×

ธปท. เผย เศรษฐกิจไทย ต.ค. หดตัว จ่อออกมาตรการดูแลเงินบาทเพิ่ม 9 ธ.ค. นี้

โดย efinanceThai
30.11.2020
  • LOADING...
ธปท. เผย เศรษฐกิจไทย ต.ค. หดตัว จ่อออกมาตรการดูแลเงินบาทเพิ่ม 9 ธ.ค. นี้

ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมากลับมาหดตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากปัจจัยชั่วคราว โดยเฉพาะวันหยุดยาวพิเศษหมดลง ทำให้การใช้จ่ายชะลอตัว และฐานที่สูงจากปีก่อนที่มีนโยบายชิมช้อปใช้ในช่วงเดือนตุลาคม 2562 และการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้า

 

ขณะที่การส่งออกติดลบ 5.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกติดลบ 5% โดยหดตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าในบางหมวดสินค้า เช่น สินค้าเกษตร สินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน และสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีผลของฐานสูงในปีก่อน

 

อย่างไรก็ตาม การส่งออกบางหมวดสินค้าที่มีทิศทางปรับดีขึ้นต่อเนื่อง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ เป็นต้น ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงจากการผลิตหมวดยานยนต์และหมวดปิโตรเลียมเป็นสำคัญ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อน

 

ด้านการนำเข้าสินค้าติดลบ 12.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำมูลค่าการนำเข้าลดลง 9.9% โดยเป็นการหดตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวดสินค้า ทั้งการนำเข้าเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าทุน สอดคล้องกับการใช้จ่ายภายในประเทศที่หดตัว

 

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนกลับมาหดตัวจากที่ขยายตัวได้เล็กน้อยในเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายที่ปรับตัวลดลงในเกือบทุกหมวด เนื่องจากปัจจัยชั่วคราววันหยุดยาวพิเศษในเดือนก่อนหมดลง ซึ่งส่งผลให้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนกลับมาหดตัว และหมวดบริการหดตัวสูงขึ้น ประกอบกับมีผลของฐานสูงในปีก่อนจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ หรือมาตรการชิมช้อปใช้

 

อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมยังอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว สอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อที่ทยอยปรับดีขึ้น ทั้งการจ้างงาน รายได้ของครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม และความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประกอบกับได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐต่อเนื่อง

 

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน ตามการลงทุนทั้งหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้าง โดยการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวสูงขึ้นตามการนำเข้าสินค้าทุนเป็นสำคัญ ขณะที่การลงทุนหมวดก่อสร้างกลับมาหดตัวเล็กน้อยตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง สอดคล้องกับกิจกรรมก่อสร้างที่อยู่อาศัยลดลง

 

ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐกลับมาหดตัวจากที่ขยายตัวต่อเนื่องในเดือนที่ผ่านมา เป็นผลจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำล่าช้า อย่างไรก็ตาม การลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจยังขยายตัวต่อเนื่อง และมีบทบาทสำคัญในการพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

 

ชญาวดีกล่าวว่า การท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่ แม้ในเดือนนี้ภาครัฐเริ่มอนุญาตให้นักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (STV) เดินทางเข้าไทย แต่ยังมีปริมาณที่น้อย

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 0.5% ตามราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.19% ส่วนหนึ่งจากการใช้มาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ ด้านตลาดแรงงานในภาพรวมปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งด้านการจ้างงานและรายได้ แต่ยังเปราะบาง ส่วนหนึ่งสะท้อนจากทั้งอัตราการว่างงานและสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิ์การว่างงานในระบบประกันสังคมที่ยังอยู่ในระดับสูง

 

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 985 ล้านดอลลาร์ และดุลการค้าเกินดุล 3,170 ล้านดอลลาร์ ด้านเงินบาทต่อดอลลาร์โดยเฉลี่ยแข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายนที่แข็งค่าขึ้นมากจากความคืบหน้าของวัคซีนป้องกันโควิด-19 และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีความชัดเจนขึ้น

 

ส่วนปัจจัยที่ยังต้องติดตามคือ ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวในตลาดแรงงาน แม้จะปรับดีขึ้นแต่ยังมีความเปราะบาง สถานการณ์น้ำแล้งแม้ว่าจะมีฝนตกชุกในบางพื้นที่ แต่ปริมาณน้ำในเขื่อนยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งอาจกระทบต่อการปลูกข้าวนาปรังและรายได้เกษตรกรในปี 2564 และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

 

ชญาวดีกล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ ธปท. จะออกมาตรการดูแลค่าเงินบาทเพิ่มเติม แต่เบื้องต้นนั้น ธปท. จะชี้แจงรายละเอียดมาตรการใน Media Briefing ก่อนที่จะออกมาตรการบังคับใช้จริง โดยมาตรการที่ออกมานั้นจะเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ระบบนิเวศอัตราแลกเปลี่ยนของไทย

 

“เราได้ติดตามดูแลค่าเงินบาทตลอด 24 ชั่วโมง และยอมรับว่าพบเงินที่เข้ามาเก็งกำไรในบ้านเราบ้าง แต่เราคงบอกไม่ได้ทั้งหมดว่าเงินที่เข้ามาเป็นเงินร้อน หรือเก็งกำไรในบอนด์ระยะสั้นทั้งหมด เพราะบางครั้งมันก็เข้ามาเพื่อบริหารสภาพคล่อง สำหรับที่ผ่านมายอมรับว่าค่าเงินบาทมีความผันผวนมากขึ้น และแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันประมาณ 1.1%” ชญาวดีกล่าว

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

รายงาน: ภัทราภรณ์ เกียรตินันท์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X