×

ธปท. ไฟเขียวแบงก์จับมือบริษัทบริหารสินทรัพย์ตั้ง JVAMC จัดการหนี้เสียจากโควิด มั่นใจไม่เกิดหน้าผา NPLs

27.01.2022
  • LOADING...
ธปท. ไฟเขียวแบงก์จับมือบริษัทบริหารสินทรัพย์ตั้ง JVAMC จัดการหนี้เสียจากโควิด มั่นใจไม่เกิดหน้าผา NPLs

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานในกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ อันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

 

โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวเปิดให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทบริหารสินทรัพย์สามารถยื่นขอจัดตั้งกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หรือ JVAMC ได้ ในระยะเวลาที่กำหนดคือ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 และมีระยะเวลา 15 ปี ในการดำเนินกิจการร่วมทุนนี้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. เป็นรายกรณี โดยในการดำเนินการจะต้องให้ความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ต่อให้กับลูกหนี้ด้อยคุณภาพที่ได้รับโอนมาด้วย

 

ทั้งนี้ JVAMC ที่จัดตั้งจะต้องมีการร่วมลงทุนระหว่างธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทแม่ หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์อย่างน้อยหนึ่งแห่ง และบริษัทบริหารสินทรัพย์อย่างน้อยหนึ่งแห่ง ซึ่งมิใช่บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมลงทุนในกิจการร่วมทุนนั้น โดยอาจมีบุคคลอื่นร่วมลงทุนด้วยก็ได้

 

นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทแม่ หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งรวมกัน และบริษัทบริหารสินทรัพย์แต่ละแห่ง ต้องมีสัดส่วนการถือหรือมีหุ้นในกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเท่ากัน และมีการควบคุมร่วมตามที่มาตรฐานการบัญชีกำหนด

 

รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดที่ยืดเยื้อ แม้มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวได้จากความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนและมาตรการควบคุมการระบาดที่ผ่อนคลายลง รวมถึงการทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่การฟื้นตัวยังไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวจากสถานการณ์การระบาดที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวมยังเปราะบางและต้องใช้เวลา 

 

แม้ระบบธนาคารพาณิชย์จะยังแข็งแกร่ง ทั้งด้านเงินกองทุน สภาพคล่อง และเงินสำรองอยู่ในระดับสูง และมาตรการช่วยเหลือในปัจจุบันทำให้สินเชื่อด้อยคุณภาพจะไม่เร่งตัวขึ้นเร็ว แต่เพื่อรองรับความไม่แน่นอนและดูแลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง นอกเหนือไปจากมาตรการทางการเงินที่หลากหลายเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบแล้ว ธปท. ยังเห็นความจำเป็นของการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับสถาบันการเงินเพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่อาจทยอยเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป จึงมีมาตรการส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทบริหารสินทรัพย์สามารถร่วมลงทุนในกิจการร่วมทุนได้ 

 

โดย ธปท. หวังว่ามาตรการข้างต้น จะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของบริษัทบริหารสินทรัพย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะช่วยให้สถาบันการเงินมีทรัพยากรเพิ่มเติมในการดูแลลูกหนี้ที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ด้วยกลไกการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่จะดำเนินต่อเนื่องให้แก่ลูกหนี้ จะส่งผลให้ลูกหนี้ยังมีโอกาสได้รับความช่วยเหลือและไม่ถูกเร่งรัดให้จำหน่ายทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ซึ่งจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังดำเนินต่อเนื่องไปได้

 

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. เปิดเผยว่า ขณะนี้มีธนาคารพาณิชย์และบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ให้ความสนใจจัดตั้ง JVAMC ติดต่อสอบถามเข้ามายัง ธปท. แล้วประมาณ 2-3 ราย และคาดว่าจะมีการยื่นขอจัดตั้งกิจการร่วมทุนอย่างเป็นทางการเข้ามาในเร็วๆ นี้

 

สุวรรณีกล่าวอีกว่า การอนุญาตให้จัดตั้ง JVAMC ของ ธปท. ในครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากความกังวลว่า NPLs จะเร่งตัวขึ้นอย่างรุนแรงจนกลายเป็นหน้าผาหนี้เสียในระยะสั้น แต่เป็นมาตรการเชิงป้องกันที่ต้องการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์สามารถบริหารจัดการ NPLs ที่อาจจะเพิ่มขึ้นได้ในอนาคตจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิดที่หนักและยาวนาน 

 

“ณ ตอนนี้ เรายังไม่เห็นสัญญาณหนี้เสียที่จะเร่งตัวขึ้นจนเป็นหน้าผา โดยเชื่อว่า NPLs ในปีนี้จะค่อยๆ ทยอยออกมาในระดับที่บริหารจัดการได้ ไม่ใช่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หากดูตัวเลข NPLs ในระบบจะเห็นว่าช่วงก่อนโควิดอยู่ที่ 3.04% เทียบกับตัวเลข NPLs ในไตรมาส 3 ของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 3.14% จะเห็นว่าไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งสะท้อนว่าธนาคารยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อยู่ เราเชื่อว่ามาตรการ JVAMC นี้จะช่วยให้ธนาคารตัวเบาขึ้น โฟกัสที่การช่วยลูกหนี้ได้มากขึ้นเพราะไม่ต้องระวังหลัง” สุวรรณีกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X