบางส่วนจากการให้สินเชื่อจากการปรับโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จ
นอกจากนี้ SCBS มองว่ามาตรการผ่อนผันการจัดชั้นหนี้และการกันเงินสำรองสำหรับลูกหนี้สินเชื่อที่เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จในระยะยาวจะช่วยลดแรงกดดันต่อภาระการตั้งสำรองของธนาคาร และสร้างความมั่นใจว่า Credit Cost จะลดลงในปี 2565 โดย SCBS คาดว่า Credit Cost โดยเฉลี่ยของกลุ่มธนาคารจะลดลง 26 BPS ในปี 2564 และ 21 BPS ในปี 2565
เตรียมพบกับฟอรัมที่ผู้บริหาร ‘ต้องดู’ ก่อนวางแผนกลยุทธ์ปีหน้า! The Secret Sauce Strategy Forum คัมภีร์กลยุทธ์ฝ่าวิกฤตปี 2022
📌 เฟรมเวิร์กกลยุทธ์ใช้ได้จริง
📌 ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทย–โลก
📌 เทรนด์ผู้บริโภค–การตลาด
📌 เคสจริงจากผู้บริหาร
พิเศษ! บัตร Early Bird 999 บาท วันนี้ถึง 27 สิงหาคมนี้เท่านั้น
ซื้อบัตรได้แล้วที่ www.zipeventapp.com/e/the-secret-sauce