×

เมื่อเศรษฐกิจไทยซึมยาว 2 ปี อ่าน 4 แนวทางที่แบงก์ชาติอาจต้องทำหากเศรษฐกิจแย่ลง

24.09.2020
  • LOADING...

เมื่อวานนี้ (23 กันยายน) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทาง กนง. มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 นี้อาจหดตัว 7.8% น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ 8.1% สาเหตุเพราะไตรมาส 2/63 GDP ที่ติดลบ 12.2% ถือว่าน้อยกว่าที่คิด

 

ทั้งนี้หลังการประกาศค่าเงินบาทอยู่ที่ราว 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าเป็นระดับที่อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 1 เดือน กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่า จากต้นปี 2563 ถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงราว 5% เป็นผลจากเงินทุนไหลออก และยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงมา โดย กนง. มองว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่ารวดเร็วอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และต้องติดตามการประชุม กนง. ในรอบถัดไปช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563

 

EIC มอง 4 แนวทางที่แบงก์ชาติน่าจะทำหากเศรษฐกิจแย่ลง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังระบุว่า เศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีในการฟื้นตัวหรือฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กลับสู่ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ดังนั้นหลังจากนี้อาจจะเห็นการเคลื่อนไหวของ ธปท. ​เรื่องมาตรการการเงิน เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ยากลำบาก 

 

ภาพ: Shutterstock, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) มองว่า หากเศรษฐกิจไทยปรับแย่ลงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก หรือภาวะการเงินไทยปรับตึงตัวขึ้นเร็ว EIC เชื่อว่า ธปท. พร้อมพิจารณาผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม และอาจมีการพิจารณามาตรการต่างๆ เพิ่มเติม เช่น

 

  1. การปรับการสื่อสารต่อสาธารณชนให้ชัดเจนขึ้น เช่น การพิจารณาใช้ Outcome-based Forward Guidance เหมือนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ใช้ โดยจะให้แนวทางหรือกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจ (อย่างเงินเฟ้อ) ที่จะต้องบรรลุเป้าหมายก่อนที่ธนาคารกลางจะสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้

 

  1. การเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (Quantitative Easing: QE) และการใช้มาตรการ Bond Stabilization Fund (BSF) ที่จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในช่วงที่ตลาดเกิดความกังวลสูง (Panic) หรือในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินไทยปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่าง ธปท. ตั้ง BSF เพื่อรับความผันผวนสูงในตลาดการเงินที่เกิดขึ้นช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน 2563 เพื่อดูแลเสถียรภาพในตลาดพันธบัตรเอกชน และมีการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในปริมาณมากบ้าง

 

  1. การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม หากภาวะการเงินปรับตึงตัวขึ้นมากและเศรษฐกิจมีแนวโน้มกลับมาหดตัวมากกว่าที่คาด กนง. ก็ยังสามารถลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก 1 ครั้ง (0.25%) แต่ดอกเบี้ยฯ ยังไม่ลดถึง 0% แต่ EIC มองว่ายังมีโอกาสน้อยที่จะลดดอกเบี้ยฯ เพิ่มเติม

 

  1. การดำเนินมาตรการ Yield Curve Control (YCC) ปัจจุบันผู้ว่าการ ธปท. บอกว่ายังไม่มีความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย โดยเฉพาะพันธบัตรระยะยาวปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจส่งผลให้ความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับชันขึ้นมาก (Steepening Yield Curve) จนกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ EIC มองว่า ธปท. อาจพิจารณาใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อดูแลอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลได้

 

ภาพ: Shutterstock

 

กสิกรไทยมอง กนง. คงดอกเบี้ย 0.5% ถึงสิ้นปี เร่งรัฐออกมาตรการตรงจุด

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กนง. อาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5% ต่อปีต่อไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีนี้ หากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะ Fed ที่ส่งสัญญาณว่าจะคงดอกเบี้ยในระดับใกล้ 0% ไปอย่างน้อยจนถึงปี 2566 

 

ทั้งนี้มองว่ามาตรการที่จำเป็นในขณะนี้ต้องมุ่งเน้นที่สภาพคล่องของธุรกิจและครัวเรือน ซึ่งจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากกว่าการปรับลดดอกเบี้ย และหลังจากที่มาตรการพักชำระหนี้จะสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคมนี้ ธปท. ได้ออกมาตรการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้มาเป็นระยะๆ เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ด้วยวิธีการรวมหนี้ เป็นต้น และคาดว่าจะมีมาตรการอื่นๆ ออกมาเพิ่มเติมช่วยลูกหนี้ ซึ่งจะบรรเทาปัญหาหนี้เสีย (NPLs) ที่อาจเกิดขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ทั้ง ธปท. และนักวิเคราะห์จากทุกหน่วยงานยังติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกันยังมีความหวังในมุมมองเดียวกันว่า การลงทุนของภาครัฐเป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้ จึงเร่งให้ภาครัฐสามารถเบิกจ่ายได้จริง และต้องออกมาตรการที่ตรงจุดมากกว่าช่วงที่ผ่านมา

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X