×

ธปท. จับมือสมาคมธนาคารไทย ช่วยลูกหนี้ SMEs และรายย่อยจากพิษโควิด ให้ปรับโครงสร้างหนี้เฉลี่ยจาก 3-6 เดือน เป็น 3-5 ปี

03.09.2021
  • LOADING...
ธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs และรายย่อย ให้ปรับโครงสร้างหนี้ยั่งยืนในระยะที่นานขึ้น เฉลี่ยจาก 3-6 เดือน เป็นเฉลี่ย 3-5 ปี ผ่อนจ่ายระดับต่ำก่อนในช่วงแรก แล้วค่อยทยอยเพิ่มเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิดที่ลูกหนี้ยังได้รับผลกระทบหนักจากความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูง ขณะเดียวกันยังตั้งเป้าผลักดัน Soft Loan วงเงิน 3.5 แสนล้านบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้หมด 

 

รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า มาตรการแก้ไขหนี้เดิมและเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ SMEs และรายย่อยในครั้งนี้ ถูกปรับให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นและสถานการณ์ที่ยืดเยื้อ เพื่อช่วยลูกหนี้ที่ยังได้รับผลกระทบหนักให้สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้ ซึ่งได้คำนึงถึงความเป็นธรรมของทั้งกับลูกหนี้และเจ้าหนี้ โดยไม่สร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม (Moral Hazard) เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิผล 

 

ขณะเดียวกันลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจะได้รับความช่วยเหลือในรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามสถานะของลูกหนี้แต่ละราย ช่วยได้ตรงจุดมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ Micro SMEs ที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อจะได้เข้าถึงสภาพคล่องมากขึ้น

 

“การผ่อนหลักเกณฑ์เพิ่มที่เริ่มมีผลใช้วันนี้ เราหวังให้เงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น อยากให้ลูกหนี้ SMEs รายเล็กที่เข้าไม่ถึงกลุ่มนี้มีวงเงินเพิ่มขึ้น ได้เข้าถึงได้รวดเร็วทันการณ์ จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังมีความเสี่ยงและไม่แน่นอนสูง การปรับโครงสร้างแบบเดิม การช่วยเหลือแบบเดิมอาจไม่ถูกจุด เลยเน้นให้แบงก์ไปแก้ไขที่มองยาว กว้าง ครอบคุมลูกหนี้ที่มีปัญหาจำนวนมากขึ้น ลดภาระหนี้ได้จริง เช่น จ่ายหนี้หน้าต่ำ คือ จ่ายต่ำก่อนค่อยทยอยเพิ่มเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นมา ให้ลูกหนี้ผ่านสถานการณ์ไปได้ ให้การปรับโครงสร้างหนี้ 3-6 เดือน เพิ่มเป็น 3-5 ปี ก็อยู่ที่การเจรจา เราไม่ได้ตั้งเป้าหมายเป็นตัวเลขว่าต้องปล่อยสินเชื่อได้เท่าไร แต่อยากเห็น Soft Loan ผ่านสินเชื่อฟื้นฟูที่เหลือ 1.5 แสนล้านบาทปล่อยให้ครบ ถ้าตัวเลขไม่ขึ้น มีอุปสรรคปัญหาอะไร ต้องเพิ่มวงเงินหรือไม่ คงได้หารือกับแบงก์เพิ่มได้” รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

 

สำหรับวงเงิน Soft Loan ของ ธปท. ที่เตรียมให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยกู้ให้ SMEs และรายย่อยต่อมีวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อเติมสภาพคล่องใหม่วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท ปัจจุบันปล่อยไปแล้ว 9.83 หมื่นล้านบาท มีลูกหนี้ร่วมโครงการแล้ว 3.2 หมื่นราย และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) วงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อปลดภาระหนี้ให้กับลูกหนี้ที่มีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงแรม ปัจจุบันปล่อยกู้ไปแล้ว 1.17 หมื่นล้านบาท มีลูกหนี้เข้าร่วม 82 ราย 

 

