×

ธปท. เผยมีนวัตกรรมการเงินผ่าน Sandbox แล้ว 38 โครงการ ยังรอความชัดเจนเกณฑ์ Virtual Bank และคริปโต ก่อนเปิดให้ทดสอบ

23.05.2022
  • LOADING...
Sandbox

สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการทดสอบนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินภายใต้ Regulatory Sandbox ของ ธปท. ว่านับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 จนถึง ณ สิ้น ไตรมาส 1 ปี 2565 มีโครงการที่เข้ามาทดสอบใน Regulatory Sandbox แล้วทั้งหมด 78 โครงการ โดยมีโครงการที่การทดสอบประสบผลสำเร็จและออกให้บริการในวงกว้างแล้วจำนวน 38 โครงการ มีรายละเอียดดังนี้

 

  1. การใช้ QR Code เพื่อการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดการใช้เงินสดและทำให้เข้าถึงบริการทางการเงินได้ทั่วถึงมากขึ้นจำนวน 18 โครงการ โดยปัจจุบันมีจุดวาง QR code ทั่วประเทศแล้วกว่า 7.2 ล้านจุด และมีผู้ใช้งานลงทะเบียน PromptPay กว่า 69.5 ล้านหมายเลข

 

  1. การยืนยันตัวตนโดยใช้ลักษณะทางชีวภาพของแต่ละบุคคล (Biometrics) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการของภาครัฐและเอกชน ผ่านระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่น่าเชื่อถือได้ สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย จำนวน 10 โครงการ โดยปัจจุบันมีหน่วยงานที่เข้าร่วมใช้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์ม NDID แล้ว 94 หน่วยงาน มีลูกค้าที่ลงทะเบียนแล้วกว่า 5 ล้านราย เปิดบัญชีเงินฝากผ่าน NDID แล้วกว่า 7 แสนบัญชี และขอข้อมูลเครดิตจากเครดิตบูโรเพื่อสมัครสินเชื่อสำเร็จแล้วกว่า 8 ล้านรายการ

 

  1. การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนออกหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ (e-LG) และโอนเงินระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความน่าเชื่อถือของการออกหนังสือค้ำประกันและการโอนเงินระหว่างประเทศจำนวน 9 โครงการ ซึ่งช่วยให้การออกหนังสือ e-LG ทำได้รวดเร็วขึ้น ภายใน 1-8 ชั่วโมง (จากเดิม 3-7 วัน) โดยมีปริมาณธุรกรรมรวมกว่า 65,000 ใบ มูลค่ารวมกว่า 120,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังช่วยลดระยะเวลาการโอนเงินระหว่างประเทศเหลือ 3-5 นาที (จากเดิม 3-5 วัน) โดยลูกค้าได้รับค่าธรรมเนียมลงเหลือ 199 บาทต่อรายการ (เดิม 500-600 บาทต่อรายการ)

 

  1. การขอสินเชื่อผ่านระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (P2P Lending Platform) เพื่อเพิ่มโอกาสแก่ผู้กู้ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือสินเชื่อ และเป็นแหล่งลงทุนใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นจำนวน 1 โครงการ โดยปัจจุบันมีผู้ให้บริการได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังแล้ว 1 ราย เมื่อ 22 เมษายน 2565 

 

“ภายในเดือนมิถุนายนนี้จะมีโครงการที่การทดสอบประสบผลสำเร็จและออกให้บริการเพิ่มขึ้นอีก 10 โครงการ ส่วนที่เหลืออยู่จะเป็นกลุ่มที่ทดลองแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันบน NDID ซึ่งคาดว่าจำนวนมากจะออกจากการทดลองได้ภายในปีนี้เช่นกัน” สิริธิดากล่าว

 

สิริธิดากล่าวอีกว่า โครงการใหม่ๆ ที่เข้ามาทดสอบภายใต้ Regulatory Sandbox ของ ธปท. ในระยะต่อไปจะเน้นไปที่โครงการที่ถูกออกแบบหรือพัฒนาเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานหรือมาตรฐานกลาง ซึ่งต้องการการทดสอบร่วมกันในวงกว้าง หรือกรณที่มีกฎหมายหรือหลักเกณฑ์กำหนดให้ต้องเข้าทดสอบใน Regulatory Sandbox ขณะที่โครงการที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซีและธนาคารที่ให้บริการในรูปแบบใหม่บนช่องทางดิจิทัลโดยไม่มีสาขา หรือ Virtual Bank นั้น ยังต้องรอความชัดเจนในเรื่องกฎเกณฑ์การกำกับที่จะออกมาก่อนจะเข้าสู่กลไกที่เปิดให้ทำการทดลอง

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising