×

‘หุ้นแบงก์’ คลายกังวล NPL พุ่ง หลังแบงก์ชาติออกมาตรการดูแลเพิ่ม นักวิเคราะห์ฟันธงราคายังมีอัพไซด์ แม้ปีนี้ปรับขึ้นมาแล้ว 18-19%

30.03.2021
  • LOADING...
‘หุ้นแบงก์’ คลายกังวล NPL พุ่ง หลังแบงก์ชาติออกมาตรการดูแลเพิ่ม นักวิเคราะห์ฟันธงราคายังมีอัพไซด์ แม้ปีนี้ปรับขึ้นมาแล้ว 18-19%

จากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่ง บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ได้สรุปไว้ดังนี้

 

1. มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท (ซอฟต์โลน) โดยเพิ่มวงเงินสินเชื่อขึ้นจากเดิมจำกัดที่ 20% ของยอดหนี้คงเหลือ เป็น 30% ของวงเงินสินเชื่อ แต่ไม่เกิน 150 ล้านบาทต่อราย 

 

2. ขยายระยะเวลาของสินเชื่อ จากเดิมมีอายุโครงการ 2 ปี เป็น 5 ปี และปรับเพดานดอกเบี้ยของซอฟต์โลนขึ้นจากเดิมที่ 2% ตลอดอายุสินเชื่อ เป็น 2% ในช่วง 2 ปีแรก และเฉลี่ยไม่เกิน 5% ในช่วง 5 ปี

 

3. เพิ่มสัดส่วนการค้ำประกัน โดย บสย. จะเข้ามาเป็นผู้รับประกันสินเชื่อ จากเดิมช่วยชดเชยความเสียหาย 60-70% โดยมีการแชร์มูลค่าหลักประกัน (อัตราการชดเชยจริงจะไม่สูงนัก) เป็นช่วยชดเชยไม่เกิน 40% ของพอร์ตสินเชื่อโดยไม่ต้องแชร์มูลค่าหลักประกัน ในกรณีที่ลูกหนี้ตามมาตรการตกชั้นเป็นหนี้เสีย รวมทั้งขยายระยะเวลาค้ำประกันจากเดิมที่ 2 ปี เป็น 10 ปี

 

ขณะที่มาตรการ ‘พักทรัพย์ พักหนี้’ วงเงิน 1 แสนล้านบาท จัดเป็นโครงการภาคสมัครใจที่ช่วยปลดภาระหนี้ให้กับลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ โดยลูกหนี้สามารถเลือกตีโอนหลักทรัพย์ค้ำประกันให้กับธนาคารเพื่อชำระหนี้ พร้อมกับทำสัญญาซื้อคืนในเวลา 3-5 ปีในราคาเดียวกับต้นทุนรับโอน รวมกับต้นทุนในการจัดเก็บ (Carrying Cost) และค่าใช้จ่ายตามจริง (ค่าประกัน, ค่าน้ำ/ไฟ และอื่นๆ) ซึ่งระหว่างนี้สามารถเช่าหลักประกันเพื่อดำเนินธุรกิจต่อได้ โดยค่าเช่าที่จ่ายจะถูกนำไปหักกับราคาซื้อคืนด้วย

 

โดยรวมมองว่ามาตรการดังกล่าวถือเป็นบวกกับหุ้นกลุ่มแบงก์ คาดว่าจะช่วยจำกัดความเสี่ยงเรื่องหนี้เสีย (NPL) ได้ดีขึ้น และน่าจะจูงใจให้แบงก์ปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มผลประกอบการของกลุ่มแบงก์ช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ คาดกำไรสุทธิของกลุ่มจะอ่อนตัวลงทั้งจากปีก่อนและจากไตรมาสก่อน เนื่องจากปีก่อนการดำเนินงานของแบงก์ยังไม่ได้ผลกระทบจากโควิด-19 ส่วนการลดลงของกำไรกลุ่มจากไตรมาสก่อนกดดันจากการกลับมาตั้งสำรองของ KBANK รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมที่สะดุดชั่วคราวจากการกลับมาล็อกดาวน์บางส่วน นอกจากนี้หลายธนาคารจะมีบันทึกผลขาดทุนเนื่องจากบอนด์ยีลด์ไทยที่ดีดตัวขึ้น 0.64% 

 

ด้าน กรกช เสวตร์ครุตมัต นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย มองว่ามาตรการเพิ่มเติมดังกล่าวถือเป็นปัจจัยบวกอ่อนๆ ต่อกลุ่มแบงก์ โดยเฉพาะการตรึงไม่ให้ NPL ในระบบพุ่งขึ้นเร็ว จากเดิมที่คาดว่า NPL อาจจะกระโดดไปถึงระดับ 6-7% จากปัจจุบันที่เกือบ 4% อาจจะเห็นการปรับขึ้นไม่มากนัก 

 

นอกจากนี้ด้วยวงเงิน 2.5 แสนล้านบาทสำหรับซอฟต์โลน และ 1 แสนล้านบาทสำหรับมาตรการพักหนี้ถือว่าค่อนข้างมีนัยสำคัญ อย่างลูกหนี้ฝั่งธุรกิจที่อยู่ภายใต้การช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ที่ราว 1 ล้านล้านบาท เท่ากับว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยผ่อนคลายไปได้ 25% ขณะเดียวกันการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเป็น 5% น่าจะจูงใจให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ด้วยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ที่แบงก์ได้รับสูงขึ้น 

 

“เรามองว่านโยบายดังกล่าวจะเป็นบวกกับหุ้นแบงก์ใหญ่มากกว่า ด้วยเป้าหมายที่มุ่งช่วยธุรกิจในภาคท่องเที่ยว ซึ่งส่วนมากเป็นธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจ SMEs โดยแบงก์ที่น่าจะได้ประโยชน์หลักๆ คือ BBL, SCB และ TMB” 

 

โดยภาพรวมยังคงมุมมองบวกต่อกลุ่มธนาคารจากสภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้น ขณะที่ราคาหุ้นของบางแบงก์ยังพอมีอัพไซด์อยู่ ได้แก่ BBL, TMB และ KTB ซึ่งมีอัพไซด์ราว 20-25% 

 

ขณะที่ ธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่าโดยภาพรวมมาตรการนี้ถือเป็นบวกต่อหุ้นกลุ่มแบงก์ โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่อย่าง SCB และ KBANK ซึ่งมีลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันการปรับเพดานดอกเบี้ยของซอฟต์โลนจะทำให้แบงก์มีแรงจูงใจในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นของ SCB (+27.4%) และ KBANK (+29.6%) ในช่วงปีนี้ปรับขึ้นมาจนเกินกว่าราคาเหมาะสมแล้ว จึงไม่แนะนำเข้าลงทุน ส่วนหุ้นในกลุ่มแบงก์ที่ยังน่าสนใจเข้าลงทุนคือ BBL ซึ่งราคาหุ้นยัง Laggard และกำไรปีนี้มีแนวโน้มเติบโตได้ รวมถึง TISCO ซึ่งโดดเด่นจากเงินปันผลที่กำลังจะจ่าย คิดเป็นอัตราเงินปันผลกว่า 6% 

 

“หากมองภาพรวมของทั้งกลุ่มหลังจากราคาหุ้นปรับขึ้นมาในระดับหนึ่งแล้ว เราให้น้ำหนักเพียงเท่ากับตลาด โดยเน้นกลยุทธ์เลือกซื้อเป็นรายตัว (Selective Buy) คือ BBL และ TISCO ส่วน SCB และ KBANK ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือมากที่สุดอาจจะเป็นการเข้าซื้อตามโมเมนตัมเท่านั้น” 

 

ทั้งนี้ ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ตั้งแต่ต้นปี 2564 จนถึง 26 มีนาคมที่ผ่านมาพุ่งขึ้นมาแล้ว 18.61% เทียบกับดัชนี SET ที่ปรับขึ้น 8.66% โดย CIMBT เพิ่มขึ้นมากที่สุด +53.33% ถัดมาคือ KBANK +29.65% และ SCB +27.43%

 

‘หุ้นแบงก์’ คลายกังวล NPL พุ่ง หลังแบงก์ชาติออกมาตรการดูแลเพิ่ม นักวิเคราะห์ฟันธงราคายังมีอัพไซด์ แม้ปีนี้ปรับขึ้นมาแล้ว 18-19%

 

ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X