รณดลกล่าวต่อว่า การปรับเกณฑ์ในครั้งนี้คงไม่กระทบเครดิตเรตติ้งและฐานะทางการเงินของระบบสถาบันการเงินไทย เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลเสถียรภาพการเงิน เพราะมีส่วนช่วยดูแลระดับหนี้เสีย (NPL) ในระบบเศรษฐกิจไม่ให้ทะลักขึ้นมา ซึ่ง ธปท. จะติดตามผลการปล่อยกู้และการปรับโครงสร้างหนี้ของแบงก์อย่างใกล้ชิด เพื่อเปรียบเทียบผลที่ได้หลังปรับลดหลักเกณฑ์ต่างๆ และปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้า​​กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ( FIDF) ที่ลดลงจาก 0.46% เหลือ 0.23% ไปจนถึงสิ้นปี 2565 โดยแบงก์ต้องรายงานผลการดำเนินการให้ ธปท. รับทราบด้วย

 

ด้าน ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารสมาชิกพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งรายย่อยและ SMEs ตามมาตรการเพิ่มเติมของ ธปท. โดยสถาบันการเงินแต่ละแห่งจะจัดทำทางเลือกการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละกลุ่ม (Product Program) ให้สอดคล้องกับปัญหาและสถานะของลูกหนี้ และติดตามดูแลช่วยเหลือลูกหนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ธนาคารยังเป็นกลไกสำคัญและมีกำลังไปช่วยลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ในระยะต่อไป แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ได้สูงสุดในระยะเวลากี่ปี เพราะการพิจารณาขึ้นกับลักษณะและคุณสมบัติของลูกหนี้แต่ละรายด้วย  

 

ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์ต่างๆ เพื่อรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้ SMEs และลูกหนี้รายย่อย รวมถึงส่งเสริมการปรับโครงสร้างหรือแก้ไขหนี้เดิมให้ยั่งยืนขึ้น โดยมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2564 เป็นต้นไป ประกอบด้วย 

 

  1. การปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อกว่าคาดและยังมีความไม่แน่นอนสูง เพื่อช่วยให้บางกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูมีโอกาสได้รับความช่วยเหลือมากขึ้น ซึ่งสถาบันการเงินสามารถยื่นคำขอสินเชื่อฟื้นฟูมายัง ธปท. ตามหลักเกณฑ์นี้ ได้ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2564 ได้แก่   
  • ขยายวงเงินสินเชื่อให้แก่ SMEs ที่เดิมมีวงเงินสินเชื่อต่ำ หรือไม่มีวงเงินกับสถาบันการเงิน เพราะใช้เงินทุนส่วนตัวหรือรายได้ของบริษัทในการประกอบธุรกิจเป็นหลัก 
  • เพิ่มการค้ำประกันและปรับลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้กับลูกหนี้กลุ่มเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็น Micro SMEs หรือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ เพื่อเอื้อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อแก่ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางได้มากขึ้น 

 

  1. การผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินเชื่อลูกหนี้รายย่อยเป็นการชั่วคราว ในส่วนของบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เพื่อลดภาระการจ่ายชำระหนี้ ตลอดจนเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2564 จนถึงสิ้นปี 2565 ประกอบด้วย 
  • ขยายเพดานวงเงินเป็น 2 เท่าของเงินเดือน จากเดิม 1.5 เท่า สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล กรณีผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท นอกจากนี้สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล ผู้กู้สามารถขอสินเชื่อได้โดยไม่จำกัดจำนวนผู้ให้บริการ 
  • คงอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต จากปกติที่ 10% ที่ถูกปรับลดลงในช่วงการแพร่ระบาดเหลือ 5% ต่อไปจนถึงสิ้นปี 2565  
  • ขยายเพดานวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลจากรายละไม่เกิน 20,000 บาท เป็น 40,000 บาท และขยายระยะเวลาการชำระคืนจากไม่เกิน 6 เดือน เป็น 12 เดือน 

 

โดย ธปท. ได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองที่เกี่ยวข้องตามความเข้มข้นของความช่วยเหลือ เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ข้างต้น ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2564 ไปจนถึงปี 2566 อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่ดีขึ้น ธปท. ก็พร้อมพิจารณาผ่อนคลายหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองอีกตามความเหมาะสม ทั้งนี้ลูกหนี้ SMEs และรายย่อยที่ต้องการเพิ่มสภาพคล่องและแก้ไขหนี้เดิม สามารถติดต่อผู้ให้บริการทางการเงินที่ใช้บริการอยู่เพื่อรับความช่วยเหลือได้แล้ว และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อผ่านผู้ให้บริการทางการเงินโดยตรง หรือศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร. 1213 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising