×

ธปท. จับตาบาทอ่อน พร้อมดูแลไม่ให้ซ้ำเติมเงินเฟ้อ มอง ศก.โลก และสหรัฐฯ ไม่ถดถอยในปีนี้

27.06.2022
  • LOADING...
ธนาคารแห่งประเทศไทย

ธปท. เกาะติดสถานการณ์เงินบาท พร้อมดูแลไม่ให้อ่อนค่าจนซ้ำเติมเงินเฟ้อ ชี้ดอกเบี้ยไม่ใช่พระเอกที่ช่วยดึงให้เงินเฟ้อกลับเข้ากรอบเป้าหมาย เชื่อเศรษฐกิจโลกและสหรัฐฯ ไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้

 

ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พูดถึงสถานการณ์ของเงินบาทที่นับจากต้นปีอ่อนค่ามาแล้ว 4.9% ในงาน Analyst Meeting ครั้งที่ 2/2565 ว่า ธปท. ได้มีการติดตามและพิจารณาการเคลื่อนไหวของเงินบาทอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินบาทจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าสินค้าและพลังงาน จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังไม่ให้ปัจจัยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อภายในประเทศ

 

อย่างไรก็ดี หากเทียบเงินบาทกับเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค พบว่าเงินบาทยังอ่อนค่าอยู่ในระดับปานกลาง และเป็นไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่เร็วและแรง และความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวของนักลงทุน

 

“ปัจจุบันผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีของไทยอยู่ที่ 1.7% ขณะที่ของสหรัฐฯ อยู่ที่ 2.5% ซึ่งมีส่วนต่างกันอยู่เกือบ 1% เรื่องนี้ย่อมมีผลแน่นอน แต่ส่วนต่างดอกเบี้ยเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยที่มีผลกระทบต่อค่าเงิน โดยยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สร้างความผันผวนของค่าเงินได้อีก เช่น ภาวะเศรษฐกิจ การนำเข้า-ส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนระยะสั้นและยาว” ปิติกล่าว

 

ปิติระบุว่า ธปท. พร้อมที่จะดูแลความผันผวนของเงินบาทไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์เงินเฟ้อ โดยเชื่อว่าการส่งสัญญาณถอนคันเร่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ย จะช่วยลดความผันผวนของค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ ขณะเดียวกันยังมองว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และการที่ตลาดรับรู้ทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ไปมากแล้ว น่าจะทำให้เงินบาทมีทิศทางกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ในระยะข้างหน้า

 

นอกจากนี้ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. ยังตอบคำถามนักวิเคราะห์ในเรื่องประสิทธิภาพของนโยบายการเงินในการยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ว่า นโยบายการเงินหรือดอกเบี้ยจะไม่ใช่พระเอกหรือส่วนหลักที่ทำหน้าที่ให้เงินเฟ้อกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่จะทำหน้าที่เป็นเสมือนกันชนที่คอยดูแลให้วัฏจักรเศรษฐกิจไม่ไปซ้ำเติมเงินเฟ้อ

 

“ราคาที่สูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่นพลังงาน จะมีผลในสองทางคือ ทำให้เงินเฟ้อในระยะสั้นเพิ่มขึ้น แต่เมื่อคนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เมื่อถึงจุดหนึ่งมันก็จะทำให้เศรษฐกิจในระยะต่อไปชะลอลงด้วยตัวมันเอง เงินเฟ้อก็ลดลงโดยธรรมชาติ” ปิติกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ปิติยังประเมินว่า การถอนคันเร่งนโยบายการเงินของไทยในช่วงนี้จะไม่ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสะดุด เนื่องจากที่ผ่านมาไทยใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้อัตราดอกเบี้ยแท้จริงของไทยยังติดลบอยู่ค่อนข้างมาก แม้จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้วก็ตาม

 

“ไทยเรามีประเด็นเรื่องหนี้ครัวเรือนสูง หากปรับขึ้นดอกเบี้ย กลุ่มคนรายได้น้อยก็จะได้รับผลกระทบในแง่ภาระหนี้ที่สูงขึ้น แต่คณะกรรมการฯ ก็ต้องชั่งน้ำหนัก โดยเรามองว่าถ้าเงินเฟ้อฝังเข้าไปในระบบเศรษฐกิจจะเป็นต้นทุนที่สูงที่สุด สูงกว่าการขึ้นดอกเบี้ย 7-8 เท่า ทำให้เรามองว่าการผ่อนคันเร่งในช่วงนี้มีความเหมาะสม และจะไม่ทำให้การฟื้นตัวสะดุด” ปิติกล่าว

 

สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า เพื่อให้ความช่วยเหลือครัวเรือนรายได้น้อย และธุรกิจ SME ที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย ในเร็วๆ นี้ ธปท. จะมีการปรับมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยให้ความสำคัญกับการดูแลคนเฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดย ธปท. จะมีการสื่อสารถึงมาตรการดังกล่าวออกมาในเร็วๆ นี้

 

สักกะภพยังวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่า ขณะนี้ ธปท. มีมุมมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงจากการที่ Fed ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงเพื่อป้องกันไม่ให้เงินเฟ้อฝังเข้าไปในระบบ ซึ่งหากเกิดขึ้นจะทำให้ Fed ต้องมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยไล่ตามแรงกว่าเดิม 

 

อย่างไรก็ดี ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลายตัวก็ยังออกมาค่อนข้างดี ทำให้ในกรณีฐานของ ธปท. ยังมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย

 

“สำหรับกรณีวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในศรีลังกาและ สปป.ลาว เชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อไทยไม่มาก แต่ในกรณีของยุโรป หากเกิดปัญหาผลกระทบจะรุนแรงกว่ากรณีรัสเซีย-ยูเครน อย่างไรก็ตาม ไทยมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่ง มีทุนสำรองสูง หนี้ต่างประเทศต่ำ สัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นและบอนด์ก็ไม่มาก เรายังมีกันชนที่พร้อมรับมือได้” สักกะภพกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising